ข่าวที่สหราชอาณาจักรประกาศจะเป็นชาติตะวันตกชาติแรกที่อนุมัติการใช้งานวัคซีนต้านโควิด-19 ของ Pfizer และ BioNTech ได้รับการชื่นชมจากเจ้าหน้าที่และหน่วยงานสาธารณสุขในหลายประเทศ แต่ยกเว้นเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญชื่อดังรายหนึ่งที่มองเรื่องนี้ในแง่มุมที่ต่างออกไป
ดร.แอนโทนี เฟาชี ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อระดับสูงของสหรัฐฯ มองว่า หน่วยงานกำกับดูแลการอนุมัติใช้วัคซีนของสหราชอาณาจักรอาจไม่ได้ตรวจสอบข้อมูลวัคซีนของ Pfizer และ BioNTech อย่างระมัดระวังเหมือนที่สหรัฐฯ ทำ และการอนุมัติใช้วัคซีนของสหราชอาณาจักรนั้นค่อนข้างเร่งรีบเกินไป
“เรามีมาตรฐานขั้นสูงสุดในแนวทางกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (FDA) สหราชอาณาจักรไม่ได้ทำอย่างระมัดระวัง และพวกเขามีเวลาอีกเพียง 2-3 วันข้างหน้า” เฟาชีให้สัมภาษณ์ต่อ Fox News เมื่อวันพุธที่ผ่านมา
ความเห็นของ ดร.เฟาชี ถูกมองว่า เป็นการเปิดฉากวิวาทะระหว่างทางการสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักร เนื่องจากการที่ผู้เชี่ยวชาญออกมาพูดเรื่องความเสี่ยงนั้น เป็นการบั่นทอนความเชื่อมั่นของสาธารณะในเรื่องความปลอดภัยของวัคซีน
อย่างไรก็ตาม ดร.เฟาชี ได้กล่าวขอโทษผ่าน BBC ในภายหลัง ต่อการที่เขาวิจารณ์การทำหน้าที่ของหน่วยงานกำกับดูแลของสหราชอาณาจักร โดยอ้างว่าเป็นความเข้าใจผิด และเขาไม่มีเจตนาจะชี้ว่าหน่วยงานกำกับดูแลของสหราชอาณาจักรและสหรัฐฯ นั้นทำหน้าที่ได้ดีหรือแย่มากกว่ากัน โดยมองว่าทั้งสองหน่วยงานมีการทำงานที่แตกต่างกัน
แต่เขายังยืนยันว่า หาก FDA ทำแบบสหราชอาณาจักร และรีบอนุมัติการใช้งานวัคซีนโดยเร็ว อาจต้องเจอกับกระแสโต้กลับ เนื่องจากสังคมชาวอเมริกันที่มีความสงสัยและยังไม่เชื่อมั่นในกระบวนการพัฒนาวัคซีน
“หากเราได้รับการอนุมัติเมื่อวานนี้หรือพรุ่งนี้ มันอาจจะมีกระแสโต้กลับในสังคมที่มีการกลั่นกรองอยู่แล้ว ผมคิดว่าในบางมุมในสหรัฐฯ มีความสงสัยที่มากเกินไปเกี่ยวกับกระบวนการนี้” เขากล่าว
ด้าน เมลินดา มิลล์ส ศาสตราจารย์ด้านสังคมวิทยา มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด วิพากษ์วิจารณ์ท่าทีของ ดร.เฟาชี ที่แสดงความสงสัยต่อกระบวนการอนุมัติวัคซีนของสหราชอาณาจักรว่าเป็นการบั่นทอนความเชื่อมั่น ในช่วงเวลาที่รัฐบาลของหลายประเทศกำลังดิ้นรนเพื่อโน้มน้าวให้ประชาชนจำนวนมากพอรับการฉีดวัคซีนเพื่อยุติการแพร่ระบาด
“ข้อกล่าวหาจากเฟาชีสร้างความเสียหายอย่างมากต่อความเชื่อมั่นของประชาชน เมื่อเราทราบแล้วว่ามีความลังเลใจในการฉีดวัคซีนอยู่ในระดับสูง” มิลล์สกล่าว
ทางด้าน เกวิน วิลเลียมสัน รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการของสหราชอาณาจักร ออกมาแสดงความเห็นต่อท่าทีของเฟาชี โดยกล่าวด้วยความเชื่อมั่นว่า สหราชอาณาจักร มีหน่วยงานกำกับดูแลทางการแพทย์ที่ดีมากกว่าหลายประเทศ ทั้งฝรั่งเศส เบลเยียมหรือแม้แต่สหรัฐฯ
แต่ความเห็นดังกล่าวดูเหมือนจะไม่เป็นประโยชน์ และทำให้ศาสตราจารย์มิลล์สต้องย้ำเตือนว่า การตอบโต้ด้วยการแสดงความมั่นใจดังกล่าวนั้นไม่ช่วยอะไร
ขณะที่ เซอร์จิโอ เดลลา ซาลา ศาสตราจารย์ด้านประสาทวิทยาและความรู้ความเข้าใจของมนุษย์ มหาวิทยาลัยเอดินบะระ ให้สัมภาษณ์ CNN ชี้ว่า รัฐบาลและเจ้าหน้าที่ของสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักร ควรหยุดรวมเอานโยบายทางการเมืองกับนโยบายสาธารณสุขในการอนุมัติใช้วัคซีน เป็นการแข่งขันเพื่อชัยชนะ
“ปัญหานี้เป็นหนึ่งในเรื่องการสื่อสาร เราควรหลีกเลี่ยงการผสมรวมเรื่องการเมืองเข้ากับนโยบายสาธารณสุข การแตกกันระหว่าง EU และหุ้นส่วนอย่างสหรัฐฯ รวมถึงชาติอื่นๆ ด้วยการกล่าวอ้างในความเหนือกว่านั้น เป็นการยั่วยุปฏิกิริยาของอีกฝ่าย ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสียหาย” เดลลา ซาลา กล่าว
สำหรับแนวทางการอนุมัติการใช้งานวัคซีนระหว่างสหราชอาณาจักรและสหรัฐฯ นั้นมีความแตกต่างหลักๆ ในเรื่องการตรวจสอบและวิเคราะห์ข้อมูลวัคซีน
ซึ่งหน่วยงานกำกับดูแลยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพ หรือ MRHA ผู้พิจารณาการอนุมัติใช้วัคซีนของสหราชอาณาจักร จะใช้ข้อมูลรายงานที่ได้จากบริษัทพัฒนาวัคซีนในการตัดสินใจอนุมัติ
ส่วน FDA ของสหรัฐฯ นั้นใช้การวิเคราะห์ข้อมูลดิบจากบริษัทพัฒนาวัคซีนหลายครั้ง ก่อนจะลงนามอนุมัติการใช้ยา ทำให้ใช้เวลาในการอนุมัตินานกว่าเล็กน้อย
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล
อ้างอิง: