×

“คนไทยอินเรื่องบันเทิง ค้าปลีกจะติดสปีดสู่ออนไลน์เร็วขึ้น” บทสัมภาษณ์พิเศษ ผู้บริหารทวิตเตอร์ อาเซียน

13.05.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 MINS. READ
  • กรรมการผู้จัดการประจำทวิตเตอร์ อาเซียน มองว่า เหตุผลสำคัญที่ทำให้ทวิตเตอร์ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในไทยมาจากการที่ผู้ใช้งานได้ร่วมกันถกเถียง แสดงความเห็นในประเด็นต่างๆ ที่มีความหลากหลายอย่างเสรี
  • ประเด็นยอดนิยมที่ได้รับความสนใจบนทวิตเตอร์ประเทศไทยคือ ‘เรื่องบันเทิง’ ละคร ซีรีส์ ศิลปิน ส่วนความสวยความงาม (Beauty) และอาหารการกิน (Food and Drink) ก็เป็นประเด็นที่กำลังมาแรงไม่แพ้กัน
  • New Normal ที่จะเกิดขึ้นหลังจบโควิด-19 คือการเร่งปฏิกิริยาให้สมรภูมิค้าปลีกขยับมาอยู่บนโลกออนไลน์และโซเชียลคอมเมิร์ซได้เร็วขึ้นกว่าเดิม 

เราพบว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียอย่าง ‘ทวิตเตอร์’ (Twitter) ได้ก้าวเข้ามามีบทบาทเป็นอย่างมากกับการจุดติดประเด็นต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมไทยจนเกิดกลายเป็นการขับเคลื่อนและนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงบางอย่างที่มีพลวัตได้อย่างน่าสนใจ

 

ไม่แปลกที่เราจะเห็นคนรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อยตัดสินใจโยกย้ายมาตั้งรกรากปักฐานบนแพลตฟอร์มที่ได้ชื่อว่าเป็นดินแดนเสรีภาพทางความคิดแห่งนี้ (Freedom of Speech) จนมันกลายเป็นพื้นที่ที่ผู้คนจำนวนมากพร้อมจะหยิบยกเรื่องราวในประเด็นต่างๆ ขึ้นมาถกเถียง แสดงความคิดเห็น และหาทางออกร่วมกันอย่างเปิดเผยต่างจากแพลตฟอร์มอื่นๆ

 

ทั้งประเด็นทางการเมือง ความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นในสังคม ประเด็นดราม่า กรณีขัดแย้งต่างๆ ข่าวบันเทิง ดารา-ละคร ทั้งในไทยหรือเกาหลี เคล็ดลับการใช้ชีวิต ไปจนถึงการจุดติดแคมเปญรณรงค์เพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลง เป็นต้น

 

ในโอกาสที่ทวิตเตอร์ได้เปิดตัวแอ็กเคานต์ ‘ทวิตเตอร์ประเทศไทย’ (@TwitterThailand) อย่างเป็นทางการในวันนี้ (13 พฤษภาคม) THE STANDARD มีโอกาสได้สัมภาษณ์ อาร์วินเดอร์ กุจราล กรรมการผู้จัดการประจำทวิตเตอร์ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อสะท้อนแง่มุมที่น่าสนใจที่เกิดขึ้นกับทวิตเตอร์ประเทศไทย ตลอดจนมอง New Normal และเทรนด์ที่จะเกิดขึ้นกับผู้ใช้งานโซเชียลมีเดียในอนาคตอันใกล้นี้

 

(เนื่องจากข้อจำกัดด้านโรคระบาดโควิด-19 และความปลอดภัยในการเดินทาง บทสัมภาษณ์ในครั้งนี้จึงเป็นไปในรูปแบบการสัมภาษณ์ผ่านทางอีเมล)

 

ไทยถือเป็นหนึ่งในประเทศที่เสพติดการใช้งานอินเทอร์เน็ตมากๆ โดยข้อมูลจาก WeAreSocial และ Hootsuite ในปีที่ผ่านมาระบุว่าเราเป็นเบอร์ 2 ของโลกที่มีปริมาณการใช้งานอินเทอร์เน็ตผ่านสมาร์ทโฟนสูงกว่า 4 ชั่วโมง 57 นาทีต่อวัน คุณคิดเห็นอย่างไรกับชุดตัวเลขนี้ มองมันเป็นโอกาสของทวิตเตอร์อย่างไร

ผมรู้สึกว่าผู้ใช้งานทวิตเตอร์ในไทยค่อนข้างมีแพสชันมากๆ พวกเขาสนใจเรื่องราวในประเด็นที่หลากหลาย ตัวทวิตเตอร์เองก็เป็นสถานที่ที่พวกเขาจะสามารถเชื่อมต่อและแบ่งปันเรื่องราวและประสบการณ์ที่พวกเขามีได้ ซึ่งจากการที่ไทยเป็นประเทศที่มีอัตราการเข้าถึงและการใช้งานอินเทอร์เน็ตที่ดีมากๆ ผลลัพธ์จึงทำให้คนไทยใช้เวลาอยู่บนโลกออนไลน์กันมากขึ้น รวมถึงมาอยู่บนแอปฯ ทวิตเตอร์เรามากขึ้นด้วย

 

ไม่ว่าจะเพื่อประโยชน์ด้านความบันเทิง การขายของบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย (Social Commerce) การมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนๆ และผู้คนในชุมชน เราพบว่าคนไทยเอ็นเกจกับบทสนทนาบนแพลตฟอร์มของเรามากกว่าที่เคย ทั้งประเด็นความบันเทิง เพลง ละคร ภาพยนตร์ กีฬา อาหารและเครื่องดื่ม ความสวยความงาม เกม ฯลฯ

 

นอกจากนี้ไม่กี่เดือนที่ผ่านมา เรายังพบว่าผู้คนจำนวนมากได้เข้ามาใช้งานแพลตฟอร์มทวิตเตอร์เพื่อเข้าร่วมการสนทนาและติดตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแบบเรียลไทม์ ตัวอย่างเช่น การพูดคุยในประเด็นโรคระบาดโควิด-19 เป็นต้น

 

2-3 ปีที่ผ่านมา เราพบว่าแพลตฟอร์มทวิตเตอร์ในประเทศไทยเติบโตเป็นอย่างมาก ทั้งในแง่ของจำนวนผู้ใช้งานและเอ็นเกจเมนต์บนแพลตฟอร์ม คุณคิดว่าอะไรคือเบื้องหลังความสำเร็จที่เกิดขึ้นนี้ และทวิตเตอร์มีแพลนจะพัฒนาแพลตฟอร์มของตัวเองให้ดีขึ้นในอนาคตได้อย่างไร

พลังของทวิตเตอร์คือ ‘ผู้ใช้งานแพลตฟอร์ม’ (Audience) ตลอดจนการที่ทวิตเตอร์ก็ได้ก้าวเข้ามามีบทบาทสำคัญเป็นอย่างมากในชีวิตประจำวันของคนไทย ความหลากหลายของผู้ใช้งานในประเทศ ไปจนถึงบทสนทนาที่เกิดขึ้น ล้วนแล้วแต่เป็นหนึ่งในเบื้องหลังความสำเร็จของทวิตเตอร์ประเทศไทย

 

ที่สำคัญถ้าให้เปรียบเทียบคือ ทวิตเตอร์เป็นเหมือนแพลตฟอร์มที่ให้อารมณ์ประมาณว่า ‘มาดูนี่สิ’ (look at this) มากกว่า ‘จงดูฉันสิ’ (look at me) นี่เป็นหนึ่งความแตกต่างที่ชัดเจนเป็นอย่างมาก ซึ่งในประเทศไทย พื้นที่ในทวิตเตอร์ยังเป็นสถานที่ที่ผู้คนมักจะเลือกทวีตเรื่องราวเกี่ยวกับละคร ซีรีส์ หรือภาพยนตร์ที่พวกเขาดู ทีมกีฬาที่ชื่นชอบ รวมถึงยังเป็นสถานที่ที่เปิดกว้างสำหรับบทสทนาในประเด็นข่าว สถานการณ์ร้อนที่เกิดขึ้นในสังคม เทรนด์สังคม ณ ช่วงเวลานั้นๆ

 

ประกอบกับบทสนทนาที่เกิดขึ้นบนแพลตฟอร์มทวิตเตอร์ยังสะท้อนเรื่องราวต่างๆ และการพูดคุยของผู้คนได้แบบเรียลไทม์ เราจึงเปรียบเสมือนแหล่งทรัพยากรสาธารณะที่ยิ่งใหญ่ (เชิงความเห็น มุมมองของผู้คน) เป็นเหมือนสารานุกรมทางความคิดเห็น และเทรนด์สังคมในแต่ละช่วงเวลา

 

ส่วนแผนการพัฒนาของทวิตเตอร์ในไตรมาส 1 ปีนี้ที่เรามุ่งเน้นให้ความสำคัญนั้นจะประกอบด้วยการเพิ่มและปรับปรุงฟีเจอร์ใหม่ๆ เช่น Topics ที่จะช่วยให้ผู้คนสามารถติดตามประเด็นต่างๆ ได้อย่างใกล้ชิดมากยิ่งขึ้น, List ช่วยให้ผู้ใช้ทวิตเตอร์สามารถดูทวีตในประเด็นที่พวกเขาสนใจจากการจัดอันดับเรื่องราวต่างๆ 

 

แถบ Explore ที่ทางทวิตเตอร์ได้เพิ่มให้ผู้ใช้สามารถเพิ่มการคัดกรองการค้นหาโดยอิงจากข้อมูลสถานที่และพิกัดที่ผู้ใช้งานอาศัยอยู่ เพื่อให้แสดงผลเรื่องราวที่ตรงกับความสนใจของผู้ใช้งานคนนั้นๆ ได้มากที่สุด 

 

Fleets ที่ได้เริ่มทดลองการใช้งานกับผู้ใช้ในบราซิลเป็นที่แรก ช่วยให้ผู้ใช้สามารถแชร์ความคิด ความรู้สึกของตัวเองได้แบบชั่วคราว ทั้งในรูปแบบข้อความ ภาพ วิดีโอและไฟล์ GIFs โดยคอนเทนต์ Fleets จะมีอายุที่ 24 ชั่วโมง ไม่สามารถรีทวีต ไลก์ หรือรีพลายตอบได้เหมือนทวีตข้อความปกติทั่วไป​ (คล้ายๆ Instagram Stories)

 

สำหรับในประเทศไทย เรายังได้ทำงานอย่างใกล้ชิดร่วมกับ พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในความร่วมมือการให้ข้อมูลข่าวสารที่น่าเชื่อถือของประเด็นโรคระบาดโควิด-19 อีกด้วย

 

 

ผู้ใช้งานทวิตเตอร์ในไทยมองแพลตฟอร์มของพวกคุณเป็นพื้นที่ที่ให้สิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกซึ่งความเห็นอย่างเต็มที่ (Free Speech) คุณรู้สึกอย่างไรที่ผู้ใช้งานคนรุ่นใหม่จำนวนมากเชื่อมั่นในแพลตฟอร์มทวิตเตอร์

ทวิตเตอร์เป็นแพลตฟอร์มแบบเปิดที่ได้เข้ามาเป็นส่วนสำคัญของชีวิตประจำวันผู้คน เป็นแพลตฟอร์มที่ช่วยให้คนหลายล้านคนทั่วโลกได้แบ่งปันและพบเจอเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ของตัวเองหรือทั่วโลกได้อย่างอิสระ โดยหนึ่งในเรื่องที่เราให้ความสำคัญมากๆ ก็คือการทำให้แน่ใจว่าทวิตเตอร์ยังเป็นพื้นที่ที่มีความ ‘น่าเชื่อถือ’ ทำให้ผู้ใช้งานทั้งในไทยและประเทศอื่นๆ ได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ปลอดภัย

 

ในประเทศไทย เราพบว่าผู้ใช้งานมีการใช้งานแพลตฟอร์มของเราในหลากหลายรูปแบบ คนทุกคนล้วนมีความแตกต่างกัน และเอกลักษณ์เฉพาะตัวของพวกเขาก็ได้สะท้อนออกมาผ่านตัวตนผู้ใช้ทวิตเตอร์ที่มีความหลากหลายเช่นกัน บางคนอาจจะสนใจประเด็นความบันเทิง กีฬา ซีรีส์ ละครไปจนถึงสถานการณ์สดๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้นๆ ซึ่งก็พอจะบ่งชี้ได้ว่าบทสนทนาบนแพลตฟอร์มทวิตเตอร์ไทยค่อนข้างหลากหลายมากๆ

 

คุณพอจะแชร์ข้อมูลหรืออินไซต์ที่น่าสนใจของผู้ใช้และการใช้งานทวิตเตอร์ในไทยให้เรารับฟังได้ไหม

บทสนทนาและประเด็นส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นบนแพลตฟอร์มทวิตเตอร์ในไทยค่อนข้างมีความหลากหลายเป็นอย่างมากตามที่ผมได้เกริ่นไปก่อนหน้านี้ แต่ประเด็นยอดนิยมที่สุดคือ ‘ความบันเทิง’ มีตั้งแต่การทวีตข้อความเกี่ยวกับเพลงหรือวงดนตรีที่ผู้ใช้ทวิตเตอร์ในไทยชื่นชอบ ดารา นักแสดงที่พวกเขาสนับสนุน ความคิดเห็นและเอ็นเกจเมนต์ที่เกิดขึ้นระหว่างการรับชมละครไทย และการแสดงคอนเสิร์ตแบบสดๆ 

 

ผู้ใช้ทวิตเตอร์ในไทยยังเป็นแฟนกีฬาตัวยง พิสูจน์ได้จากในทุกๆ ครั้งที่มีมหกรรมกีฬาใดๆ ก็ตามที่นักกีฬาหรือทีมกีฬาทีมชาติไทยลงทำการแข่งขัน คนส่วนใหญ่ก็จะร่วมกันทวีตข้อความพร้อมติดแท็ก #Thailand เพื่อให้กำลังใจตัวแทนนักกีฬาไทยอย่างสุดกำลัง รวมถึงคนไทยยังหลงใหลในกีฬา ‘ฟุตบอล’ ที่ส่วนใหญ่มักจะติดตามรายการสำคัญๆ อย่าง ฟุตบอลโลก (FIFA World Cup), ฟุตบอลยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก (UEFA Champions League) และฟุตบอลพรีเมียร์ลีกอังกฤษ (English Premier League)

 

ส่วนประเด็นที่กำลังมาแรงมากๆ ในกลุ่มผู้ใช้งานทวิตเตอร์คนไทย ณ ตอนนี้คือ ‘ความสวยความงาม’ (Beauty) และ ‘อาหาร เครื่องดื่ม’ (Food and Drink) โดยเฉพาะในช่วงที่มีการรณรงค์ให้กักตัวอยู่ที่บ้านเพื่อป้องกันการระบาดของโควิด-19 โดยพบว่า 60% ของผู้ใช้ทวิตเตอร์ในไทยให้ความสนใจกับการ Grooming และดูแตัวเอง ขณะที่อีก 88% ของผู้ใช้ทวิตเตอร์ในไทยชื่นชอบประเด็นการสนทนาที่เกี่ยวข้องกับอาหารการกินเป็นอย่างมาก

 

ที่น่าสนใจก็คือ ในปี 2019 ที่ผ่านมา ประเด็นเกี่ยวกับ ‘เกม’ เริ่มได้รับความสนใจเป็นอย่างมากผ่านแพลตฟอร์มของเรา มีการทวีตข้อความเกี่ยวกับเกมสูงถึงกว่า 1.2 พันล้านข้อความ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าถึง 20% โดยประเทศไทยอยู่ในลำดับที่ 4 ของโลกในกลุ่มประเทศที่มีการทวีตข้อความเกี่ยวกับเกมมากที่สุด และแนวโน้มความสนใจดังกล่าวก็ยังคงเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

 

เมื่อโรคระบาดโควิด-19 เกิดขึ้น อะไรคือส่ิงที่ทวิตเตอร์ในฐานะแพลตฟอร์มได้เรียนรู้ และวิกฤตการณ์ในครั้งนี้สร้างผลกระทบกับแพลตฟอร์มของคุณอย่างไรบ้าง

สิ่งที่เราพบและชัดเจนที่สุดคือ การที่แพลตฟอร์มของเราเต็มไปด้วย ‘ความรวดเร็ว’ และไร้ข้อจำกัดในเชิงพรมแดน นั่นจึงทำให้ทวิตเตอร์สามารถเปิดโอกาสให้ผู้คนได้เข้าถึงข้อมูลล่าสุดจากผู้เชี่ยวชาญทั่วโลกได้อย่างทั่วถึง ผู้คนจำนวนมากเริ่มมาใช้งานแพลตฟอร์มของเราเพื่อติดตามประเด็นข่าวสารที่เกิดขึ้นแบบเรียลไทม์

 

ยิ่งไปกว่านั้นทวิตเตอร์ยังปรับตัวได้รวดเร็วกับโรคระบาดโควิด-19 ที่เกิดขึ้นทั้งในระดับโลกและในสเกลของประเทศไทย โดยเราได้เปิดตัวหน้าเสิร์ช (Search Prompt) ที่เกี่ยวข้องกับประเด็นโควิด-19 ตั้งแต่ช่วงแรกๆ ของการระบาดเมื่อเดือนมกราคม เพื่อช่วยให้ผู้ใช้งานได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง น่าเชื่อถือมากที่สุด (ไทยเป็นประเทศแรกในตลาดอาเซียนที่ทวิตเตอร์ทำหน้า Event Page เป็นภาษาท้องถิ่นเพื่อรองรับการใช้งานของผู้ใช้งานในประเทศ)

 

คุณคิดว่าอะไรจะเป็น ‘ความปกติใหม่’ (New Normal) ของพฤติกรรมผู้ใช้งานแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย

เราพบอัตราการเติบโตที่รวดเร็วของการใช้งานโซเชียลมีเดีย และเทรนด์การเติบโตนี้ก็จะยังเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตราบใดที่ผู้คนเลือกใช้เวลาอยู่บนโลกออนไลน์และโซเชียลมีเดียเป็นเวลานานๆ 

 

แล้วเราก็ยังพบอีกด้วยว่า คนไทยหันมาใช้งานทวิตเตอร์กันมากขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการของพวกเขาเองในด้านต่างๆ ซึ่งไม่ใช่แค่ทวิตเตอร์จะมีจำนวนผู้ใช้งานเพิ่มมากขึ้นเท่าน้ัน แต่เรายังพบอีกด้วยว่า พวกเขาต้องการจะมีส่วนร่วมและถกเถียงในประเด็นการสนทนาด้วยวิธีที่เป็นมิตรและปลอดภัย

 

ความปกติใหม่ที่คุณพูดถึงจะเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ของโลกเทคโนโลยี แพลตฟอร์มดิจิทัล บริการสตรีมมิงต่างๆ ได้อย่างไร

มนุษย์เป็นสัตว์สังคม พวกเรารักและชื่นชอบการได้มีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น และแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย รวมถึงทวิตเตอร์ก็เป็นพื้นที่ที่ช่วยให้ผู้คนได้เชื่อมต่อถึงกันบนโลกออนไลน์ ข้ามประเทศ ทวีป ได้เป็นอย่างดี ก่อให้เกิดบทสนทนาเชิงบวกในระดับโลก ซึ่งเราพบว่ามันจะยังคงเป็นเช่นนี้ต่อไป

 

ที่ผมคิดว่าจะเกิดขึ้นต่อจากนี้คือ อุตสาหกรรมค้าปลีกจะเคลื่อนตัวมาอยู่บนโลกออนไลน์มากขึ้น โดยเฉพาะการซื้อขายสินค้าผ่านแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย (Social Commerce) ซึ่งจริงๆ ก่อนจะเกิดโควิด-19 มันก็มาอยู่แล้ว แต่หลังจากนี้มันจะเร่งสปีดได้เร็วกว่าเดิมอีกมหาศาล

ห้ามพลาด! ฟอรัมที่เจาะลึก New Normal ที่ใหญ่ที่สุดในเมืองไทย จากวิทยากรระดับประเทศ 40 คน ซื้อบัตรงาน THE STANDARD ECONOMIC FORUM ได้ที่ https://www.eventpop.me/e/8705-economic-forum

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising