ความร้อนแรงในประเด็นทรัมป์ 2.0 ที่คาดว่าจะทำให้สงครามการค้าระอุขึ้นมาอีกครั้ง มีการวิเคราะห์ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นตามสื่อต่างๆ ทั้งผลกระทบต่อจีนและไทยในหลายแง่มุม
ในฐานะอาจารย์ประจำวิชา EC363 (เศรษฐกิจจีน) ของคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดิฉันจึงลองนำคำถามน่าคิดตามเหล่านี้มาออกข้อสอบปลายภาคในเทอมนี้ ตั้งโจทย์คำถามกับลูกศิษย์ระดับปริญญาตรีในวิชานี้ว่า ‘ภายใต้ทรัมป์ 2.0 ตามที่หาเสียงไว้ รัฐบาลสหรัฐฯ จะขึ้นภาษีสินค้าจีนสูงถึง 60% และจะกีดกันสินค้าจีนในทุกรูปแบบ เพื่อลดการขาดดุลการค้ากับจีน คำถามแรก สถานการณ์ดังกล่าวจะกระทบจีนอย่างไร จะทำให้เศรษฐกิจจีนย่ำแย่แค่ไหนในแง่ผลกระทบต่อ 1. การค้าระหว่างประเทศของจีน 2. การลงทุน FDI ของจีน 3. ค่าเงินหยวนและทองคำสำรอง 4. การผลิต/การจ้างงานในจีน และ 5. การบริโภคของจีน และคำถามที่ 2 จงวิเคราะห์ว่าภายใต้สถานการณ์ดังกล่าว จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยด้วยหรือไม่ อย่างไร จงอธิบายพร้อมเหตุผลอย่างชัดเจน’
ผลปรากฏว่านักศึกษาหลายคนเขียนวิเคราะห์คำตอบได้น่าสนใจมาก จึงขอรวบรวมมาให้อ่าน พร้อมกับเฉลยคำตอบข้อสอบเพื่อชวนคิดตาม ดังนี้
ประเด็นแรก หากรัฐบาลสหรัฐฯ ในยุคทรัมป์ 2.0 จะขึ้นภาษีและกีดกันสินค้าจีนอย่างหนักตามที่หาเสียงไว้ ย่อมจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจจีนอยู่บ้าง หากแต่ขนาดของผลกระทบจะมากน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่กับว่าจีนมีการพึ่งพาตลาดสหรัฐฯ มากน้อยเพียงใด
ในขณะนี้ แม้ว่าสหรัฐฯ จะเป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 แต่รัฐบาลจีนก็ปรับโครงสร้างลดการพึ่งพาตลาดสหรัฐฯ ลงเหลือสัดส่วน 14.8% ของการส่งออกทั้งหมดของจีน (จากเดิมที่เคยสูงถึงกว่า 20%) นอกจากนี้เพื่อลดความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอกตามแนวทางโมเดลเศรษฐกิจสีจิ้นผิง (Xinomics) จีนพยายามปรับโมเดลใหม่ ไม่พึ่งพาภาคส่งออกมากเหมือนในอดีต ทำให้สัดส่วนการส่งออกต่อ GDP ของจีนลดลงเหลือเพียง 19.7% (จากเดิมที่เคยสูงเกือบ 26%) ในขณะที่ไทยยังคงมีสัดส่วนการส่งออกต่อ GDP สูงถึง 65.44%
ที่สำคัญจีนมีประสบการณ์และได้รับบทเรียนจากสงครามการค้าที่เกิดขึ้นในสมัยทรัมป์ขึ้นเป็นประธานาธิบดีครั้งแรก ส่งผลให้จีนพยายาม Diversify กระจายการส่งออกไปยังตลาดใหม่ๆ เพื่อกระจายความเสี่ยง โดยเฉพาะในประเทศโลกขั้วใต้ (Global South) จีนจึงมีตลาดสำรองในประเทศอื่นๆ อยู่แล้ว ทั้งหมดนี้ทำให้จีนสามารถพยุงเศรษฐกิจของตนต่อไปได้ จีนยืนบนขาตัวเองได้ จีนไม่ได้พึ่งพาการส่งออกไปสหรัฐฯ มากเหมือนในอดีต
นอกจากนี้สงครามภาษีในรอบใหม่จะกระทบต่อจีนมากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับมาตรการหรือแนวทางที่จีนจะใช้รับมือกับทรัมป์ 2.0 ว่าจะมีประสิทธิภาพมากเพียงใด และรวดเร็วทันสถานการณ์หรือไม่ บทความนี้จะวิเคราะห์ในแต่ละประเด็น ดังนี้
- ด้านการค้าระหว่างประเทศ
ในหลักการ การถูกเก็บภาษีเพิ่มขึ้นย่อมส่งผลต่อปริมาณการส่งออกที่ลดลง โดยเฉพาะสินค้าที่มีความยืดหยุ่นต่อราคาสูงและสินค้าที่มีการทดแทนได้ง่าย ดังนั้นในระยะสั้น การกีดกันสินค้าจีนภายใต้ทรัมป์ 2.0 ย่อมจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจจีนอยู่บ้างจากการส่งออกไปสหรัฐฯ ที่ลดลง เนื่องจากสหรัฐฯ ยังคงเป็นตลาดส่งออกหลักของจีน (แม้จะมีความพยายามลดสัดส่วนลงมามากแล้ว) และจะส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่กับผู้ผลิตจีนตามขนาดสัดส่วนร้อยละภาษีที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะแตกต่างกันไปในแต่ละภาคอุตสาหกรรม
อย่างไรก็ดี ทั้งหมดนี้ไม่ได้ทำให้เศรษฐกิจจีนย่ำแย่ ในทางกลับกัน จะกลายเป็นแรงกดดันทำให้จีนต้องปรับตัวมากขึ้นกว่าเดิมและแปลงวิกฤตให้เป็นโอกาส จีนจะลดการบาดเจ็บด้วยการหันไปสร้างตลาดใหม่ๆ แสวงหาตลาดส่งออกใหม่เพื่อทดแทนตลาดเดิมในสหรัฐฯ ซึ่งกลุ่มตลาดใหม่น่าจะเป็นกลุ่มประเทศที่มีกำลังซื้อและเป็นพันธมิตรกับจีน เช่น กลุ่มอาเซียน ซึ่งเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของจีนมานานหลายปีแล้ว และประเทศในกลุ่ม BRICS (เช่น บราซิลที่กลายมาเป็นตลาดอันดับ 1 ของรถยนต์ไฟฟ้า EV จีน) รวมทั้งประเทศที่ลงนามทำความตกลง FTA กับจีน ในขณะนี้จีนจัดทำความตกลง FTA กับหลายประเทศทั่วโลกรวม 22 ฉบับ (มี 3 ฉบับเป็นความตกลงที่จีนลงนามกับฮ่องกง มาเก๊า และไต้หวัน)
นอกจากนี้หากมีการกีดกันสินค้าจีนอย่างมาก รัฐบาลจีนย่อมจะเลือกใช้มาตรการตอบโต้กลับเช่นกัน จะส่งผลให้ปริมาณการค้าระหว่างจีน-สหรัฐฯ มีขนาดลดลงมาก และส่งผลต่อเนื่องกับประเทศอื่นที่อยู่ในเครือข่ายห่วงโซ่การผลิตที่เกี่ยวข้อง อาทิ ประเทศไทย
- ด้านการลงทุน FDI
การลงทุนจากต่างประเทศที่ไหลเข้ามาลงทุนในจีน (Inward FDI) อาจจะลดลง มีแนวโน้มที่ทุนต่างชาติจะชะลอการเข้าไปลงทุนในจีนเพื่อป้องกันความเสี่ยง โดยเฉพาะบริษัทต่างชาติที่เคยใช้จีนเป็นฐานผลิตเพื่อส่งออกก็จะเข้าไปลงทุนในจีนลดลง เนื่องจากการเก็บภาษีขาเข้าที่สูงขึ้น สินค้าที่ผลิตในจีนก็จะส่งออกไปตลาดสหรัฐฯ ได้ยากขึ้น สำหรับบริษัทต่างชาติที่ลงทุนในจีนอยู่แล้วก็อาจใช้นโยบาย China Plus One ออกไปลงทุนขยายโรงงานในประเทศใกล้เคียงมากขึ้น ดังเช่นกรณีเวียดนามกลายเป็นผู้รับ ‘ส้มหล่น’ มีการลงทุนไหลเข้าเวียดนามมากขึ้นจากผลของสงครามการค้ารอบแรก
ส่วนการออกไปลงทุนต่างประเทศของทุนจีน (Outward FDI) มีแนวโน้มขยายเพิ่มขึ้นเพื่อกระจายความเสี่ยงไปภูมิภาคต่างๆ มากขึ้น รวมทั้งอาจเกิดการแปลงโฉมของบริษัทจีนออกไปจดทะเบียนในต่างประเทศเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ในยุคทรัมป์ 2.0 ประเทศต่างๆ ที่จะเปิดรับการลงทุนจากจีนยังคงมีความเสี่ยงที่อาจโดนสหรัฐฯ กีดกันต่อเนื่องเช่นกัน ดังเช่นกรณีของเม็กซิโก
นอกจากนี้มีความเป็นไปได้ที่ทุนจีนจะไหลเข้าไปลงทุนในสหรัฐฯ มากขึ้น เพื่อลดโอกาสถูกกีดกันจากมาตรการกำแพงภาษีขาเข้า ซึ่งรัฐบาลทรัมป์ 2.0 อาจจะพอใจ เพราะทุนจีนเหล่านี้จะไปช่วยเพิ่มการสร้างงานในสหรัฐฯ/คนอเมริกันได้มีงานทำมากขึ้น ล่าสุดบริษัทจีน CATL ผู้ผลิตแบตเตอรี่ EV อันดับ 1 ของโลก ประกาศความพร้อมที่จะเข้าไปลงทุนมูลค่ามหาศาลในสหรัฐฯ หากรัฐบาลทรัมป์ 2.0 จะอนุญาตให้ทำได้
- ค่าเงินหยวนและทองคำสำรองของจีน
ในระยะสั้นจีนอาจปล่อยให้เงินหยวนอ่อนค่าลงบ้าง เพื่อรับมือกับนโยบายกำแพงภาษีของทรัมป์ 2.0 และผลจากอัตราภาษีที่สูงขึ้น สินค้าจีนในสหรัฐฯ ก็จะแพงขึ้น ทำให้ความต้องการบริโภคสินค้าจีนลดลง อย่างไรก็ดี ยังคงมีคนอเมริกันจำนวนไม่น้อยที่จำเป็นต้องบริโภคสินค้าอุปโภคบริโภคที่นำเข้าจากจีน คนเหล่านี้ก็ต้องยอมจ่ายแพงขึ้น จึงมีโอกาสเกิดเงินเฟ้อตามมา ส่งผลให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ ยากที่จะลดดอกเบี้ย ซึ่งจะส่งผลต่อค่าเงินดอลลาร์ ดังนั้นกำแพงภาษีในยุคทรัมป์ 2.0 ย่อมส่งผลต่อภาคการเงินและค่าเงินหยวนของจีนเช่นกัน อย่างไรก็ดี ธนาคารกลางของจีนมีกลไกในการดูแลค่าเงินหยวนไม่ให้ผันผวนมากจนเกินไป
ประเด็นทองคำสำรองของจีน ยิ่งโลกมีความเสี่ยงที่จะเกิดความปั่นป่วนวุ่นวายมากขึ้น จีนยิ่งต้องการสะสมทองคำมากขึ้น รวมทั้งจีนพยายามลดการพึ่งพาเงินดอลลาร์สหรัฐ หันมาถือครองทองคำมากขึ้น ที่ผ่านมาธนาคารกลางของจีนทยอยกว้านซื้อทองคำมาสะสมอย่างต่อเนื่อง ดังแสดงในภาพประกอบ ในช่วงปี 2015-2024 จีนมียอดสะสมทองคำขยายเพิ่มมากขึ้นอย่างก้าวกระโดด นอกจากนี้กลุ่ม BRICS รวมกันสะสมทองคำในสัดส่วนมากกว่า 20% ของทองคำทั่วโลก โดยมีรัสเซีย จีน และอินเดีย ติด Top 10 ของประเทศที่ถือทองคำมากในระดับโลก (ทั้งนี้ สหรัฐฯ ยังคงเป็นประเทศที่ถือครองทองคำมากอันดับ 1 ของโลก)
ภาพ: Global Times
- การผลิตและการจ้างงานในจีน
ผลกระทบต่อการผลิตและการจ้างงานในจีนขึ้นอยู่กับภาคการผลิตนั้นๆ มีความเกี่ยวโยงกับอุตสาหกรรมการส่งออกไปตลาดสหรัฐฯ มากน้อยเพียงใด ขนาดของผลกระทบก็จะแตกต่างกัน ดังนั้นในระยะสั้นการผลิตในภาคส่งออกที่เน้นตลาดสหรัฐฯ ย่อมจะถูกกระทบ รวมทั้งบริษัทอเมริกันที่ลงทุนในจีนอาจจะโยกย้ายการผลิตบางส่วนออกจากจีนตามแรงกดดันของรัฐบาลทรัมป์ 2.0 ในแง่นี้ย่อมกระทบต่อการจ้างงานในจีนอยู่บ้าง
อย่างไรก็ดี ภาคการผลิตในส่วนอื่นๆ ของจีนยังคงดำเนินต่อไป โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อป้อนตลาดภายในประเทศ จึงมีการจ้างงานในประเทศจีนต่อไป ที่สำคัญหากรัฐบาลจีนสามารถหาทางออกให้กับสินค้าจีนที่ถูกกำแพงภาษีสูงและไม่สามารถส่งออกไปขายในสหรัฐฯ ได้ โดยการช่วยหาตลาดใหม่ๆ ที่รองรับสินค้าเหล่านั้น รวมทั้งการปรับการผลิตมาเน้นตลาดภายในประเทศจีนให้มากขึ้น ก็จะช่วยลดผลกระทบต่อภาคการผลิตและการจ้างงานของจีนได้อีกทางหนึ่ง
- การบริโภคภายในจีน
ผู้ส่งออกสินค้าจีนที่ถูกเก็บภาษีในตลาดสหรัฐฯ ทำให้ต้องแสวงหาตลาดใหม่รองรับ และบางส่วนจำเป็นต้องปรับตัวมาเน้นป้อนตลาดภายในประเทศจีนให้มากขึ้น ทำให้ภาคการบริโภคภายในของจีนมีแนวโน้มขยายเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในยุคนี้ที่ชนชั้นกลางจีนมีกำลังซื้อมากขึ้น จึงเป็นตลาดอุปสงค์ที่สำคัญ และในขณะนี้รัฐบาลจีนเน้นกระตุ้นการบริโภคของชาวจีนให้มากขึ้น รวมทั้งการสร้างความเชื่อมั่นด้วยการจัดสวัสดิการต่างๆ ของรัฐให้กับประชาชนจีน เพื่อให้ชาวจีนคลายความกังวล ไม่ต้องเน้นเก็บเงินออมมากเกินไป และกล้าที่จะใช้เงินเพื่อการบริโภคมากขึ้น
หากพิจารณาในเชิงโครงสร้าง ช่วงเวลา 10 ปีที่ผ่านมาตามแนวทางโมเดลเศรษฐกิจสีจิ้นผิง จีนปรับเปลี่ยนมาเน้นพลังการบริโภคในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ (Consumption-Driven Economy) ดังนั้นจีนไม่ได้ใช้โมเดลพึ่งพาการส่งออก (Export-Driven Economy) เหมือนในอดีต รวมทั้งจีนมีข้อได้เปรียบจากเศรษฐกิจภายในประเทศที่มีขนาดใหญ่ ภาครัฐเน้นขยายการบริโภคภายในของจีนอย่างต่อเนื่อง และสามารถเพิ่มชนชั้นกลางของจีนกว่า 400 ล้านคน ทำให้ชาวจีนมีรายได้และมีกำลังซื้อมากขึ้นอย่างชัดเจน
นอกจากนี้หากสหรัฐฯ กีดกันจีนอย่างมาก จนทำให้ชาวจีนรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม ยิ่งทำให้ชาวจีนหันมาบริโภคสินค้าที่ผลิตในประเทศจีนมากขึ้น คนจีนมีความรักชาติยิ่งชีพ ไม่ชอบให้ต่างชาติมากดดันมากเกินไป ดังนั้นอาจจะเกิดปรากฏการณ์ชาวจีนออกมาตอบโต้ด้วยการแบนไม่บริโภคสินค้าที่เป็นแบรนด์ของสหรัฐฯ แล้วหันมาอุดหนุนสินค้าของจีนเองมากขึ้น
อย่างไรก็ดี ในระยะสั้นเนื่องด้วยสภาวะเศรษฐกิจภายในของจีนที่ยังคงอึมครึมซึมเซา ทำให้ภาคการบริโภคภายในของจีนอาจจะยังไม่กลับมาคึกคักเหมือนเดิมมากนัก
โดยสรุป ภายใต้ทรัมป์ 2.0 แม้ว่าจีนจะต้องเผชิญกับการกีดกันการส่งออกไปตลาดสหรัฐฯ อย่างหนักหน่วง หากแต่เศรษฐกิจจีนจะไม่ย่ำแย่จนเอาตัวไม่รอด เนื่องด้วยปัจจัยทางโครงสร้างการส่งออกของจีนที่มีสัดส่วนต่อ GDP ลดลงมาก และจีนไม่ได้พึ่งพาตลาดสหรัฐฯ มากเหมือนในอดีต ที่สำคัญจีนมีความพยายาม Diversify กระจายตลาดส่งออกไปยังประเทศอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งจีนมุ่งปรับโครงสร้างเศรษฐกิจภายในให้เข้มแข็ง และสร้างพลังการบริโภคของจีนเอง จนสามารถยืนได้บนขาของตัวเอง
แล้วสถานการณ์ภายใต้ทรัมป์ 2.0 จะทำให้ไทยได้รับ ‘ส้มหล่น’ หรือไม่ หรือจะทำให้เศรษฐกิจไทยย่ำแย่หนักกว่าจีนหรือไม่ ผู้อ่านอาจลองวิเคราะห์ด้วยตัวเอง หรือรอติดตามอ่านเฉลยคำตอบได้ในบทความตอนต่อไปนะคะ
ภาพ: Reuters, AFP