×

จะเกิดอะไรขึ้นบ้างในโลกของการท่องเที่ยวปี 2019

05.01.2019
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

6 MINS READ
  • ความยั่งยืนคือคีย์เวิร์ดหลักของการท่องเที่ยว และนักท่องเที่ยวเริ่มหันมาใส่ใจเที่ยวเมืองเล็กและใกล้ชิดกับชุมชนมากขึ้น
  • หลายสนามบินนำระบบ Biometrics มาใช้อย่างจริงจังแบบเต็มระบบตั้งแต่เช็กอินไปจนถึงการตรวจคนเข้าเมือง ไม่ว่าจะเป็นสนามบินของประเทศญี่ปุ่น อินเดีย และอเมริกา
  • สายการบินแบบฟูลเซอร์วิสหันมาใส่ใจกับผู้โดยสารในทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นเลานจ์ในสนามบินที่อัปเกรดแบบจัดเต็ม เมนูอาหารบนเครื่องบินที่ปรุงขึ้นจากเชฟดังประจำชาติ (เช่น การบินไทยที่นำเมนูของร้านเจ๊ไฝขึ้นเครื่อง) รวมถึงการหันไปจับตลาดไฟลต์บินแบบยาวพิเศษ หรือ The Ultra-Long Haul Flight

ในรอบปีที่ผ่านมา วงการการท่องเที่ยวไทยประสบปัญหาภาวะซบเซาจากเหตุการณ์ไม่คาดฝันหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นความไม่ไว้วางใจในระบบความปลอดภัยของไทยในอุบัติเหตุเรือล่มที่จังหวัดภูเก็ต หรือเหตุการณ์เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองทำร้ายนักท่องเที่ยวชาวจีนจนได้รับบาดเจ็บ ณ ภูเก็ตอีกเช่นกัน พานให้ยอดนักท่องเที่ยวจีนที่ลดอยู่แล้วลดฮวบลงไปอีกชนิดที่ว่าเจ้าของธุรกิจต่างร้องโอดครวญเป็นแถว แม้ปลายปีจะมีข่าวให้ชื่นใจกันบ้างกับยอดฉลองนักท่องเที่ยวชาวจีนคนที่ 10 ล้านครั้งแรกในประวัติการณ์ การจับมือของผู้ประกอบการภูเก็ตที่ร่วมใจกันแบนพลาสติกแบบใช้แล้วทิ้ง หรือยอดท่องเที่ยวในตลาดอื่นเริ่มเพิ่มสูงขึ้นมาทดแทนนักท่องเที่ยวชาวจีน

 

แม้ปี 2018 ภาพรวมการท่องเที่ยวบ้านเราจะดูลุ่มๆ ดอนๆ ไปบ้างตามประสาเศรษฐกิจและสิ่งเร้าภายนอกที่มีบททดสอบมากเหลือเกิน แต่มองในมุมกว้าง การท่องเที่ยวไทยยังคงคึกคัก เพียงแต่ไม่หวือหวาเหมือนปีที่ผ่านๆ มา มีการกระจายนักท่องเที่ยวออกไปยังเมืองรองตามนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรองของรัฐบาล คนต่างชาติเที่ยวเมืองเล็กกันมากขึ้น คนไทยเองก็หันมาเที่ยวไทยมากขึ้นเช่นกัน

 

ปี 2019 หรือพุทธศักราช 2562 หลายฝ่ายคาดการณ์ว่าเทรนด์การท่องเที่ยวโลกจะยังคงเน้นเรื่องความยั่งยืน การท่องเที่ยวทางอากาศกำลังเติบโตต่อเนื่องแบบก้าวใหญ่ๆ จากปีที่แล้ว แต่แว่วมาว่ากำลังมีสายการบินเกิดใหม่ถึง 2 สาย หนึ่งในนั้นเพิ่งสั่งซื้อเครื่องบินจากรัสเซีย โดยมีนักวิชาการหลายคนเชื่อว่าอาจมีการร่วมทุนใหม่ๆ เกิดขึ้นในแวดวงการบินไทย ทว่าจะรุ่งหรือร่วงก็คงต้องติดตาม

 

ส่วนภาพรวมของการท่องเที่ยวทางอากาศโลกกำลังเปลี่ยนโฉมไปอีกระดับ ไฟลต์บินแบบยาวพิเศษ (The Ultra-Long Haul Flight) กำลังเป็นเทรนด์ที่ผู้ประกอบการต่างงัดแงะเข้ามาสู้ รวมถึงระบบข้อมูลทางชีวภาพ Biometrics จะก้าวเข้ามาเป็นกำลังหลักในสนามบิน แน่นอนว่ายังมีอีกหลายสิ่งอย่างเกิดขึ้นในอนาคต และนี่คือสิ่งที่ THE STANDARD รวบรวมและคาดการณ์ว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้างกับการท่องเที่ยวในปี 2019

 

 

ความยั่งยืนคือคีย์เวิร์ดหลักของการท่องเที่ยว

ไม่ใช่แค่บ้านเราที่หันมารณรงค์เรื่องความยั่งยืน แต่ผู้คนในวงการท่องเที่ยวทั่วโลกต่างหันมาใส่ใจการท่องเที่ยวแบบรักษ์โลกกันอย่างจริงจัง มีการแบนพลาสติกแบบใช้แล้วทิ้ง (Single-use Plastic) กันอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นโรงแรมและรีสอร์ตยักษ์ใหญ่ทั้งหลายที่เริ่มทำกันจริงจังในปีนี้ และที่สร้างความตกใจให้ผู้เขียนพอตัวคือการเปิดตัวเที่ยวบินปลอดพลาสติกแบบใช้แล้วทิ้งของสายการบินไฮฟลาย สัญชาติโปรตุเกส เมื่อตอนสิ้นปีที่ผ่านมา โดยเดินทางจากลิสบอนไปยังนาตาลในแอฟริกาใต้ สายการบินนี้หันมาใช้ช้อนส้อมและมีดที่ทำมาจากไม้ไผ่ ใช้บรรจุภัณฑ์ที่ย่อยสลายได้แทน ซึ่งทางสายการบินวางแผนเปิดเที่ยวบินทำนองนี้เพิ่มอีก 3 เที่ยวบินเพื่อลดการใช้พลาสติกได้ถึง 350 กิโลกรัม หรือประมาณ 770 ปอนด์เลยทีเดียว แน่นอนว่าการกระทำของไฮฟลายในครั้งนี้จะสามารถกระตุ้นให้สายการบินยักษ์ใหญ่หันมาแบนพลาสติกใช้แล้วทิ้งได้อย่างแน่นอนในอนาคตอันใกล้

 

นอกจากเรื่องการรักษ์โลก ความยั่งยืนในที่นี้ยังหมายถึงการเที่ยวเชิงคุณภาพ นักท่องเที่ยวเริ่มหันมาใส่ใจเที่ยวเมืองเล็กและใกล้ชิดกับชุมชนมากขึ้น เนื่องจากเบื่อหน่ายฝูงชนตามเมืองใหญ่ และปัญหา Overtourism ที่เกิดขึ้นทั่วโลก ผลการสำรวจของ Airbnb พบว่าผู้เข้าพัก 84% ตัดสินใจใช้ Airbnb เพราะต้องการใช้ชีวิตเหมือนคนท้องถิ่น โดยส่วนใหญ่มักเลือกที่พักนอกแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมและใช้จ่ายกับคนในท้องถิ่นมากขึ้น โดยจุดหมายปลายทางระดับโลกที่เป็นเทรนด์ปีนี้มักเป็นเมืองที่ไม่นิยมถึงขั้นติดท็อประดับโลก เช่น เมืองไคคูรา ประเทศนิวซีแลนด์ เมืองเซี่ยเหมิน ประเทศจีน และแคว้นนอร์มังดี ประเทศฝรั่งเศส (ทั้งหมดวัดจากยอดจองล่วงหน้าที่เพิ่มสูงเกือบ 3 เท่าตัว)

 

ซึ่งเทรนด์นี้ไปสอดคล้องกับนโนบายเที่ยวเมืองรองของไทยในแคมเปญ Amazing Thailand Go Local ในปีที่ผ่านมา ผู้เขียนคาดว่ารัฐบาลยังคงสนับสนุนแคมเปญนี้อย่างต่อเนื่อง เพราะถือเป็นแคมเปญที่ทำแล้วประสบความสำเร็จ กระจายรายได้สู่ชุมชนเล็กได้ดีในระยะยาว แถมยังกระตุ้นให้คนไทยหันมาสนใจเที่ยวเมืองรองกันมากขึ้นจนกลายเป็นทางเลือกลำดับต้นๆ ในการท่องเที่ยว

 

 

ระบบข้อมูลทางชีวภาพ Biometrics จะอยู่ทุกหนทุกแห่ง

พูดถึงเทรนด์การท่องเที่ยวไปแล้ว มาดูโลกของการเดินทางบนอากาศกันบ้าง สิ่งที่คุณจะพบเจอยามเดินทางมากขึ้นในปี 2019 คือระบบ Biometrics หรือเทคโนโลยียืนยันข้อมูลด้วยระบบชีวภาพ หลังจากที่เราได้ยินข่าวคราวการนำระบบนี้มาทดลองใช้ในสนามบินหลายแห่ง ปีนี้เราจะเห็นหลายสนามบินนำระบบนี้มาใช้อย่างจริงจัง ไม่ว่าจะเป็นสนามบินชูบุเซ็นแทรร์ สนามบินนานาชาติคันไซ สนามบินฟุกุโอกะ ของประเทศญี่ปุ่น สนามบินกัลกัตตา สนามบินพาราณสี สนามบินวิชัยวาทะ ของประเทศอินเดีย สนามบินชางฮีของสิงคโปร์ รวมถึงสนามบินอีก 25 แห่งในสหรัฐอเมริกา และไม่ใช่แค่สนามบินเท่านั้นที่ใช้ แต่สายการบินต่างๆ ก็เริ่มนำระบบนี้มาใช้ในการเช็กอิน เช่น สายการบินเดลต้า เจ็ตบลู และลุฟต์ฮันซา

 

เสียใจด้วยถ้าเราจะบอกว่าค่าตั๋วเครื่องบินอาจแพงขึ้น

แม้ปีที่แล้วตั๋วเครื่องบินจะราคาถูกลง เนื่องจากสายการบินต่างๆ พยายามกดราคามาสู้เพื่อเรียกลูกค้า และเป็นผลพวงจากราคาน้ำมันดิบต่ำช่วงต้นปี 2016 ทว่าในปี 2019 ราคาตั๋วเครื่องบินมีแนวโน้มจะเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากมีการคาดการณ์ว่าราคาน้ำมันดิบจะสูงมากในรอบหลายปีในช่วงหน้าร้อนนี้ และมีแนวโน้มว่าจะลดลงเช่นกันในฤดูใบไม้ร่วง อย่างไรก็ดี ของที่มักขึ้นราคาไม่เคยลดลงฉันใด ราคาตั๋วเมื่อขึ้นแล้วก็ลดลงยากฉันนั้น ฉะนั้นควรติดตามอย่างใกล้ชิด ไม่แน่ว่าสายการบินต่างๆ จะใจแข็งไม่ขึ้นราคาตั๋วเพียงเพราะน้ำมันขึ้นเพียงไม่กี่เดือนก็ได้

 

 

ปีแห่งไฟลต์ยาวพิเศษและงาน Tailor-made

การแพร่หลายของการสายบินต้นทุนต่ำทำให้สายการบินแบบฟูลเซอร์วิสต่างพยายามงัดกลยุทธ์แบบ ‘ราคาดี บริการมีระดับ’ มาสู้ แล้วก็ค้นพบว่าหนทางที่ทำให้ลูกค้าเลือกใช้บริการตนเองมิใช่อยู่ที่ราคาถูกเพียงอย่างเดียว แต่อยู่ที่ความประณีตในงานบริการและประสบการณ์การบินที่ได้รับ ในปีนี้คุณจึงจะเห็นสายการบินแบบฟูลเซอร์วิสหันมาใส่ใจผู้โดยสารทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นเลานจ์ในสนามบินที่อัปเกรดแบบจัดเต็ม เมนูอาหารบนเครื่องที่ปรุงขึ้นจากเชฟดังประจำชาติ (เช่น การบินไทยที่นำเมนูของร้านเจ๊ไฝขึ้นเครื่อง) หรือสิ่งอำนวยความสะดวกที่เพิ่มขึ้นกว่าแต่ก่อน

 

นอกจากงานบริการแบบ Tailor-made ที่ให้ความรู้สึกราวกับเป็นคนสำคัญ เราจะเห็นสายการบินต่างๆ หันมาจับไฟลต์บินแบบยาวพิเศษ (The Ultra-Long Haul Flight) หลังจากเห็นกระแสแง่บวกและความสำเร็จของสายการบินสิงคโปร์ที่เพิ่งเปิดตัวเที่ยวบินจากสิงคโปร์สู่นูอาร์กเมื่อปลายปีที่ผ่านมา ซึ่งคาดว่าสายการบินที่จะลงมาแชร์ตลาดนี้ด้วยคือผู้เล่นหน้าเก่าอย่างสายการบินควอนตัสและคาเธ่ย์ แปซิฟิค

 

นอกเหนือจากที่ได้กล่าวมา เราขอให้คุณติดตามความคืบหน้าเอาไว้ให้ดี เพราะยังมีเรื่องราวน่าตื่นเต้นรอพวกเราอีกเพียบ

 

ภาพ: Shutterstock

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

อ่านเพิ่มเติม:

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

X
Close Advertising