×

‘สรรพเสียง’ ของประชาชน ในนิทรรศการล่องรอยราชดำเนินฯ นิทรรศการที่ทำให้คนตัวเล็กมีตัวตนในประวัติศาสตร์

26.08.2020
  • LOADING...
โมเดล อนุเสาวรีย์ นิทรรศการที่มีชื่อว่า ‘ล่องรอยราชดำเนิน: นิทรรศการผสานวัย’ ที่มิวเซียมสยาม

HIGHLIGHTS

  • ‘ล่องรอยราชดำเนิน: นิทรรศการผสานวัย’ ที่มิวเซียมสยาม มีจุดเด่นที่ทำให้เราได้เห็นถึง ‘สรรพเสียง’ (Multiple Voices) ของคนตัวเล็กผ่านกลวิธีการเดินเรื่อง (Narrating) และยังเชื่อมโยงกับแนวคิดทฤษฎีทางประวัติศาสตร์โบราณคดีหลายอย่าง ที่น่าจะเป็นแว่นสำคัญต่อการมองนิทรรศการอื่นๆ ได้ด้วย
  • ความรู้มักถูกครอบงำโดยกลุ่มคนที่มีอำนาจกลุ่มเดียว ด้วยเหตุนี้จึงทำให้แนวคิดเรื่อง ‘สรรพเสียง’ (Multiple Voices) ได้รับความสนใจจากนักคิดหลังสมัยใหม่ (Postmodernism) ที่มองว่าประวัติศาสตร์ที่เป็นอยู่ในปัจจุบันมีปัญหาอย่างหนึ่งคือ เป็นการเล่าเรื่องราวต่างๆ ผ่านเสียงของบุคคลเพียงบุคคลเดียว และไม่ได้ให้ความสำคัญกับเสียงของคนตัวเล็กหรือ ‘ประชาชน’ ที่มีบทบาทต่อการเปลี่ยนแปลงทางประเทศมากนัก
  • ประวัติศาสตร์ไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องของบุคคลสำคัญอย่างที่เรามักเข้าใจกัน แต่ประวัติศาสตร์หมายถึงความทรงจำของคนหลายคนบนพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง ในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง โดยมันสามารถบอกเล่าเรื่องราวความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในพื้นที่แห่งนั้นได้ และสามารถมีมุมมองที่แตกต่างกันต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ด้วย

เสียงของประชาชนนั้นมักจะหายไปในประวัติศาสตร์บ้าง เพราะมันไม่ถูกให้ความสำคัญ แต่หลักๆ แล้วก็เป็นเพราะความเข้าใจต่อประวัติศาสตร์ของเรานั้นมันถูกฟอร์แมตมาว่าจะต้องเป็นเรื่องสำคัญต่อชาติ และเป็นเรื่องของวีรบุรุษหรือทรราชเท่านั้น 

 

เกือบสองสัปดาห์ที่แล้ว ผมได้มีโอกาสไปเดินชมนิทรรศการที่มีชื่อว่า ‘ล่องรอยราชดำเนิน: นิทรรศการผสานวัย’ ที่มิวเซียมสยาม ซึ่งก่อนหน้าไปชม ผมก็ไม่ค่อยสนใจมาก เพราะรู้สึกว่าก็คงเป็นนิทรรศการแบบเดิมๆ ที่ว่าด้วยการเมือง แต่เมื่อเข้าไปดูจริงๆ แล้ว ต้องเอ่ยปากชมทางผู้จัดทำนิทรรศการนี้ว่า เป็นหนึ่งในนิทรรศการที่ผมว่าดีมาก เพราะมันมีจุดเด่นที่ทำให้เราได้เห็นถึง ‘สรรพเสียง’ (Multiple Voices) ของคนตัวเล็ก ผ่านกลวิธีการเดินเรื่อง (Narrating) และยังเชื่อมโยงกับแนวคิดทฤษฎีทางประวัติศาสตร์โบราณคดีหลายๆ อย่าง ซึ่งเมื่อไม่นานมานี้เพิ่งจะมีคนเขียนถึงไป ดังนั้นผมจึงอยากจะชี้ให้เห็นถึงแง่มุมอื่นๆ ในเชิงทฤษฎีทางประวัติศาสตร์แทน ซึ่งน่าจะเป็นแว่นสำคัญต่อการมองนิทรรศการอื่นๆ ได้ด้วย 

 

สรรพเสียงในนิทรรศการ 

ความรู้มักถูกครอบงำโดยกลุ่มคนที่มีอำนาจกลุ่มเดียว ด้วยเหตุนี้จึงทำให้แนวคิดเรื่อง ‘สรรพเสียง’ (Multiple Voices) ได้รับความสนใจจากนักคิดหลังสมัยใหม่ (Postmodernism) ที่มองว่าประวัติศาสตร์ที่เป็นอยู่ในปัจจุบันมีปัญหาอย่างหนึ่งคือ เป็นการเล่าเรื่องราวต่างๆ ผ่านเสียงของบุคคลเพียงบุคคลเดียว ซึ่งมักเป็นวีรบุรุษในประวัติศาสตร์ ปัญหาของมันจึงอยู่ตรงที่เหตุการณ์สักช่วงเวลาหนึ่งในประวัติศาสตร์นั้นมันมีหลากหลายมุมมองและแง่มุม และมีตัวแสดงเป็นจำนวนมาก ซึ่งประวัติศาสตร์ชาตินั้นไม่ได้ให้ความสำคัญกับเสียงของคนตัวเล็กหรือ ‘ประชาชน’ ที่มีบทบาทต่อการเปลี่ยนแปลงทางประเทศมากนัก 

 

เอียน ฮอดเดอร์ (Ian Hodder) นักโบราณคดีหลังสมัยใหม่ มองว่า การอธิบายอดีตนั้นมีปัญหา เพราะให้ความสำคัญกับเสียงกับหลักฐานจากชนชั้นปกครองเป็นหลัก และเป็นเสียงจากนักโบราณคดีและนักประวัติศาสตร์เพียงฝ่ายเดียว หากแต่ยังมีเสียงอีกมากมายที่สามารถมองผ่านหลักฐานทางโบราณคดีและประวัติศาสตร์ได้ ไม่ว่าจะเป็นจากไพร่ ประชาชน หรือกระทั่งนักวิชาการที่มีความคิดที่แตกต่างกัน เพราะหากอดีตมีเสียงมากกว่าหนึ่ง ก็ย่อมหมายถึงว่าจะไม่มีใครที่สามารถผูกขาดความถูกต้องได้เพียงฝ่ายเดียว 

 

‘เสียง’ ที่ว่านี้ไม่ใช่เสียงแบบที่เราเข้าใจกันทั่วไป หากหมายถึง ‘เรื่องเล่า’ (Narrative) ซึ่งคำนี้กินความกว้าง โดยหมายถึงเรื่องราวในอดีต เรื่องเล่าที่ต่างมุมมอง เรื่องราวในชีวิตของคนที่อาจไม่ได้ถูกมองว่าเป็นประวัติศาสตร์ ซึ่งในบางกรณีคำนี้ก็ถูกนำมาใช้เพื่อลดทอนอำนาจของประวัติศาสตร์ ที่มักสถาปนาว่าเรื่องราวของตัวเองนั้นเป็นความจริงหรือเรื่องจริงแท้ในอดีต ทั้งๆ ที่เรื่องจริงที่ว่านี้มาจากมุมมองของคนเพียงคนเดียวหรือกลุ่มเดียว ตัวอย่างที่ใกล้ตัวที่สุดก็เช่นเรื่องในสงครามยุทธหัตถีของสมเด็จพระนเรศวรนั้น ที่เอกสารฝ่ายไทยบอกว่าพระมหาอุปราชขาดคอช้างด้วยพระแสงของ้าว แต่เอกสารต่างชาติบันทึกว่าสิ้นพระชนม์ด้วยปืน 

 

 

ภายใต้แนวคิดดังกล่าว เมื่อเข้าไปชมนิทรรศการล่องรอยราชดำเนินฯ จึงทำให้ผมค่อนข้างทึ่งกับแนวคิดในการเดินเส้นเล่าเรื่องในนิทรรศการ ที่ไม่ได้เป็นลักษณะการเล่าเรื่องแบบเส้นตรง (Linear Narrating) และเป็นระนาบแบนๆ แต่มีกรอบของโครงเรื่องว่าต้องการเล่าเรื่องการเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์บนถนนราชดำเนิน ทั้งเรื่องของคนตัวใหญ่และคนตัวเล็ก ยังรวมถึงเหตุการณ์สำคัญหรือ ‘ไม่สำคัญ’ ทางประวัติศาสตร์ โดยใช้เรื่องราวชีวิตของคนจำนวน 8 ตัวละคร (Actor) ซึ่งก็เป็นเหมือนกับตัวแทน (Agency) แบบหนึ่ง ภายใต้โครงสร้างทางประวัติศาสตร์หลักที่ว่าด้วยเรื่องการเปลี่ยนแปลงการปกครองและเหตุการณ์ทางการเมืองต่างๆ 

 

8 ตัวละครที่ถูกสมมติขึ้นนี้จะมาเล่าเรื่องราวต่างๆ จำนวน 8 ธีม (เรื่องเล่า) หลัก ซึ่งทางผู้จัดนิทรรศการได้ใช้เส้นเสียงจำนวน 8 ‘เส้นทางเรื่องราว’ โดยแบ่งเป็นสีต่างๆ เพื่อใช้ในการเล่าเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นในถนนราชดำเนินตลอดระยะเวลา 121 ปี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของวัยรุ่นยุค 70 การประท้วงของประชาชน เรื่องของคนไร้บ้าน คนกวาดถนน อาหารกับประวัติศาสตร์ สถาปัตยกรรมบนถนนราชดำเนิน เป็นต้น 

 

ด้วยเส้นเสียงทั้ง 8 เรื่องราวนี้เอง มันจึงทำให้ไม่มีทางเลยที่คุณจะชมนิทรรศการเพียงไม่กี่นาทีแล้วเดินออก คุณอาจจะเลือกฟังบางเส้นทางเรื่องราวก็ได้ หรือถ้าต้องการฟังทั้งหมดก็อาจถ่ายภาพ QR Code แล้วเก็บไว้ไปฟังที่บ้าน หรือฟังออนไลน์ได้ที่นี่

 

การสร้างเส้นทางเรื่องราวทั้งหมดนี้ เปรียบดั่งการสร้างพล็อตเรื่องและตัวละครในนิยาย ส่วนหนึ่งได้มาจากการสืบค้นเอกสารประวัติศาสตร์ อีกส่วนหนึ่งมาจากไอเดียของผู้จัดนิทรรศการ โดยมี ทวีศักดิ์ วรฤทธิ์เรืองอุไร เป็นหัวหน้าโปรเจกต์ และทีมงานคนอื่นๆ ที่ช่วยกันรังสรรค์นิทรรศการนี้ขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็น กฤษตฤณ วีระฉันทะชาติ, วริศรา เชื้อพราหมณ์, รัชนก พุทธสุธา และ สรวิชญ์ ฤทธิ์จรุญโรจน์ โดยมีกระบวนการสำคัญด้วยคือ การรับสมัครภัณฑารักษ์วัยเก๋าจำนวน 16 คน ผู้ซึ่งมีประสบการณ์ตรงกับถนนราชดำเนิน และมองเห็นความเปลี่ยนแปลงของถนนสายนี้มาอย่างยาวนาน ทำให้นิทรรศการนี้เป็นเสมือนกับประวัติศาสตร์บอกเล่าที่มีชีวิต ไม่แบนราบ และมีเฉพาะเรื่องการเมืองเท่านั้น 

 

โฉมหน้าของทีมงานผู้จัดนิทรรศการล่องรอยราชดำเนินฯ

 

ภัณฑารักษ์วัยเก๋าผู้เก็บรวบรวมข้อมูลและบอกเล่าเรื่องราวในความทรงจำต่างๆ

 

ตัวละครที่เล่าในนิทรรศการล่องรอยราชดำเนินฯ นี้ เท่าที่สังเกตสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่ม ซึ่งผู้จัดดูจะเน้นไปที่กลุ่มชนชั้นกลางและกลุ่มชนชั้นล่าง (Subaltern) ในสังคมไทย ในขณะที่ชนชั้นสูงนั้นมีเพียงเรื่องของพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์เท่านั้น 

 

กลุ่มแรก เป็นกลุ่มของเสียงจากชนชั้นล่าง เป็นเรื่องของคนไร้บ้านและคนสวนของ กทม. คนไร้บ้านนายหนึ่ง (เล่าเรื่องด้วยเส้นสีม่วง) ใช้ชีวิตอยู่ที่สนามหลวง ทำอาชีพเก็บของเก่า ทั้งนี้เพราะไม่สามารถหางานทำได้ เรื่องราวของชายคนนี้อาจไม่สำคัญ ไม่เรียกว่าประวัติศาสตร์ก็จริง แต่กลับสะท้อนให้เห็นว่าสนามหลวงและราชดำเนินเป็นพื้นที่แห่งชีวิต ไม่ใช่พื้นที่ของชนชั้นสูงเท่านั้น 

 

อีกเสียงหนึ่งเป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่กวาดถนนของ กทม. (เล่าด้วยเส้นสีเขียว) ใช้ธีมเรื่องว่า ‘ตามรายทาง’ หญิงกวาดถนนคนนี้ได้เล่าเรื่องของต้นไม้ต่างๆ ในสนามหลวง เช่น ต้นมะขามและต้นราชพฤกษ์ในสนามหลวง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ราชดำเนินและให้ร่มเงากับคนยาก อีกทั้งยังเล่าถึงบรรยากาศเก่าๆ ของตลาดนัดหนังสือ คนมาเล่นว่าว การนำอาหารเซ่นไหว้จากพระแม่ธรณีมากิน และกิจกรรมอื่นๆ ในสนามหลวง เรื่องทั้งหมดนี้นัยว่าคนจัดนิทรรศการต้องการสะท้อนถึงปัญหาเรื่องพื้นที่สาธารณะของสนามหลวง รวมถึงราชดำเนินที่ไม่มีที่พักให้กับคนทั่วไป อีกทั้งยังมีการไล่หาบเร่แผงลอย ซึ่งเป็นที่พึ่งของคนรายได้น้อยอีกด้วย

 

กลุ่มที่สอง เป็นเรื่องของชนชั้นกลาง ผ่าน 5 ตัวละคร ตัวละครแรก (เส้นสีชมพู) เป็นการเล่าเรื่องผ่านธีมเรื่อง ‘บทเพลงราชดำเนิน’ ซึ่งเป็นเรื่องของชายคนหนึ่งที่พบรักที่โรงหนังศาลาเฉลิมไทย และตกหลุมรักหญิงสาวคนหนึ่งในยุค 70 ซึ่งทำให้บรรยากาศเต็มไปด้วยเสียงเพลงป๊อป อบอวลด้วยความรักและความสนุกสนาน แต่ต้องปิดท้ายด้วยโศกนาฏกรรมในเดือนตุลาคม 2516 และ 2519 ซึ่งเปลี่ยนจากเสียงเพลงป๊อปเป็นเสียงปราศรัย การประท้วง กระสุนปืน และความตาย 

 

 

ตัวละครที่สอง (เส้นสีฟ้า) เป็นเรื่องของสาววัยรุ่นนักอ่านคนหนึ่ง ที่เล่าเรื่องของราชดำเนินผ่านนิยาย เรื่องราวของนักคิดและร้านหนังสือต่างๆ เช่น ร้านก็องดิด ความน่าสนใจของการเล่าเรื่องตอนนี้อยู่ที่การอ้างอิงหนังสือ เช่น ฉันจึงมาหาความหมาย ทำให้เห็นประวัติศาสตร์ ปรัชญา และความหมายแฝงของถนนสายนี้ ซึ่งผู้จัดนิทรรศการคงต้องการสื่อว่า การอ่านหนังสือคือกุญแจสำคัญของความรู้และเข้าใจความหมายของถนนสายนี้

 

นิทรรศการนี้ยังพยายามนำเสนอชีวิตของผู้คนในชุมชนต่างๆ อีกด้วย 

 

ตัวละครที่สาม (เส้นสีแดง) มีชื่อว่า ‘อย่าได้อ้างว่าฉันเป็นผู้หญิงของเธอ’ เป็นเรื่องราวชีวิตของนักเรียนหญิงที่มีพี่สาวเป็นนักศึกษาหญิงช่วงเดือนตุลาคมที่ต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตย ซึ่งถูกกล่าวหาว่าเป็นญวนและคอมมิวนิสต์ จึงถูกเรียกว่า ‘ทหารหญิงแดง’ ชีวิตของนักเรียนคนนี้ก็คล้ายกับเด็กนักเรียนจำนวนมากทุกวันนี้ ที่ต้องไปเรียนติวที่ราชดำเนิน โดยมีความคาดหวังของครอบครัวและสังคมที่มองว่า อาชีพสายวิทย์ดีกว่าสายอื่น จนวันหนึ่งเธออยากรู้เรื่องเพศ จึงอ่านหนังสือปกขาว มีแฟน และถูกชายของเธอจำกัดเสรีภาพด้วยการอ้างว่าเป็นผู้หญิงของเขา เรื่องนี้ผลักดันให้เธอสนใจปัญหาด้านสตรี ความยากจน และความรุนแรงที่เกิดจากผู้ชาย ดังนั้นประเด็นสำคัญของเรื่องเล่านี้ก็เพื่อสื่อให้เห็นว่าบนถนนสายปฏิวัตินั้นมีผู้หญิงอยู่ด้วย 

 

ตัวละครที่สี่ (เส้นสีเหลือง) เป็นเรื่องของเด็กหนุ่มคนหนึ่ง ซึ่งเล่าเรื่องของสถาปัตยกรรมบนถนนราชดำเนิน ไม่ว่าจะเป็นบ้านของขุนนาง เจ้านาย ประชาชน ศาลฎีกา ซึ่งอาคารหลายแห่งนั้นมีรูปทรงเป็นเรขาคณิต ตามแบบสถาปัตยกรรมแบบ Art Deco และโมเดิร์น เดิมทีอาคารเหล่านี้ล้วนถูกใช้งาน แต่ในภายหลังกลับไม่หลงเหลือบรรยากาศแบบนั้นอีก ทำให้มันกลายเป็นสถาปัตยกรรมที่ขาดชีวิตและไม่คงไว้ซึ่งวิถีประชา 

 

ตัวละครที่ห้า (เส้นสีเขียวสด) มีชื่อว่า ‘รสชาติแห่งยุคสมัย’ เป็นเรื่องของชายคนหนึ่งที่เล่าเรื่องร้านอาหารต่างๆ บนถนนราชดำเนิน ไม่ว่าจะเป็นร้านที่ตรอกสาเก ข้าวต้มบวร ร้าน Sky High ภัตตาคารผ่านฟ้า ร้านบราวน์ชูก้า ร้านคูลบาร์ ร้านศรแดง ลิขิตไก่ย่าง ซึ่งทั้งหมดนี้สามารถเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์บนถนนสายนี้ได้ด้วย เพราะอาหารคือประวัติศาสตร์ และเป็นรสชาติแห่งยุคสมัย ซึ่งคนในแต่ละช่วงเวลาย่อมมีรสนิยมและความชอบต่อรสชาติต่างกัน 

 

 

กลุ่มที่สาม เป็นเรื่องของชนชั้นสูง ถึงแม้ว่าผู้จัดนิทรรศการจะให้น้ำหนักกับเรื่องราวและเสียงของคนทั่วไปมากกว่า แต่ก็มองว่าชนชั้นสูงก็เป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์บนถนนสายนี้เช่นกัน เรื่องของชนชั้นสูงนี้เป็นการเล่าผ่านหนังสือที่มีชื่อเสียงของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ เรื่อง เกิดวังปารุสก์ ซึ่งเล่าเรื่องของพระองค์นับแต่เกิดจนถึงหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ผ่านวังของพระองค์ ทั้งวังปารุสก์ และบ้านจุลจักรพงษ์ รวมถึงเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นบนถนนราชดำเนิน สนามหลวง พระบรมมหาราชวัง พระราชวังดุสิต สะพานมัฆวานรังสรรค์ และป้อมมหากาฬ ซึ่งสถานที่ต่างๆ เหล่านี้เต็มไปด้วยเหตุการณ์และเทศกาลต่างๆ มากมาย เช่น งานรัฐธรรมนูญ งานวัดที่ภูเขาทอง การใช้ถนนราชดำเนินเป็นที่ทดสอบรถแข่งของพระองค์เจ้าพีระ ซึ่งใช้ป้อมพระมหากาฬเป็นที่นั่งให้คนระดับวีไอพี 

 

เรื่องเล่าที่แตกต่างกันจากเสียงของคนทั้ง 8 นี้เอง ที่ทำให้ราชดำเนินเป็นถนนที่มีชีวิตและหาอ่านไม่ได้จากหนังสือประวัติศาสตร์เล่มใด เพราะหลายเรื่องเป็นเรื่องของคนตัวเล็กๆ (ที่อาจถูกนิยามว่าปราศจากประวัติศาสตร์) แต่เรื่องเหล่านี้เองที่เป็นประวัติศาสตร์และวิถีชีวิตครั้งหนึ่งของถนนราชดำเนิน 

 

ความทรงจำคือประวัติศาสตร์  

ความยากของการเขียนประวัติศาสตร์คือ จะทำอย่างไรที่จะสามารถร้อยเรื่องราวจากประสบการณ์ของคนจำนวนมากมายให้กลายเป็นประวัติศาสตร์สักเรื่องหนึ่ง เส้นทางเรื่องราวทั้ง 8 เส้นนั้นจึงอาศัย ‘เทศะ’ (Space) คือสนามหลวงและถนนราชดำเนิน เป็นพื้นที่ที่ทำให้ความทรงจำของปัจเจก (Individual Memory) ได้มีที่ทางของมัน ซึ่งมักมีการถกเถียงเสมอว่าความทรงจำในระดับปัจเจกนั้นจะสามารถเป็นประวัติศาสตร์ได้หรือไม่ 

 

เมื่อพูดถึงความทรงจำปัจเจกแล้ว คนแต่ละคนล้วนมีความทรงจำและความชอบแตกต่างกันไป นิทรรศการนี้จึงได้นำหีบใบใหญ่ที่ภัณฑารักษ์วัยเก๋าได้ทดลองสร้างวัตถุจัดแสดงและเรื่องราวต่างๆ ที่เก็บเกี่ยวได้มาแสดงในหีบ นัยว่าเป็นการแสดงให้เห็นว่า หีบนั้นคือกล่องที่ผู้คนต่างๆ เก็บความทรงจำเอาไว้ และได้ใช้ชีวิตอย่างไรบนถนนสายนี้ ที่ผมชอบคือเรื่อง ลมหายใจ… บางส่วนที่หายไป (ของฉัน) โดย บุญช่วย เทพสงเคราะห์ ซึ่งในกล่องได้จัดแสดงถึงกิจกรรมหลายๆ อย่างที่เคยเกิดขึ้นในสนามหลวงที่หายไปแล้ว เธอได้เขียนคำบรรยายไว้ว่า “เป็นความทรงจำของการใช้ชีวิตของคนธรรมดาคนหนึ่ง ที่เรียบง่าย จากสิ่งที่คุ้นเคยในวัยเด็กที่เคยใช้ชีวิตบนถนนราชดำเนิน ตลอดระยะเวลา 16 ปี สิ่งที่ผูกพันมากจะเป็นตลาดนัดสนามหลวง ซึ่งจะมีทุกวันเสาร์และอาทิตย์ มีสิ่งของให้เลือกซื้อมากมายแบ่งเป็นโซนต่างๆ… แต่สิ่งเหล่านี้บางส่วนได้หายไปเหลือเป็นเพียงความทรงจำ” 

 

หีบที่จัดแสดงให้เห็นว่าสนามหลวงครั้งหนึ่งเคยเป็นตลาดและพื้นที่สาธารณะของผู้คนทุกชนชั้น

 

ในเมื่อทุกคนต่างมีความทรงจำแบบปัจเจกต่อราชดำเนินด้วยกันนั้น นิทรรศการนี้จึงได้จัดการกับปัญหาดังกล่าวด้วยการใช้ ‘เส้นทางเรื่องราว’ ทั้ง 8 เส้น ที่บางช่วงเวลาของชีวิตมนุษย์นั้นได้เคยใช้พื้นที่บางแห่งร่วมกัน เช่น ตัวละครในบทเพลงราชดำเนิน และนักเรียนหญิงเคยใช้ชีวิตการประท้วงต่อต้านรัฐบาลเผด็จการบนถนนราชดำเนิน เช่นเดียวกับพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ที่มองความเปลี่ยนแปลงในช่วงการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ซึ่งเส้นทางเรื่องราวของตัวละครนี้จะตัดกันบนพื้นทางเดินในนิทรรศการ การตัดกันนี้เองที่ทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า ‘ความทรงจำร่วม’ (Collective Memory) ขึ้น ซึ่งความทรงจำร่วมนี้เองที่เป็นที่มาของสิ่งที่เราเรียกกันว่า ‘ประวัติศาสตร์’

 

เส้นสายบนพื้นที่ต่างสีที่ตัดกัน คือประวัติศาสตร์ร่วมกันของปัจเจกชน

 

ผังนิทรรศการเรื่อง ‘อยู่ราชดำเนิน’ จะเห็นได้ว่าเส้นสีม่วงนี้ตัดกับเส้นสีต่างๆ ซึ่งทำให้เกิดความทรงจำร่วม

 

ดังนั้นประวัติศาสตร์จึงไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องของบุคคลสำคัญอย่างที่เรามักเข้าใจกัน แต่หมายถึงความทรงจำของคนหลายๆ คนบนพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง ในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง โดยมันสามารถบอกเล่าเรื่องราวความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในพื้นที่แห่งนั้นได้ และสามารถมีมุมมองที่แตกต่างกันต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ด้วย 

 

เวทีของการต่อสู้ ความเปลี่ยนแปลงจึงเกิดประวัติศาสตร์ 

เป็นที่ทราบกันดีว่าถนนราชดำเนินนั้นเป็นพื้นที่ของการประท้วง การปฏิวัติ และการต่อสู้ระหว่างขั้วอำนาจสองขั้วตลอดช่วงเวลาทางประวัติศาสตร์ของมัน ไม่ว่าจะเป็นขั้วเจ้า vs. คณะราษฎร ขั้วรัฐบาลเผด็จการ vs. ประชาชน ขั้วเสื้อเหลือง vs. เสื้อแดง 

 

นิทรรศการนี้จึงเริ่มต้นทางเข้าชมด้วยการนำกระสอบทรายมาขวางทางเข้า ซึ่งก็ดูจะสอดคล้องกันดีกับการที่ถนนแห่งนี้มีเวทีมวยราชดำเนินอยู่ด้วย รวมถึงการเล่าเรื่องเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์อย่างสนุกสนานผ่านเสียงการพากย์มวย นัยว่าต้องการสะท้อนให้เห็นว่า ถนนราชดำเนินนี้เป็นพื้นที่สำคัญต่อการทำความเข้าใจเรื่องพื้นที่ของการปะทะการประชัน (Contested Space) กันระหว่างขั้วอำนาจ 

 

 

การปะทะกันระหว่างขั้วอำนาจนี้เองที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและสังคม ซึ่งเป็นเกณฑ์อย่างหนึ่งที่นักประวัติศาสตร์ใช้สำหรับการแบ่งยุคสมัยทางประวัติศาสตร์ (Historical Periodization) ดังนั้นเมื่อดู ฟัง และอ่านนิทรรศการนี้ จึงน่าจะช่วยทำให้เกิดคำถามมากมายว่า ทำไมการปะทะกันของขั้วอำนาจทางการเมืองจำนวนมากมายหลายครั้ง จึงมีบางครั้ง บางเหตุการณ์เท่านั้นที่ถูกยกระดับให้เป็นประวัติศาสตร์ และเลือกให้ประชาชนจำนวนมากรับรู้ ในขณะที่การปะทะกันอีกมากมายนั้นกลับไม่ถูกเลือกและหายไปจากประวัติศาสตร์ 

 

 

ความจริงยังมีรายละเอียดเล็กๆ ที่ทำให้นิทรรศการนี้มีชีวิตและส่งเสียงได้ ไม่ว่าจะเป็นการให้ผู้ชมเขียนความคิดเห็นต่อถนนราชดำเนินแปะลงไปในโพสต์อิต, การที่ผู้จัดนิทรรศการมาเดินเล่าเรื่องกึ่งซักถามชวนคุยประสบการณ์ต่อถนนราชดำเนิน ซึ่งทำให้นิทรรศการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้ชม ชวนให้เราคิดว่าหน้าที่ของภัณฑารักษ์ที่ดีนั้นควรเป็นแบบนี้ ไม่ควรเป็นการสื่อสารทางเดียวเท่านั้น, การให้ผู้ชมสามารถหยิบจับของในหีบ เพื่อรู้สึกถึงผัสสะต่อวัตถุ และความทรงจำ, การเล่นกงล้อเวียนวนที่เปรียบเปรยเหมือนกับประวัติศาสตร์ของราชดำเนินนั้นเป็นดั่งวัฏจักรและเหมือนไม่ไปไหนสักที, การให้ผู้ชมโยงใยเส้นเชือกว่าตัวเองนั้นเคยมีความทรงจำร่วมใดบ้างกับราชดำเนิน เรียกได้ว่าเป็นนิทรรศการที่อัดแน่นไปด้วยแนวคิดที่น่าสนใจและอาจดีที่สุดของปีนี้ 

 

ถึงแม้ว่านิทรรศการนี้จะเปิดพื้นที่และให้เสียงอันหลากหลายกับประชาชนอย่างมาก ซึ่งนับเป็นหมุดหมายที่ดีต่อนิทรรศการทางประวัติศาสตร์ แต่ก็ไม่ใช่ว่ามันจะสามารถเล่าเรื่องทุกอย่างได้ เพราะตราบใดที่ประวัติศาสตร์ยังให้เราเลือกที่จะจดจำประวัติศาสตร์บางเรื่อง ประวัติศาสตร์บาดแผล และเรื่องราวอันเลวร้ายของผู้มีอำนาจนั้นก็คงไม่สามารถเกิดขึ้นได้ง่ายๆ ทั้งๆ ที่มันจะเป็นบทเรียนที่สำคัญต่ออนาคตของคนไทย 

 

นิทรรศการล่องรอยราชดำเนินตอนนี้กำลังจัดอยู่ที่อาคารจัดนิทรรศการหลังเล็กอีกไม่กี่วัน จากนั้นจะย้ายไปจัดที่หอสมุดเมืองกรุงเทพมหานคร นับตั้งแต่วันที่ 1 กันยายนนี้ อยากให้ไปดูกันครับ รับรองว่าไม่เสียเวลาเลยสักนิด

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

อ้างอิง:

  • Ian Hodder and Scott Hudson. 2003. Reading the Past: Current Approaches to Interpretation in Archaeology, Third edition. Cambridge: Cambridge University Press.
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising