อัตราเงินเฟ้อของสหราชอาณาจักรในเดือนพฤษภาคมพุ่งขึ้นทำสถิติสูงสุดในรอบ 40 ปีอีกครั้งที่ระดับ 9.1% ตามราคาอาหารและพลังงานที่ยังอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง
ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของสหราชอาณาจักรเพิ่งจะทำลายสถิติสูงสุดนับจากปี 1982 ที่ระดับ 9% ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา ก่อนที่สถิติจะถูกทำลายลงอีกครั้งอย่างรวดเร็วในเดือนพฤษภาคมที่ระดับ 9.1% ซึ่งถือว่าเป็นไปตามคาดการณ์ของนักเศรษฐศาสตร์ในการสำรวจของ Reuters
ทั้งนี้ เมื่อเทียบเป็นรายเดือนดัชนีราคาผู้บริโภคในเดือนพฤษภาคมปรับเพิ่มขึ้น 0.7% สูงกว่าคาดการณ์ของตลาดที่มองว่าจะเพิ่มขึ้น 0.6% เล็กน้อย อย่างไรก็ดี หากเทียบกับตัวเลข 2.5% ในเดือนเมษายน จะเห็นว่าตัวเลขปรับลดลง ซึ่งสะท้อนว่าอัตราเงินเฟ้อได้เริ่มชะลอตัวลงบ้างแล้ว
ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อเงินเฟ้อสหราชอาณาจักรในเดือนที่ผ่านมาคือ ค่าใช้จ่ายในภาคครัวเรือนที่ปรับเพิ่มขึ้น เช่น อาหารและเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ ค่าไฟฟ้า ก๊าซและเชื้อเพลิงอื่น รวมถึงค่าใช้จ่ายด้านการขนส่ง
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ได้ปรับขึ้นดอกเบี้ยเป็นครั้งที่ 5 ติดต่อกันเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ ทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหราชอาณาจักรในปัจจุบันเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 1.25% สูงสุดในรอบ 13 ปี โดย BOE ยังคาดว่าเงินเฟ้อของสหราชอาณาจักรอาจพุ่งขึ้นไปถึงระดับ 11% ภายในเดือนตุลาคมนี้
พอล เคร็ก ผู้จัดการพอร์ตโฟลิโอของ Quilter Investors ระบุว่า ตัวเลข CPI ล่าสุดที่ออกมาสะท้อนว่าปัญหาเงินเฟ้อจะไม่ใช่แค่ปัญหาในระยะสั้น และถือเป็นบททดสอบสำคัญของ BOE ในการจัดการเพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับค่าครองชีพของคนในประเทศ
“ในขณะที่สหรัฐฯ เลือกแนวทางการขึ้นดอกเบี้ยที่เร็วและแรง เพื่อแก้ปัญหาเงินเฟ้อ BOE ยังขึ้นดอกเบี้ยในอัตราที่ช้ากว่า เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอย” เคร็กกล่าว
อ้างอิง: