1 วันหลังจากที่ทรูและดีแทคได้ดำเนินการควบรวมเป็นบริษัทใหม่ร่วมกันเสร็จสมบูรณ์ภายใต้ชื่อ ‘บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)’ ได้มีการจัดแถลงโดยผู้บริหารเพื่อย้ำถึงทิศทางที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
“ที่เราเลือกใช้ชื่อบริษัทเป็นทรู เป็นเพราะการมีแบรนดิ้งที่สื่อถึงดิจิทัลและนวัตกรรม ตลอดจนการมีพอร์ตธุรกิจที่ครอบคลุม” มนัสส์ มานะวุฒิเวช ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- หุ้น ‘ทรู’ กลับเข้าเทรดวันแรก 3 มี.ค. นี้ เสี่ยงหลุดโผ SET50-SET100 จับตา SET ให้กลับมาติด Fast Track
- ‘ทรู’ ผลงานปี 65 อ่วม! ขาดทุนเพิ่มขึ้นเป็น 1.8 หมื่นล้านบาท หลังโดนหลายปัจจัยกดดัน ฟาก ตลท. ขึ้นเครื่องหมาย C หลังส่วนของผู้ถือหุ้นต่ำกว่า 50%
- ‘TRUE-DTAC’ เรียกประชุมผู้ถือหุ้นอนุมัติควบรวม 23 ก.พ. นี้ พร้อมคลอดบริษัทใหม่ชื่อ ‘ทรูคอร์ปอเรชั่น’
มนัสส์ ได้รับการแต่งตั้งให้เข้ารับตำแหน่งดังกล่าวจากมติของคณะกรรมการบริษัทเมื่อวันที่ 1 มีนาคมที่ผ่านมา ในการนี้ได้แต่งตั้ง ชารัด เมห์โรทรา เป็นรองประธานคณะผู้บริหารด้วย
ภายใต้บริษัทใหม่จะมีฐานลูกค้ากว่า 50 ล้านราย ประกอบไปด้วยทรูมูฟ เอช 33.8 ล้านเลขหมาย และดีแทค 21.2 ล้านเลขหมาย พร้อมผู้ใช้งานบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตทรูออนไลน์ 5 ล้านราย และผู้ใช้งานโทรทัศน์ทรูวิชั่นส์ 3.2 ล้านราย
ทรู คอร์ปอเรชั่นระบุว่า นี่นับเป็นการควบรวมกิจการโทรคมนาคมที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จากมูลค่าของกิจการ ทั้งนี้ มูลค่าตลาดของทั้งสองบริษัทรวมกัน (Market Capitalization) ประมาณ 2.94 แสนล้านบาท โดยมีพนักงานทั้งหมด 20,000 คน ซึ่งผู้บริหารยืนยันว่าไม่ได้มีการปลดพนักงานออก
“การควบรวมของเราได้ก่อให้เกิดความกังวลในหลายด้าน ทั้งการผูกขาด หรือผลประโยชน์ของลูกค้า แต่เราขอยืนยันว่าที่เรามารวมกันเพื่อสร้างโอกาสที่ไม่สิ้นสุด ซึ่งลูกค้าของทั้ง 2 บริษัทจะได้รับประโยชน์จากการควบรวททันที”
บริษัทใหม่วางเป้าหมายเป็นผู้นำด้านโครงข่าย โดยจะขยายโครงข่าย 5G ครอบคลุม 98% ของประชากรในปี 2569 พร้อมพัฒนาและขยายเครือข่ายทั่วประเทศ
ในแง่ของลูกค้าทรู คอร์ปอเรชั่น ระบุว่า จะให้บริการธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ภายใต้แบรนด์ ‘ทรู’ และ ‘ดีแทค’ โดยลูกค้าสามารถใช้สัญญาณได้ทันทีจากสัญลักษณ์เครือข่าย dtac-True และ True-dtac บนหน้าจอมือถือ
โดยนี่ถือเป็นโรมมิ่งสัญญาณข้ามโครงข่าย เพื่อใช้งาน 5G และ 4G บนคลื่น 2600 MHz และ 700 MHz โดยลูกค้าดีแทคสามารถใช้งาน 5G บนคลื่น 2600 MHz และลูกค้าทรูสามารถใช้งาน 4G และ 5G คลื่น 700 MHz ซึ่งเปิดให้บริการแล้ว ทั้งนี้จะขยายครบทั้ง 77 จังหวัดประมาณกลางเดือนมีนาคมนี้
ฐานพล มานะวุฒิเวช หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านการตลาด กล่าวว่า แบรนด์ ‘ทรู’ และ ‘ดีแทค’ จะทำการตลาดต่อไปภายใต้แผนของตัวเอง ซึ่งนี่เป็นส่วนหนึ่งของกฎที่กสทช. กำหนดไว้ว่าทั้ง 2 แบรนด์จะยังคงให้บริการแยกจากกันเป็นระยะเวลา 3 ปี
“เมื่อแบรนด์แยกกัน การแข่งขันจะยังมีต่อไปอย่างแน่นอน เพราะทั้ง 2 แบรนด์ทำการตลาดที่แยกกัน แต่อาจมีโปรโมชันบางอย่างที่จะใช้สิทธิประโยชย์ร่วมกัน”
ที่สุดแล้วเมื่อเวลาผ่านไปครบ 3 ปียังไม่แน่นอนว่าทั้ง 2 แบรนด์จะยังมีให้เห็นในตลาดหรือไม่ โดยฐานพลกล่าวว่า “เรากำลังศึกษาถึงทิศทางที่ต่างประเทศทำ ยังไม่ชัดเจนว่าจะเก็บไว้ทั้ง 2 แบรนด์ หรือแบรนด์ใดแบรนด์หนึ่ง”