×

สหรัฐฯ เผยเศรษฐกิจไตรมาสแรกโตเพียง 1.1% ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้า สะท้อนสัญญาณโตแผ่ว

28.04.2023
  • LOADING...
GDP สหรัฐฯ

กระทรวงพาณิชย์สหรัฐอเมริกาเปิดเผยตัวเลขประมาณการครั้งที่ 1 สำหรับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ประจำไตรมาสแรกของปี 2023 เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 27 เมษายน พบเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในช่วง 3 เดือนแรกของปีขยายตัวเพียง 1.1% ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 2.0% โดยมีปัจจัยหลักมาจากการที่ภาคธุรกิจชะลอการลงทุนและใช้จ่าย ท่ามกลางการเดินหน้าขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) เพื่อจัดการกับเงินเฟ้อ

 

นอกจากนี้ อัตราการเติบโตของ GDP สหรัฐฯ ยังเผชิญกับปัจจัยฉุดรั้งจากความกังวลเรื่องภาวะเศรษฐกิจถดถอย หลังเกิดวิกฤตสภาพคล่องในภาคการธนาคารและปัญหาเพดานหนี้ที่รอดำเนินการ ซึ่งรายงานการขยายตัวทางเศรษฐกิจสหรัฐฯ ของกระทรวงพาณิชย์ฉบับล่าสุดถือเป็นการตอกย้ำว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ สูญเสียโมเมนตัมในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา โดยนักเศรษฐศาสตร์หลายคนคาดการณ์ว่าจะเกิดภาวะถดถอยในปลายปีนี้ 

 

อย่างไรก็ดี ตัวเลขการขยายตัวของ GDP สหรัฐฯ ดังกล่าวสอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ GDPNow ในแบบจำลองที่ Fed สาขาแอตแลนตาเปิดเผยเมื่อวันพุธที่ 26 เมษายน ซึ่งพบว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะขยายตัวที่ 1.1% ในไตรมาส 1 ปี 2023

 

ก่อนหน้านี้ในปี 2022 เศรษฐกิจสหรัฐฯ หดตัว 1.6% ในไตรมาส 1 และลดลงอีก 0.6% ในไตรมาส 2 ทำให้สหรัฐฯ เข้าสู่ภาวะถดถอยทางเทคนิค ก่อนที่ต่อมา GDP สหรัฐฯ จะขยายตัวในไตรมาส 3 ที่ 3.2% และไตรมาส 4 ที่ 2.6% และเมื่อพิจารณาตลอดทั้งปี 2022 เศรษฐกิจสหรัฐฯ ขยายตัวที่ 2.1% ลดลงจากปี 2021 ที่ขยายตัวสูงถึง 5.9% 

 

Bill Adams หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ Comerica Bank กล่าวว่า รายงานการเติบโตของ GDP ไตรมาสแรกซึ่งต่ำกว่าที่คาดไว้เล็กน้อย จะไม่ขัดขวาง Fed จากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.25% ในการประชุมคณะกรรมการกำกับนโยบายการเงินในช่วงสัปดาห์หน้า โดย Adams ประเมินว่า Fed ต้องการให้เศรษฐกิจดำเนินไปต่ำกว่าศักยภาพสักระยะ เพื่อให้อุปสงค์และอุปทานเข้าสู่สมดุลที่ดีขึ้น

 

สำหรับปัจจัยที่ทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังสามารถขยายตัวโตได้ดี มาจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค ซึ่งมีสัดส่วนมากกว่า 2 ใน 3 ของผลผลิตทางเศรษฐกิจ โดย 3 เดือนแรกของปีนี้ ชาวอเมริกันยังคงใช้จ่ายอย่างแข็งแกร่งกับสินค้าและบริการ โดยเฉพาะในร้านอาหารและบาร์ การซื้อรถยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ และบริการด้านสุขภาพ

 

โดยในเดือนมกราคม การใช้จ่ายของผู้บริโภคเพิ่มขึ้นอย่างแข็งแกร่ง 2% และนายจ้างเพิ่มงานเกือบ 5 แสนตำแหน่ง ก่อนที่การเติบโตของการใช้จ่ายและเงินเดือนลดลงในเดือนต่อๆ มา เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อ ต้นทุนการกู้ยืมที่สูงขึ้น และสภาพอากาศที่หนาวเย็นส่งผลกระทบต่อผลผลิต ส่วนการจ้างงาน 236,000 ตำแหน่งที่เพิ่มขึ้นในเดือนมีนาคม ถือเป็นการเพิ่มขึ้นต่อเดือนที่น้อยที่สุดในรอบกว่า 2 ปี และการใช้จ่ายภาคครัวเรือนขยายตัวเล็กน้อยเพียง 0.2% ในเดือนกุมภาพันธ์

 

กระนั้น Lindsey Piegza หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ Stifel Financial คาดว่า การใช้จ่ายจะจางหายไปในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า เนื่องจากความแข็งแกร่งดังกล่าวในช่วงต้นปีเป็นผลมาจากการใช้บัตรเครดิตที่สูงขึ้น การเบิกเงินออมมาใช้จ่าย สภาพอากาศที่อุ่นขึ้น และการพึ่งพาต่อโครงการของรัฐและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในท้องถิ่น ซึ่ง Piegza ชี้ว่า ปัจจัยหนุนการใช้จ่ายดังกล่าวส่วนใหญ่เป็นปัจจัยที่ไม่ยั่งยืน ดังนั้นจึงเป็นไปได้ว่าการเติบโตของสหรัฐฯ จะยังคงชะลอตัวต่อไปภายใต้น้ำหนักของอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น และในขณะที่ Fed ยังคงขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไป 

 

อย่างไรก็ตาม อัตราเงินเฟ้อที่สูงและการเดินหน้าขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องของ Fed ทำให้การใช้จ่ายในภาคธุรกิจปรับตัวลดลง ขณะที่การลงทุนที่อยู่อาศัยและที่ไม่ใช่ที่อยู่อาศัยลดลงติดต่อกันเป็นไตรมาสที่ 4

 

Joseph Brusuelas หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ RSM US ระบุว่า ตัวเลขการใช้จ่ายของภาคเอกชนที่ลดลงแสดงให้เห็นว่าบริษัทอเมริกันมีความกังวลมากขึ้นเกี่ยวกับความยั่งยืนของวัฏจักรธุรกิจในปัจจุบัน เนื่องจากผลกระทบของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่มีเป้าหมายเพื่อสกัดอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น และการปล่อยสินเชื่อที่เข้มงวดมากขึ้น จะทำให้ผู้บริโภคต้องปรับลดอัตราการบริโภคของตนเองในช่วงปลายปีนี้ 

 

Eugenio Alemán หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ Raymond James กล่าวว่า การลงทุนทางธุรกิจมักทำผ่านสินเชื่อ ดังนั้นต้นทุนการกู้ยืมที่สูงขึ้นประกอบกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวสามารถจำกัดการลงทุนเหล่านั้นได้ กระนั้นธุรกิจขนาดเล็กซึ่งโดยปกติจะใช้กระแสเงินสดของตนเองแทนการกู้ยืมยังคงลงทุนในระบบเศรษฐกิจ แต่การมีส่วนร่วมของธุรกิจขนาดเล็กเหล่านี้ต่อการเติบโตของ GDP สหรัฐฯ นั้นน้อยมาก

 

Alemán พร้อมด้วยนักเศรษฐศาสตร์อีกหลายสำนัก รวมถึง Fed คาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเข้าสู่ภาวะถดถอยในปลายปีนี้ โดย Alemán คาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเติบโต 0.8% ในไตรมาส 2 จากนั้นจะเข้าสู่ภาวะถดถอยเล็กน้อยในไตรมาส 3 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลมาจากผลกระทบของนโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้น


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising