×

TMB Analytics ชี้ไทยอาจฟื้นตัวช้า เร่งรัฐดันมาตรการใช้จ่ายจากคนมีกำลังซื้อกว่า 15.5 ล้านคน

06.10.2020
  • LOADING...
TMB Analytics ชี้ไทยอาจฟื้นตัวช้า เร่งรัฐดันมาตรการใช้จ่ายจากคนมีกำลังซื้อกว่า 15.5 ล้านคน

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี (TMB Analytics) เปิดเผยว่า แม้ช่วงแรกหลังคลายล็อกดาวน์ การบริโภคภาคเอกชนมีทิศทางปรับตัวดีขึ้นบ้าง แต่ในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมากลับมีสัญญาณแผ่วลง โดยการใช้จ่ายในหมวดสินค้าไม่คงทนและหมวดบริการแผ่วลงจากกำลังซื้อที่ยังคงอ่อนแอ มีเพียงการใช้จ่ายในหมวดสินค้าคงทนที่ยังคงเพิ่มขึ้น ทำให้แรงส่งการฟื้นตัวต่อเศรษฐกิจไทยยิ่งอ่อนแรงลง

 

ทั้งนี้ แม้ว่าดัชนีการบริโภคภาคเอกชนที่ปรับดีขึ้นจากจุดต่ำสุดในเดือนเมษายนที่ผ่านมาในทุกหมวดสินค้า โดยหมวดสินค้าคงทน ยอดขายรถใหม่ปรับเพิ่มขึ้นจากยอดขายเดิมที่เคยลดเหลือเพียง 30,000 คันในเดือนเมษายน มาอยู่ที่ 68,000 คันในเดือนสิงหาคม และราคารถมือสองที่ขยับดีขึ้นจากเดือนเมษายน แต่ประเมินยอดขายรถใหม่ที่เพิ่มขึ้นจากจุดต่ำสุดยังไม่เป็นตัวชี้ถึงดีมานด์ที่เพิ่มขึ้น

 

โดยยอดขายรถใหม่ที่เพิ่มขึ้นในเดือนสิงหาคมเป็นความต้องการที่เลื่อนมาจากช่วงล็อกดาวน์ รวมทั้งได้ปัจจัยหนุนจากการจัดกิจกรรมมอเตอร์โชว์ที่ถูกเลื่อนจากต้นปี จึงถือเป็นเพียงปัจจัยกระตุ้นชั่วคราว และการเพิ่มขึ้นอาจไม่ต่อเนื่อง เนื่องจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัวและแรงกดดันจากหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง

 

ในส่วนดัชนีการบริโภคหมวดสินค้าไม่คงทน สินค้ากึ่งคงทน และการใช้จ่ายในภาคบริการมีทิศทางปรับดีขึ้น โดยเฉพาะช่วงที่มีมาตรการเยียวยาจ่ายเงิน 5,000 บาทต่อเดือน แต่ก็เห็นสัญญาณแผ่วลงในเดือนสิงหาคม ที่มาตรการจ่ายเงินเยียวยาสิ้นสุดลง และยังมีปัจจัยพิเศษอย่างวันหยุดยาวในเดือนกรกฎาคมที่ดึงดูดการท่องเที่ยวไปแล้ว

 

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยหลักที่ยังกดดันเศรษฐกิจไทย มาจากสภาพตลาดแรงงานที่ยังเปราะบาง เห็นได้จากจำนวนผู้ขอรับสิทธิงาน ณ เดือนสิงหาคมยังคงเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 4.4 แสนคน และความเชื่อมั่นต่อแนวโน้มการหารายได้ในอนาคตที่ยังอยู่ในระดับต่ำ

 

ขณะที่สัญญาณการบริโภคที่แผ่วลงยังเห็นได้จากข้อมูลธุรกรรมการชำระเงินจากหลากหลายช่องทางทั้งออฟไลน์และออนไลน์ พบว่าแผ่วลงในเดือนกรกฎาคม โดยมูลค่าการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตและบัตรเดบิต มูลค่าการใช้จ่ายผ่านมือถือ รวมทั้งการโอนเงินผ่านพร้อมเพย์ที่ปรับดีขึ้นต่อเนื่องนับจากจุดต่ำสุดในเดือนเมษายน เริ่มแผ่วลงในช่วงต้นไตรมาส 3 เช่นเดียวกัน

 

ด้านข้อมูลเรียลไทม์ บ่งบอกกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ปรับดีขึ้นหลังคลายล็อกดาวน์ เริ่มกลับมาทรงตัวตั้งแต่เดือนกรกฎาคม โดยดัชนี Google Mobility ทำให้เห็นการเคลื่อนไหวของกิจกรรมเศรษฐกิจในด้านต่างๆ มีแนวโน้มใกล้ช่วงปกติหรือก่อนเกิดโควิด-19 แต่ก็เริ่มเห็นสัญญาณแผ่วลงเช่นกันในการเดินทางไปยังร้านค้าปลีก กิจกรรมการพักผ่อนหย่อนใจ ร้านขายสินค้าทั่วไป และร้านสะดวกซื้อ 

 

นอกจากนี้ข้อมูล Apple Mobility บ่งบอกว่ากิจกรรมเดินทางหรือการขับขี่ส่วนใหญ่กระจุกตัวในจังหวัดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว ซึ่งมาจากผลของมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวของภาครัฐ อาทิ เราไปเที่ยวกัน และคนไทยหันมาท่องเที่ยวในไทยหลังคลายล็อกดาวน์ โดยเฉพาะในช่วงวันหยุดยาว

 

อย่างไรก็ตาม มองว่าภาครัฐควรออกมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายเป็นแพ็กเกจ โดย เน้นกลุ่มที่รายได้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 จำกัด ที่มีอยู่กว่า 15.5 ล้านคน หรือ 40% ของจำนวนคนในตลาดแรงงาน (38.2 ล้านคน) ซึ่งโดยรวมยังมีอำนาจซื้ออยู่ในเกณฑ์ดี ประกอบด้วยข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ พนักงานบริษัท และธุรกิจเอกชน (ไม่รวมกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยวและบริการที่เกี่ยวข้อง) 

 

ทั้งนี้มาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายเชื่อว่าจะช่วยหนุนการบริโภคในภาพรวม เมื่อเครื่องยนต์เศรษฐกิจในภาคต่างประเทศของไทยส่งสัญญาณฟื้นตัวอย่างช้าๆ โดยเฉพาะการส่งออกที่ได้รับผลจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว และภาคการท่องเที่ยวที่ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงจากการเกิดระบาดโควิด-19 รอบสอง ดังนั้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศยังถือเป็นแรงขับเคลื่อนหลักของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย จึงมองว่ามาตรการจากภาครัฐเพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศจึงเป็นสิ่งจำเป็น ทำให้เศรษฐกิจไทยปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง

 

เมื่อพิจารณามาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายหลังคลายล็อกดาวน์ ได้แก่ มาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยว (เที่ยวปันสุข, เราไปเที่ยวกัน, กำลังใจ) ที่เชื่อมโยงไปกระตุ้นการใช้จ่ายด้วย และที่จะเปิดให้ลงทะเบียนในเดือนตุลาคมนี้ คือมาตรการ ‘คนละครึ่ง’ โดยรัฐจะจ่ายให้ 50% ของยอดใช้จ่ายไม่เกิน 3,000 บาท เป็นจำนวน 10 ล้านคน ประเมินว่าจะมีส่วนพยุงกำลังซื้อของคนในประเทศ ทำให้สินค้าที่จำเป็นในชีวิตประจำวันยังขยายตัวได้ อีกทั้งจะช่วยพยุงกิจการของผู้ประกอบการรายเล็ก

 

ดังนั้นหากมีมาตรการเพิ่มเติมมาช่วยกระตุ้นในกลุ่มที่มีกำลังในการใช้จ่ายมากขึ้น คาดว่าจะช่วยให้การบริโภคฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง ทั้งนี้อาจเป็นในรูปแบบมาตรการที่นำค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงมาหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หรือเป็นเงินสดคืนให้เป็นร้อยละของยอดใช้จ่าย (Cash Back)

 

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising