×

‘ทูเบอเรียล’ ต่อมน้ำลายแห่งใหม่ที่เพิ่งถูกค้นพบ ต่อความหวังผู้ป่วยมะเร็งลำคอ

26.10.2020
  • LOADING...
‘เบอเรียล ต่อมน้ำลาย ผู้ป่วยมะเร็งลำคอ

HIGHLIGHTS

3 mins read
  • 23 กันยายน 2020 ทีมนักวิจัยนำโดยศัลยแพทย์ช่องปาก ใบหน้า และขากรรไกร Matthijs H.Valstar และ Wouter Vogel แพทย์มะเร็งรังสีวิทยา สังกัดสถาบันมะเร็งเนเธอร์แลนด์ ได้ตีพิมพ์ผลงานวิจัยผ่านวารสาร Radiotherapy and Oncology ว่าด้วยการค้นพบต่อมน้ำลายคู่ที่ 4 ของมนุษย์
  • งานวิจัยนี้ต้องใช้สารที่ไปจับกับโปรตีน PSMA อย่างจำเพาะเจาะจง ร่วมกับการสแกนด้วย PET และ CT คุณภาพสูง เพื่อใช้แยกเนื้อเยื่อที่มีลักษณะแตกต่างกันออกมา ทั้งยังต้องใช้ซอฟต์แวร์จำลองโครงสร้างสามมิติจากข้อมูลทางเนื้อเยื่อที่ค้นพบ จึงไม่ต้องแปลกใจว่าเหตุใดต้องรอจนถึงปี 2020 ต่อมทูเบอเรียลจึงปรากฏแก่การรับรู้ของมนุษยชาติ
  • การค้นพบนี้จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตหลังการรักษามะเร็งได้อีกมาก เพราะรังสีแพทย์จะต้องระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการฉายแสงในบริเวณดังกล่าวไม่ให้ไปกระทบกับต่อมทูเบอเรียล

 

ร่างกายมนุษย์ยังคงมีปริศนาที่รอการค้นพบอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นหน้าที่ใหม่ของปอดที่สามารถสร้างเกล็ดเลือดได้ อวัยวะใหม่ ‘Interstitium’ บริเวณช่องท้อง และล่าสุด ต่อมน้ำลายแห่งใหม่บริเวณด้านหลังโพรงจมูก ซึ่งหลบเลี่ยงสายตาของนักกายวิภาคมาได้นานนับพันปี ก่อนที่จะถูกค้นพบด้วยเทคนิคทางรังสีวิทยาสุดล้ำในปี 2020

 

เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2020 ทีมนักวิจัยนำโดยศัลยแพทย์ช่องปาก ใบหน้า และขากรรไกร Matthijs H.Valstar และ Wouter Vogel แพทย์มะเร็งรังสีวิทยา สังกัดสถาบันมะเร็งเนเธอร์แลนด์ ได้ตีพิมพ์ผลงานวิจัยผ่านวารสาร Radiotherapy and Oncology ว่าด้วยการค้นพบต่อมน้ำลายคู่ที่ 4 ของมนุษย์

 

การค้นพบนี้เกิดขึ้นด้วยความบังเอิญระหว่างที่ทีมแพทย์กำลังใช้เทคนิคใหม่สแกนบริเวณใบหน้าของผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมาก 

 

ทีมแพทย์ได้ฉีดสารที่จะไปจับกับโปรตีน PSMA (Prostate-specific membrane antigen) เข้าสู่กระแสเลือด ซึ่งโปรตีนตัวนี้จะพบเจอได้ตามเนื้อเยื่อมะเร็งต่อมลูกหมาก สารดังกล่าวมาพร้อมกับกัมมันตภาพรังสีระดับอ่อนๆ ที่จะถูกตรวจพบโดยการเรืองแสงได้หากนำไปสแกนด้วย PET ร่วมกับการยืนยันตำแหน่งที่แน่นอนด้วย CT แสกน

 

การเรืองแสงที่เกิดขึ้นบริเวณด้านหลังโพรงจมูกต่อเข้ากับคอหอย มีลักษณะคล้ายคลึงกับที่พบในต่อมน้ำลาย 

 

เพื่อยืนยันผลการค้นพบ ทีมแพทย์ได้สแกนผู้ป่วยด้วยเทคนิคเดียวกันนี้อีก 100 ราย ปรากฏว่าทุกรายมีต่อมน้ำลายอยู่บริเวณหลังโพรงจมูก ความยาวเฉลี่ย 4 เซนติเมตร นอกจากนี้ยังไปตรวจสอบกับร่างอาจารย์ใหญ่สองร่างก็พบโครงสร้างนี้เช่นเดียวกัน ตำแหน่งที่พบอยู่บริเวณตำแหน่งทางกายวิภาคที่เรียกว่า ทอรัสทูเบอเรียส (torus tuberius) ทีมนักวิจัยจึงตั้งชื่อต่อมน้ำลายแห่งใหม่นี้ว่า ต่อมทูเบอเรียล (tuberial gland)

 

การค้นพบนี้อาจทำให้รังสีแพทย์ต้องระวังมากกว่าที่เคยในขณะที่รักษามะเร็งช่องปาก ลิ้น ลำคอ และศีรษะ เนื่องจากการฉายแสงโดยไม่ระวังจะไปทำลายต่อมน้ำลายจนทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการปากแห้ง ซึ่งนำไปสู่ปัญหาช่องปาก การกลืน และการพูด

 

เพื่อเป็นการยืนยันแนวคิดดังกล่าว ทีมแพทย์ได้ร่วมมือกับคณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยศูนย์การแพทย์โกรนิงเงิน (University Medical Center Groningen) หาความสัมพันธ์ระหว่างความเข้มของรังสีที่ใช้ในการฉายแสงบริเวณที่มีต่อมทูเบอเรียลตั้งอยู่ กับระดับความรุนแรงของอาการปากแห้ง พบว่ายิ่งใช้รังสีเข้มข้นเท่าไร ก็ยิ่งทำให้อาการปากแห้งรุนแรงมากขึ้นเท่านั้น

 

ต่อมทูเบอเรียลนี้มีขนาดใหญ่ที่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า แต่ทำไมนักกายวิภาคศาสตร์จึงพลาดที่จะระบุการมีอยู่ของมันมาจนถึงตอนนี้ 

 

คณะนักวิจัยคาดว่า ก่อนหน้านี้บริเวณด้านหลังของโพรงจมูกที่ต่อกับคอหอยพบเป็นเนื้อเยื่อคล้ายต่อมที่กระจายไปทั่ว ไม่ได้เป็นกลุ่มก้อน ลักษณะโครงสร้างของต่อมทูเบอเรียลนั้นแบนราบไปกับพื้นผิว ซึ่งยากที่จะตรวจสอบในมนุษย์ที่ยังมีชีวิตอยู่ 

 

งานวิจัยนี้ต้องใช้สารที่ไปจับกับโปรตีน PSMA อย่างจำเพาะเจาะจง ร่วมกับการสแกนด้วย PET และ CT คุณภาพสูงเพื่อใช้แยกเนื้อเยื่อที่มีลักษณะแตกต่างกันออกมา ทั้งยังต้องใช้ซอฟต์แวร์จำลองโครงสร้างสามมิติจากข้อมูลทางเนื้อเยื่อที่ค้นพบ จึงไม่ต้องแปลกใจว่าเหตุใดต้องรอจนถึงปี 2020 ต่อมทูเบอเรียลจึงปรากฏแก่การรับรู้ของมนุษยชาติ

 

การค้นพบนี้จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตหลังการรักษามะเร็งได้อีกมาก เพราะรังสีแพทย์จะต้องระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการฉายแสงในบริเวณดังกล่าวไม่ให้ไปกระทบกับต่อมทูเบอเรียล

 

“ก้าวต่อไปของเราคือการค้นหาวิธีการที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการรักษาต่อมทูเบอเรียลเอาไว้ไม่ให้ถูกทำลาย หากทำได้ ผลข้างเคียงหลังได้รับการรักษาจะบรรเทาลงไปมากทีเดียว” Wouter Vogel กล่าวปิดท้าย

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

อ้างอิง

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X