×

Travel 101: เสิร์ชข้อมูลอย่างไรให้ได้สถานที่ท่องเที่ยวตามใจอยาก

30.05.2019
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

3 Mins. Read
  • Wikitravel เว็บ Crowdsourced Travel Guide รวบรวมจากนักเดินทางกว่า 300,000 คน ซึ่งข้อมูลในแต่ละเมืองครบถ้วนรอบด้าน มีทั้งข้อมูลทางประวัติศาสตร์ ข้อมูลอุปโภคบริโภคขั้นพื้นฐาน วิธีคมนาคมขนส่ง โรงแรม ที่พัก ร้านค้า ร้านอาหาร รวมไปถึงบริษัททัวร์ยอดนิยม
  • จากประสบการณ์การทำงานด้านการท่องเที่ยวมาหลายปี สถานที่ลับหรือมุมแปลกๆ มักหาได้จากแอปฯ อินสตาแกรม

แม้ปัจจุบันเราจะมีอากู๋ google.com เสิร์ชเอนจินประสิทธิภาพสูง ทำหน้าที่ราวกับอับดุลในมุกตลกคาเฟ่ ‘ถามอะไร ตอบได้’ (และอากู๋ก็ตอบได้จริงๆ เสียด้วย) แค่พิมพ์คีย์เวิร์ดที่ต้องการแล้วกดค้นหา ข้อมูลคุณภาพก็โผล่ขึ้นมาให้เลือกนับร้อยนับพันบทความ การใช้บริการอากู๋แม้จะง่ายราวกับปอกกล้วย แต่นักเดินทางมือถือใหม่ก็ยังงงงวย เสิร์ชทีไรก็ได้แค่ข้อมูลซ้ำๆ เดิมๆ ไม่มีอะไรน่าสนใจ หรือหาแล้วได้ข้อมูลพื้นๆ ไม่มีสถานที่ท่องเที่ยวชิคๆ เก๋ๆ สมใจอยาก

 

ไม่มีกฎเกณฑ์ตายตัวสำหรับวิชานี้ มีแต่ความขยัน เทคนิค และความสามารถ (ด้านความอยากรู้อยากเห็น) เฉพาะตัวล้วนๆ ที่ทำให้คุณได้ข้อมูลมา อันที่จริงผู้เขียนก็ไม่ได้เก่งกาจอะไรมากมาย เรียกได้ว่านำประสบการณ์มาแชร์กันดีกว่า ว่าเราค้นหาสถานที่ท่องเที่ยวกันอย่างไร

 

เริ่มจากสิ่งใกล้ตัวหรือที่สนใจ

มีหลายทริปที่เราตัดสินใจเริ่มทริปเดินทาง เพียงเพราะเห็นภาพสวยๆ จากสื่อหรือเหล่าบล็อกเกอร์ทางโซเชียลมีเดียแล้วอยากตามรอย ซึ่งนั่นทำให้การหาข้อมูลของคุณง่ายขึ้นหน่อย เพราะมีคนแนะนำพิกัดไว้ให้แล้วว่าสมควรไปที่ไหนบ้าง แค่หาเพิ่มในสิ่งที่คุณอยากไป แต่ในกรณีที่คุณตัดสินใจเริ่มทริปด้วยอารมณ์ชั่ววูบ จากโปรโมชันตั๋วเครื่องบินราคาถูกแสนถูกนี่สิ จะเริ่มอย่างไรดี

 

เราแนะนำคุณให้ใช้วิธีพื้นฐานคือ เสิร์ชอากู๋ พิมพ์คีย์เวิร์ดเมืองที่จะไป แล้วค่อยๆ เจาะจงไปยังด้านที่ชอบ ตัวอย่างเช่น ไทเป อาจพิมพ์ว่า ‘ไทเป+ท่องเที่ยว’ จากนั้นจึงเริ่มศึกษาจากข้อมูลเหล่านั้น เมื่อคุณรู้จักไทเปแบบคร่าวๆ แล้ว ขั้นตอนต่อไปคือ ลองหาอะไรให้ลึกลงไปอีก เช่น ถ้าคุณเป็นนักกินตัวยง ก็อาจเจาะลึกดูร้านอร่อย อาจเสิร์ชว่า ‘ของกิน+ไทเป’, ‘ร้านอร่อย+ไทเป’, ‘Best Restaurant+Taipei’, ‘Street Food+Taipei’ เป็นอาทิ แล้วนำลิสต์ร้านอร่อยที่ได้ไปเสิร์ชหาบรรยากาศจากหลายๆ มุมมอง ดูคอมเมนต์จาก TripAdvisor หรือบรรดาบล็อกเกอร์ไทยเทศว่าเขาคิดเห็นอย่างไร ไม่ว่าจะเป็นการหาข้อมูลด้านที่พัก สถานที่ท่องเที่ยว ร้านค้า ร้านอาหาร ฯลฯ คอมเมนต์หรือความคิดเห็นของผู้ที่ไปมาแล้วสำคัญมาก เพราะจะช่วยให้คุณประเมินสถานการณ์ต่างๆ ได้ใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากที่สุด ชนิดที่ว่าจากภาพสวยหรู อาจพลิกเป็นไม่อยากไปเสียดื้อๆ

 

Wikitravel เว็บข้อมูลเที่ยวพื้นฐาน

ในกรณีที่จุดหมายปลายทางของคุณช่างลึกลับ หรือข้อมูลจากอากู๋น้อยเต็มทน ให้คุณลองเข้าไปหาข้อมูลยัง Wikitravel เว็บ Crowdsourced Travel Guide รวบรวมจากนักเดินทางกว่า 300,000 คน เว็บนี้คือวิกิพีเดียฉบับท่องเที่ยว ซึ่งข้อมูลในแต่ละเมืองเรียกว่าครบถ้วน รอบด้าน มีทั้งข้อมูลทางประวัติศาสตร์ ข้อมูลอุปโภคบริโภคขั้นพื้นฐาน วิธีคมนาคมขนส่ง โรงแรม ที่พัก ร้านค้า ร้านอาหาร รวมไปถึงบริษัททัวร์ยอดนิยม ถ้าถามว่าข้อมูลทั้งหมดนั้นใช้เที่ยวจริงได้แค่ไหน คงต้องบอกว่า 40-60% เพราะสถานที่เหล่านั้นล้วนแต่เป็นสถานที่ท่องเที่ยวแบบทัวริสต์จ๋า และอาจไม่ตอบสนองความเก๋ชิคของเหล่านักเดินทางขี้อวดแน่นอน

 

อินสตาแกรมคือขุมทรัพย์การท่องเที่ยวแบบเก๋ๆ

เคยสงสัยไหมว่าเหล่า Travel Junggie เขาหาสถานที่ท่องเที่ยวแปลกๆ ใหม่ๆ ที่เป็นไลฟ์สไตล์จากไหน คำตอบง่ายที่สุดคือ ‘อินสตาแกรม’ จากประสบการณ์การทำงานด้านการท่องเที่ยวมาหลายปี สถานที่ลับหรือมุมแปลกๆ มักหาได้จากแอปฯ นี้ เริ่มต้นง่ายๆ จากแฮชแท็กเมือง แล้วค่อยๆ ค้นให้ลึกไปเรื่อยๆ ตามคนพื้นที่ ขอยกตัวอย่างเดิมคือ ไทเป ไต้หวัน เมื่อราว 6 ปีที่แล้ว กระแสการเที่ยวไต้หวันยังไม่บูมในบ้านเรานัก คลับ บาร์ ร้านอาหาร สถานที่เท่ๆ ก็ยังไม่แพร่หลาย นอกจากบล็อกเกอร์นอกที่เราใช้ค้นหาข้อมูลพวกสตรีทฟู้ด อินสตาแกรมก็เป็นช่องทางหนึ่งที่ช่วยทำให้ทริปไต้หวันบันเทิงมาก จากมุมถ่ายภาพใหม่ที่เราค้นเจอจาก @iseetaiwan ซึ่งตอนนี้มีคนติดตามมากกว่า 70,000 คน เป็นต้น

 

ไม่ใช่แค่ไทเป ไต้หวันที่เราใช้อินสตราแกรมเสิร์ชแหล่งท่องเที่ยวเท่ๆ ภาพสวยๆ ตามเมืองต่างๆ ในญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ฟิลิปปินส์ สวิตเซอร์แลนด์ ก็เช่นกัน แม้เราจะเคยเดินทางมากี่ประเทศ เก่งขนาดไหน ช่ำชองพื้นที่ขนาดไหน แต่ถ้าไม่ได้ลงหลักปักฐานสัมผัสจนคุ้นชิน อย่างไรเสียข้อมูลจากคนพื้นที่ย่อมดีกว่า ซึ่งอินสตาแกรมตอบโจทย์ได้ในจุดนั้น

 

พ็อกเก็ตบุ๊กยังคงตอบโจทย์ได้ดีเสมอ

แม้เทคโนโยลีจะก้าวไกล แต่พ็อกเก็ตบุ๊กหรือไกด์บุ๊กดีๆ สักเล่ม ยังคงเป็นแหล่งข้อมูลชั้นดีให้คุณเจอสถานที่น่าไปได้ง่ายๆ เพียงแต่ต้องเคลื่อนร่างไปร้านหนังสือสักนิด เลือกร้านใหญ่ๆ ที่มีหนังสือให้เลือกหลากหลาย ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษจะดีมาก เพราะบางไกด์บุ๊กฝรั่งก็มีแง่มุมบางอย่างที่คุณไม่เคยเห็นมาก่อน หยิบขึ้นมาดูแต่ละเล่ม แล้วพิจารณาว่าเล่นไหนเหมาะกับไลฟ์สไตล์คุณที่สุด ไล่อ่านให้ครบถ้วนแล้วปักหมุดตามรอย

 

อย่างที่กล่าวไปข้างต้น ไม่มีกฎเกณฑ์ตายตัวสำหรับเสิร์ชข้อมูลท่องเที่ยวที่ดี มีแต่ความขยัน เทคนิค และความสามารถเท่านั้นที่ทำให้คุณได้ข้อมูลแตกต่าง เอาความสนใจและไลฟ์สไตล์เป็นที่ตั้ง และค่อยๆ ค้นจากหนึ่งเป็นสอง สาม สี่ ห้า เรื่อยๆ จนได้สถานที่ที่พอใจ เดี๋ยวนี้เรามีโลกอินเทอร์เน็ต มีเสิร์ชเอนจินคุณภาพมากกว่าให้เลือกใช้สอย ซึ่งอุปกรณ์เหล่านี้แหละที่ทำให้ข้อมูลถูกเชื่อมต่อ เข้าถึงง่ายแค่ปลายนิ้ว

 

ใครมีเทคนิคอะไรดีๆ เอามาแชร์กันได้ เราเชื่อว่าทุกคนต่างมีทริก และเทคนิคการหาข้อมูลไม่เหมือนกัน

 

 

ภาพ: Shutterstock
ภาพประกอบ: Sradarit, Preawwoo

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X