×

แรงเก็งกำไรหุ้น ‘TRUE-DTAC’ คึกคัก หวังข่าวลือควบกิจการเป็นจริง ด้านนักวิเคราะห์เตือนให้ทำใจ แนะระวังลงทุนมองโอกาสเป็นไปได้มีน้อย

05.10.2021
  • LOADING...
TRUE-DTAC

ช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมา หุ้น บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) และ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) ถือเป็นหุ้นคู่หูที่ปรับตัวขึ้นร้อนแรง ท่ามกลางกระแสข่าวลือต่างๆ มากมายที่ถูกปั้นขึ้นมาเพื่อใช้เป็นสตอรีในการเก็งกำไร โดยเฉพาะข่าวที่ระบุว่า ทั้งสองบริษัทมีแผนควบรวมกิจการเข้าด้วยกัน 

 

ข่าวที่ว่านี้จริงหรือไม่จริงไม่มีใครรู้ แต่ที่แน่ๆ คือ ราคาหุ้นของทั้งสองบริษัทปรับตัวขึ้นมาแล้วอย่างร้อนแรง โดยตั้งแต่วันที่ 20 กันยายน จนถึงวันที่ 4 ตุลาคม หุ้น TRUE พุ่งขึ้นมาแล้วราว 17% ส่วนหุ้น DTAC ปรับขึ้นมาราว 5%

 

ล่าสุดวันนี้ (5 ตุลาคม) ราคาหุ้นของทั้งสองบริษัทยังคงทะยานขึ้นต่อเนื่อง โดยหุ้น TRUE ปิดตลาดภาคเช้าวันนี้ปรับตัวเพิ่มขึ้น 5.58% มาอยู่ที่ 4.16 บาท ส่วนหุ้น DTAC ปรับเพิ่มขึ้น 3.11% มาอยู่ที่ระดับ 41.50 บาท

 

สุวัฒน์ วัฒนพรพรหม ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซีย พลัส กล่าวกับ THE STANDARD WEALTH ว่า หุ้นกลุ่มสื่อสารกลับมาได้รับความสนใจอีกครั้ง และมีแรงเก็งกำไรเข้ามาต่อเนื่อง โดยหุ้น TRUE และ DTAC นักลงทุนยังคาดหวังว่าทั้งสองบริษัทจะควบรวมกิจการเข้าด้วยกัน 

 

“นักลงทุนยังคาดหวังว่า ข่าวลือเกี่ยวกับ TRUE และ DTAC จะเป็นความจริง แค่รอเวลาให้ดีลจบ ตอนนี้ในโลกโซเชียลก็ยังมีการพูดถึงเรื่องนี้กันจำนวนมาก โดยหวังว่าถ้าดีลนี้สำเร็จบริษัทก็จะใหญ่ขึ้น มาร์เก็ตแชร์ก็จะขึ้นมาเป็นเบอร์ 1 ของอุตสาหกรรม ประมาณ 55%”

 

อย่างไรก็ตาม เท่าที่ประเมินเบื้องต้น เชื่อว่าความเป็นไปได้ของดีลนี้มีค่อนข้างน้อย เพราะถ้าทั้งสองบริษัทควบรวมกิจการกันจริง จะทำให้ส่วนแบ่งการตลาดเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ประมาณ 54-55% ซึ่งก็ต้องขออนุญาตกับทางสำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (สขค.) ซึ่งจะต้องกำหนดเงื่อนไขและข้อจำกัดในการดำเนินการ

 

นอกจากนี้ถ้าดูในฝั่งของ DTAC มีมูลค่าตามราคาตลาด (มาร์เก็ตแคป) สูงถึง 7 หมื่นล้านบาท ดังนั้นการประเมินมูลค่าหุ้นก็น่าจะสูงด้วย ขณะที่ TRUE ยังมีภาระหนี้สินจำนวนมาก ถือเป็นข้อจำกัดในการเข้าซื้อหุ้น DTAC เพราะทำให้ TRUE ต้องหากลไกและแหล่งเงินทุนเพิ่มอีกจำนวนมาก จากเดิมที่ TRUE เองก็มีการกู้ยืมเงินและออกหุ้นกู้จำนวนมากอยู่แล้ว

 

ข้อสุดท้าย หากพิจารณาแนวทางควบรวมกิจการด้วยการแลกหุ้นเพื่อลดภาระให้กับ TRUE ประเมินว่าจะไม่สร้างแรงจูงใจให้กับกลุ่มเทเลนอร์ ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ DTAC ที่ได้มีการลงทุนในประเทศไทยแล้วจำนวนมาก นอกจากนี้การทำธุรกิจสื่อสารในไทยยังไม่ถูกควบคุมจากภาครัฐมากเท่ากับบางประเทศด้วย

 

ปัจจุบัน DTAC มีผู้ถือหุ้นรายใหญ่ 5 อันดับแรก (ณ 2 สิงหาคม 2564) ประกอบด้วย

 

  1. Telenor Asia Pte. Ltd. จำนวน 1,086,052,874 หุ้น คิดเป็น 45.87%

 

  1. บริษัท ไทย เทลโค โฮลดิ้งส์ จำกัด จำนวน 454,120,923 หุ้น คิดเป็น19.18%

 

  1. บริษัท ไทยเอ็นวีดีอาร์ จำกัด จำนวน 201,245,921 หุ้น คิดเป็น 8.50%

 

  1. บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ จำนวน 134,645,250 หุ้น คิดเป็น 5.69%

 

  1. สำนักงานประกันสังคม จำนวน 89,404,600 หุ้น คิดเป็น 3.78%

 

ขณะที่ TRUE มีผู้ถือหุ้นรายใหญ่ 5 อันดับแรก (ณ 15 มีนาคม 2564) คือ

 

  1. บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด จำนวน 5,951,401,786 หุ้น คิดเป็น 17.84%

 

  1. China Mobile International Holdings Limited จำนวน 4,495,868,474 หุ้น คิดเป็น 13.47%

 

  1. UBS AG, Hong Kong Branch จำนวน 3,065,717,853 หุ้น คิดเป็น 9.19%

 

  1. บริษัท ไทยเอ็นวีดีอาร์ จำกัด จำนวน 1,835,822,611 หุ้น คิดเป็น 5.50%

 

  1. China Mobile International Holdings Limited จำนวน 1,510,489,392 หุ้น คิดเป็น 4.53%

 

สุวัฒน์กล่าวด้วยว่า นักลงทุนควรระมัดระวังการเข้าเก็งกำไรหุ้น TRUE เพราะราคาหุ้นปรับตัวสะท้อนความคาดหวังไปมากแล้ว จากราคายุติธรรมในปีนี้ที่ 3.60 บาท ขณะที่ผลการดำเนินงานในปีนี้คาดว่าจะขาดทุน 2,700 ล้านบาท และขาดทุนลดลงเหลือ 1,100 ล้านบาทในปีหน้า

 

ส่วนหุ้น DTAC มองว่ายังสามารถลงทุนในลักษณะเก็งกำไรได้จากราคาที่ยังพอมีอัปไซด์ และการย่อเพื่อพักตัวเป็นระยะๆ ประเมินราคายุติธรรมในปีหน้าที่ 44 บาท บนสมมติฐานกำไรสุทธิในปีหน้าที่ 4,200 ล้านบาท จากปีนี้ที่ 4,000 ล้านบาท

 

สำหรับ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) ซึ่งปัจจุบันมี บมจ.อินทัช โฮลดิ้งส์ ถือหุ้นใหญ่จำนวนมากกว่า 1.2 พันล้านหุ้น คิดเป็นสัดส่วน 40.44% มองว่าภายหลัง GULF ปลดล็อกเรื่องเงินปันผลและการจับมือเป็นพันธมิตรทางธุรกิจกับกลุ่มไทยพาณิชย์ เพื่อต่อยอดไปยังธุรกิจใหม่ จะส่งผลบวก จึงยังแนะนำให้ซื้อ โดยมีราคายุติธรรมในปีหน้าที่ 226 บาท จากฐานกำไรสุทธิ 2.79 หมื่นล้านบาท (ยังไม่รวมการเป็นพันธมิตรกับกลุ่ม SCB)

 

“การแข่งขันในอุตสาหกรรมของทั้ง 3 ค่ายไม่ได้รุนแรงขึ้นกว่าเดิม แต่มีความไม่สมดุลคือ DTAC ไม่แข็งแรงนัก เมื่อ DTAC จะเข้าประมูลคลื่น 3500 MHz การแข่งขันก็คงจะดีขึ้น แต่จุดเปลี่ยนของตลาดนี้คือ การเร่งขยายฐานลูกค้า ขยายโครงข่าย ดังนั้นการแข่งขันก็ยังจะรุนแรงอยู่”

 

ด้าน ณัฐพล คำถาเครือ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์การลงทุน บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) กล่าวว่า ที่ผ่านมาราคาหุ้นสื่อสารปรับลดลงจากผลกระทบของโควิด ส่งผลให้นักท่องเที่ยวหดหาย และราคาหุ้นต่ำกว่าราคาที่เหมาะสม เมื่อมีแนวโน้มว่า ADVANC จะจ่ายปันผลได้มากขึ้น และนักลงทุนยังเชื่อว่ากระแสข่าวลือการควบรวมกิจการระหว่าง TRUE และ DTAC จะเกิดขึ้นจริง

 

รวมทั้งมาตรการเปิดเมืองและแนวโน้มการเปิดประเทศให้นักท่องเที่ยวเข้ามาท่องเที่ยวมากขึ้น ทำให้การจำหน่ายซิมมือถือและการโรมมิ่งจะเพิ่มขึ้น ถือเป็นประโยชน์ต่อกลุ่มสื่อสาร นักลงทุนจึงกลับเข้ามาเก็งกำไร

 

อย่างไรก็ตามหุ้นที่ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) มีคำแนะนำซื้อมีเพียง ADVANC ให้ราคาเป้าหมายในปี 2564 ที่ 220 บาท ส่วน DTAC ให้ราคาเป้าหมาย 45 บาท และ TRUE ให้ราคาเป้าหมาย 3.80 บาท

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH


Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising