×

UNDP ดึง 4 คน 4 วงการชี้ปัญหาช้างๆ ในสังคมไทย ตัวฉุดรั้งการบรรลุสังคมยั่งยืน

โดย THE STANDARD TEAM
13.11.2023
  • LOADING...
UNDP

เหลือเวลาอีกเพียง 7 ปีที่หลายประเทศได้ให้คำมั่นสัญญาว่าจะบรรลุทั้ง 17 เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ภายในปี 2030 ที่ครอบคลุม 5 เสาหลักสำคัญคือ ผู้คน (People), โลก (Planet), เศรษฐกิจและความกินดีอยู่ดี (Prosperity), สันติภาพ (Peace) และพันธมิตรเพื่อบรรลุเป้าหมาย (Partnerships) ซึ่งในขณะนี้ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเป็นหนึ่งในภูมิภาคที่หลายประเทศยังไม่เข้าใกล้การบรรลุทั้ง 17 เป้าหมาย เพราะเจอกับวิกฤตโรคระบาด ความไม่มั่นคงทางการเมือง จนถึงความเหลื่อมล้ำที่ฝังรากลึก

 

ความท้าทายและวิกฤตที่นับวันจะฉับพลันและเปลี่ยนรูปแบบ องค์การระหว่างประเทศอย่างสหประชาชาติ (United Nations: UN) และรัฐบาลทั่วโลกตระหนักว่าการพัฒนานโยบายในลักษณะสั่งการจากส่วนกลาง (Top Down) หรือนโยบายที่พัฒนาแค่วงในวิชาการไม่สามารถสอดรับกับปัญหาในพื้นที่ได้ และจะฉุดรั้งการบรรลุเป้าหมายในระดับสากลไปด้วย

 

เช่นเดียวกับไทยที่เห็นความสำคัญของการพัฒนาระดับจังหวัดและพื้นที่ จึงเกิดโครงการ SDG Localization (การขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในระดับพื้นที่ประเทศไทย) ผ่านความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) โดยมีสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กระทรวงมหาดไทย และสหภาพยุโรป เป็นผู้สนับสนุนและร่วมดำเนินการ เพื่อนำเป้าหมาย SDGs ไปพัฒนาแผนระดับจังหวัด

 

นอกจากการพัฒนาแผนระดับจังหวัด โครงการ SDG Localization มุ่งสอดแทรกความเข้าในใจเชิงหลักการของ SDGs ให้ประชาชนไทยเข้าใจว่าความยั่งยืนนั้นครอบคลุมทุกมิติในชีวิตประจำวัน ผ่านกิจกรรมประกวดเรียงความภาพถ่าย แคมเปญออนไลน์ รวมถึงงานเสวนาที่ดึงตัวแทน 4 กลุ่มร่วมถกในหัวข้อ ‘ประเทศไทยยั่งยืน รุ่นใหญ่สู่รุ่นใหม่’ เพื่อชี้ปัญหาที่ทุกคนรู้และเห็นอยู่ทุกวันแต่ไม่มีใครพูดถึง ตามสำนวน ‘ช้างตายทั้งตัวเอาใบบัวมาปิด’ เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายนที่ผ่านมา

 

GDP คือช้างตัวใหญ่ของคนทำงานด้านสิ่งแวดล้อม

 

ดร.เพชร มโนปวิตร นักวิทยาศาสตร์ด้านการอนุรักษ์ ที่ขับเคลื่อนประเด็นสิ่งแวดล้อมหลากหลายประเด็นมาตลอด 20 ปี ตั้งแต่เศรษฐกิจหมุนเวียน ขยะทะเลและการอนุรักษ์ปะการัง ไปจนถึงบริษัทสตาร์ทอัพที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนด้วยพลังผู้บริโภค เผยว่า ตั้งแต่สหประชาชาติกำหนดให้มีเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนทั้ง 17 ข้อ ได้ทำให้การขับเคลื่อนด้านสิ่งแวดล้อมอยู่ในกระแสหลักมากขึ้น ใกล้ตัวมากขึ้น แต่ก็ยังมีช้างตัวใหญ่ที่เป็นอุปสรรคต่อการขับเคลื่อนเรื่องนี้ “ช้างตัวใหญ่ที่สุดคือการประเมินตัวชี้วัดในการเติบโตทางเศรษฐกิจ หรือ GDP ของประเทศที่เหมาะสม ประเทศกำลังพัฒนาชอบมองว่าต้องเริ่มพัฒนาประเทศด้านเศรษฐกิจก่อน ก่อนที่จะไปสนใจพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อม แต่กลับลืมคิดไปว่าต้นทุนของสิ่งแวดล้อมจะส่งผลกระทบให้เกิดปัญหาอื่นๆ ตามมา ผลักดันให้เกิดกลุ่มเปราะบางและชายขอบมากขึ้น ดังนั้นการพัฒนาในมิติทั้งสองอย่างนี้ต้องทำควบคู่กันไป”

 

 

เช่นเดียวกับ เชอร์รี่-เข็มอัปสร สิริสุขะ นักแสดงและนักขับเคลื่อนด้านสิ่งแวดล้อมและธุรกิจเพื่อสังคม แลกเปลี่ยนมุมมองว่าปัญหาคือความต่อเนื่อง “ประเด็นด้านเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDGs เป็นเรื่องที่มีมานานแล้ว แต่เรายังขาดการทำอย่างต่อเนื่อง แต่ละภาคส่วน อาทิ ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม หรือภาคสื่อมวลชนมีการนำประเด็นดังกล่าวไปพัฒนาในแต่ละด้าน” โดยมองว่าปัญหาหรือช้างตัวใหญ่ของสังคมไทยคือการนำเป้าหมายและแนวทางการพัฒนาดังกล่าวมาบูรณาการกันอย่างเป็นระบบ ซึ่งจำเป็นที่จะต้องประสานควบคู่กันไปในทุกภาคส่วน และสร้างแรงกระตุ้นให้กับสังคมไทยไว้ว่า “ปัจจุบันเรากำลังเผชิญกับ Climate Catastrophe (หายนะทางสิ่งแวดล้อม) ที่จริงจังและรุนแรงมากขึ้นในปัจจุบัน โดยหากเราไม่ร่วมมือกันและช่วยกันในตอนนี้ มันยากมากที่เราจะหยุดยั้งวิกฤตนี้ได้ เราจะมาชิลๆ กันต่อไปไม่ได้แล้ว”

 

ช้างตัวใหญ่ของนักการเมืองคือปัญหาเชิงโครงสร้างและการไม่กระจายอำนาจ

 

 

ศุภณัฐ มีนชัยนันท์ (สส. แบงค์) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขต 9 กรุงเทพมหานคร สังกัดพรรคก้าวไกล เปิดเผยมุมมองตั้งแต่หันมารับหน้าที่ สส. ว่า “ช้างตัวใหญ่ที่สุดคือการแก้ไขปัญหาเรื่องโครงสร้างในระยะยาว แต่เนื่องจากการที่ประชาชนไปพูดกับภาครัฐยังเป็นเรื่องที่ยาก ถ้าวันนี้เรามีการกระจายอำนาจอย่างทั่วถึง หรือ Localization รับฟังปัญหาจากประชาชนอย่างจริงจัง ปัญหาเรื่องโครงสร้างอย่างน้ำประปาไม่สะอาดก็จะถูกแก้ไขอย่างตรงจุด”

 

พร้อมทั้งยกตัวอย่างถึงปัญหาเสาไฟฟ้าระโยงระยางในกรุงเทพมหานครว่า เป็นร่องรอยของการไม่บังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง และปัญหาเชิงโครงสร้างส่วนหนึ่งมาจากการไม่ดำเนินการของเจ้าหน้าที่ การคอร์รัปชันที่ไม่ถูกหยิบหยกมาแก้ปัญหาอย่างตรงจุด และการเข้าไม่ถึงสิทธิต่างๆ ของประชาชนอย่างเท่าเทียมและเสมอภาค ที่ภาคการเมืองต้องพูดและทำงานเรื่องนี้อย่างแข็งขันมากขึ้น ซึ่งประเด็นการบริหารจัดการอย่างโปร่งใสนั้นตรงกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนข้อที่ 16: ความสงบสุข ยุติธรรม และสถาบันเข้มแข็ง

 

ด้าน นันทกร วรกา เยาวชนผู้ชนะการแข่งขันเรียงความภาพถ่ายในหัวข้อ ‘เมื่อเจอช้างทั้งตัว และใบบัวปิดไม่มิด’ ของโครงการ SDG Localization แสดงมุมมองในฐานะเยาวชนว่า “เรามีโลกใบเดียว สิ่งแวดล้อมมีความสำคัญอย่างมาก ถ้าเราเปลี่ยนการกระจายอำนาจจาก Top Down เป็น Bottom Up ให้ภาคส่วนต่างๆ กลุ่มเยาวชนเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น โลกของเราจะน่าอยู่ขึ้นมากแน่ๆ”

 

ขณะที่ สรมงคล มงคละสิริ ผู้อำนวยการกองการต่างประเทศ พูดถึงบทบาทของกระทรวงมหาดไทยต่อเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืนว่า “กระทรวงมหาดไทยดำเนินการขับเคลื่อน SDG กับ 76 จังหวัดแล้ว โดยกำหนดให้แผนพัฒนาจังหวัดสอดคล้องตอบโจทย์ SDGs ดังนั้นเราจึงให้คำมั่นสัญญาว่าจะขับเคลื่อนกิจกรรมนี้ไปพร้อมกับทุกภาคส่วน” เช่นเดียวกับ อิริน่า กอร์ยูโนวา รองผู้แทนโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติประเทศไทย สรุปว่า “SDG Localization ไม่ใช่เพียงวลี แต่คือคำมั่นสัญญา สัญญาที่จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง สัญญาที่จะแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำที่เราต้องให้ความสนใจ”

 

โครงการ SDG Localization เข้ามาเสริมความเข้มแข็งในการทำงานของทุกภาคส่วนในด้านความยั่งยืนผ่านการเก็บข้อมูล (SDG Survey) และจัดทำชุดข้อมูลสำหรับจังหวัด (SDG Profile) เพื่อนำไปทำแผนระดับจังหวัดที่ตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนทุกกลุ่มอย่างทั่วถึง ปัจจุบันโครงการมีพื้นที่ในการทำงานอยู่ใน 15 จังหวัดนำร่อง ได้แก่ เชียงราย, เชียงใหม่, แม่ฮ่องสอน, ตาก, อุดรธานี, อุบลราชธานี, นครราชสีมา, กรุงเทพมหานคร, เพชรบุรี, สุราษฎร์ธานี, ภูเก็ต, สงขลา, ปัตตานี, ยะลา และนราธิวาส โดยเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ผู้ว่าราชการทั้ง 76 จังหวัด นำโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และปลัดกระทรวงมหาดไทย ร่วมกับหน่วยงานขององค์การสหประชาชาติ ร่วมแสดงวิสัยทัศน์ตอกย้ำการขับเคลื่อน SDG ทั่วประเทศอย่างเร่งด่วน ผ่านกิจกรรมของกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ ภายใต้การนำของผู้ว่าฯ ในแต่ละพื้นที่

 

 

โดยโครงการพัฒนาสหประชาชาติได้ทำงานอย่างใกล้ชิดกับผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้บริหารส่วนกลางของทุกกระทรวง รวมถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่ที่รัฐบาลไทยได้ให้คำมั่นสัญญาว่าจะดำเนินการขับเคลื่อน SDG ในระดับพื้นที่กับองค์การสหประชาชาติเมื่อปี 2022 เป็นต้นมา

 

ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมผ่านกิจกรรม SDG Localization Campaign ที่เชิญชวนผู้ใช้โซเชียลมีเดียมาสร้างเทรนด์ ‘SDG คือเรื่องของเรา’ (We are all connected) ร่วมเปิดมุมมองว่าการซื้อผักในตลาดจะสะเทือนถึงชั้นบรรยากาศของโลกได้อย่างไร ได้ที่โซเชียลมีเดียของ UNDP Thailand

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising