×

ttb analytics คาดโควิด-ล็อกดาวน์กดยอดขายรถยนต์ปีนี้เหลือ 7.35 แสนคัน ลดลง 7.1% แนะรัฐเร่งทำ Bubble and Seal รักษาซัพพลายเชนไม่ให้หยุดชะงัก

06.08.2021
  • LOADING...
ttb analytics

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics ประเมินว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิดระลอกที่ 3 ตั้งแต่เดือนเมษายน 2564 ที่ผ่านมา ซึ่งมีจำนวนผู้ติดเชื้อสะสมรวมแล้วกว่า 6.64 แสนคน (ข้อมูล ณ วันที่ 5 สิงหาคม 2564) จะส่งผลให้ภาพรวมยอดขายรถยนต์ในประเทศในปีนี้ชะลอตัวลง แม้ว่าในช่วงครึ่งแรกของปีที่ผ่านมา จะมียอดขายรถยนต์เกิดขึ้นแล้ว 373,191 คัน ขยายตัว 13.6% จากช่วงเดียวกันของปี 2563 เนื่องจากการเติบโตดังกล่าวเป็นการเพิ่มขึ้นที่มาจากฐานที่ต่ำในปี 2563 ที่ยอดขายหดตัว 37.3% ซึ่งเป็นผลมาจากกำลังซื้อที่หายไปจากการล็อกดาวน์ติดต่อกัน 3 เดือน (เมษายน-มิถุนายน 2563) เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิดในระลอกแรก

 

ทั้งนี้ ttb analytics ประเมินว่า ยอดขายรถยนต์ในประเทศปี 2564 จะอยู่ที่ 7.35 แสนคัน หดตัว 7.1% จากปีก่อน โดยปัจจัยฉุดรั้งสำคัญคือการแพร่ระบาดของโรคโควิด และการใช้มาตรการล็อกดาวน์ที่ทำให้ยอดขายลดลงอย่างมีนัยสำคัญในช่วงไตรมาส 3 ประกอบกับกำลังซื้อในประเทศที่เปราะบาง 

 

โดยกลุ่มรถยนต์นั่งส่วนบุคคลจะได้รับผลกระทบหนักกว่ารถยนต์เชิงพาณิชย์ ยอดขายอาจหดตัว 11.1% ในขณะที่รถยนต์เชิงพาณิชย์จะหดตัว 4.1% เนื่องจากการแพร่ระบาดจะบั่นทอนกำลังซื้อและความเชื่อมั่นให้ลดลง โดยเฉพาะพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล และจังหวัดท่องเที่ยว ซึ่งความต้องการรถยนต์นั่งส่วนบุคคลสูงกว่ารถยนต์เชิงพาณิชย์ 

 

ทั้งนี้ จากสถิติกรมขนส่งทางบกพบว่า ในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 ยอดจดทะเบียนรถยนต์ใหม่ป้ายแดงขยายตัว 4.2% จากช่วงเดียวกันของปี 2563 ที่หดตัว 24.1% โดยพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลยังหดตัวต่อเนื่องที่ 1.9% ขณะที่พื้นที่เศรษฐกิจที่พึ่งพาภาคธุรกิจการส่งออกและภาคเกษตร ได้แก่ ภาคตะวันออก ภาคกลาง และภาคใต้ เริ่มกลับมาขยายตัวได้ 12.2%, 12.1% และ 11.8% ตามลำดับ 

 

อย่างไรก็ดี ยังเชื่อว่ายอดขายรถยนต์มีโอกาสจะเริ่มทยอยฟื้นตัวในไตรมาสที่ 4  โดยได้รับอานิสงส์จากการฉีดวัคซีนที่ครอบคลุมกว่า 70% ของประชากรรวมในประเทศตามแผนของภาครัฐ ผนวกกับได้แรงพยุงจากการส่งออกที่ฟื้นตัว และรายได้เกษตรกรที่ดีขึ้นจากราคาและผลผลิตที่ดีขึ้น 

 

โดยมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตาม ได้แก่ 1. การแพร่ระบาดของโรคโควิด ซึ่งหากไม่คลี่คลายภายในไตรมาส 3 จะส่งผลให้ยอดขายลดลงได้อีก 2. กำลังซื้อที่เปราะบางและความเชื่อมั่นด้านสถานะการเงินของผู้บริโภค 3. ความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงิน 4. หนี้ภาคครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงกว่า 93% ต่อจีดีพี และ 5. ปัญหาชิปขาดแคลนส่งผลต่อการผลิตรถยนต์ ซึ่งคาดว่าจะเริ่มผ่อนคลายลงในช่วงไตรมาส 2 ของปี 2565 ตามอัตราการฉีดวัคซีนทั่วโลกที่ครอบคลุมประชากรมากขึ้น ส่งผลให้ผู้ผลิตชิปทั่วโลกกลับมาผลิตได้ปกติอีกครั้ง ประกอบกับความต้องการชิปสำหรับอุปกรณ์การทำงานที่บ้าน (Work from Home) ทั้งคอมพิวเตอร์ ระบบคลาวด์ลดลง ทำให้ผู้ผลิตรถยนต์มีชิปสำหรับผลิตรถยนต์ได้เพียงพอ

 

แม้ว่ายอดขายรถยนต์จะลดลงอย่างมีนัยสำคัญในไตรมาสที่ 3 ของปี 2564 โดยได้รับผลจากการระบาดของโรคโควิด อย่างไรก็ตามยังมีปัจจัยบวกขั้นพื้นฐานที่ยังสนับสนุนเป็นแรงส่งให้ยอดขายรถยนต์กลับมาฟื้นตัวได้ในช่วงปลายปี ได้แก่ 1. การส่งออกฟื้นตัว 2. รายได้เกษตรกรที่ดีขึ้น 3. การทำโปรโมชันส่งเสริมการขายจากดีลเลอร์ 4. ดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำ 5. อายุรถยนต์เฉลี่ยบนท้องถนนที่มากขึ้น (รถยนต์นั่งส่วนบุคคลอายุเฉลี่ย 9.7 ปี รถยนต์เชิงพาณิชย์อายุเฉลี่ย 12.3 ปี) ทำให้เกิดความต้องการเปลี่ยนรถใหม่ และ 5. เทคโนโลยีใหม่ของรถยนต์ที่จูงใจผู้ซื้อ ปัจจัยเหล่านี้จะช่วยประคองให้ยอดขายรถยนต์ฟื้นตัวได้ในไตรมาสที่ 4 ปี 2564 เป็นต้นไป

 

ด้วยเหตุนี้ ภาครัฐและภาคเอกชนในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน ควรเตรียมพร้อมด้วยการเร่งฉีดวัคซีนให้แรงงาน และร่วมมือกันควบคุมการแพร่ระบาดด้วยการรทำ Bubble and Seal อย่างเป็นระบบ เพื่อรักษาซัพพลายเชนการผลิตไม่ให้หยุดชะงัก ซึ่งหากสามารถจัดการได้ ผนวกกับปัจจัยบวกพื้นฐานของกำลังซื้อรถยนต์ในประเทศ คาดว่ามีโอกาสที่ยอดขายรถยนต์จะสามารถกลับเข้าสู่ระดับปกติ 8.6 แสนคันได้ในปี 2565

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising