×

คืนภาษีนักท่องเที่ยวที่เซเว่น ห้างใหญ่ตกม้าตาย หรือตอบโจทย์ใครกันแน่

04.10.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • ประเทศไทยอาจเป็นประเทศแรกในโลกที่ตั้งร้านสะดวกซื้อเป็นศูนย์บริการคืนเงินภาษีนักท่องเที่ยวในเมือง (Downtown VAT Refund for Tourist)
  • สมาคมผู้ค้าปลีกไทยย้ำว่า กรมสรรพากรรับรู้เรื่องข้อเสนอศูนย์บริการ 5 จุดของกลุ่มค้าปลีกมาโดยตลอด แต่แล้วผลก็ไม่เป็นตามคาด
  • ขณะที่กรมสรรพากรชี้แจงว่า Counter Service เป็นผู้ผ่านคุณสมบัติเพียงรายเดียว ขณะที่อีกสองรายมีปัญหาเรื่องคุณสมบัติ ชัดเจนเรื่องตกม้าตายจากปัญหาเอกสาร

กลายเป็นประเด็นฮือฮาเมื่อกรมสรรพากรประกาศว่า ‘Counter Service’ ในเครือ CP All คือผู้ได้รับอนุมัติเพียงรายเดียว เป็นตัวแทนคืนเงินภาษีมูลค่าเพิ่มแก่นักท่องเที่ยวในเมือง หักปากกาเซียนที่บางส่วนคาดว่าจะเป็นกลุ่มบริษัทร่วมทุนของกลุ่มค้าปลีกที่ผนึกกำลังกันเสนอตัว สาเหตุสำคัญเป็นปัญหาด้านเอกสารที่ส่งผลกับคุณสมบัติของผู้สมัคร

 

กลุ่มห้างใหญ่ตกม้าตายกับเรื่องนี้จริงๆ หรือ

 

มูลค่าเงินคืนภาษีก้อนนี้ไม่น้อย คิดเป็นเงิน 2-3 พันล้านบาทต่อปี จึงเป็นโจทย์ที่ท้าทายทีเดียวสำหรับการบริหารจัดการและสร้างประโยชน์ให้กับประเทศได้ สำนักข่าว THE STANDARD ไม่สามารถให้ความเห็นได้ว่าผลลัพธ์ที่ออกมานั้นเหมาะสมหรือไม่ เพราะผ่านกระบวนการที่ ‘ถูกต้อง’ แล้ว ที่น่าตั้งข้อสังเกตคือ ช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา กรมสรรพากรพูดอะไร กลุ่มค้าปลีกพูดอะไร ติดตามได้จากบทความนี้

 

เงินคืนภาษีนักท่องเที่ยว คืนที่ไหนและไปที่ใคร

ข้อเรียกร้องในการจัดตั้งจุดบริการคืนเงินภาษีของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติมีมานานแล้วเหมือนเช่นที่มีในต่างประเทศ ด้วยหลักการที่ประเมินว่า เงิน 7% จากภาษีมูลค่าเพิ่มนั้น เมื่อนักท่องเที่ยวได้กลับคืนมาในรูปเงินสดจะนำไปซื้อสินค้าและบริการอื่นๆ ต่อไป เพราะบรรยากาศในการท่องเที่ยวกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายอยู่เสมอ น่าจะเป็นผลดีสำหรับผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็กที่จะขายสินค้าได้มากขึ้น

 

จากข้อมูลของกรมสรรพากร เดิมนักท่องเที่ยวที่สามารถทำเรื่องขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มได้นั้นต้องไม่ใช่คนสัญชาติไทย ไม่มีภูมิลำเนาในไทย ซื้อสินค้าในราคารวมภาษีมูลค่าเพิ่มจากสถานประกอบการแห่งละจำนวนไม่น้อยกว่า 2 พันบาทต่อวันจากบริษัท ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่จดทะเบียนในระบบภาษีมูลค่าเพิ่มเท่านั้น และผู้ประกอบการต้องแสดงป้ายสัญลักษณ์ ‘VAT Refund For Tourist’ ให้ชัดเจน

 

 

การยื่นขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มนั้นต้องเป็นรายการสินค้าเท่านั้น (Product) ไม่รองรับค่าบริการ (Service) เป็นสินค้าที่ซื้อจากร้านค้าที่เป็นผู้ประกอบการขายสินค้าให้นักท่องเที่ยว ซึ่งนักท่องเที่ยวต้องนำสินค้าที่ซื้อออกนอกราชอาณาจักรไทยภายใน 60 วันที่ซื้อสินค้า และเอกสารขอคืนภาษีต้องทำในวันเดียวกับที่ซื้อสินค้าด้วย

 

สำหรับเงินคืนภาษีจำนวนต่ำกว่า 3 หมื่นบาท ซึ่งถือเป็นส่วนใหญ่ของการยื่นขอคืนภาษี จะสามารถเลือกรับเป็นเงินสดในรูปเงินบาทเท่านั้น หรือขอคืนเป็นดราฟต์ในรูป 4 สกุลเงินคือ ดอลลาร์, ยูโร, เยน และปอนด์สเตอร์ลิง หรือจะเลือกเป็นเงินคืนเข้าบัญชีบัตรเครดิตที่ซื้อสินค้าก็ได้ ส่วนกรณีที่จำนวนเงินขอคืนภาษีเกินกว่า 3 หมื่นบาทจะไม่สามารถคืนในรูปเงินสดได้ ต้องคืนในรูปดราฟต์หรือโอนเข้าบัญชีบัตรเครดิตเท่านั้น

 

ก่อนหน้าโครงการทดลองของกรมสรรพากรนี้ นักท่องเที่ยวสามารถยื่นเรื่องขอเงินคืนภาษีมูลค่าเพิ่มได้ที่สำนักงานคืนภาษีใน 10 สนามบินนานาชาติทั่วประเทศไทย อาจจะหย่อนเอกสารในตู้คำร้องหรือส่งเอกสารทางไปรษณีย์ให้กับกรมสรรพากร ซึ่งส่วนใหญ่จะเลือกทำเรื่องที่สนามบินเมื่อเดินทางกลับประเทศของตน

 

ดังนั้น นักท่องเที่ยวจะได้เงินคืนเฉพาะที่สนามบินเท่านั้น และโอกาสที่จะซื้อสินค้าและบริการในสนามบินก็อาจจะน้อยกว่าช่วงที่ยังท่องเที่ยวอยู่ จึงเป็นที่มาของการผลักดันโครงการทดลองจุดคืนภาษีในเมืองของกรมสรรพากรร่วมกับภาคเอกชนในปีนี้

 

และกลายเป็นหนังหักมุมในที่สุด

 

สมาคมผู้ค้าปลีกย้ำทำงานร่วมสรรพากรมาตลอด มี 5 จุดบริการเหมาะสมแล้ว

วรวุฒิ อุ่นใจ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทยเปิดไทม์ไลน์โครงการคืนเงินภาษีมูลค่าเพิ่มในเมือง (Downtown VAT Refund for Tourist) ในช่วงที่ผ่านมา โดยระบุว่าทางโครงการประชารัฐได้หารือกับทางกระทรวงการคลังและภาคเอกชนเรื่องการจัดทำโครงการดังกล่าวตั้งแต่เดือนธันวาคม 2560 ซึ่งต่อมาในเดือนมกราคม 2561 กรมสรรพากรได้เชิญภาคเอกชน สมาคมผู้ค้าปลีกไทย หารือถึงรายละเอียดของโครงการและให้สมาคมเป็นตัวแทนดำเนินการและประสานงาน ซึ่งเดือนกุมภาพันธ์ ทางสมาคมได้เสนอเรื่องจุดบริการคืนภาษีในเมือง 5 จุด ได้แก่

  1. เซน (เซ็นทรัลเวิลด์)  
  2. เซ็นทรัลชิดลม
  3. เอ็มโพเรียม
  4. โรบินสัน สุขุมวิท
  5. สยามพารากอน

 

ถ้าเป็นจริงตามข้อมูลของทางสมาคม ค่อนข้างชัดเจนว่าทางกรมสรรพากรรับรู้แนวคิดเรื่อง 5 จุดบริการแต่แรก

 

เดือนเมษายน สมาคมให้ข้อมูลว่า กรมสรรพากรแจ้งจะเริ่มโครงการปลายเดือนเมษายน และสิ้นสุดเดือนตุลาคม 2561 ซึ่งช่วงกลางเดือน กลุ่มบริษัทร่วมทุน VAT Refund Center (Thailand) ซึ่งเป็นการจับมือกันระหว่างเครือเซ็นทรัล, เดอะ มอลล์, โรบินสัน และสยามพิวรรธน์ ยังได้เข้าอบรมกับทางกรมสรรพากรเพื่อรับทราบหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการดำเนินการต่างๆ และกำหนดลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) วันที่ 28 เมษายน 2561

 

แต่แล้วทางกรมสรรพากรก็ประกาศยกเลิกการลงนามดังกล่าวออกไป

 

เรื่องนิ่งไป 3 เดือนท่ามกลางความสงสัยและข้อสรุปที่ยากจะคาดเดา จนเมื่อปลายเดือนสิงหาคม กรมสรรพากรเรียกทุกส่วนที่เกี่ยวข้องกลับมาประชุมอีกครั้งและแจ้งว่า อาจมีการเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์การพิจารณา

 

ต้นเดือนกันยายน กรมสรรพากรประกาศหลักเกณฑ์ใหม่และรับสมัครตัวแทนคืนเงินภาษีมูลค่าเพิ่มนักท่องเที่ยวในเมือง โดยรับสมัครช่วง 10-17 กันยายน และพิจารณาช่วง 18-28 กันยายน) ทางสมาคมผู้ค้าปลีกไทยและบริษัทร่วมทุน 4 ห้างใหญ่ให้ข้อมูลว่า ได้สมัครเข้าร่วมวันที่ 17 กันยายน

 

โดยที่เสนอศูนย์บริการ 5 จุด และเจ้าหน้าที่กรมสรรพากรก็ลงนามรับสมัครตามปกติ จากนั้นก่อนช่วงประกาศผล ยังได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าสำรวจทั้ง 5 จุดที่เสนอไปด้วย รวมทั้งให้บริษัทร่วมทุนนำเสนอระบบงานซอฟต์แวร์และการเชื่อมต่อกับทางกรมสรรพากรด้วย

 

สมาคมค้าปลีกเน้นย้ำเรื่องที่กรมสรรพากรรับรู้เรื่องการเสนอ 5 จุดบริการแต่แรกรับสมัครจนถึงวันที่ประกาศผล แต่ท้ายที่สุดกรมสรรพากรประกาศผลการคัดเลือกวันที่ 30 กันยายน (วันอาทิตย์) และ Counter Service ภายใต้ CP All เป็นผู้ผ่านคุณสมบัติเพียงรายเดียวและได้รับอนุมัติเป็นตัวแทนที่ร้านเซเว่น อีเลฟเว่น 3 สาขาคือ สาขาลิโด (สยามสแควร์) สาขาเยาวราช และสาขาแบงค็อกไนท์บาร์ซาร์ (รัชดา) โดยที่ Counter Service สามารถจัดทำป้าย Downtown VAT Refund Center รวมทั้งเอกสารแจ้งลูกค้าเป็นภาษาจีนได้อย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็วในวันรุ่งขึ้น (1 ต.ค.) ได้ทันที

 

 

‘เงิบ’ อาจจะเป็นคำสมัยใหม่พยางค์เดียวที่อธิบายอารมณ์ของบางคนต่อเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี

 

สรรพากรย้ำ ทำตามกระบวนการถูกต้อง ค้าปลีกเดินเกมอุทธรณ์ต่อ

หลังจากที่เกิดเสียงวิจารณ์ดังลั่นในโลกธุรกิจ ตามมาด้วยข่าวที่ไม่ได้รับการยืนยันใดๆ ว่ามีบริษัทวางระบบขนาดใหญ่ได้ทำงานร่วมกับหนึ่งในบริษัทที่สมัครเพื่อเตรียมพร้อมทำระบบ VAT Refund แบบ ‘รู้กัน’ ก่อนหน้านี้ ซึ่งข้อมูลดังกล่าวไม่ใช่สาระสำคัญของบทความนี้

 

กรมสรรพากรได้ส่งเอกสารชี้แจงเพื่อทำความเข้าใจต่อกรณีดังกล่าวว่า

 

“ในการพิจารณาคัดเลือกนั้น กรมสรรพากรพิจารณาจาก 2 ส่วนคือ (1) คุณสมบัติของผู้สมัคร และ (2) ความเหมาะสมในการเป็นผู้ให้บริการเป็นตัวแทน ได้แก่ การพิจารณาความหนาแน่นของนักท่องเที่ยวในบริเวณที่ตั้งของสถานที่ให้บริการ การคมนาคมสะดวก ความปลอดภัย อัตราค่าบริการที่เรียกเก็บจากนักท่องเที่ยว ความพร้อมด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ฯลฯ โดยผู้สมัครต้องได้คะแนนไม่น้อยกว่าร้อยละ 60 จึงจะถือว่าผ่าน

 

“กรมสรรพากรได้ทำการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ยื่นสมัครทั้ง 3 ราย ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่า ผู้ยื่นสมัคร 2 รายมีคุณสมบัติไม่เป็นไปตามประกาศอธิบดีฯ และแนวปฏิบัติข้างต้น โดยรายหนึ่งมิได้มีวัตถุประสงค์เพื่อดำเนินการเป็นตัวแทนของผู้เดินทางออกไปนอกราชอาณาจักรในการขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มจากกรมสรรพากร ปรากฏอยู่ในข้อหนึ่งข้อใดที่ระบุไว้ในหนังสือรับรองนิติบุคคล และอีกหนึ่งรายมิได้ยื่นคำขออนุมัติตามแบบที่แนบท้ายประกาศอธิบดีฯ (ฉบับที่ 224) จึงไม่เป็นไปตามข้อ 3 วรรคหนึ่ง ของประกาศอธิบดีฯ ฉบับดังกล่าว ประกอบกับมีการกำหนด จุดบริการจำนวน 5 แห่ง ซึ่งเกินกว่าจำนวนจุดบริการที่กำหนดไว้ตามแบบคำขออนุมัติและแนวปฏิบัติข้างต้น    

 

“ทั้งนี้คงเหลือผู้สมัครเพียงรายเดียวที่มีคุณสมบัติครบถ้วน ถูกต้อง ตามประกาศอธิบดีฯ และแนวปฏิบัติ จึงได้รับการพิจารณาอนุมัติให้เป็นตัวแทนเพื่อขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่นักท่องเที่ยวในเมือง

 

“กรมสรรพากรขอเรียนยืนยันว่า การพิจารณาคัดเลือกรายผู้ให้บริการเป็นไปตามขั้นตอนตามประกาศอธิบดีฯ (ฉบับที่ 224) และแนวปฏิบัติทุกประการ จึงมีความโปร่งใสและมิได้เอื้อประโยชน์ให้แก่บุคคลหรือกลุ่มธุรกิจใด”

 

ยืนยันชัดเจนว่าสองรายที่ผิดหวังมีปัญหาด้านคุณสมบัติซึ่งเป็นประเด็นเรื่องเอกสารอย่างชัดเจน

 

กรณีนี้ถูกนำไปเปรียบเทียบกับเรื่อง ‘ตกม้าตาย’ ของโครงการออกแบบสนามบินสุวรรณภูมิ อาคารที่ 2 ซึ่งทีมของ ‘ดวงฤทธิ์ บุนนาค’ ชนะการประมูลทั้งที่คะแนนด้านเทคนิคเป็นรอง เพราะเอกสารครบถ้วน ถูกต้องตามที่กำหนด

 

สมาคมผู้ค้าปลีกไทยอ้างว่า นี่เป็นเรื่องที่ ‘พลาดโอกาส’ ครั้งใหญ่ของกลุ่มห้างค้าปลีก ซึ่งศูนย์บริการทั้ง 5 จุดมีความเหมาะสมแล้วในการรองรับนักท่องเที่ยวที่ใช้บริการ ซึ่งครอบคลุม 60% ของการขอออกใบกำกับภาษีสำหรับนักท่องเที่ยว (ภ.พ. 10) ทั้งระบบอยู่แล้ว และรองรับนักท่องเที่ยวได้ 9 หมื่น ถึง 1.5 แสนคนต่อวันต่อจุด

 

 

เมื่อเทียบกับร้านสะดวกซื้อที่ขนาดเล็กกว่ามากและอาจทำให้เกิดความแออัดเมื่อนักท่องเที่ยวมาใช้บริการ ซึ่งจะต้องต่อคิวรอเป็นระยะเวลานานกว่า และประเทศไทยอาจจะเป็นประเทศแรกในโลกที่ตั้งร้านสะดวกซื้อเป็นจุดคืนภาษีมูลค่าเพิ่มแก่นักท่องเที่ยว

 

สมาคมฯ ประเมินเงินคืนภาษีนักท่องเที่ยวในช่วงทดลอง 6 เดือนนี้ จะทำให้เกิดเงินหมุนเวียนถึง 4 พันล้านบาท เพราะเป็นฤดูกาลท่องเที่ยว ซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้หากบริหารจัดการได้อย่างเหมาะสม ซึ่งกลุ่มผู้ค้าปลีกพร้อมที่จะทำงานร่วมกับทางภาครัฐในการให้บริการดังกล่าวเพิ่มเติม และหวังว่าทางรัฐบาลจะเปิดโอกาสในการเพิ่มศูนย์บริการคืนภาษีนักท่องเที่ยวในอนาคต โดยยืนยันว่ากลุ่มของตนมีพันธมิตรทางธุรกิจทั้งในและต่างประเทศที่พร้อมร่วมมือบริหารจัดการ และยิ่งมีจุดบริการคืนภาษีมากขึ้น ก็จะเพิ่มโอกาสจับจ่ายของนักท่องเที่ยวตามไปด้วย

 

กระบวนการถัดไป สมาคมฯ จะยื่นอุทธรณ์ต่อเพื่อต่อสู้เรื่องนี้ ซึ่งทางกรมสรรพากรระบุว่าต้องเป็นการชี้แจงด้านข้อกฎหมาย ซึ่งถ้าคณะกรรมการของกรมสรรพากรเห็นพ้องก็จะแจ้งทางสมาคมฯ กลับภายใน 30 วัน แต่ถ้าคณะกรรมการไม่เห็นพ้องต่อข้ออุทธรณ์ ก็จะยื่นเรื่องขึ้นไปที่ระดับกระทรวงการคลัง ซึ่งกรอบของเวลาจะขยับออกไปอีกเป็น 90 วัน

 

ไม่ใช่เรื่องง่ายต่อข้อเรียกร้องดังกล่าว เพราะกรมสรรพากรก็ประกาศรายชื่อของผู้ได้รับการอนุมัติผ่านกระบวนการที่ถูกต้อง กางเอกสารมายันกันได้อย่างไม่มีปัญหา ในโลกที่ผิดคือผิด ถูกคือถูก ผ่านคือผ่านนี้ คงต้องจับตาต่อไปว่าความเคลื่อนไหวของสมาคมผู้ค้าปลีกไทยและกลุ่มห้างใหญ่จะได้ผลหรือไม่ เพราะฝั่งทางสรรพากรในฐานะภาครัฐก็ต้องกำกับดูแลเรื่องนี้ ซึ่งประเด็นเรื่องการทุจริตจากเงินคืนภาษีเหล่านี้ก็มีให้เห็นอยู่ทั่วโลก และไม่ใช่เรื่องที่จะปล่อยให้ผ่านหูผ่านตากันง่ายๆ

 

ประเทศไทยควรจะมีศูนย์บริการคืนภาษีในเมืองหรือไม่

 

ประเทศไทยจริงจังกับการผลักดันเรื่องดังกล่าวแค่ไหน

 

คำตอบอยู่ที่ผลประโยชน์ของชาติเสมอ

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising