การออกมาส่งสัญญาณของ เจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ในช่วงกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา ว่า สหรัฐอเมริกาจะยังไม่มีการปรับลดดอกเบี้ยไปอีก 2-3 ปี ถือเป็นข่าวร้ายสำหรับบริษัทที่มีภาระหนี้สูง เนื่องจากบริษัทเหล่านี้จะต้องแบกรับและหาวิธีรับมือกับต้นทุนการเงินที่จะอยู่ในระดับสูงเป็นระยะเวลาที่ยาวขึ้น
ข้อมูลจาก Morgan Stanley ระบุว่า ภายในเดือนมกราคมปีหน้า บริษัทต่างๆ จะมีหนี้ประมาณ 2.6 แสนล้านดอลลาร์ที่จะถึงกำหนดชำระ ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงถึง 2 เท่าจากระดับปัจจุบัน นอกจากนี้บริษัทหลายแห่งจะต้องทำการรีไฟแนนซ์เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำที่พวกเขาได้รับในช่วงวิกฤตโควิดอีกด้วย ดังนั้นหาก Fed ยังเดินหน้าทำนโยบายการเงินที่ตึงตัวตามแถลงการณ์ล่าสุด ธุรกิจจำนวนมากอาจประสบปัญหาทางการเงิน
ท่าทีล่าสุดของ Fed สร้างความผิดหวังให้กับผู้บริหารของหลายบริษัท ที่ต่างหวังว่าจะได้เห็นการปรับลดดอกเบี้ยภายในปีนี้ ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการเงินของพวกเขาได้ หลายบริษัทที่มีอันดับความน่าเชื่อถือต่ำ (Junk-Rated Companies) ได้ตัดสินใจชะลอการออกบอนด์เพื่อกู้ยืมออกไปจนกว่าต้นทุนการเงินจะลดต่ำลงกว่าในปัจจุบัน
ทีมนักวิเคราะห์จาก Deutsche Bank AG ระบุว่า การมีหนี้ที่รอถูกรีไฟแนนซ์จำนวนมากสะท้อนถึงความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ที่สูงขึ้น โดยประเมินว่า อัตราการผิดนัดชำระหนี้ของ High Yield Bond และสินเชื่อความเสี่ยงสูงในสหรัฐฯ จะพุ่งขึ้นไปทำแตะจุดสูงสุดที่ 9% และ 11% ตามลำดับ
ขณะที่ ศรีคานธ์ สันการัน นักกลยุทธ์ของ Morgan Stanley เชื่อว่า ภาวะดอกเบี้ยสูงที่ยาวนานขึ้นจะทยอยสร้างแรงกดดันให้กับกลุ่มบริษัทขนาดเล็กที่มีเครดิตเรตติ้งต่ำ โดยจุดที่ต้องจับตามองคือ กลุ่มบริษัทเหล่านี้จะมีหนี้ที่ครบกำหนดชำระพร้อมกันตำนวนมากในปี 2025
โดยมีการคาดการณ์ว่า เพื่อหลีกเลี่ยงการล้มละลาย บริษัทขนาดเล็กเหล่านี้อาจต้องปรับโครงสร้างหนี้ผ่านวิธีนำการถือหุ้นในบริษัทที่มีอยู่ไปแลกกับหนี้ (Debt-for-Equity Swap) หรือขอซื้อคืนหนี้ในราคาส่วนลด (Discounted Debt Repurchase)
อย่างไรก็ดี วิธีการข้างต้นจะช่วยให้บริษัทรอดพ้นปัญหาไปได้ในระยะสั้นเท่านั้น แต่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาแบบถาวรได้ ทำให้ในท้ายที่สุดเราน่าจะได้เห็นการล้มละลายในภาคธุรกิจที่สูงขึ้นอยู่ดี
ในช่วงไตรมาสแรกที่ผ่านมา ธุรกิจในสหรัฐฯ ต้องเผชิญกับต้นทุนดอกเบี้ยที่สูงขึ้นแล้วถึง 22% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ข้อมูลจาก Moody’s ยังระบุด้วยว่า ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมามีบริษัทในสหรัฐฯ ที่ล้มละลายไปแล้ว 16 แห่ง โดย 4 แห่งในจำนวนนี้ได้ผ่านการปรับโครงสร้างหนี้มาแล้ว แต่สุดท้ายก็ไม่รอด
เจเรมี เบอร์ตัน ผู้จัดการการลงทุนของ PineBridge Investments กล่าวว่า ภาวะดอกเบี้ยสูงที่ยาวนานจะไม่เพียงกระทบกลุ่มธุรกิจขนาดเล็กเท่านั้น แต่ธุรกิจในกลุ่มอื่นๆ ที่ไม่มีการปรับโมเดลทางธุรกิจให้สอดคล้องกับสภาวะการณ์ที่เปลี่ยนไป ก็จะได้รับผลกระทบในแง่ความสามารถของการทำกำไรในภาวะที่ต้นทุนการเงินสูงเช่นกัน
อ้างอิง: