“งานนี้พี่ขอด่วนเลยนะ ต้องส่งคืนนี้” ประโยคที่น่ากลัวยิ่งกว่าเรื่องสยองขวัญเรื่องไหน ทำไมทุกงานถึงเป็น ‘งานด่วน’ ไปเสียหมด
Urgency Culture คือวัฒนธรรมการทำงานที่ใครคนหนึ่งในระดับบริหารเชื่อว่าพนักงานใต้บังคับบัญชาของตัวเองนั้นสามารถทำงานได้อยู่ตลอดเวลาโดยไม่ได้สนใจว่าพวกเขาจะต้องมีชีวิตส่วนตัวบ้างเหมือนกัน หลายคนเชื่อว่าวัฒนธรรมเป็นพิษนี้เริ่มขึ้นในช่วงการปรับตัวให้พนักงานทำงานจากที่บ้าน ซึ่งที่จริงวัฒนธรรมแบบนี้มีมานานแล้ว แค่ถูกขยายให้ชัดจัดเต็มในช่วงเวลาของโรคระบาดเท่านั้นเอง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ‘งานที่สั่งไป พี่ขอภายในคืนนี้’ ผู้เชี่ยวชาญเผย 10 ประโยคที่ไม่ควรพูดใส่ใคร หากต้องการให้วัฒนธรรมองค์กรดีขึ้น
- ไม่เหมือนที่คุยกันไว้นี่นา? รู้จักพฤติกรรมพิษร้ายจากนายจ้าง ‘Quiet Promotion’ เงินเดือนเท่าเดิม เพิ่มเติมคือหน้าที่รับผิดชอบ
- อยากได้งานดี แต่แค่คอมพิวเตอร์ยังไม่มีให้พนักงานใช้? ปัญหาที่ดูเหมือนจะเล็ก แต่องค์กรต้องรีบแก้ไข
ส่วนใหญ่ในบริบทการทำงานของบ้านเราจะเห็น Urgency Culture ชัดในสายงานโซเชียลมีเดีย เอเจนซีการตลาด สื่อ โปรดักชัน ที่ทุกอย่างดูเหมือนจะด่วนตลอดเวลา แต่ไม่ใช่แค่สายงานใดสายงานหนึ่งที่ต้องเจอกับปัญหานี้ เพราะหลังจากการปรับตัวมาทำงานที่บ้าน ทุกสายงานก็ได้เจอกับ ‘งานด่วน’ อย่างทั่วถึง และตอนนี้มันไม่ได้ทำร้ายแค่พนักงานประจำ แต่ลุกลามไปทำร้ายทั้งพนักงานพาร์ตไทม์และฟรีแลนซ์ด้วย
บางครั้งอาจไม่ได้เป็นปัญหาจากพนักงานระดับหัวหน้าเสียเต็มประตู แต่เป็นเรื่องของการ ‘สร้างมาตรฐาน’ ของพนักงานด้วยกัน เมื่อบางคนมีค่านิยมในการเกทับกันว่าฉันทำงานหนัก ฉันอยู่ออฟฟิศจนถึงดึกนะ หรือวันเสาร์อาทิตย์ฉันก็ยังเข้าออฟฟิศมาทำงาน จนพนักงานระดับหัวหน้ามองว่าเป็นเรื่องปกติ ก็จะเกิดการกดดันขึ้นในหมู่พนักงานเองว่าในขณะที่มีคนทำงานหนัก (โดยไม่ได้ตระหนักว่านั่นคือนอกเวลางาน) ทำไมถึงยังมีคนกล้าจะทำตัวว่างอีก และสร้างความเคยชินให้กับหัวหน้าว่าพนักงานใต้บังคับบัญชาของตัวเองนั้นสามารถทำงานให้ได้ตลอดเวลา สั่งตอนไหนก็ได้ ไม่จำเป็นต้องดูนาฬิกาหรือปฏิทินหรอก ก็พวกเขาอยู่ออฟฟิศกันตลอดเวลาอยู่แล้ว
Erin Reid และ Lakshmi Ramarajan ศาสตราจารย์ผู้สอนวิชาธุรกิจ ได้ให้ข้อสังเกตไว้ว่า Urgency Culture มักจะนำมาใช้กดดันให้พนักงานกลายเป็น ‘แรงงานในอุดมคติ’ พนักงานคนไหนที่อุทิศกายและใจแบบสุดตัวเพื่อการทำงานนั้นคือพนักงานดีเด่น ยกย่อง เชิดชู ให้ทุกคนดูไว้ว่าพวกเขาเป็นตัวอย่างที่ดี ซึ่งวัฒนธรรมแบบนี้จะสร้างภาวะหมดไฟให้กับพนักงานคนอื่นได้ง่ายมาก และอาจทำให้สูญเสียพนักงานที่ทำงานดี แต่แยกชีวิตการทำงานกับชีวิตส่วนตัวได้ แม้ว่าการแยกแยะนั้นจะเป็นเรื่องสำคัญมากก็ตาม
Liz Kislik นักวิจัยด้านธุรกิจยังออกมาเตือนอีกว่า Urgency Culture ไม่ได้ส่งผลแค่เรื่องหมดไฟอย่างเดียว แต่ยังทำให้การร่วมงานกันระหว่างพนักงานไม่ราบรื่นเท่าไร และบางครั้งก็ทำให้เกิดการแสดงออกต่อเพื่อนพนักงานด้วยกันอย่างไม่เหมาะสม ซึ่งนำไปสู่การตัดสินใจที่ไม่มีประสิทธิภาพ เพราะมีเรื่องของอารมณ์และความรู้สึกส่วนตัวเข้ามาเกี่ยวข้อง
นักจิตวิทยาการปรึกษา Puja Roy แนะนำเอาไว้ว่า ถ้าองค์กรใดที่รู้ตัวว่ามี Urgency Culture ที่กำลังเติบโตอยู่ในหมู่พนักงาน ควรรีบวางแผนรับมือด้วยการสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่เป็นมิตรกับพนักงาน ไม่ว่าจะในเชิงกายภาพหรือจิตใจ สร้างระบบที่จะช่วยสนับสนุนปัญหาที่เกิดในหมู่พนักงาน กำหนดวันหยุดเพื่อฟื้นฟูสุขภาพใจ และที่สำคัญที่สุดเลยคือการทำให้พนักงานได้รู้สึกว่าพวกเขาไม่ควร ‘รู้สึกผิด’ ที่จะมี ‘ชีวิตส่วนตัว’
อ้างอิง: