สหประชาชาติ (UN) ระบุว่า ประชากรโลกเผชิญหน้ากับปัญหาความอดอยากกว่าที่เคยเป็นมา ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด ส่งผลให้โอกาสความเป็นไปได้ที่จะผลักดันให้ปัญหาความอดอยากหายไปภายในปี 2030 ตามเป้าหมายที่วางไว้ยิ่งลดน้อยลงไปอีก
รายงานฉบับหนึ่งที่เป็นความร่วมมือของ 5 หน่วยงานภายใต้ UN ชี้ว่า ความหิวโหยเพิ่มสูงขึ้นกว่าอัตราการเพิ่มขึ้นของประชากรโลกในปี 2020 ซึ่งเกือบ 10% ของประชากรทั้งหมดคาดว่าประสบปัญหาทุพโภชนาการ ขาดสารอาหารที่สำคัญ โดยปัญหาความอดอยากพบได้มากในประเทศแถบทวีปแอฟริกา ทวีปที่ประชากรราว 1 ใน 5 ของทวีปที่ประสบปัญหาทุพโภชนาการอย่างหนัก
ทางด้าน อันโตนิโอ กูเตร์เรส เลขาธิการ UN ระบุว่า นี่คือข้อมูลใหม่ที่น่าเศร้าที่ประชากรโลกราว 720-811 ล้านราย กำลังประสบปัญหาภาวะอดอยาก เผชิญหน้ากับความหิวโหย ซึ่งเพิ่มมากขึ้นกว่าปี 2019 ที่ผ่านมาราว 161 ล้านราย ขณะที่ประชากรโลกกว่า 2.3 พันล้านราย หรือคิดเป็นราว 30% ของประชากรทั้งหมดทั่วโลกประสบปัญหาการเข้าถึงอาหารที่เพียงพอตลอดทั้งปี สะท้อนระดับความไม่มั่คงทางด้านอาหารของโลกในระดับปานกลางหรือรุนแรงที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างมากในช่วง 1 ปี เทียบเทียบกับช่วง 5 ปีก่อนหน้ารวมกัน
“แม้ว่าการผลิตอาหารทั่วโลกจะเพิ่มขึ้น 300% ตั้งแต่ช่วงกลางทศวรรษ 1960 แต่ภาวะทุพโภชนาการกลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้อายุขัยของประชากรโลกลดลง
ในโลกที่อุดมสมบูรณ์ เราไม่มีข้อแก้ตัวให้กับคนหลายพันล้านคนที่ไม่สามารถเข้าถึงอาหารเพื่อการมีสุขภาพที่ดีได้ สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้”
ขณะที่ เอมิลี ฟาร์ เจ้าหน้าที่จาก Oxfam เผยว่า การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสเป็นฟางเส้นสุดท้ายสำหรับผู้คนหลายล้านคนที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาสงครามและความขัดแย้ง ปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ และวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่เลวร้ายลง
โดยมีรายงานฉบับหนึ่งรายงานว่า มีเด็กที่อายุต่ำกว่า 5 ปีราว 149 ล้านราย จะประสบปัญหาเกี่ยวกับการเจริญเติบโต ร่างกายแคระแกร็นและมีอายุขัยที่สั้นลง ขณะที่มากกว่า 45 ล้านรายมีร่างกายที่ซูบผอมเกินไปเมื่อเทียบกับส่วนสูงที่พวกเขามี ในขณะที่มีเด็กที่ประสบปัญหาน้ำหนักเกินอยู่ที่ราว 39 ล้านราย
ในหลายพื้นที่ทั่วโลก การแพร่ระบาดของโควิดได้ก่อให้เกิดภาวะถดถอยอย่างรุนแรงและสร้างอุปสรรคต่อการเข้าถึงอาหาร ยิ่งทำให้ปัญหาความอดอยากแพร่กระจายออกไปเป็นวงกว้าง โดยในปี 2020 ที่ผ่านมา ความหิวโหยพุ่งสูงขึ้นแซงหน้าการเติบโตของประชากร ซึ่ง 9.9% ของประชากรโลก ขาดสารอาหารในปีที่ผ่านมาสูงขึ้นเทียบกับ 8.4% ในปี 2019
บทความที่เกี่ยวข้อง:
- สำรวจ ‘วัคซีนเข็มกระตุ้น’ หรือ ‘วัคซีนเข็มที่ 3’ ที่น่าสนใจในประชาคมโลก
- ไทยติดท็อปประเทศที่มีผู้ป่วยโควิดอาการหนักมากสุด
- เปรียบเทียบประสิทธิภาพล่าสุด วัคซีน Sinovac vs. Pfizer-BioNTech ในชิลี
- โควิด-19 กลายพันธ์ุสายพันธ์ุต่างๆ มีชื่อเรียกใหม่ว่าอย่างไร
- สำรวจราคาวัคซีนต้านโควิด-19 ในประชาคมโลก โดสละเท่าไร
- ผลข้างเคียงวัคซีนต้านโควิด-19 ในประชาคมโลก อาการเป็นอย่างไรบ้าง
- เช็กประสิทธิภาพวัคซีนต้านโควิด-19 ล่าสุด
ภาพ: Tafadzwa Ufumeli / Getty Images
อ้างอิง:
- https://apnews.com/article/business-health-coronavirus-pandemic-united-nations-690064b03f8c738e20ee49723e30af32
- https://www.independent.co.uk/news/un-world-hunger-was-dramatically-worse-in-pandemic-year-antonio-guterres-africa-rome-children-oxfam-b1882906.html
- https://www.nbcnews.com/news/world/un-world-hunger-was-dramatically-worse-pandemic-year-n1273723