×

มองทิศทางการเมืองสหรัฐฯ หลังเลือกตั้งมิดเทอม

12.11.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 MINS READ
  • โดยทั่วไปการเลือกตั้งกลางสมัยเป็นเหมือนเครื่องชี้วัดความไว้วางใจที่มีต่อตัวประธานาธิบดี แต่ในกรณีสหรัฐฯ วาทกรรมทางการเมืองมักให้ค่ากับเรื่องการถ่วงดุลอำนาจเป็นสำคัญ
  • ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งเกือบ 50% ออกไปใช้สิทธิ์ในการเลือกตั้งครั้งนี้ และผลการเลือกตั้งก็เป็นชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ของความหลากหลายทางเชื้อชาติและความหลากหลายทางเพศ
  • สิ่งที่จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอนจากการที่พรรคเดโมแครตครองเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรคือการตรวจสอบที่เข้มข้นขึ้น หลายประเด็นที่ไม่ชอบมาพากลในรัฐบาลทรัมป์จะต้องมีการสอบสวน

การเลือกตั้งกลางสมัย หรือที่เรียกว่า Midterm Election ที่เพิ่งผ่านพ้นไปเมื่อวันอังคารที่ 6 พฤศจิกายน ตามเวลาในสหรัฐฯ แม้ไม่ส่งผลกระทบต่อการดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ โดยตรง แต่ก็เปรียบเสมือนเป็นการลงประชามติความไว้วางใจที่มีต่อตัวทรัมป์และนโยบายที่ผ่านๆ มาของเขา ไม่ว่าจะเป็นในด้านความมั่นคงและเศรษฐกิจ

 

 

การเลือกตั้งกลางสมัยจะจัดขึ้นทุกๆ 4 ปี โดยจะเกิดขึ้น 2 ปีหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีอยู่เสมอๆ พูดง่ายๆ ก็คือสมมติการเลือกตั้งประธานาธิบดีเกิดขึ้นในปี 2016 (ซึ่งไม่ต้องสมมติก็ได้ เพราะเกิดขึ้นในปีนั้นจริงๆ) การเลือกตั้งกลางสมัยจะเกิดขึ้นในปี 2018 โดยการเลือกตั้งกลางสมัยจะเกิดขึ้นอีกครั้งในปี 2022 หลังการเลือกตั้งประธานาธิบดี 2020

 

บุคคลที่ได้รับการเลือกตั้งในการเลือกตั้งกลางสมัยประกอบด้วยผู้แทนราษฎรจำนวน 435 คน (วาระ 2 ปี) วุฒิสมาชิกจำนวน 33 หรือ 34 คนจาก 100 คน (วาระ 6 ปี) และรวมถึงผู้ว่าการของ 36 มลรัฐจากทั้งหมด 50 มลรัฐ (โดยมากวาระ 4 ปี ยกเว้นบางมลรัฐวาระ 2 ปี) ส่วน 1 ใน 3 ของที่นั่งวุฒิสมาชิกที่เหลือจะได้รับการเลือกตั้งพร้อมกับการเลือกตั้งประธานาธิบดี และอีก 1 ใน 3 ของที่นั่งวุฒิสมาชิกจะได้รับการเลือกตั้งในการเลือกตั้งกลางสมัยครั้งต่อไป ขณะที่การเลือกตั้งผู้ว่าการมลรัฐฯ บ้างก็จะมีขึ้นพร้อมกับการเลือกตั้งประธานาธิบดี บ้างก็มีขึ้นในช่วงเวลาที่แตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับปฏิทินของแต่ละมลรัฐ

 

โดยทั่วไปการเลือกตั้งกลางสมัยเป็นเหมือนเครื่องชี้วัดความไว้วางใจที่มีต่อตัวประธานาธิบดี แต่ในกรณีสหรัฐฯ วาทกรรมทางการเมืองมักให้ค่ากับเรื่องการถ่วงดุลอำนาจเป็นสำคัญ พรรครัฐบาลจึงมักจะศูนย์เสียที่นั่งทั้งในสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาอยู่เสมอ

 

อาจมีข้อยกเว้นในกรณีพิเศษอยู่บ้าง เช่น การเลือกตั้งกลางสมัยในปี 2002 ภายใต้ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุช ซึ่งชาวอเมริกันอยู่ภายใต้ภาวะหวาดกลัวจากการก่อการร้ายหลังเหตุวินาศกรรม 9/11 ทำให้พรรครีพับลิกันซึ่งเป็นพรรครัฐบาลในขณะนั้นได้ที่นั่งเพิ่มทั้งในสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา

 

สิ่งที่น่าสนใจสำหรับการเลือกตั้งกลางสมัยในครั้งนี้คือจำนวนผู้ออกมาใช้สิทธิ์เลือกตั้ง

 

 

โดยทั่วไปการเลือกตั้งกลางสมัยมักจะได้รับความสนใจน้อยกว่าการเลือกตั้งประธานาธิบดี และมีการวิเคราะห์ว่าผู้ที่ออกมาใช้สิทธิ์มักเป็นผู้ที่มีการศึกษามากกว่า และมีความหลากหลายทางชาติพันธุ์น้อยกว่า หรือพูดง่ายๆ คือส่วนใหญ่ที่ออกมาใช้สิทธิ์คือคนขาว* อย่างไรก็ดี ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งถึงเกือบ 50% ออกไปใช้สิทธิ์ในการเลือกตั้งครั้งนี้ และผลการเลือกตั้งก็เป็นชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ของความหลากหลายทางเชื้อชาติและความหลากหลายทางเพศ

 

ส่วนหนึ่งของการตื่นตัวทางการเมืองเป็นเพราะพรรคเดโมแครตพยายามผลักดันประเด็นเรื่องการถ่วงดุลอำนาจและการตรวจสอบ โดยมองว่าการผลักดันให้สมาชิกของพรรคเข้าไปนั่งในสภาจะทำให้การตรวจสอบประธานาธิบดีทรัมป์ในกรณีต่างๆ ทำได้ง่ายขึ้นกว่าการที่พรรครีพับลิกันเป็นเสียงข้างมากทั้งในสภาสูงและสภาล่าง ในขณะที่ทรัมป์ก็เข้าร่วมการหาเสียงของพรรครีพับลิกันอย่างเต็มที่ และเชิญชวนให้ผู้สนับสนุนออกไปใช้สิทธิ์ให้เหมือนกับว่าเป็นการเลือกประธานาธิบดี


ค่อนข้างเป็นที่แน่นอนแล้วว่าพรรคเดโมแครตจะกลายเป็นเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร และพรรครีพับลิกันยังคงเป็นเสียงข้างมากในวุฒิสภา นั่นหมายความว่าสภาคองเกรสในสมัยนี้จะมีลักษณะแตกเป็นสองพรรคอย่างชัดเจน ลักษณะเช่นนี้ผลักดันให้ทรัมป์ต้องพยายามเจรจากับพรรคฝ่ายตรงข้ามมากขึ้น ซึ่งอาจทำให้นโยบายที่ออกมามีความประนีประนอมมากขึ้น เนื่องจากต้องได้รับความเห็นชอบจากทั้งสองฝ่าย

 

แต่ในอีกทางหนึ่ง ความแตกแยกก็อาจทำให้เกิดความล่าช้าในการตัดสินใจจนก่อให้เกิดปัญหาในการบริหารงาน ยกตัวอย่างเช่น ภายใต้ประธานาธิบดีบารัก โอบามา ซึ่งตั้งแต่การเลือกตั้งกลางสมัยในการเป็นประธานาธิบดีสมัยแรกก็เกิดปัญหาการครองเสียงข้างมากในสภาสูงและสภาล่างโดยคนละพรรคกันมาตลอด (ยกเว้นการเลือกตั้งกลางสมัยในการเป็นประธานาธิบดีสมัยที่ 2 ของโอบามาที่พรรครีพับลิกันครองเสียงข้างมากในสภาสูงและสภาล่างได้ทั้งหมด) ความเห็นที่ไม่ลงรอยกันของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาทำให้การทำงบประมาณประจำปีเกิดความล่าช้าจนรัฐบาลต้องปิดทำการไปถึง 17 วัน

 

 

สิ่งที่จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอนจากการที่พรรคเดโมแครตครองเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรคือการตรวจสอบที่เข้มข้นขึ้น โดยก่อนการเลือกตั้งพรรคเดโมแครตก็ได้ออกมาประกาศแล้วว่าหากได้เสียงข้างมากในสภาล่างจะเปิดการสอบสวนทั้งเรื่องความเกี่ยวข้องของทรัมป์กับการแทรกแซงการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 2016 ของรัสเซีย หรือแม้แต่เรื่องการที่ทรัมป์ใช้เงินปิดปากผู้หญิงที่ตัวเองเคยมีความสัมพันธ์ด้วย ซึ่งประเด็นเหล่านี้ถูกละเลยและไม่ได้รับการตรวจสอบขณะที่รีพับลิกันเป็นเสียงส่วนใหญ่ของคองเกรส

 

และนี่ก็แสดงให้เห็นหัวใจสำคัญของประชาธิปไตย เมื่อไม่ชอบนโยบายของรัฐบาลปัจจุบันก็รอจนกระทั่งถึงการเลือกตั้งเพื่อที่จะเลือกให้อีกฝ่ายเข้าไปถ่วงดุล จากนี้คงต้องรอดูว่ากลไกที่ได้รับการออกแบบมาเพื่อตรวจสอบอำนาจของสหรัฐฯ จะทำงานได้ดีแค่ไหน

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising