×

TU – พรีวิว 3Q66 คาดกำไรยังอ่อนแอ

04.10.2023
  • LOADING...
บมจ.ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป (TU)

เกิดอะไรขึ้น:

InnovestX Research คาดการณ์กำไรสุทธิ 3Q66 บมจ.ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป (TU) ที่ 1.05 พันล้านบาท ลดลง 58%YoY แต่ทรงตัว QoQ หากไม่รวมขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนจำนวน 50 ล้านบาท ส่วนกำไรปกติ 3Q66 จะอยู่ที่ 1.1 พันล้านบาท ลดลง 38%YoY และ 13%QoQ กำไรที่ลดลง YoY จะเกิดจากสาเหตุดังนี้

 

  1. ยอดขายที่ลดลง (ลดลง 16%YoY) จากการแข็งค่าของเงินบาทเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ (ลดลง 3%YoY) ปริมาณการขายที่ลดลงในทุกธุรกิจสืบเนื่องมาจากระยะเวลาที่ใช้ในการขนส่งสินค้าทางเรือกลับสู่ภาวะปกติ คำสั่งซื้อที่ชะลอตัวสอดรับกับภาวะเศรษฐกิจที่เปราะบางและราคาปลาทูน่าที่อยู่ในระดับสูง และผลกระทบเชิงลบจากการลดขนาดธุรกิจอาหารแช่แข็งแช่เย็นในสหรัฐฯ
  2. อัตรากำไรขั้นต้นที่แคบลงสู่ 17.5% (ลดลง 140 bps YoY) เนื่องจากปริมาณการขายลดลง ยอดขายสินค้ามาร์จิ้นสูงลดลง และต้นทุนปลาทูน่าสูง
  3. กำไรจาก ITC ที่ลดลงหลังจาก TU ลดสัดส่วนการถือหุ้นลงจาก 98% สู่ 78% 

 

ในขณะที่กำไรที่ลดลง QoQ สะท้อนถึงส่วนแบ่งกำไรจากการดำเนินงานจาก Red Lobster ที่ลดลงสู่ -280 ล้านบาท (เทียบกับ -94 ล้านบาท ใน 2Q66) จากการจัดโปรโมชันเพิ่มมากขึ้นท่ามกลางจำนวนลูกค้าที่เพิ่มขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป TU จะประกาศผลประกอบการวันที่ 6 พฤศจิกายน

 

สำหรับเป้าหมายปี 2566 ไม่เปลี่ยนแปลง โดยธุรกิจอาหารทะเล TU ยังคงเป้ายอดขายปี 2566 หดตัว 5-6% (เทียบกับตัวเลขที่ประเมินได้ใน 9M66 ที่ลดลง 13%YoY) และอัตรากำไรขั้นต้นที่ 16.5-17.5% (เทียบกับตัวเลขที่ประเมินได้ใน 9M66 ที่ 16.5%) TU คาดว่ายอดขายจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อย YoY ใน 4Q66 โดยปริมาณการขายจะฟื้นตัวหลังจากราคาปลาทูน่าท้องแถบ (Spot Price) ปรับตัวลดลงในระยะหลังนี้

 

ราคาปลาทูน่าท้องแถบ (Spot Price) ลดลงสู่ 1,700 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ในเดือนกันยายน จากจุดสูงสุดของปีนี้ที่ 2,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ในเดือนเมษายน-มิถุนายน โดยราคา Spot Price เฉลี่ยใน 3Q66 อยู่ที่ 1,800 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน (เพิ่มขึ้น 8%YoY แต่ลดลง 12%QoQ) TU คาดว่าราคาปลาทูน่าท้องแถบ (Spot Price) ใน 4Q66 จะลดลงสู่ราว 1,600 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน (ลดลง 4%YoY และลดลง 11%QoQ) จากการจับปลาได้มากขึ้นหลังจากสิ้นสุดการห้ามใช้อุปกรณ์ล่อปลา (FAD) ตามฤดูกาลในเดือนกันยายน

 

ส่วน Red Lobster นั้น TU ยังคงเป้าส่วนแบ่งกำไรจากการดำเนินงานของ Red Lobster ในปี 2566 ไว้ที่ -500 ล้านบาท (จาก -1.2 พันล้านบาท ในปี 2565 และตัวเลขที่ InnovestX Research ประเมินได้ใน 9M66 ที่ -253 ล้านบาท) ปรับตัวดีขึ้น โดยได้รับการสนับสนุนจากการนำเสนอเมนูในราคาที่จับต้องได้มากขึ้น และต้นทุนล็อบสเตอร์และปูที่ลดลง TU ยังคงเป้ารายได้เงินปันผลจากหุ้นบุริมสิทธิของ Red Lobster ไว้ที่ศูนย์ในปี 2566 (เทียบกับศูนย์ในปี 2565 และ 1.2 พันล้านบาท ในปี 2564, คำนวณจาก PV ของมูลค่ายุติธรรมของหุ้นบุริมสิทธิ) สะท้อนถึงอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นในสหรัฐฯ

 

กระทบอย่างไร:

ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ราคาหุ้น TU ปรับลง 0.70%MoM อยู่ที่ระดับ 14.20 บาท ขณะที่ SET Index ปรับลง 7.31%MoM อยู่ที่ระดับ 1,447.30 จุด

 

แนวโน้มผลประกอบการปี 2566:

InnovestX Research ปรับประมาณการกำไรปี 2566 ของ TU ลดลง 5% เพื่อสะท้อนยอดขายและส่วนแบ่งกำไรที่อ่อนแอกว่าคาด สำหรับ 4Q66 คาดว่ายอดขายและมาร์จิ้นจากธุรกิจอาหารทะเลจะปรับตัวดีขึ้น QoQ โดยคำสั่งซื้อจะเพิ่มขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากต้นทุนปลาทูน่าลดลง

 

อย่างไรก็ตาม ยอดขายมีแนวโน้มที่จะลดลง YoY จากปริมาณการขายที่อ่อนแอ ซึ่งเป็นผลมาจากเศรษฐกิจชะลอตัวและผลกระทบเชิงลบจากการลดขนาดธุรกิจอาหารแช่แข็งและแช่เย็นในสหรัฐฯ (-3-4% ต่อยอดขาย) โดยใน 4Q66 นั้น TU วางแผนลดการจัดโปรโมชันสำหรับ Red Lobster เพื่อดึงราคาเฉลี่ยกลับสู่ระดับปกติ

 

ทั้งนี้ ยังต้องจับตาดูว่าแผนการดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อจำนวนลูกค้าหรือไม่ โดยปกติแล้ว Reb Lobster จะรายงานผลขาดทุนมากที่สุดในไตรมาสที่ 4 ของแต่ละปีจากปัจจัยฤดูกาล โดยอิงกับส่วนแบ่งกำไรจากการดำเนินงานที่ -230 ล้านบาท ใน 4Q64 (เทียบกับ -261 ล้านบาท ในปี 2564) และ -344 ล้านบาท ใน 4Q65 (เทียบกับ -1.2 พันล้านบาท ในปี 2565)

 

สำหรับกลยุทธ์การลงทุน ยังคงเรตติ้ง NEUTRAL สำหรับ TU ด้วยราคาเป้าหมายสิ้นปี 2566 ที่ 15 บาทต่อหุ้น อ้างอิง Core PE 16.5 เท่า (ค่าเฉลี่ย 10 ปี)

 

ปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ต้องติดตามคือ แรงกดดันเงินเฟ้อ ต้นทุนวัตถุดิบทูน่า อัตราแลกเปลี่ยนที่ผันผวน และอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising