×

อย่าโลกสวยกับทรัมป์ 2.0 เศรษฐกิจไทยรับศึกหนัก 2 แนวรบ

23.12.2024
  • LOADING...
trump-2-0-thai-economy-challenges

ในปี 2025 หากรัฐบาลทรัมป์ 2.0 เริ่มขึ้นกำแพงภาษีกับประเทศต่างๆ ที่เกินดุลการค้ากับสหรัฐอเมริกาตามที่หาเสียงไว้ นอกจากจะส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจจีนแล้ว ย่อมจะส่งผลกระทบต่อประเทศอื่นด้วย รวมทั้งประเทศไทย ซึ่งเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ มาอย่างต่อเนื่อง และเศรษฐกิจไทยมีการพึ่งพารายได้ส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ อย่างมาก

 

ด้วยท่าทีไม่แคร์ใครของรัฐบาลทรัมป์ 2.0 ที่ใช้วิธีการข่มขู่จะขึ้นภาษีกับประเทศต่างๆ แบบไม่แคร์โลกและไม่สนเพื่อน (เช่น แคนาดาและเม็กซิโก) จึงคาดว่าจะทำให้สงครามการค้าระอุขึ้นมาอีกครั้ง เนื่องจากจีนและหลายประเทศก็ย่อมจะใช้มาตรการตอบโต้กลับเช่นกัน

 

บทความนี้จึงจะวิเคราะห์แนวโน้มผลกระทบสงครามการค้ารอบใหม่ต่อเศรษฐกิจไทย ซึ่งยังคงพึ่งพาทั้งสหรัฐฯ และจีน ทำให้ไทยต้องรับศึกหนักทั้ง 2 แนวรบ ใน 5 ประเด็น ดังนี้

 

ประเด็นแรก ภายใต้รัฐบาลทรัมป์ 2.0 คาดว่าจะขึ้นภาษีกับประเทศอื่นที่เกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ อีก 10% ด้วย ไม่ใช่เฉพาะจีน ดังนั้นไทยซึ่งเป็นประเทศที่เกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ มากติดอันดับ 12 ดังแสดงในภาพประกอบ จึงย่อมมีความเสี่ยงที่จะเผชิญกับกำแพงภาษีที่สูงขึ้น และทำให้ไทยส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ ได้ยากขึ้น หรือส่งออกได้น้อยลง

 

wolfstreet

 

ล่าสุดจากการจัดอันดับ 39 ประเทศพันธมิตรของสหรัฐฯ ตามระดับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในยุคทรัมป์ 2.0 หรือที่เรียกว่า ดัชนี ‘Trump Risk Index’ (จัดทำโดย Information Technology & Innovation Foundation: ITIF ของสหรัฐฯ) ไทยถูกจัดอันดับให้เป็นประเทศที่มีความเสี่ยงสูงอันดับ 2 รองจากเม็กซิโก และ 1 ใน 4  เกณฑ์หลักที่เป็นตัวชี้วัดก็คือมูลค่าดุลการค้ากับสหรัฐฯ

 

นอกจากนี้ เศรษฐกิจไทยมีสัดส่วนการส่งออกต่อ GDP สูงถึง 65.44% สะท้อนว่าไทยมีการพึ่งพารายได้จากการส่งออกเป็นอย่างมาก และสหรัฐฯ ยังเป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ของไทย ด้วยสัดส่วนการส่งออกไปยังสหรัฐฯ สูงมากถึง 17% ของการส่งออกทั้งหมดของไทย หากต้องเผชิญกับมาตรการทรัมป์ 2.0 เศรษฐกิจไทยจึงย่อมจะเจ็บหนัก (มีรายงานของหลายสำนักวิจัย เช่น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย และศูนย์วิจัย SCB EIC ที่คาดการณ์สอดคล้องกันว่า ผลจากทรัมป์ 2.0 เศรษฐกิจไทยในปี 2025 จะเติบโตลดลงเหลือแค่ 2.4%)

 

ทั้งนี้ มีข้อสังเกตว่า มีอีกหลายประเทศในเอเชียที่มีสหรัฐฯ เป็นตลาดหลักด้วยสัดส่วนการส่งออกไปยังสหรัฐฯ ที่สูงมาก ดังแสดงในภาพประกอบ โดยเฉพาะเวียดนามพึ่งพาการส่งออกไปยังสหรัฐฯ เป็นสัดส่วนสูงถึง 27.4% ของการส่งออกทั้งหมดของเวียดนาม

 

ประเด็นที่ 2

 

ประเด็นที่ 2 หากเป็นเช่นนั้นแล้วการส่งออกของไทยจะหันไปพึ่งพาตลาดสำคัญอันดับ 2 ถัดมาคือตลาดจีน เพื่อเป็นทางออกได้หรือไม่ คำตอบคือ ไม่ง่ายเช่นกัน เนื่องจากจีนเองก็ประสบกับปัญหาภาคการผลิตล้นเกินในบางรายการสินค้า และต้องเผชิญกับการกีดกันจากสหรัฐฯ ทำให้จีนส่งออกไปยังสหรัฐฯ ได้น้อยลง สินค้าจีนบางส่วนจึงต้องปรับมากระจายในตลาดภายในประเทศ ประกอบกับการแข่งขันในตลาดจีนที่เข้มข้นมาก จึงเป็นไปได้ยากที่จะส่งออกสินค้าไทยเข้าไปในตลาดจีน เพื่อทดแทนตลาดสหรัฐฯ

 

ที่น่าเป็นห่วงคือไทยเผชิญกับปัญหาการส่งออกในเชิงโครงสร้าง มีงานวิชาการหลายชิ้นที่มีผลการศึกษาตรงกันในเรื่องนี้ เช่น งานวิชาการของธนาคารแห่งประเทศไทยได้ระบุชัดเจนว่า “สินค้าส่งออกของไทยยังติดอยู่กับโลกเก่า ซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดโลกน้อยลง และสินค้าส่งออกของไทยเชื่อมโยงกับการค้าโลกน้อยลง จากบทบาทของไทยที่มีจำกัดในห่วงโซ่การผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ของโลก” เป็นต้น

 

ประเด็นที่ 3 ประเทศไทยพึ่งพาเศรษฐกิจจีนค่อนข้างมาก และไทยเข้าไปอยู่ในเครือข่ายห่วงโซ่อุปทานการผลิตสินค้าเพื่อการส่งออกของจีน ในขณะนี้จีนเป็นตลาดส่งออกอันดับ 2 ของไทย ด้วยสัดส่วนเกือบ 12% ของการส่งออกทั้งหมดของไทย หากเศรษฐกิจจีนได้รับผลกระทบก็ย่อมจะส่งผลต่อเนื่องมายังประเทศไทยด้วย ที่ผ่านมาจีนจะซื้อวัตถุดิบและกึ่งวัตถุดิบต้นน้ำจากไทย เพื่อนำไปผลิตต่อในขั้นตอนกลางน้ำ/ปลายน้ำเพื่อการส่งออก ดังนั้นหากจีนส่งออกไปยังสหรัฐฯ ได้น้อยลง จีนก็ย่อมจะต้องการซื้อวัตถุดิบเหล่านี้จากไทย ซึ่งเป็นอุปสงค์สืบเนื่อง (Derived Demand) ลดลงตามไปด้วย ทั้งหมดนี้ก็จะกระทบการส่งออกจากไทยไปจีนที่จะมีแนวโน้มลดลงเช่นกัน ตราบใดที่ไทยยังไม่สามารถปรับโครงสร้างสินค้าส่งออกของไทยไปยังจีนได้อย่างจริงจัง

 

ประเด็นที่ 4 ผลกระทบในแง่สินค้าจีนที่จะไหลทะลักเข้ามาในประเทศไทย เนื่องจากสินค้าจีนบางรายการมีการผลิตล้นเกิน และสินค้าที่จีนส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ ได้ยากขึ้น จึงจำเป็นต้องหาตลาดใหม่ เพื่อกระจายการส่งออกไปยังตลาดประเทศอื่น โดยเฉพาะประเทศที่มีกำลังซื้อในกลุ่มอาเซียน ดังนั้นไทยจะเป็นเป้าหมายสำคัญในการระบายสินค้าของจีน จึงมีโอกาสที่สินค้าจีนจะบุกเข้ามาในไทยเพิ่มขึ้น ทำให้สถานการณ์สินค้าจีนไหลทะลักมาไทยจะหนักมากขึ้นกว่าเดิม

 

ที่น่ากังวลคือ ผลกระทบต่อผู้ผลิต/ผู้ประกอบการไทยที่ไม่สามารถแข่งขันสู้กับสินค้าราคาถูกจากจีน เนื่องจากผู้ผลิตจีนมีข้อได้เปรียบด้านต้นทุนการผลิต นอกจากนี้ ไทยยังไม่ได้มีการพัฒนานวัตกรรมในการผลิตอย่างจริงจัง ทำให้ผู้ประกอบการไทยไม่สามารถแข่งขันสู้กับทุนจีนที่มีการพัฒนาสินค้า/ยกระดับมาตรฐานการผลิต และคิดค้นนวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง

 

ประเด็นที่ 5 ในแง่การเข้ามาลงทุน FDI ของทุนจีนในไทย เนื่องจากการลงทุนของจีนหลายรายในไทยเน้นการผลิตสินค้าเพื่อการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ เช่น แผงโซลาร์ ทุนจีนกลุ่มนี้อาจได้รับผลกระทบจากมาตรการกีดกันที่เข้มงวดขึ้นของรัฐบาลทรัมป์ 2.0 ทำให้สินค้าจีนที่แม้ว่าจะประทับตรา Made in Thailand ก็จะถูกตรวจสอบและเผชิญกับอัตราภาษีที่สูงขึ้น ดังนั้นจึงมีโอกาสที่การผลิตและการลงทุนของนักลงทุนจีนประเภทนี้ในไทยอาจลดลง

 

อย่างไรก็ดี ในบางอุตสาหกรรมที่ไม่ได้หวังเพียงการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ ก็จะมีการลงทุนในไทยต่อไป หรืออาจเข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น หากไทยมีปัจจัยดึงดูดการลงทุนมากพอ ตัวอย่างเช่น กลุ่มอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า EV จีนหลายค่ายทยอยเข้ามาลงทุนในไทยอย่างต่อเนื่อง เพื่อใช้ไทยเป็นฐานผลิตรถ EV พวงมาลัยขวา และเน้นกระจายส่งออกไปยังประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคอาเซียน และประเทศโลกขั้วใต้ ซึ่งเป็นตลาดที่สำคัญของรถยนต์ไฟฟ้า EV จีน

 

นอกจากนี้ ประเทศไทยอาจเป็นอีกทางเลือกในการเป็นฐานการผลิตของบางบริษัทที่ย้ายออกมาจากจีน เนื่องจากต้นทุนการผลิตในไทยยังไม่สูงเกิน ไทยมีโครงสร้างพื้นฐานที่ครบถ้วน ไม่มีปัญหาเรื่องพลังงานไฟฟ้า มีข้อได้เปรียบด้านทำเลที่ตั้ง และนโยบายส่งเสริมการลงทุน รวมทั้งโครงการ EEC ที่น่าจูงใจสำหรับนักลงทุนจากหลายประเทศ หากแต่ทั้งหมดนี้ไม่ใช่เพียงแค่การรอคอย ‘ส้มหล่น’ จากการไหลเข้าของทุนต่างชาติ เนื่องจากไทยจำเป็นต้องแข่งขันกับประเทศอื่นๆ ในอาเซียน เช่น เวียดนาม อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ที่มีจุดเด่นหลายอย่างในสายตานักลงทุนต่างประเทศด้วยเช่นกัน

 

โดยสรุป นอกเหนือจากจีนที่เป็นเป้าหมายหลัก รัฐบาลทรัมป์ 2.0 อาจตั้งกำแพงภาษีกับประเทศอื่นที่เกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ ด้วย ดังนั้นประเทศไทยที่เกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ อย่างต่อเนื่อง ก็ย่อมจะมีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบเช่นกัน ท่ามกลางกำแพงภาษีที่หลายประเทศต้องเผชิญ ผลของสงครามการค้ารอบใหม่จะทำให้ขนาดการค้าโลกลดลง ในขณะที่ประเทศไทยยังคงพึ่งพาภาคส่งออกต่อ GDP เป็นสัดส่วนที่สูง ย่อมจะได้รับผลกระทบอย่างหนัก นอกจากนี้ ทั้งสหรัฐฯ และจีน ล้วนเป็นคู่ค้าที่สำคัญอันดับต้นของไทย ทั้งหมดนี้จึงเป็นโจทย์ยากของทั้งภาครัฐและเอกชนไทย

 

แล้วรัฐบาลไทยจะมีความพร้อมในการรับมือกับศึกหนักจาก 2 แนวรบครั้งนี้มากน้อยเพียงใด ถึงเวลาแล้วที่ไทยต้องเลิกเอาชีวิตไปผูกไว้กับคนอื่น ปรับมาสร้างความแข็งแกร่งจากภายใน รัฐบาลจะปรับเปลี่ยนนโยบายสนับสนุนการลงทุนและการส่งเสริมส่งออกแบบเดิมๆ ที่ไม่สอดคล้องกับบริบทโลกยุคใหม่อย่างไร จะมีมาตรการที่เป็นรูปธรรมหรือไม่ ล้วนเป็นสิ่งที่ทุกคนรอคอยคำตอบอย่างใจจดใจจ่อ 

 

หมายเหตุ: บทความนี้เป็นตอนที่ 2 ต่อจากบทความ ‘ทรัมป์ 2.0 ทำให้เศรษฐกิจจีนย่ำแย่แค่ไหน: ไทยจะรับ ‘ส้มหล่น’ หรือไม่’ ซึ่งวิเคราะห์เพื่อตอบคำถามว่า หากรัฐบาลสหรัฐฯ ขึ้นภาษีสินค้าจีนสูงถึง 60% และกีดกันสินค้าจีนในทุกรูปแบบ จะทำให้เศรษฐกิจจีนย่ำแย่แค่ไหน ในแง่ผลกระทบต่อ (1) การค้าระหว่างประเทศของจีน (2) การลงทุน FDI ของจีน (3) ค่าเงินหยวนและทองคำสำรอง (4) การผลิต/การจ้างงานในจีน และ (5) การบริโภคของจีน (อ่านบทความฉบับเต็มต่อได้ที่: https://thestandard.co/trump-impact-on-chinese-economic…/)

 

คำตอบโดยสรุป คือ แม้ว่าจีนจะต้องเผชิญกับการกีดกันอย่างหนักหน่วงภายใต้ทรัมป์ 2.0 แต่เศรษฐกิจจีนจะไม่ย่ำแย่จนเอาตัวไม่รอด เนื่องด้วยปัจจัยทางโครงสร้างการส่งออกของจีนที่มีสัดส่วนต่อ GDP ลดลง และจีนไม่ได้พึ่งพาตลาดสหรัฐฯ มากเหมือนในอดีต ที่สำคัญจีนไม่ได้ชะล่าใจ และพยายาม Diversify กระจายตลาดส่งออกไปยังประเทศอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งจีนได้มุ่งปรับโครงสร้างเศรษฐกิจภายในให้เข้มแข็ง สร้างพลังการบริโภคภายใน ทำให้สามารถยืนได้บนขาตัวเอง นอกจากนี้ จีนมีความพร้อมที่จะรับมือทรัมป์ 2.0 และพร้อมสู้กลับในทุกรูปแบบ

 

ภาพ: Cheney Orr / Reuters, MMES Studio via Shutterstock

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising