×
SCB Omnibus Fund 2024

‘ทีทีบี’ ประกาศตั้ง ttb consumer และ ttb spark รุกธุรกิจบัตรเครดิต-สินเชื่อบุคคล พร้อมยกระดับโมบายล์แบงกิ้ง

01.03.2022
  • LOADING...
ttb

ทีเอ็มบีธนชาต หรือทีทีบี (ttb) ชูกลยุทธ์ตั้งบริษัทใหม่ ttb consumer รุกธุรกิจบัตรเครดิต-สินเชื่อบุคคล ตั้งเป้าติด Top 4 ของอุตสาหกรรม พร้อมตั้งทีม ttb spark ลุยพัฒนาช่องทางดิจิทัล เพื่อเป็น Top 3 ด้านโมบายล์แบงกิ้ง

 

ปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ทีทีบี เปิดเผยว่า ในปีนี้ธนาคารจะมีการปรับโครงสร้างภายในเพื่อเพิ่มศักยภาพการเติบโตในส่วนธุรกิจบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคล พร้อมเพิ่มขีดความสามารถทางด้านดิจิทัลของธนาคารให้ดียิ่งขึ้น โดยภายใต้แผนปรับโครงสร้างดังกล่าวจะมีการจัดตั้งบริษัทใหม่ขึ้นมา คือ ttb consumer ซึ่งจะทำหน้าที่เสมือนเป็นตัวแทนจำหน่ายผลิตภัณฑ์สินเชื่อให้กับธนาคารโดยไม่ต้องผ่านสาขา

 

ปิติระบุว่า ttb consumer จะช่วยให้ธนาคารมีความยืดหยุ่นในการจัดการทรัพยากร ซึ่งเหมาะกับพฤติกรรมลูกค้าที่เปลี่ยนไป ไม่เข้าสาขาธนาคารเหมือนแต่ก่อน โดยบริษัทใหม่นี้จะช่วยให้ธนาคารเข้าถึงลูกค้าได้ในวงกว้าง ทั้งยังสามารถร่วมมือกับพันธมิตรรายใหม่ๆ เพื่อสร้างสิทธิประโยชน์ให้ลูกค้าได้หลากหลายขึ้น โดยธนาคารได้วางเป้าหมายว่า ttb consumer จะสามารถก้าวขึ้นติดอันดับ 1 ใน 4 ของธุรกิจบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคล

 

“ปัจจุบันเรามีส่วนแบ่งการตลาดสินเชื่อรถยนต์ราว 20% มีลูกค้าที่รับเงินเดือนกับเรานับล้านราย จำนวนลูกค้าสินเชื่อบ้านก็ค่อนข้างสูง แต่ฐานลูกค้าในส่วนธุรกิจบัตรเครดิตและสินเชื่อไร้หลักประกันยังค่อนข้างต่ำ อาจเป็นเพราะที่ผ่านมาเราไปบุกผ่านสาขา แต่ปีนี้เราจะมี ttb consumer และจะใช้ช่องทางดิจิทัลเพื่อเจาะลูกค้าใหม่มากขึ้น ซึ่งเราเชื่อว่าเรากำลังมาถูกทาง เพราะ 50% ของยอดสมัครบัตรใหม่ในปีที่ผ่านมาอยู่ในช่องทางดิจิทัล” ปิติกล่าว

 

ปิติกล่าวอีกว่า เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถทางด้านดิจิทัลให้ดียิ่งขึ้น ในปีนี้ธนาคารจึงได้จัดตั้ง ttb spark ซึ่งทีมงานที่มีเป้าหมายในการสร้างสรรค์ไอเดียและพัฒนาดิจิทัลโซลูชันโดยเฉพาะ และได้แยกโครงสร้างการทำงานออกมาอย่างชัดเจนเพื่อเพิ่มความคล่องตัว เพื่อส่งมอบผลิตภัณฑ์และบริการที่ช่วยให้ลูกค้ามีชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้น และยังสามารถต่อยอดไปได้ทั้งระบบ เช่น Ecosystem ของรถยนต์ ที่ประกอบด้วยผู้ใช้ ผู้ขาย และผู้ให้บริการต่างๆ ที่จะได้รับโซลูชันทางการเงินที่ช่วยให้ชีวิตหรือธุรกิจดีขึ้นได้

 

นริศ อารักษ์สกุลวงศ์ หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหาร ttb spark กล่าวว่า ธนาคารต้องการทำให้ดิจิทัลแบงกิ้งเป็นได้มากกว่าแพลตฟอร์มที่ลูกค้าสามารถบริหารจัดการเงินทั่วไป โดยจะต้องสามารถแนะนำ ช่วยเหลือ และนำเสนอสิทธิประโยชน์ต่างๆ ได้ในระดับบุคคล เพื่อให้ลูกค้ามีชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้น ซึ่งเป็นแนวทางกลยุทธ์ Humanized Digital Banking ของธนาคาร โดยในปีนี้ธนาคารเตรียมที่จะพลิกโฉมแอปพลิเคชัน ttb touch ให้กลายเป็นผู้ช่วยส่วนตัวและที่ปรึกษาที่รู้ใจ ช่วยให้ชีวิตทางการเงินของลูกค้าดีขึ้นได้อย่างรอบด้าน

 

โดย ttb touch มีไฮไลต์ 4 ฟีเจอร์เด่น คือ 

 

  1. ผู้ช่วยส่วนตัวที่ให้ข้อมูลและแจ้งเตือนเรื่องสำคัญที่เกี่ยวกับลูกค้าโดยเฉพาะ ด้วยการใช้ Data Analytics วิเคราะห์พฤติกรรม นำเสนอ และช่วยแจ้งเตือนในธุรกรรมสำคัญต่างๆ เช่น จ่ายบิลค่าน้ำ ค่าไฟ บิลโทรศัพท์มือถือ โดยที่ลูกค้าไม่ต้องตั้งเตือน 

 

  1. ให้คำแนะนำและทำเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย อาทิ บริการด้านประกันที่จะช่วยรวบรวมข้อมูลและแสดงผลภาพรวมความคุ้มครองทั้ง 3 ด้าน คือ ดูแลสุขภาพ ออมเพื่อเกษียณ และดูแลคนข้างหลัง โดยทำให้เรื่องประกันที่ซับซ้อนกลายเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ง่าย 

 

  1. รวบรวมและจัดระเบียบเอกสารทางการเงินไว้บน ttb touch สะดวกในการค้นหา เรียกดูง่าย และขอเอกสารได้ ไม่ต้องเสียเวลาเดินทางไปสาขาอีกต่อไป เช่น เอกสารรับรองสถานะทางการเงิน และเอกสารข้อมูลเครดิตบูโร

 

  1. รวบรวมสิทธิประโยชน์และเลือกสรรแคมเปญโปรโมชันที่เหมาะสำหรับลูกค้าไว้ในที่เดียว และในอนาคต ttb touch จะเป็นมากกว่าผู้ช่วยและที่ปรึกษาเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับการธนาคาร โดยจะเข้ามาช่วยจัดการด้านอื่นๆ เช่น การบริหารจัดการเรื่องการจ่ายค่างวดสินเชื่อรถ ต่อประกัน รวมไปถึงการขายรถและการหาซื้อรถคันใหม่มาทดแทน

 

“ธนาคารคาดหวังจะผลักดันให้ ttb touch เป็นโมบายล์แบงกิ้งที่มีฐานผู้ใช้งานขึ้นไปสู่ Top 3 ของอุตสาหกรรม จากปัจจุบันที่มีฐานลูกค้าใช้งาน ttb touch อยู่กว่า 4 ล้านราย” นริศกล่าว

 

ปิติระบุอีกว่า นอกจากการบุกตลาดสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคลแล้ว ธนาคารมองว่าธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ในปีนี้จะมีการฟื้นตัวดีขึ้น จากความต้องการซื้อรถยนต์ที่กลับมาเพิ่มขึ้นตามภาวะของเศรษฐกิจ และความมั่นใจที่ฟื้นกลับมา แต่ยังมีความท้าทายในเรื่องของการผลิตและส่งมอบรถยนต์ที่ยังเกิดความล่าช้าขึ้น จากปัจจัยของการขาดแคลนซัพพลายการผลิตรถยนต์ ซึ่งทำให้ระยะเวลาการส่งมอบรถใหม่ใช้ระยะเวลานานขึ้น ซึ่งมีผลกระทบมาถึงการเบิกใช้สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ที่ลูกค้าได้รับการอนุมัติแล้วด้วยเช่นกัน ซึ่งยังคงเป็นปัจจัยที่ธนาคารมีการติดตามในปีนี้

 

นอกจากนี้จากการที่ธนาคารมีฐานลูกค้าที่ใช้บริการสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์เป็นจำนวนมาก ธนาคารได้เล็งเห็นถึงโอกาสในการต่อยอดการให้บริการด้านการเงิน โดยเฉพาะการช่วยเหลือลูกค้าที่กู้ยืมสินเชื่อประเภทอื่นที่มีภาระดอกเบี้ยในระดับที่สูง สามารถนำสินเชื่ออื่นๆ มารวมหนี้กับสินเชื่อที่มีหลักประกัน เช่น บ้าน หรือรถยนต์ เป็นต้น ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ธนาคารจะนำเสนอ เพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยของลูกค้า

 

ขณะที่ในส่วนของรายได้ค่าธรรมเนียมในปีนี้ คาดว่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากปีก่อน จากการที่ภาวะเศรษฐกิจฟื้นตัวกลับมา ทำให้กลุ่มลูกค้าธุรกิจนำเข้าและส่งออกจะกลับมาเบิกใช้สินเชื่อ Trade Finance เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี ยอมรับว่าการที่ดอกเบี้ยมีแนวโน้มเข้าสู่ขาขึ้นในช่วงปลายปี อาจทำให้ธนาคารต้องบริหารต้นทุนด้วยการเร่งระดมเงินฝากที่ให้ดอกเบี้ยคงที่เข้ามาให้สมดุลกับสัดส่วนของสินเชื่อที่คิดดอกเบี้ยคงที่ในพอร์ต

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH


Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising