เด็กอายุน้อยกว่า 6 ปีต้องใช้ที่นั่งนิรภัยเด็กในรถยนต์ (Car Seat) ตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก (ฉบับที่ 13) พ.ศ. 2565 ที่เพิ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคมที่ผ่านมา และจะเริ่มบังคับใช้เมื่อพ้นกำหนด 120 วันหลังประกาศ ซึ่งตรงกับวันที่ 5 กันยายน 2565 พ่อแม่ผู้ปกครองหลายท่านน่าจะกำลังสงสัยว่าที่นั่งนิรภัยเด็กเป็นอย่างไร มีกี่แบบ และเลือกใช้อย่างไร
‘ที่นั่งนิรภัยเด็ก’ เป็นอุปกรณ์ความปลอดภัยบนรถยนต์เช่นเดียวกับเข็มขัดนิรภัยหรือถุงลมนิรภัย ช่วยลดความเสี่ยงจากการบาดเจ็บหรือเสียชีวิตในขณะเกิดอุบัติเหตุ เช่น เด็กกระเด็นออกจากรถ เนื่องจากรูปร่างของเด็กไม่เหมาะสมกับเข็มขัดนิรภัยของผู้ใหญ่ จึงต้องมีอุปกรณ์ความปลอดภัยที่ต่างออกไป
ข้อมูลจากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่าที่นั่งนิรภัยเด็กสามารถลดการเสียชีวิตของเด็กได้ถึง 70% ซึ่งควรใช้ให้เหมาะกับช่วงอายุ น้ำหนัก และส่วนสูงของเด็ก (ตามข้อกำหนดของบริษัทผู้ผลิต) โดยแบ่งเป็น 3 ประเภท ดังนี้
- แบบติดตั้งหันหน้าไปทางด้านหลังรถ (Rear-Facing Car Seat) เป็นที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กทารก ใช้ในเด็กแรกเกิดจนถึงอายุ 2 ปี เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดกระดูกต้นคอหัก จากการสะบัดของศีรษะเมื่อเกิดการชนหรือเบรกรุนแรง
- แบบติดตั้งหันหน้าไปทางด้านหน้ารถ (Forward-Facing Car Seat) เป็นที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กเล็ก ใช้ในเด็กอายุ 2-4 ปี
- แบบเสริม (Booster Seat) เป็นที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กโต ใช้ในเด็กอายุ 4-12 ปี เพื่อยกตัวเด็กขึ้นให้สามารถใช้เข็มขัดนิรภัยของผู้ใหญ่ได้พอดี โดยนั่งตัวตรงห้อยขากับเบาะรถ และหลังพิงพนักได้ถนัด ส่วนล่างของเข็มขัดนิรภัยต้องพาดผ่านกระดูกเชิงกราน และส่วนบนพาดผ่านหน้าอก
และมีคำแนะนำในการเลือกใช้ ดังนี้
- เลือกที่นั่งนิรภัยเด็กที่ผ่านมาตรฐาน
- ที่นั่งนิรภัยเด็กทุกประเภท ให้เด็กนั่งจนกว่าจะมีน้ำหนักและส่วนสูงเกินเกณฑ์ที่บริษัทกำหนด
- ติดตั้งที่นั่งนิรภัยเด็กทุกประเภทไว้ตรงเบาะหลังของรถยนต์
- หากรถไม่มีเบาะหลัง ให้ติดตั้งที่นั่งนิรภัยเด็กข้างเบาะคนขับ และห้ามใช้ถุงลมนิรภัย หรือเลื่อนเบาะไปด้านหลังให้มากที่สุด เพราะเมื่อเกิดอุบัติเหตุกระแทกแรง ถุงลมนิรภัยอาจอาจอัดกระแทกเด็กได้
อ้างอิง:
- อุปกรณ์ส่งเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก http://thaincd.com/document/file/download/leaflet/%E0%B8%AD%E0%B8%B8%E0%B8%9B%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%93%E0%B9%8C%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%9B%E0%B8%A5%E0%B8%AD%E0%B8%94%E0%B8%A0%E0%B8%B1%E0%B8%A2%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B9%87%E0%B8%81.pdf
- กรมควบคุมโรค แนะข้อควรปฏิบัติเมื่อนำเด็กเล็กโดยสารรถยนต์ เพื่อความปลอดภัย https://ddc.moph.go.th/brc/news.php?news=18091&deptcode=brc&news_views=4811
- Keep Child Passengers Safe https://www.cdc.gov/injury/features/child-passenger-safety/index.html