×

Travel 101: โดยสารเครื่องบินอย่างไรให้เสี่ยงติดโควิด-19 น้อยที่สุด

05.05.2020
  • LOADING...

หลังนางแบบระดับโลก นาโอมิ แคมป์เบลล์ โพสต์คลิปวิดีโอขั้นตอนการทำความสะอาดที่นั่งบนเครื่องบินก่อนโดยสารอยู่เสมอผ่านช่องยูทูบของตนเองเมื่อปีก่อน ก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าพฤติกรรมของเธอนั้นเกินจริงไปมาก ซึ่งเธอก็ยักไหล่ตอบไปว่า “I don’t care what people think of me, it’s my health…” (ฉันไม่สนใจหรอกนะว่าพวกเขาจะคิดอย่างไร นี่มันสุขภาพของฉัน)

 

จากนั้นผ่านมาค่อนปี ใครจะเชื่อว่านาโอมิกลายเป็นไอดอลเรื่องการทำความสะอาดของนักเดินทางทั่วโลกตั้งแต่โควิด-19 ระบาด หลายคนที่เคยต่อว่ากลับไปดูวิดีโอทำความสะอาดอีกครั้ง พร้อมท่องประโยคของเธอจนขึ้นใจ “ทำความสะอาดทุกสิ่งที่คุณสัมผัส” แม้สายบินการต่างๆ จะออกมาบอกว่าตนทำความสะอาดเครื่องบินอย่างดีเพื่อประสบการณ์การเดินทางที่ดีที่สุดของผู้โดยสาร แต่ใครจะรู้ว่าเก้าอี้ที่คุณนั่งหรือพื้นที่บริเวณนั้นผ่านมือใครมาบ้าง 

 

ในโอกาสที่สายการบินต่างๆ จะเริ่มกลับมาให้บริการอีกครั้งหลังการคลายล็อกดาวน์ มาดูกันว่าเราจะโดยสารเครื่องบินอย่างไรให้สบายใจทั้งคนนั่งและคนให้บริการ

 

 

ทำความสะอาดทุกสิ่งที่คุณสัมผัส

อารอน ไมล์สโตน ผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยาของโรงพยาบาลจอห์น ฮอปกินส์ แสดงความคิดเห็นในประเด็นนี้ว่า “เครื่องบินและที่นั่งบนเครื่องบินเป็นพื้นที่สาธารณะ ใครๆ ก็รู้ว่าเชื้อโรคสามารถอาศัยบนพื้นผิวได้เป็นเวลานาน ดังนั้นก็ไม่ได้ลำบากอะไรถ้าเราจะทำความสะอาดเพิ่ม”

 

อย่างที่นาโอมิกล่าวไว้ในวิดีโอ “Clean everything you touch.” ฉะนั้นหยิบทิชชูเปียกหรือแอลกอฮอล์แพดขึ้นมาเช็ดทุกอย่างที่ขวางหน้า ไม่ว่าจะเป็นที่วางแขน กระจก จอทีวี ฯลฯ (แต่ยกเว้นเบาะที่นั่งไว้) เสร็จแล้วทิ้งลงถุงขยะที่เตรียมไว้ อย่าเอาไปซุกหรือรวมกับข้าวของเด็ดขาด ถึงแม้จะไม่สะอาดหมดจดราวกับห้องปลอดเชื้อ แต่อย่างน้อยคุณก็สบายใจได้ว่าทุกสิ่งสะอาดก่อนที่จะคุณจะสัมผัสมันอีกหลายชั่วโมง 

 

 

นั่งริมหน้าต่าง แม้อึดอัด แต่ก็เสี่ยงน้อยกว่าทางเดิน

ในชั่วโมงบินที่บินยาวข้ามทวีป หลายคนชอบนั่งริมหน้าต่าง เพราะต้องการพื้นที่ส่วนตัวและนอนหลับได้สบาย ส่วนคนที่เข้าห้องน้ำบ่อยหรือชอบยืดเส้นยืดสายก็มักนั่งริมทางเดินเพื่อหลีกเลี่ยงการรบกวนคนอื่น หลังยุคโควิด-19 แม้ช่วงแรกจะเปิดให้บินแค่เส้นทางสั้นๆ ภายในประเทศ และสายการบินต่างๆ ต่างปรับที่นั่งใหม่เพื่อลดความแออัดและเว้นระยะห่าง ทว่าตำแหน่งที่เสี่ยงติดเชื้อน้อยที่สุดคือที่นั่งริมหน้าต่าง

 

การศึกษาจากมหาวิทยาลัยเอมอรีพบว่า ในช่วงไข้หวัดใหญ่ระบาด ตำแหน่งที่ปลอดภัยที่สุดบนเครื่องบินนั้นคือริมหน้าต่าง โดยนักวิจัยทำการศึกษาผู้โดยสารและลูกเรือที่มีไฟลต์บินนาน 3-5 ชั่วโมงทั้งหมด 10 เที่ยวบิน โดยผลที่ได้สรุปว่าผู้โดยสารที่นั่งริมหน้าต่างแทบจะไม่ติดต่อหรือมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นเลย 

 

วิกกี้ สโตเวอร์ เฮิร์ตซเบิร์ก อาจารย์ประจำคณะพยาบาลศาสตร์ มหาลัยเอมอรี หนึ่งในนักวิจัยหลักในครั้งนี้ให้คำแนะนำเสริมว่า “จองที่นั่งริมหน้าต่าง และอย่าเดินไปไหนมาไหนระหว่างเที่ยวบิน รักษาร่างกายให้ชุ่มชื้น และหลีกเลี่ยงการสัมผัสใบหน้า”

 

 

ล้างมือให้สะอาดและงดจับใบหน้า

ไม่ใช่แค่การนั่งบนเครื่องบิน แต่กฎเหล็กการใช้ชีวิตในยุคนี้คือล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือก่อนจับใบหน้าทุกครั้ง อย่างที่ทราบกันดีว่าเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ติดต่อกันผ่านสารคัดหลั่ง ในหนึ่งวันมีคนมากหน้าหลายตาสัมผัสกับพื้นผิวสาธารณะ ซึ่งบุคคลเหล่านั้นอาจไอ จาม หรือสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้ป่วยมาอีกทอดหนึ่ง และเมื่อใดก็ตามที่คุณเอามือที่มีเชื้อมาสัมผัสใบหน้า มือที่สกปรกย่อมทำให้คุณติดเชื้อได้ง่ายและรวดเร็ว

 

ฉะนั้นหลังหยิบจับอะไรบนเครื่องบิน ไม่ว่าจะเป็นประตูห้องน้ำ หน้าต่าง ฯลฯ อย่าลืมทำความสะอาดทันที เพราะเราอาจเผลอเอามือจับหน้าหรือผมเมื่อไรก็ได้

 

 

สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา (ถ้าเป็นไปได้)

แม้เครื่องบินรุ่นใหม่จะมีระบบหมุนเวียนอากาศจากภายนอกสู่ภายในห้องโดยสารทุก 2-3 ชั่วโมง แต่เพื่อความมั่นใจทั้งผู้โดยสารและผู้ให้บริการ ผู้โดยสารที่มีอาการแพ้อากาศ ไอ จาม หรือเป็นหวัดได้ง่าย สมควรสวมหน้ากากไว้ตลอดเวลา เพราะการไอหรือจามโดยไม่ปิดปาก 1 ครั้งสามารถแพร่กระจายได้ในระยะหลายเมตร นั่นหมายความว่าอย่างน้อยผู้คนที่อยู่รอบตัวคุณในระยะ 2-3 ที่นั่งจะเสี่ยงติดเชื้อแน่นอน 

 

 

นี่เป็นเพียงข้อแนะนำเบื้องต้นในการโดยสารเครื่องบินให้เสี่ยงติดเชื้อน้อยที่สุด เคล็ดลับนี้สามารถนำไปประยุกต์กับการเดินทางสาธารณะอื่นๆ ได้ด้วย แต่เพื่อสุขอนามัยที่ดี เรายังคงควรกินร้อน ช้อนตน ทำร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ และรักษาระยะห่าง 1-2 เมตร หรือเท่าที่ทำได้  

 

 

ภาพ: Shutterstock

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising