งานวิจัยพบว่า การได้รับสารเคมีที่ใช้กันโดยทั่วไป เพื่อลดการปนเปื้อนแบคทีเรียในเครื่องสำอาง ยาสีฟัน และผลิตภัณฑ์จำพวกของเล่นและเสื้อผ้า อาจมีความเสี่ยงเป็นโรคกระดูกพรุนโดยไม่ได้ตั้งใจ
ผลวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร คลินิกต่อมไร้ท่อและระบบเผาผลาญ (Journal of Clinical Endocrinology & Metabolism) ที่วิเคราะห์ข้อมูลที่จัดเก็บจากผู้หญิงจำนวน 1,848 คน ระหว่างปี 2005 และ 2010 พบว่า ผู้หญิงที่มีระดับไตรโคลซานในปัสสาวะสูงกว่า มีโอกาสที่จะเป็นโรคกระดูกพรุนในอนาคต
โรคกระดูกพรุนเป็นโรคที่เกิดขึ้นจากการสูญเสียความหนาแน่นของมวลกระดูก และเมื่อกระดูกไม่แข็งแรง จึงก่อให้เกิดความเสี่ยงอาการปวดหลังและทำให้ตัวเตี้ยลง นักวิจัยยังเผยอีกว่า นี่เป็นการศึกษาแรกที่ค้นพบความเชื่อมโยงดังกล่าว
นักวิจัยผู้ศึกษาพบว่า มีความเชื่อมโยงด้านลบระหว่างสุขภาพกระดูกและไตรโคลซาน ซึ่งเป็นสารสังเคราะห์ที่มีประสิทธิภาพต้านเชื้อจุลินทรีย์ เนื่องจากไปรบกวนการทำงานของต่อมไทรอยด์ การศึกษาก่อนหน้านี้แสดงให้เห็นว่า ความไม่สมดุลของต่อมไทรอยด์ก่อผลเสียต่อกระดูก และเพิ่มความเสี่ยงต่อการแตกหักได้
ไตรโคลซานเป็นสารสังเคราะห์ที่มักถูกนำมาใช้ในเจลล้างมือ ยาสีฟัน และเครื่องสำอาง ตลอดจนเครื่องครัว ของเด็กเล่น เฟอร์นิเจอร์ ไปจนถึงเสื้อผ้า และยังรวมไปถึงผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่ทำมาต้านแบคทีเรียที่เราเห็นได้ทั่วไป
ทางฝั่งอเมริกา องค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา (FDA) เริ่มกวดขันการใช้สารไตรโคลซานและสารต่างๆ มากขึ้นตั้งแต่ปี 2016 เนื่องจากมีสารจำนวนไม่น้อยที่ยังไม่ได้รับการตรวจสอบว่าปลอดภัยต่อผู้บริโภค และอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงในระยะยาว ซึ่งเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา FDA เริ่มระงับไม่ให้ใช้เจลล้างมือที่มักกดได้ฟรีๆ บนเคาน์เตอร์ตามร้านค้าในอเมริกาแล้ว แต่สารนี้ก็ยังอยู่ในผลิตภัณฑ์ที่เราใช้ในชีวิตประจำวันจำนวนไม่น้อย
งานวิจัยก่อนหน้านั้นหลายชิ้นกลับระบุว่า ยาสีฟันตามท้องตลาดทั่วไปปลอดภัย แต่ยังต้องศึกษาเพิ่มเติมต่อไป
ขณะที่การศึกษาในสัตว์พบว่า เมื่อได้รับสารเคมีติดต่อกันในระยะยาว ก่อให้เกิดความเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งได้ นอกจากนี้การได้รับไตรโคลซานอาจขัดขวางกระบวนการสืบพันธุ์และพัฒนาการของทารกอีกด้วย
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล
อ้างอิง:
- www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC4314789
- www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC6126357
- www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC3945593
- www.cochranelibrary.com/cdsr/doi/10.1002/14651858.CD010514.pub2/full
- edition.cnn.com/2019/06/25/health/triclosan-osteoporosis-study/index.html
- www.fda.gov/news-events/press-announcements/fda-issues-final-rule-safety-and-effectiveness-consumer-hand-sanitizers