เมื่อวันที่ 2 เมษายนที่ผ่านมา ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ได้ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าครั้งใหญ่ที่สุดในรอบศตวรรษ ซึ่งเขาเรียกมันว่า ‘Liberation Day’ การประกาศครั้งนี้อาจเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของภาวะปั่นป่วนทางเศรษฐกิจที่ลุกลามไปทั่วโลก แล้วเหตุการณ์นี้ส่งผลกระทบอย่างไรต่อเศรษฐกิจ ตลาดการเงิน และนักลงทุนควรตั้งรับอย่างไร?
เกิดอะไรขึ้นในวัน Liberation Day?
“Liberation Day” หรือวันประกาศอิสรภาพทางเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา ซึ่งทรัมป์ประกาศขึ้นภาษีนำเข้า 10% กับสินค้าทุกประเทศ เริ่มมีผลในวันที่ 5 เมษายน 2025 และตามมาด้วยการขึ้นภาษีตอบโต้กับ 60 ประเทศที่เกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ ในวันที่ 9 เมษายน ซึ่งรวมถึงจีนและสหภาพยุโรป (EU)
แม้สินค้าบางประเภทอย่างยา เซมิคอนดักเตอร์ ไม้ และทองแดง ยังไม่ถูกขึ้นภาษีแบบเฉพาะเจาะจง แต่สินค้าที่เคยถูกเก็บภาษีระดับ 25% ไปแล้ว เช่น เหล็ก อะลูมิเนียม และรถยนต์ จะไม่ได้รับผลกระทบเพิ่มเติม
ที่สำคัญ มาตรการนี้ยังสะท้อนว่าเป็นระดับภาษีที่ ‘สูงที่สุดที่รัฐบาลสหรัฐฯ จะเรียกเก็บ’ ตามคำกล่าวของ สก็อตต์ เบสเซนต์ รัฐมนตรีคลัง และอาจลดลงได้ หากประเทศต่างๆ เจรจาและยอมรับข้อเสนอสนับสนุนผู้ส่งออกสหรัฐฯ
ประเทศที่ได้รับผลกระทบและอัตราภาษีตอบโต้
หนึ่งในมาตรการสำคัญคือการเก็บภาษีตอบโต้ โดยมีอัตราภาษีแตกต่างกันออกไปในฝั่งของไทยนั้นโดนเรียกเก็บในอัตรา 36% จากอุตสาหกรรมสำคัญ เช่น ยานยนต์ อาหาร พลาสติก และเคมีภัณฑ์ ซึ่งเพื่อนบ้านก็ได้รับผลกระทบไปสาหัสเช่นกัน ทั้งกัมพูชา 49% เวียดนาม 46% อินโดนีเซีย 32% มาเลเซีย 24% โดยสาเหตุหลักมาจากการเข้าไปตั้งฐานการผลิตของฝั่งจีนและการค้าที่สหรัฐฯนั้น ขาดดุลกับประเทศเหล่านี้ มีเพียงฟิลิปปินส์ที่ได้รับผลกระทบน้อยสุดที่ 17%
*ภาษีที่ประกาศ ณ วันที่ 2 เมษายน 2025 (Liberation Day)
ในส่วนของประเทศอื่นในเอเชีย จีนได้รับผลกระทบหนักที่สุดคือ 34% โดยหากรวมกับภาษีเดิมจะเป็น 54% และสหรัฐฯมีการขึ้นภาษีกับจีนอย่างต่อเนื่อง จากการตอบโต้ของจีน โดยล่าสุดสหรัฐฯ มีการขึ้นภาษีจีนสูงถึง 145% และยังมีการลงนามเรียกเก็บบางประเภทสินค้าที่ 245% ด้วย ซึ่งผลก็มาจากสงครามการค้าที่สหรัฐฯ ต้องการจะกดดันจีน ในส่วนอื่นๆ ไต้หวันโดนเรียกเก็บ 32% จากสินค้าไอที โดยเฉพาะเซมิคอนดักเตอร์ อินเดีย 26% โดยอ้างว่า อินเดียเรียกเก็บภาษีนำเข้าสูงถึง 52% จากสินค้าสหรัฐฯ ในขณะที่สหรัฐฯ เก็บภาษีน้อยมาก ฝั่งญี่ปุ่นได้รับไป 24% ส่วนสหภาพยุโรปนั้นได้รับไป 20% โดยมีดุลการค้าเกินดุลในสินค้า 156 พันล้านยูโรในปีที่ผ่านมา ทรัมป์ต้องการลดความเสียเปรียบนี้โดยใช้มาตรการภาษีแบบครอบคลุม
ตัวเลขเหล่านี้สะท้อนถึงภาระภาษีที่มีแนวโน้มที่จะส่งผ่านต้นทุนมายังผู้บริโภคสหรัฐฯ ซึ่งอาจกระทบการบริโภคและภาคธุรกิจในวงกว้าง
ผลกระทบที่สร้างความปั่นป่วนให้เศรษฐกิจโลก
ภาษีนำเข้าที่เพิ่มขึ้นไม่ได้กระทบแค่ผู้ผลิตหรือผู้ส่งออกเท่านั้น แต่ยังส่งผลโดยตรงต่อราคาสินค้าในประเทศสหรัฐฯ ซึ่งทำให้ผู้บริโภคต้องแบกรับภาระเพิ่มขึ้น
- คาดว่าเงินเฟ้อสหรัฐฯ ปีนี้จะขยับขึ้นจาก 2.5% เป็น 4%
- คาดการณ์ GDP สหรัฐฯ ปี 2025 ถูกปรับลดเหลือ 1.0% จาก 1.8%
- โอกาสที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยมีมากขึ้น จาก 20-25% เป็น 40%
- ราคาสินค้านำเข้าในสหรัฐฯ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
- คาดว่าการนำเข้าสู่สหรัฐฯ จะลดลงราว 15% ในช่วง 2025-2034
แล้วผลกระทบต่อภาคครัวเรือนล่ะ?
- ครัวเรือนรายได้น้อยจะเสียภาษีเพิ่มราว 320 ดอลลาร์
- กลุ่มรายได้กลางเพิ่มราว 1,350 ดอลลาร์
- กลุ่ม 0.1% ที่มีรายได้สูงสุดจะเสียภาษีเพิ่มราว 133,000 ดอลลาร์
ด้านนโยบายการเงิน แม้จะมีแรงกดดันให้ธนาคารกลางของสหรัฐฯ (Fed) ลดดอกเบี้ยเพื่อลดผลกระทบด้านการเติบโต (คาดว่าอาจลด 3 ครั้ง ครั้งละ 25bps ในปีนี้) แต่การตัดสินใจและดำเนินการของ Fed คงเป็นแบบระมัดระวังและขึ้นอยู่กับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
ท่ามกลางโลกปั่นป่วน ‘นักลงทุน’ ต้องเดินเกมอย่างไร
ในช่วงที่ความไม่แน่นอนครอบคลุมตลาดแบบนี้ นักลงทุนไม่จำเป็นต้องวิ่งหนี แต่ควรเปลี่ยน ‘ท่าตั้งรับ’ หรือการลงทุนแบบ Defensive ให้มั่นคงขึ้น
- เน้นการกระจายความเสี่ยง (Diversification)
-
- กระจายการลงทุนในหลายสินทรัพย์ เช่น ตราสารหนี้ หุ้น ทองคำ
- กระจายภูมิภาคและอุตสาหกรรมให้หลากหลาย เลือกกลุ่มที่ได้รับผลกระทบด้านการค้าน้อยกว่า
- ให้ความสำคัญกับสินทรัพย์แบบ Defensive
-
- ตราสารหนี้คุณภาพดี (Investment Grade) ให้กระแสเงินสดสม่ำเสมอ
- หุ้นปันผลคุณภาพดี จะมีความผันผวนที่ต่ำกว่า และเงินปันผลยังช่วยชดเชยความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อ
- ทองคำ ยังเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยที่ใช้เป็นเครื่องมือป้องกันความผันผวนระยะสั้นได้ดี
- ลงทุนอย่างมีวินัยด้วย DCA
-
- การลงทุนแบบสม่ำเสมอ (Dollar-Cost Averaging) ในกลุ่ม Core Asset ช่วยลดความเสี่ยงจากความผันผวนของราคา
ในวิกฤตใหญ่ ‘โอกาส’ ยังมีในมือของนักลงทุน
แม้จะเป็นช่วงเวลาที่ท้าทาย แต่ก็ยังมีโอกาสซ่อนอยู่สำหรับนักลงทุนที่มองไกลและวางแผนเป็น
- หุ้นจีน
-
- มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศจีนช่วยรองรับผลกระทบจากภายนอก
- มูลค่าหุ้นจีนยังอยู่ในระดับที่น่าสนใจสำหรับการเข้าลงทุน
- หุ้นกลุ่มการเงินในตลาดพัฒนาแล้ว
-
- อัตราเงินปันผลอยู่ในระดับน่าดึงดูด
- อัตราผลตอบแทนจากส่วนของผู้ถือหุ้น (ROE) เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2020
สถานการณ์ยังมีโอกาสพลิกกลับและเรื่องที่ต้องจับตามอง
สิ่งที่ควรจับตาคือ ‘ความเป็นไปได้ของการเจรจา’ ที่อาจทำให้สหรัฐฯ ลดอัตราภาษี หากประเทศต่างๆ ยื่นข้อเสนอที่ตอบโจทย์ ดังนั้นแม้ภาษีที่ประกาศจะเริ่มจากระดับสูงสุด แต่โอกาสปรับลดลงในระยะกลางยังมีอยู่
Liberation Day อาจเป็นกลยุทธ์เชิงต่อรองของทรัมป์ในเวทีการค้าโลก แต่สำหรับนักลงทุนแล้ว มันคือสัญญาณที่ชัดเจนว่าความผันผวนครั้งใหม่ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว และในโลกที่อะไรๆ ก็ไม่แน่นอน การวางแผนและตั้งรับให้ดี อาจเป็นสิ่งเดียวที่แน่นอนที่สุด เพราะไม่ว่าโลกจะเปลี่ยนไปแค่ไหน พอร์ตของคุณก็ต้องยืนหยัดให้ได้
สำหรับท่านที่สนใจปรึกษาด้านการลงทุนเพิ่มเติม สามารถติดต่อที่ปรึกษาทางการเงิน (Client Advisor) ของ UOB Privilege Banking โทร. 0 2081 0999 หรือคลิก www.uob.co.th/privilegebanking
คำเตือน: การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไข ผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- โอกาสการลงทุนที่กระจายตัวออกจากบิ๊กเทค ไปสู่หุ้นกลุ่มอื่นๆ
- เศรษฐกิจโลกปั่นป่วน โอกาสลงทุนซ่อนอยู่ตรงไหน สรุปประเด็นจากเวที UOB 2025 Market Outlook
- เจาะลึกยุคทรัมป์ 2.0 หาผู้ชนะในโลกการลงทุน