×

อังกฤษสิ้นหวังจัดการวิกฤตค่าครองชีพ เหตุราคาอาหารยังพุ่ง คาดรัฐบาลเค้นหามาตรการที่รุนแรงขึ้น

31.05.2023
  • LOADING...

เว็บไซต์ข่าวสถานีโทรทัศน์ CNN รายงานว่า อังกฤษกำลังเผชิญกับวิกฤตค่าครองชีพ หลังจากอัตราเงินเฟ้อยังคงขยับตัวอยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะราคาอาหาร หลังข้อมูลใหม่ล่าสุดแสดงให้เห็นว่าราคาสินค้าในร้านค้าในสหราชอาณาจักรพุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ นับเป็นสัญญาณล่าสุดของวิกฤตค่าครองชีพที่ดูเหมือนจะยากเย็นแสนเข็ญ ซึ่งนายกรัฐมนตรี ริชิ ซูนัค กำลังพิจารณามาตรการที่รุนแรงขึ้น ซึ่งรวมถึงการควบคุมราคาเพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อ

 

ทั้งนี้ ต้นทุนของสินค้าในร้านค้าหรือที่เรียกว่าอัตราเงินเฟ้อของราคาร้านค้า (Shop Price Inflation) เพิ่มขึ้น 9% ตลอดทั้งปีจนถึงเดือนพฤษภาคม ซึ่งเป็นระดับสูงสุดใหม่ของดัชนีย้อนหลังไปถึงปี 2005 ขณะที่ตามรายงานของ British Retail Consortium ระบุว่า แม้อัตราเงินเฟ้อด้านอาหารลดลงเล็กน้อยเป็น 15.4% ในเดือนพฤษภาคม แต่ก็ยังเป็นอัตราที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์ในอันดับ 2

 

เฮเลน ดิกคินสัน ซีอีโอของ British Retail Consortium ชี้ว่า ต้นทุนด้านพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ที่ลดลงช่วยให้ราคาของวัตถุดิบหลักบางชนิด เช่น เนย นม ผลไม้ และปลาลดลง แต่ราคาช็อกโกแลตและกาแฟกลับเพิ่มสูงขึ้นตามราคาสินค้าโภคภัณฑ์ทั่วโลกที่เพิ่มสูงขึ้น

 

แม้ว่าการลดลงเล็กน้อยของราคาอาหารจะทำให้ผู้บริโภคมีเวลาหายใจได้โล่งเปราะหนึ่ง แต่ก็ยังเป็นแรงกดดันต่อ ริชิ ซูนัค นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ซึ่งให้คำมั่นว่าจะลดอัตราเงินเฟ้อลงครึ่งหนึ่งในปีนี้ โดยเป็น 1 ใน 5 คำมั่นที่เจ้าตัวได้ให้สัญญาไว้

 

ลอรา ซูเตอร์ หัวหน้าฝ่ายการเงินส่วนบุคคลของนายหน้าค้าหุ้น AJ Bell ชาวอังกฤษในขณะนี้ ตกอยู่ในสภาพกลืนไม่เข้าคายไม่ออก เมื่อค่าใช้จ่ายด้านอาหารที่เคยอยู่ที่ 100 ปอนด์เมื่อปีที่แล้ว ขยับขึ้นมาอยู่ที่ 115 ปอนด์ในปีนี้ 

 

รายงานระบุว่า ครัวเรือนรายได้น้อยถือเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากเงินเฟ้อหนักที่สุด เนื่องจากอาหารถือเป็นค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่ของรายได้ โดยขณะนี้ จำนวนผู้คนที่เข้าคิวขอใช้บริการ Food Bank ในอังกฤษเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมากกว่าช่วงที่มีการระบาดสูงสุดของไวรัสโควิดแล้ว 

 

The Trussell Trust ซึ่งเป็นเครือข่าย Food Bank ที่ใหญ่ที่สุดของสหราชอาณาจักรเปิดเผยว่า ได้แจกจ่ายอาหารฉุกเฉินเกือบ 3 ล้านห่อในช่วง 12 เดือน จนถึงเดือนมีนาคม 2023 ซึ่งเพิ่มขึ้น 37% จากปีที่แล้ว

 

ในส่วนของธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ซึ่งรับหน้าที่โดยตรงในการจัดการควบคุมเงินเฟ้อก็ยอมรับว่า ราคาอาหารที่สูงขึ้นอย่างดื้อรั้น ทำให้เป้าหมายเงินเฟ้อ 2% ของ BOE เป็นเรื่องที่ท้าทายมากขึ้น และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 12 ครั้งติดต่อกันในช่วงที่ผ่านมาแทบจะไม่มีผลอะไรเลย 

 

แอนดรูว์ เบลีย์ ผู้ว่าการ BOE กล่าวว่า ราคาอาหารมีส่วนทำให้อัตราเงินเฟ้อสูงกว่าที่ทาง BOE คาดไว้ ก่อนยอมรับว่าทาง BOE มีหลายสิ่งหลายอย่างที่ต้องเรียนรู้เกี่ยวกับการดำเนินนโยบายการเงินในโลกแห่งการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่

 

รายงานระบุว่า ปัญหาเงินเฟ้อของสหราชอาณาจักรในขณะนี้เลวร้ายมากจนกระทั่งนายกรัฐมนตรีซูนัคกำลังพิจารณาที่จะขอให้ผู้ค้าปลีกจำกัดราคาอาหารที่จำเป็น ซึ่งเป็นมาตรการที่เคยใช้เมื่อนานมาแล้ว 

 

ทั้งนี้ ย้อนกลับไปในทศวรรษที่ 1970 รัฐบาลสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักรได้บังคับใช้การควบคุมค่าจ้างและราคาเพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อ แม้ว่านโยบายดังกล่าวจะไม่ได้ผลมากนัก

 

ด้านนักเศรษฐศาสตร์ส่วนหนึ่งอธิบายว่าการกำหนดเพดานราคาสูงสุดของสินค้าจะกระตุ้นให้บริษัทต่างๆ ผลิตสินค้าน้อยลง สวนทางกับดีมานด์ของผู้บริโภคที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งการที่อุปทานลดลงแต่อุปสงค์เพิ่มขึ้น ทำให้ภาวะขาดแคลนเป็นผลลัพธ์ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

 

นีล เชียริง หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ Capital Economics ระบุว่า นโยบายการควบคุมราคาถือเป็นบิดเบือนราคาในตลาด จึงควรใช้เฉพาะในสถานการณ์ที่รุนแรงเท่านั้น ซึ่งโดยส่วนตัว สถานการณ์ราคาอาหารในปัจจุบันยังไม่น่าจะรุนแรงถึงขั้นที่ต้องใช้มาตรการแทรกแซงเช่นนี้ 

 

ในส่วนของภาคธุรกิจก็ไม่เห็นด้วยเช่นกัน โดย แอนดรูว์ โอปี ผู้อำนวยการฝ่ายอาหารและความยั่งยืนของ British Retail Consortium กล่าวว่าการควบคุมราคาจะไม่สร้าง ‘ความแตกต่าง’ กับราคาอาหารที่สูงขึ้นเนื่องจากต้นทุนพลังงาน การขนส่ง และแรงงานที่เพิ่มสูงขึ้น โดยโอปีชี้ว่า ต้นทุนที่สูงขึ้นมาจากความยุ่งเหยิงของกฎระเบียบใหม่ที่มาจากรัฐบาล ซึ่งรวมถึงกฎที่เข้มงวดขึ้นเกี่ยวกับการรีไซเคิลและการควบคุมชายแดนอย่างเต็มรูปแบบสำหรับการนำเข้าอาหารจากสหภาพยุโรป ซึ่งจะเริ่มใช้ภายในสิ้นปีนี้อันเป็นผลสืบเนื่องจาก Brexit 

 

อย่างไรก็ตาม โฆษกรัฐบาลอังกฤษย้ำว่า การจำกัดราคาใดๆ จะไม่เป็นข้อบังคับ แผนการใดๆ ที่จะช่วยลดราคาอาหารสำหรับผู้บริโภคจะเป็นไปโดยสมัครใจและขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของผู้ค้าปลีก และว่าขณะนี้นายกรัฐมนตรีซูนัคกับ เจเรมี ฮันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กำลังประชุมกับภาคส่วนอาหารเพื่อดูว่าจะทำอะไรได้อีกบ้าง

 

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X