×

ประธาน นปช. จัดรำลึก 11 ปี 10 เมษา สลายการชุมนุมคนเสื้อแดงปี 53 ชี้ เป็นความตายที่ไม่ควรจะเกิดขึ้นในประเทศไทยอีก

โดย THE STANDARD TEAM
10.04.2021
  • LOADING...
ประธาน นปช. จัดรำลึก 11 ปี 10 เมษา สลายการชุมนุมคนเสื้อแดงปี 53 ชี้ เป็นความตายที่ไม่ควรจะเกิดขึ้นในประเทศไทยอีก

วันนี้ (10 เมษายน) ที่สถานีโทรทัศน์ พีซทีวี จตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. พร้อมด้วย ศักดิ์ระพี พรหมชาติ, ยศวริศ ชูกล่อม หรือเจ๋ง ดอกจิก, สุริยา ชินพันธุ์ พร้อมด้วยญาติวีรชน เช่น พะเยาว์ อัคฮาด และณัทพัช อัคฮาด ซึ่งเป็นมารดาและน้องชายของ กมนเกด อัคฮาด พยาบาลอาสา ที่เสียชีวิตจากกระสุนปืนภายในวัดปทุมวนารามในเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม 2553 รวมถึงมวลชนจำนวนหนึ่ง ร่วมกันรำลึกและทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้วีรชนที่ร่วมต่อสู้ในเหตุการณ์เมษาฯ-พฤษภาฯ 2553 เนื่องในโอกาสครบรอบ 11 ปี 10 เมษา 2553 ในเหตุการณ์สลายการชุมนุมคนเสื้อแดง

 

โดยมีการนำรูปวีรชนที่เสียชีวิตมาประกอบพิธีทำบุญ พร้อมนิมนต์พระสงฆ์จากวัดสุวรรณประสิทธิ์ จำนวน 9 รูป มาประกอบพิธีกรรมทางศาสนา พร้อมถวายสังฆทาน และกรวดน้ำให้วีรชนที่เสียชีวิตในเหตุการณ์ดังกล่าว จากนั้นเวลา 9 นาฬิกา จตุพรพร้อมคณะได้ถวายภัตตาหารแด่พระภิกษุสงฆ์ โดยมีทั้งอาหารคาวหวาน เช่น น้ำพริกกะปิปลาทูทอด พะโล้ขาหมู ผัดผักรวม ต้มจืดมะระยัดไส้ แกงส้มมะละกอกับกุ้ง ผัดพริกไก่สะตอ

 

จตุพรกล่าวว่า วันนี้ครบรอบ 11 ปี 10 เมษายน ซึ่งเป็นวันเริ่มต้นของความตาย วันนี้เมื่อ 11 ปีที่แล้วมีความตายเกิดขึ้น 26 ชีวิต จนถึง 19 พฤษภาคม 2553 มีคนตายทั้งหมดกว่า 99 ชีวิต และเสียชีวิตในภายหลังร่วมกว่า 10 ชีวิต ซึ่งเหตุการณ์นี้ไม่ควรจะเกิดขึ้นในประเทศไทยอีก เพราะประชาชนไปเรียกร้องประชาธิปไตย ซึ่งในขณะนั้นเรียกร้องเพียงแค่ให้มีการยุบสภา แต่กลับจบลงด้วยการปราบปรามเข่นฆ่าประชาชน ดังนั้น ความตายที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์การต่อสู้ทางการเมืองของประเทศไทย อย่างน้อยมี 2 เหตุการณ์ที่มีการสร้างอนุสรณ์สถานให้คนรุ่นต่อไปได้สืบสานเจตนารมณ์ คือ เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 

 

ส่วน 2 เหตุการณ์ที่มีความเจ็บปวดมากที่สุด คือ เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ที่มีการล้อมฆ่าประชาชนนักศึกษาที่ธรรมศาสตร์ และเหตุการณ์สลายการชุมนุมคนเสื้อแดง 10 เมษายน – 19 พฤษภาคม 2553 มีการล้อมปราบและเข่นฆ่าประชาชนมากที่สุดกว่าทุกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ซึ่งทั้ง 2 เหตุการณ์คือความร้าวราน เจอหน้ากันต้องกอดกันร่ำไห้ ดังนั้น ตนมีความหวังว่าวันหนึ่งเราคงจะได้มีอนุสรณ์สถาน เพื่อรวมอัฐิของพี่น้องวีรชน 53 ไว้ในที่เดียวกัน เหมือนกรณีอนุสรณ์สถานพฤษภาคม 2535 เพื่อเป็นที่รวมประวัติศาสตร์เป็นที่จดจำของวีรชนในเหตุการณ์ดังกล่าว ดังนั้น วันนี้ถือว่าเป็นการรำลึกเหมือนเช่นกับทุกปี ซึ่งใน 11 ปีที่ผ่านมานี้ ก็มีรูปแบบการทำบุญต่างๆ ทั้งแยกกันไปทำเป็นเฉพาะบุคคล ใครสะดวกตอนไหนก็ไปกันที่นั่น นอกจากนี้ วันที่ 19 พฤษภาคมนี้ เราจะเชิญชวนพี่น้องญาติวีรชนมาทำบุญอุทิศส่วนกุศลอีกครั้งหนึ่ง เพื่อรำลึกถึงวีรชนผู้เสียสละพลีชีพให้กับระบบประชาธิปไตย

 

จตุพรยังกล่าวถึงการยุติเวที ‘ไทยไม่ทน สามัคคีประชาชน เพื่อประเทศไทย’ ไว้ชั่วคราวว่า ตนสู้มาร่วม 30 ปี รู้ว่าจังหวะใดต้องรุก จังหวะใดต้องถอย แต่ประเด็น สำคัญใครคือ ผู้ถือความชอบธรรม หากเรายังเดินหน้าจัดการชุมนุมต่อ รัฐก็จะปฏิบัติการ IO และเราก็จะกลายเป็นผู้ร้าย และถูกสร้างให้เกิดความชิงชังเหมือนที่เคยสร้างมา ดังนั้น ในการระบาดโควิด-19 รอบนี้ และทุกรอบที่ผ่านมา เป็นความบกพร่องของ พล อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี อย่างอภัยไม่ได้ พล อ. ประยุทธ์อยู่มาแล้ว 7 ปี ถ้าเราไม่ทำอะไรก็จะอยู่ไปอีก 6 ปี ตลอดระยะเวลา 15 ปี แห่งความขัดแย้งของคนไทย ผู้ที่ได้ประโยชน์ที่สุดคือ พล อ. ประยุทธ์ ที่สั่งสมอำนาจมาจนแข็งแกร่งเช่นทุกวันนี้ แต่อีกไม่นาน พล อ. ประยุทธ์ ต้องออกจากตำแหน่งอย่างแน่นอน การชุมนุมของกลุ่มไทยไม่ทนที่ผ่านมาเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น อย่างไรก็ประเมินจากสถานการณ์โควิด-19 จึงรีบยุติชั่วคราว แต่เราจะทำต่อไปทางโซเชียลมีเดีย และจะ แตกหักจริงในเดือนพฤษภาคม

 

จตุพรยังกล่าวถึง ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการ นปช. ด้วยว่า การรวมตัวของกลุ่มไทยไม่ทนครั้งนี้ หากณัฐวุฒิมาร่วมตั้งแต่ต้น พรรคพวกที่เคยร่วมสู้กับตนเมื่อปี 35 หรือ พวกคนที่เคยสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จะกระอักกระอ่วนใจ ไม่กล้าเข้ามาร่วม เราต้องให้เวลาเขาทำใจสักหน่อย การชุมนุมที่ผ่านมาเป็นเพียงการวอร์มอัพ เป็นจุดเริ่มต้นเท่านั้น

 

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X