สำนักข่าว The Guardian รายงานว่า คณะกรรมาธิการเส้นทางการค้ารวมเศรษฐกิจแห่งสหประชาชาติ (UN Committee for Trade Routes Uniting Economies) กำลังทบทวนแผนก่อสร้างเส้นทางเดินเรือสายใหม่ที่เรียกได้ว่าเป็น ‘คลองสุเอซ 2’ เพื่อรองรับสถานการณ์ ภายหลังเกิดกรณีเรือขนส่งสินค้าขนาดยักษ์ Ever Given ที่มีความยาว 400 เมตรเกยตื้นขวางคลองสุเอซเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา จนก่อให้เกิดความเสียหายใหญ่ต่อการขนส่งสินค้าระหว่างเอเชียและยุโรป ซึ่งใช้คลองสุเอซเป็นเส้นทางหลักในการเดินเรือ
แผนขุดลอกเส้นทางเดินเรือสายใหม่นี้อยู่ระหว่างแนวชายแดนอิสราเอลและอียิปต์ ใกล้กับแนวช่องแคบที่มุ่งตรงไปยังอ่าวอะกาบา หรืออ่าวเอลัต ทางตอนเหนือของทะเลแดง
ซึ่งก่อนหน้านี้ UN เคยมอบหมายให้บริษัทขุดเจาะอุโมงค์ระหว่างประเทศ OFP Lariol ศึกษาความเป็นไปได้ในการขุดลอกคลองสายนี้ และผลประเมินคาดว่าอาจต้องใช้เวลาราว 5 ปีกว่าจะขุดลอกสำเร็จ
โดย Iver Shovel ผู้ทำการศึกษาความเป็นไปได้เปิดเผยว่า เทคโนโลยีในการขุดลอกคลองนั้นก้าวหน้าไปมากเมื่อเทียบกับในยุคทศวรรษที่ 1850 ที่เริ่มสร้างคลองสุเอซ แต่ยังมีประเด็นที่ต้องพิจารณา คือการลดลงเล็กน้อยของระดับน้ำทะเลในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้เมื่อมีการปล่อยน้ำทะเลเข้าไปในคลองสายใหม่ และอาจส่งผลทำให้ชายหาดหลายแห่งมีความกว้างและความยาวมากขึ้น
ด้านกระทรวงการต่างประเทศแห่งสหราชอาณาจักรเปิดเผยว่า รัฐบาลทราบถึงแผนการพิจารณาสร้างคลองสุเอซ 2 พร้อมเสนอตัวรับบทบาทนำในโครงการก่อสร้าง เพื่อยกระดับภูมิภาคและสร้างเส้นทางการค้าที่ดีกว่าเดิม
ซึ่งสหราชอาณาจักรพร้อมเสนอให้ผู้เชี่ยวชาญช่วยเหลือและแบ่งปันข้อมูลการออกแบบอุโมงค์เชื่อมระหว่างสหราชอาณาจักรกับไอร์แลนด์เหนือ ขณะเดียวกันก็ยกตัวอย่างความสำเร็จในหลายโครงการก่อสร้างและขุดเจาะขนาดใหญ่ที่ผ่านมา
ที่ผ่านมา UN ยังได้ปฏิเสธหลายแนวคิดในการสร้างเส้นทางเดินเรือใหม่ๆ เช่น เส้นทางโบราณผ่านแม่น้ำไนล์ของอียิปต์ออกสู่ทะเลแดง ซึ่งมีขนาดที่แคบและไม่สามารถรองรับเรือสินค้าขนาดใหญ่ หรือเส้นทางผ่านอิรักและซีเรียที่มีความยาวกว่ามาก แต่มีข้อกังวลเรื่องความปลอดภัย
ภาพ: Mahmoud Khaled / Getty Images
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า
อ้างอิง: