×

เลือกตั้งสหรัฐฯ 2020: ยกสถานะ ‘รัฐวอชิงตัน ดี.ซี.’, ประกันสุขภาพโดยรัฐ: สิ่งที่อาจเกิด หากเดโมแครตครองทำเนียบขาว-สภาคองเกรส

26.10.2020
  • LOADING...
เลือกตั้งสหรัฐฯ 2020: ยกสถานะ ‘รัฐวอชิงตัน ดี.ซี.’, อัดฉีดเศรษฐกิจ, ประกันสุขภาพโดยรัฐ: สิ่งที่อาจเกิด หากเดโมแครตครองทำเนียบขาว-สภาคองเกรส

HIGHLIGHTS

5 MINS. READ
  • การเลือกตั้งครั้งนี้ พรรคเดโมแครตมีโอกาสดีที่จะได้ครองอำนาจทั้งทำเนียบขาว สภาสูง และสภาล่าง หรือที่เรียกกันว่า Trifecta เป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปี
  • การครองอำนาจทั้งฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติจะทำให้เดโมแครตสามารถออกกฎหมายหรือผลักดันนโยบายต่างๆ ได้ตามใจ โดยที่ไม่ต้องไปประนีประนอมกับพรรคตรงข้าม
  • นักวิเคราะห์ทางการเมืองหลายคนยังเชื่ออีกว่า ไบเดนน่าจะนำงบประมาณก้อนใหญ่ไปลงทุนกับพลังงานสะอาดด้วย นอกเหนือจากการอัดฉีดเศรษฐกิจโดยสร้างระบบสาธารณูปโภคเพื่อสร้างงานตามนโยบาย Buy Americans

4 ปีที่ผ่านมา ภายใต้การนำของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ทิศทางการบริหารสหรัฐอเมริกาออกไปแนวทางขวา หรืออนุรักษ์นิยมอย่างชัดเจน โดยเฉพาะนโยบายทางด้านเศรษฐกิจและการอพยพ แต่วันในที่ 3 พฤศจิกายนที่จะถึงนี้ ชาวอเมริกันมีสิทธิที่จะเลือก โจ ไบเดน ของพรรคฝ่ายเสรีนิยมอย่างเดโมแครตขึ้นมาบริหารประเทศแทน

ซึ่งจากผลโพลล่าสุดเราพบว่า ไบเดนมีคะแนนนำทรัมป์อยู่พอสมควรทั้งในระดับชาติและในระดับมลรัฐที่เป็น Swing States รวมถึงผู้สมัครสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) และสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ของพรรคเดโมแครตก็มีคะแนนนำพรรครีพับลิกันด้วย ซึ่งก็แปลว่าพรรคเดโมแครตมีโอกาสอันดีที่จะได้ครองอำนาจทั้งที่ทำเนียบขาว สภาสูงและสภาล่าง หรือที่เรียกกันว่า Trifecta

 

 

โอกาสที่เดโมแครตจะได้ Trifecta เป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปี
Trifecta เป็นอำนาจเบ็ดเสร็จที่ทั้งสองพรรคเฝ้าฝันถึง เพราะการควบคุมได้ทั้งทำเนียบขาวและสองสภาแปลว่าพรรคสามารถออกกฎหมายหรือนโยบายอะไรก็ได้ตามใจชอบ โดยที่ไม่ต้องไปประนีประนอมกับพรรคตรงข้าม ซึ่งในโลกยุคปัจจุบัน การที่พรรคเดโมแครตหรือรีพับลิกันจะผลักดันนโยบายขนาดใหญ่ออกมาได้นั้นจำเป็นจะต้องมี Trifecta อยู่ในมือ เพราะแนวคิดทางการเมืองของทั้งสองพรรค (Ideology) แตกต่างกันมากจนยากที่นโยบายที่เอียงขวาหรือเอียงซ้ายอย่างชัดเจนจะได้รับการสนับสนุนจากฝั่งตรงข้าม

ยกตัวอย่างเช่น รัฐบาลของทรัมป์ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา นโยบายชิ้นโบแดงสุดที่ทรัมป์ผลักดันออกมาได้คือการลดภาษีขนาดใหญ่ (โดยเฉพาะภาษีนิติบุคคล) ซึ่งเขาผลักดันออกมาได้สำเร็จในช่วงปี 2017 ที่รีพับลิกันยังครอง Trifecta อยู่ แต่หลังจากที่เดโมแครตกลับมาครองเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรปี 2018 ทรัมป์ก็ไม่สามารถผลักดันนโยบายใหญ่ๆ ออกมาได้อีกเลย (เพราะถูกโหวตคัดค้านในสภาล่าง) หรืออย่างในสมัยรัฐบาลของ บารัก โอบามา นั้น ผลงานชิ้นใหญ่ที่สุดของเขาก็คือการผลักดันกฎหมายประกันสุขภาพโอบามาแคร์ ที่เขาทำได้สำเร็จในปี 2010 ที่เดโมแครตมี Trifecta อยู่ในมือ

แต่เดโมแครตอาจจะต้องกำจัด Filibuster ด้วย

อย่างไรก็ดี การได้ Trifecta อย่างเดียวอาจจะไม่เพียงพอ เพราะวุฒิสภายังมีกฎเฉพาะตัวอยู่หนึ่งกฎที่เรียกว่า Filibuster

กฎ Filibuster ระบุไว้ว่า ก่อนที่วุฒิสภาจะโหวตกันได้ ส.ว. ของทั้งสองพรรคจะต้องได้โอกาสอภิปรายจนพึงพอใจก่อน และต้องใช้เสียง ส.ว. อย่างน้อย 60 คนออกมาโหวตว่าพวกเขาอภิปรายจนพอใจแล้ว วุฒิสภาถึงจะออกมาโหวตกันจริงๆ ได้ ซึ่งก็แปลว่า ถ้าพรรคฝ่ายตรงข้ามรวบรวมเสียงได้ถึง 41 เสียง พวกเขาก็สามารถยับยั้งไม่ให้วุฒิสภามีการลงมติกันได้แล้ว ต่อให้พรรคเป็นเสียงข้างน้อย (คือมีไม่ถึง 50 เสียง)

นั่นหมายความว่า ต่อให้พรรคเดโมแครตชนะเลือกตั้งจนได้ Trifecta พวกเขาก็อาจจะไม่สามารถผ่านกฎหมายหรือนโยบายอย่างที่หาเสียงไว้ได้อยู่ดี เพราะมาติดกฎ Filibuster ของสภาสูง (โอกาสที่เดโมแครตจะได้ครองที่นั่งในวุฒิสภาถึง 60 ที่นั่งแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย) ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้สูงว่า ถ้าไบเดนและพรรคเดโมแครตชนะเลือกตั้ง พวกเขาก็อาจจะล้มเลิก Filibuster ไปเสีย เพื่อให้พวกเขาสามารถใช้เพียงเสียงข้างมากแบบธรรมดา (50 เสียง) ในการผ่านกฎหมายที่วุฒิสภา

Buy Americans
นโยบายแรกเลยที่ไบเดนน่าจะพยายามผลักดันในฐานะประธานาธิบดีก็คือนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่ซบเซาจากการระบาดของโควิด-19 ด้วยการอัดฉีดเงินจากรัฐบาลกลาง

ไบเดนตั้งชื่อนโยบายชุดนี้ว่า Buy Americans ซึ่งเขาเสนอให้รัฐบาลกลางอัดฉีดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจ 700,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐลงไปในระบบ โดยเขาจะใช้เงินก้อนใหญ่ก้อนนี้ไปลงทุนกับโครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐาน (ถนน สะพาน ระบบราง ฯลฯ) โดยมีข้อกำหนดว่า อุปกรณ์ เครื่องมือ วัตถุดิบที่ใช้ทั้งหมดต้องซื้อภายในประเทศ เพื่อกระตุ้นให้มีการจ้างงานและเงินสะพัดในประเทศ คล้ายกับที่อดีตประธานาธิบดีอย่าง แฟรงกลิน ดี. โรสเวล ทำสมัยเกิดวิกฤตเศรษฐกิจตกต่ำ (The Great Depression) ในช่วงปี 1930

นอกจากนี้นักวิเคราะห์ทางการเมืองหลายคนยังเชื่ออีกว่าไบเดนน่าจะใช้เงินก้อนนี้ไปลงทุนกับพลังงานสะอาดด้วย เพราะถึงแม้เขาจะพูดมาตลอดว่าเขาไม่สนับสนุนนโยบาย Green New Deal ของนักการเมืองฝ่ายซ้ายในพรรคอย่าง อเล็กซานเดรีย โอกาซิโอ-กอร์เตส แต่เขาก็ทราบดีว่าฐานเสียงในพรรคเดโมแครตมีความกังวลต่อเรื่องภาวะโลกร้อนอย่างมาก และเงินกระตุ้นเศรษฐกิจชุดนี้น่าจะเป็นโอกาสอันดีที่เขาจะอ้างได้ว่าการลงทุนกับพลังงานสะอาดถือเป็นโครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานอันหนึ่ง

นโยบายนี้น่าจะเป็นนโยบายแรกที่ไบเดนจะต้องพยายามผลักดันออกมาให้ได้ เพราะคนอเมริกันจำนวนมากกำลังเดือดร้อนกับภาวะเศรษฐกิจที่ชะงักงัน และต่อให้พรรคเดโมแครตไม่ได้ Trifecta ไบเดนก็คงจะต้องพยายามประนีประนอมกับพรรครีพับลิกันเพื่อให้ได้แพ็กเกจกระตุ้นเศรษฐกิจ (Stimulus Package) ในสักรูปแบบออกมาให้ได้ (อาจจะเป็นวงเงินที่เล็กกว่า และห้ามไม่ให้เอาเงินไปลงทุนกับพลังงานสะอาดเป็นต้น)

สถานะมลรัฐของกรุงวอชิงตัน ดี.ซี.
กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เป็นเมืองหลวงของสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีสถานะเป็นเขตการปกครองพิเศษ ไม่ได้เป็นมลรัฐและไม่ได้อยู่ภายใต้การปกครองของมลรัฐใดๆ ทำให้ชาวอเมริกันกว่า 7 แสนคนของเมืองนี้ไม่มีสิทธิ์ในการเลือก ส.ส. หรือ ส.ว. เหมือนชาวอเมริกันในมลรัฐอื่นๆ

ชาวกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เรียกร้องเรื่องสถานะมลรัฐมานานแล้ว แต่ข้อเรียกร้องของพวกเขาถูกกีดกันโดยพรรครีพับลิกัน เพราะชาววอชิงตันมีแนวคิดทางการเมืองเหมือนชาวอเมริกันในเมืองใหญ่ทั่วไป คือมีแนวคิดแบบเสรีนิยม และมักจะโหวตให้พรรคเดโมแครต ทำให้พรรครีพับลิกันเกรงว่าการให้สถานะมลรัฐแก่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. จะเป็นการเพิ่มจำนวน ส.ส. และ ส.ว. ให้กับเดโมแครตฟรีๆ

ถ้าเดโมแครตได้ Trifecta ในการเลือกตั้งครั้งนี้ พวกเขามีแนวโน้มผลักดันเรื่องสถานะมลรัฐของกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. อย่างแน่นอน เพราะเป็นเรื่องที่ชาววอชิงตันเรียกร้องมานาน และคนอเมริกันส่วนใหญ่ก็เห็นด้วยกับเรื่องนี้ อย่างไรก็ดี พวกเขาอาจจะต้องใช้เทคนิคทางกฎหมายมาต่อสู้กับเรื่องสถานะมลรัฐ เพราะสถานะเขตการปกครองพิเศษนั้นถูกระบุไว้ในรัฐธรรมนูญและการแก้รัฐธรรมนูญตรงๆ เป็นเรื่องที่แทบจะเป็นไปไม่ได้ เทคนิคที่เดโมแครตอาจจะเอามาใช้ก็คือการลดขนาดกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ลงให้เหลือแค่พื้นที่รอบๆ ทำเนียบขาว สภาคองเกรส และอนุสาวรีย์ต่างๆ และยกเอาบริเวณที่เหลือ (ที่เป็นย่านที่อยู่อาศัยและย่านพาณิชย์) มาทำเป็นมลรัฐใหม่ ซึ่งการทำแบบนี้ไม่ต้องอาศัยการแก้รัฐธรรมนูญ อาศัยแค่การแก้กฎหมายแบบธรรมดา

 


เพิ่มหลักประกันสุขภาพด้วย Public Option
สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศพัฒนาแล้วประเทศเดียวที่ยังไม่สามารถการันตีการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ให้กับประชาชนของตัวเองได้ ยังมีชาวอเมริกันอีกหลายสิบล้านคนที่ไม่มีประกันสุขภาพ และนี่ก็เป็นหนึ่งในประเด็นหลักที่ชาวอเมริกันเป็นกังวลมาตลอด แม้แต่ตัวทรัมป์เองในปี 2016 เขาก็ได้หาเสียงไว้ว่าเขาจะผลักดันนโยบายให้คนอเมริกันได้เข้าถึงประกันสุขภาพในราคาที่ถูกลง (แม้ว่าสุดท้ายเขาจะทำไม่ได้ก็ตาม)

ไบเดนชูนโยบายสร้างประกันสุขภาพราคาถูกโดยรัฐบาลกลางให้ชาวอเมริกันผู้มีรายได้ต่ำมีสิทธิ์เลือกซื้อที่เรียกกันว่า Public Option ซึ่งนโยบายนี้ถูกพรรครีพับลิกันคัดค้านอย่างหนักหน่วงมาตลอด เพราะพวกเขาเห็นว่าการสร้าง Public Option จะต้องใช้เงินงบประมาณจำนวนมากมาสนับสนุน ซึ่งก็แปลว่ารัฐบาลกลางจำเป็นต้องเก็บภาษีเพิ่ม นอกจากนี้การที่รัฐลงมาเป็นผู้เล่นในธุรกิจประกันสุขภาพเองยังถือเป็นการขัดต่อหลักการค้าเสรีของฝ่ายขวา ที่ต้องการให้การแข่งขันเป็นเรื่องของเอกชนเท่านั้นโดยไม่มีรัฐมาแทรกแซง

ดังนั้นโอกาสเดียวที่ไบเดนจะผลักดันนโยบาย Public Option ได้คือเขาจะต้องมี Trifecta อยู่ในมือเสียก่อน

ปฏิรูปศาลสูง
มูลเหตุของการที่ไบเดนและพรรคเดโมแครตจะเสนอกฎหมายปฏิรูปศาลสูงสุด (Supreme Court) เกิดจากการที่ปี 2016 สมัยที่โอบามายังเป็นประธานาธิบดีอยู่ ผู้พิพากษาคนหนึ่งของศาลสูงสุดที่มีชื่อว่า แอนโทนิน สกาเลีย ได้เสียชีวิตลงอย่างกะทันหัน และโอบามาได้ใช้สิทธิ์ของตนในฐานะประธานาธิบดีเสนอชื่อ เมอร์ริก การ์แลนด์ ให้เป็นผู้พิพากษาคนใหม่ แต่ในขณะนั้นพรรครีพับลิกันครองเสียงข้างมากในวุฒิสภาอยู่ และพรรครีพับลิกันก็ปฏิเสธไม่ให้วุฒิสภาได้มีโอกาสพิจารณาคุณสมบัติและโหวตรับรองการ์แลนด์ โดยอ้างเหตุผลว่า ปี 2016 เป็นปีสุดท้ายของโอบามาแล้ว โอบามาควรจะเปิดโอกาสให้ชาวอเมริกันได้เลือกประธานาธิบดีคนใหม่ก่อน และให้ประธานาธิบดีคนใหม่ได้เป็นคนเลือกผู้พิพากษาเอง ซึ่งแน่นอนว่าโอบามาและพรรคเดโมแครตย่อมไม่พอใจการตั้งกติกาแบบนี้ของพรรครีพับลิกัน แต่พวกเขาก็ทำอะไรไม่ได้ เพราะพรรคเป็นเสียงข้างน้อยในสภาสูง

แต่พอมาปีนี้ รูธ เบเดอร์ กินส์เบิร์ก เสียชีวิต ทรัมป์และพรรครีพับลิกันกลับกลืนน้ำลายตัวเองด้วยการเสนอชื่อ เอมี โคนีย์ บาร์เรตต์ ขึ้นมาเป็นผู้พิพากษาศาลสูงสุดคนใหม่ทันที ทั้งๆ ที่เป็นปีสุดท้ายของทรัมป์แล้วเช่นเดียวกัน ทำให้ฐานเสียงของเดโมแครตโกรธแค้นอย่างมาก และพยายามผลักดันให้ไบเดนแต่งตั้งผู้พิพากษาเพิ่ม (Court-Packing) เพื่อเป็นการทวงคืนความยุติธรรมให้ฝ่ายตัวเอง


ว่ากันตามจริง ไบเดนค่อนข้างอึกอักกับเรื่องนี้ เพราะเขาเป็นนักการเมืองอาชีพที่เชื่อมั่นในเรื่องการคานอำนาจกันระหว่างบริหาร ตุลาการ นิติบัญญัติ ไบเดนเกรงว่าหากเขาเริ่มทำ Court-Packing ในครั้งนี้ ในการเลือกตั้งสมัยต่อๆ ไป หากรีพับลิกันได้ Trifecta บ้าง พวกเขาก็จะทำแบบนี้เช่นกัน ทำให้ในที่สุดศาลสูงสุดจะกลายเป็นองคาพยพหนึ่งของพรรคการเมือง ขาดซึ่งความอิสระและความน่าเชื่อถือในการตัดสินคดี แต่อย่างไรก็ดี ไบเดนก็ทราบว่าฐานเสียงของเขาต้องการให้เขาทำสิ่งนี้ เพราะพวกเขายังโกรธแค้นกับการกระทำของพรรครีพับลิกันในเก้าอี้ของกินส์เบิร์ก และที่สำคัญการที่มีศาลสูงสุดที่ไม่เป็นมิตรกับรัฐบาลของเขาก็ไม่ใช่เรื่องที่ดีเท่าไร เพราะศาลอาจจะตัดสินว่ากฎหมายที่ออกมาจากรัฐบาลของเขาขัดกับรัฐธรรมนูญเมื่อไรก็ได้ (ล่าสุดศาลก็กำลังจะตัดสินว่ากฎหมายโอบามาแคร์ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่)


แน่นอนว่าไบเดนจำเป็นต้องมี Trifecta เพื่อที่จะแก้กฎหมายเพื่อทำ Court-Packing แต่แค่ Trifecta อย่างเดียวก็อาจจะไม่เพียงพอ เพราะมีความเป็นไปได้สูงว่า ส.ว. ของพรรคบางคนที่มีแนวคิดแบบกลางๆ (Centrist) เช่น ส.ว. โจ แมนชิน จากมลรัฐเวสต์เวอร์จิเนีย และ ส.ว. คริสเตน ซินีมา จากมลรัฐแอริโซนา อาจจะโหวตไม่รับร่างกฎหมายนี้ (ด้วยความกังวลเกี่ยวกับความน่าเชื่อถือของศาลในระยะยาว) ดังนั้นการที่เดโมแครตจะผ่านกฎหมายนี้ได้ พวกเขาอาจจำเป็นที่ต้องชนะเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายนอย่างถล่มทลาย ให้มี ส.ว. ในมืออย่างน้อย 53-54 เสียง เพื่อที่จะรับประกันว่าพวกเขาจะมีเสียงโหวตถึง 50 เสียงในกรณีที่ ส.ว. สายกลางบางคนไม่เอาด้วยกับกฎหมายนี้

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising