Q: หนูตื่นเต้นทุกครั้งเวลาออกไปพรีเซนต์งาน พยายามควบคุมสติแล้ว แต่พอถึงเวลาก็ตื่นเต้นจนลืมทุกอย่างว่าต้องพูดอะไร เกร็งไปหมด เครียดมากค่ะ โดนทั้งล้อทั้งดุ จนไม่กล้าออกไปพูดแล้ว จะทำอย่างไรให้ไม่ตื่นเต้นได้คะ
A: พี่ก็เป็นคนหนึ่ง ซึ่งเคยโดนล้อให้ขายหน้าต่อหน้าคนทั้งออฟฟิศว่าออกไปพูดพรีเซนต์งานแล้วปากสั่น เพราะฉะนั้น น้องไม่ได้เดียวดายแน่นอนครับ เอาเป็นว่า พี่ขอแชร์ประสบการณ์ให้น้องแล้วกันว่าพี่ทำอย่างไร
ตอนโดนล้อพี่ก็อาย ไม่รู้จะเอาหน้าไว้ที่ไหน รู้สึกตัวเราหดเหลือนิดเดียว ถ้าไม่อายก็คงแปลก แต่หลังจากตั้งสติได้ พี่ก็มาแยกแยะเป็นเรื่องๆ ไป เรื่องการโดนล้อหรือ Bullying เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ยิ่งทำต่อหน้าคนอื่นให้อับอายขายหน้า ยิ่งเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง คนที่ Bully เขาก็คงไม่คิดหรอกว่า คนที่ถูก Bully จะรู้สึกอย่างไร แต่พี่ก็มองว่า เอาล่ะ เขาทำไม่ถูก นั่นเป็นเรื่องของเขา ถ้าเขาจะแก้ไขก็เป็นเรื่องดีของเขา ถ้าเขาจะไม่รู้ตัวว่ามันผิดและไม่รู้ว่า ถ้าไม่แก้ไขมันจะเป็นผลเสียกับตัวเขาเองด้วย มันก็เรื่องของเขาอยู่ดี มาที่เรื่องของเราดีกว่าว่าเราจะทำอะไรแล้วเกิดประโยชน์กับตัวเองได้บ้าง
พี่กลับมาสำรวจตัวเองว่า ตัวเราเองเวลาพรีเซนต์งาน เราทำได้ดีแล้วหรือยัง พี่ก็พบว่า เราก็สามารถพัฒนาได้มากกว่านี้นี่หว่า ถามว่า เขาพูดถูกไหมที่บอกว่าเราปากสั่น เขาก็พูดถูก แต่วิธีการพูดของเขามันเป็นแค่การ Bully เราต่อหน้าคนอื่นให้เราอายเท่านั้นแหละ พี่ก็คิดว่า ถ้าพี่ปรับปรุงเรื่องการพูดได้ มันก็เป็นเรื่องดีต่อตัวพี่เอง ถ้ามันดีต่อตัวพี่เอง ทำไมพี่จะไม่ปรับปรุงล่ะ
ที่น้องโดนล้อก็เหมือนกันครับ เขาทำไม่ถูกที่มาล้อน้องอาย นั่นเป็นเรื่องของเขาที่เขาทำไม่ดี ถ้าเขาอยากแก้ เขาจะได้ประโยชน์ แต่ถ้าไม่แก้ เขาก็แค่ไม่ดีขึ้นจากที่เป็นอยู่ แต่ถ้าเราสามารถปรับปรุงตัวเราเองได้ เรานี่แหละที่จะได้ประโยชน์ และพี่ก็ดีใจอย่างหนึ่งที่น้องก็รู้ตัวว่าน้องอยากแก้ปัญหานี้
ถ้ามองอีกมุมหนึ่ง ไม่มีใครเก่งไปทุกเรื่อง แต่เราเก่งขึ้นได้ทุกเรื่องถ้าเราเชื่อและลงมือพัฒนาตัวเอง เราไม่มีทางเก่งขึ้นได้หรอกครับจากการอยู่เฉยๆ เพราะฉะนั้น ถ้าเราจะยังพรีเซนต์ได้ไม่ดีในตอนนี้ เราก็พัฒนาได้เหมือนกัน ถ้าเราโดนล้อแล้วเราอายจนไม่กล้าทำอะไร เราจะอยู่ในที่ที่เดิม ซึ่งคนอื่นประทับตราเราไว้ว่า เราอยู่ได้แค่ตรงนั้น แต่ถ้าเราก้าวข้ามผ่านความอับอายได้ แล้วลงมือพัฒนาตัวเอง เราจะไม่อยู่ที่เดิมแล้ว และเหมือนเดิมครับ ถ้าทำแล้วเป็นประโยชน์ให้ตัวเราเอง เราทำไปเลย ลุย!
เรื่องการพรีเซนต์ อย่างแรกเราต้องมาดูก่อนว่า วัตถุประสงค์ของการพรีเซนต์ครั้งนี้คืออะไร ขายงานหรืออัปเดตปกติ เล่าให้ฟังหรืออยากโน้มน้าวให้ซื้อสิ่งที่เรานำเสนอ วัตถุประสงค์ที่ต่างกัน นำมาสู่วิธีการนำเสนอที่ต่างกันไป สมมติเราต้องขายงานให้ลูกค้า แต่เราไปด้วยการเล่าให้เขาฟังแบบปกติเหมือนรายงานทั่วไปว่ามีอะไรเกิดขึ้นบ้าง มันก็จะไม่โน้มน้าวใจคนฟังได้มากพอ เราต้องพรีเซนต์แบบโน้มน้าวใจให้เขาเชื่อเรา คล้อยตามเรา อยากซื้อไอเดียนี้ของเรา วิธีการพรีเซนต์มันก็จะเปลี่ยนไป แต่ถ้าแค่อัปเดต Work in Progress อันนี้เราคงไม่ต้องใช้พลังระดับการโน้มน้าวใจ แต่เราจำเป็นต้องลงรายละเอียดให้ครอบคลุมสิ่งที่คนฟังต้องการรู้มากที่สุด และทำให้คนฟังรู้ว่า ออกจากห้องประชุมไป แต่ละคนต้องทำอะไรต่อ ไม่ใช่แค่การบอกเล่าให้ฟังเฉยๆ
อย่างที่สอง ถ้าเป็นคนพรีเซนต์ น้องต้องเป็นคนที่เข้าใจทุกเรื่องที่ออกจากปากน้อง อย่าพรีเซนต์ไปทั้งๆ ที่ตัวเราเองก็ยังไม่เข้าใจ แน่นอนว่า งานบางอย่างอาจจะมาจากคนอื่นที่เป็นคนคิด แล้วเราอยู่ในฐานะคนนำเสนอ แต่ตัวคนนำเสนอนี่แหละครับที่ต้องเข้าใจมันอย่างดีที่สุดถึงจะนำเสนอได้ถูกต้องและน่าฟัง เพราะฉะนั้น ต่อให้เป็นสิ่งที่คนอื่นคิดมา แล้วน้องต้องเป็นคนนำเสนอ น้องก็ต้องเข้าใจให้ดีที่สุด แต่ขีดเส้นใต้ไว้เลยว่า เวลาเล่าให้เล่าในเวอร์ชันของน้องที่คล่องปากน้องที่สุด อย่าทำแค่เอาคำพูดของคนอื่นมาใส่ปากของเรา ให้เราย่อยพรีเซนเทชันมาเป็นเวอร์ชันที่ตัวเราเข้าใจมากที่สุดและเล่าได้ดีที่สุด อย่าทำเหมือนเด็กที่ทำรายงานกลุ่มแล้วไม่ได้ทำก็เลยโดนถีบออกมาให้เป็นคนรายงานหน้าห้อง พอพูดไม่รู้เรื่องหรือตอบคำถามไม่ถูกนี่รู้หมดเลยนะว่า คนนี้โดนถีบออกมารายงานทั้งที่ตัวเองไม่เข้าใจ และต่อให้คิดงานมาดีแค่ไหน แต่พรีเซนต์ออกไปไม่รู้เรื่อง ไม่น่าเชื่อถือ ที่คิดมามันก็จบ
อย่างที่สาม คนส่วนมากชอบกังวลกับ ‘เนื้อหาที่จะนำเสนอ’ จนละเลย ‘วิธีการนำเสนอ’ ไป มันก็ทำให้การสื่อสารไม่ประสบความสำเร็จ เหมือนคนที่ตั้งหน้าตั้งตาท่องมาอย่างเดียวว่าตัวเองต้องพูดอะไร มาถึงก็รีบพูดๆ ไปให้ครบตามสิ่งที่จำมา เพราะกลัวว่าเดี๋ยวจะลืมบท ต่อให้เนื้อหาดีแค่ไหน แต่ถ้าวิธีการนำเสนอไม่ดี เล่าไม่รู้เรื่อง ไม่ทำให้คนฟังคล้อยตาม ก็ไม่มีใครสนใจเนื้อหา เผลอๆ เนื้อหาดีๆ จะกลายเป็นฟังแล้วไม่ดีไปเลยก็ได้ เพราะฟังไม่รู้เรื่อง เพราะฉะนั้น ต่อเนื่องจากข้อที่แล้วที่น้องต้องเข้าใจเนื้อหาที่จะนำเสนอให้และปรับมาเป็นเวอร์ชันของน้องแล้ว หาวิธีการเล่าที่มันน่าฟังด้วย วิธีการนำเสนอที่น่าสนใจ สามารถทำได้ตั้งแต่การเล่าให้เป็น Story การยกตัวอย่าง การทำให้เห็นภาพ การตั้งคำถามให้เขาคิดตาม การทำให้เขามีส่วนร่วมกับการฟัง การลำดับเรื่องที่พาคนฟังค่อยๆ เดินทางไปกับเราตั้งแต่ต้นจนจบ โดยที่แต่ละจุดเราได้วางแผนไว้แล้วว่าเขาจะเจออะไรบ้าง ที่สำคัญคือ เล่าให้เขารู้สึกไปกับเราด้วย อย่าเล่าแต่ข้อมูล แต่เล่าข้อมูลที่เรียบเรียงแล้วให้เป็นเรื่องราวที่คนฟังจับต้องได้ คล้อยตามได้ เข้าใจตามได้ รู้สึกตามได้
อย่างต่อมาคือ การซ้อม ซ้อม และซ้อม หลายคนมุ่งแต่ทำ PowerPoint ให้เรียบร้อย แต่อย่าลืมเผื่อเวลาให้กับการซ้อมด้วย เพราะการซ้อมจะทำให้เราต้องปรับอะไรใน PowerPoint บ้าง หรือต้องปรับการพูดส่วนไหนของเราบ้าง ตรงไหนต้องขยี้ ตรงไหนไม่ต้องย้วยมาก ตรงไหนเร็วไป ตรงไหนน้อยไป วิธีการซ้อมที่ดีคือ เอาทีมของเรามานั่งฟัง หรือเอาคนที่ไม่รู้เรื่องเลยมาฟัง ถ้าเขาฟังแล้วรู้เรื่อง เข้าใจ คล้อยตาม แปลว่า วิธีเล่าแบบนี้น่าจะเวิร์กอยู่ ไปจนถึงเตรียมตัวในการตอบคำถาม ให้คนฟังยิงคำถามมาแล้วเราฝึกตอบ หรือแบ่งหน้าที่กับคนในทีมว่า คำถามแบบไหนใครจะเป็นคนตอบ การซ้อมจะทำให้เราตื่นเต้นน้อยลง รู้จุดที่ต้องปรับปรุงมากขึ้น ยิ่งซ้อมเยอะจะยิ่งดี โดยเฉพาะกับการรับมือความตื่นเต้น เราต้องซ้อมให้ดีไว้ก่อน เพราะพอถึงเวลาจริงที่เราตื่นเต้นขึ้นมา เราอาจจะดรอปลงไปบ้าง เราถึงต้องซ้อมไว้ให้เยอะก่อน
เรื่องที่สี่ พยายามหาเวทีให้ตัวเองได้ฝึกมากขึ้น วิธีง่ายที่สุดคือ สมมติน้องพรีเซนต์ไปเรียบร้อยแล้ว ลองกลับมาพรีเซนต์ใหม่อีกรอบ น้องจะพบว่า ยิ่งเล่าบ่อยครั้งน้องจะยิ่งคล่องมากขึ้น ยิ่งรู้ว่าจะปรับการพูดของเราให้ดีขึ้นได้อย่างไรบ้าง พี่ก็ใช้วิธีนี้เหมือนกันครับคือ เอาพรีเซนเทชันที่เคยขายงานไปแล้วมาลองฝึกเล่าใหม่ หาโอกาสให้ตัวเองได้พรีเซนต์เยอะๆ พอเราเจอมันบ่อยๆ เราจะคุ้นเคยมากขึ้น เราจะเข้าใจตัวเองมากขึ้น และอ่านคนฟังได้มากขึ้นกว่าเดิม ว่าสถานการณ์แบบนี้เราต้องรับมืออย่างไร ยิ่งลงสนามบ่อยๆ เรายิ่งได้ประสบการณ์ บางทีเราก็ต้องเผื่อใจและเตรียมรับมือกับสิ่งที่เราไม่คาดคิดบ้างเหมือนกัน พี่เคยเจอทั้งไปพูดบนเวทีแล้วไฟดับ ไมค์ดับ พรีเซนเทชันไม่ขึ้น เหตุการณ์ไม่คาดคิดมีเพียบ พวกนี้ตอนลองเครื่องไม่เจอหรอกครับ แต่พอลงสนามจริงเจอขึ้นมา ถ้าเราเตรียมตัวหรือเคยเจอมาก่อน เราก็จะเอาตัวรอดได้ และพอเราผ่านมาได้ เราก็จะเก่งขึ้นอีกระดับเลยล่ะครับ
เรื่องสุดท้าย การตื่นเต้นเป็นเรื่องที่ดี วันที่เรารู้สึกว่าทำแล้วไม่ตื่นเต้นแล้วนี่สิแปลว่ามันน่าเบื่อ การตื่นเต้นทำให้เราตื่นตัว ทำให้เรารู้สึกว่าเราต้องทำให้ดีมากๆ ที่เหลือมันเป็นเรื่องการฝึกใจเราให้ควบคุมสติให้ได้
พี่มีคาถาหนึ่งที่พี่ใช้เสมอว่าตื่นเต้น คาถานั้นคือ ‘เรามาดี’ (เหมือนเวลาเจอผีนั่นแหละ ฮ่าๆ) พี่จะคิดว่า เราเอาเรื่องดีๆ งานที่เราตั้งใจมาเล่าให้คนฟัง เรามาด้วยความตั้งใจที่ดีว่าเราจะเล่าสิ่งที่เป็นประโยชน์ เพราะฉะนั้น ไม่มีอะไรต้องกลัวคนฟัง เราไม่ได้มาฆ่าใคร ไม่ได้มาทำร้ายเขา เพราะฉะนั้น ถ้าเรามาดี เราไม่ต้องกลัว เอาเรื่องดีๆ ไปเล่าให้เขาฟังอย่างที่ตั้งใจดีกว่า แล้วพอพี่คิดแบบนี้ พี่ก็จะไม่กลัวคนฟัง
ทุกวันนี้จากคนที่เคยโดน Bully ต่อหน้าคนทั้งออฟฟิศให้อับอายขายหน้า พี่ให้กำลังใจตัวเองมากๆ บอกตัวเองว่า เราเก่งขึ้นได้ ทำแล้วดีทำไปเลย ฝึกให้มาก ซ้อมให้เยอะ เอาตัวเองไปลงสนามบ่อยๆ พอรู้ตัวว่าเราตื่นเต้นแล้วเราจะปากสั่น เราจะดูไม่สมาร์ท พี่ก็ซ้อมให้เยอะ เราต้องรู้ว่า ตัวเราต้องปรับปรุงตรงไหน ไม่เก่งตรงไหน ยอมรับสิ่งนั้นแล้วแก้ไข มีเวทีไหนที่มีโอกาสให้เราพูด พี่ก็จะคว้าโอกาสไว้ก่อน บางทีโอกาสเข้ามาตอนที่ยังไม่พร้อมหรอก แต่คว้าไว้ก่อน แล้วมาหาทางทำให้ตัวเองพร้อมทีหลัง ขืนรอให้พร้อมก่อน 100% ไม่ต้องทำอะไรพอดี ทำตัวให้พร้อมอยู่เสมอ เพราะโอกาสมันไม่ค่อยบอกเราล่วงหน้าว่าจะมาเมื่อไร เอาว่ามาเมื่อไรเราก็พร้อมเมื่อนั้น ทุกวันนี้พี่ก็ยังไม่เก่งที่สุด พี่คิดว่าพี่ยังไปได้อีก แต่เก่งขึ้นจากคนที่เคยปากสั่นอย่างที่เขาบอกแน่นอน ทุกวันนี้ก็ไม่ได้เจ็บปวดอะไรกับการที่เคยถูก Bully ให้อับอายแล้ว เพราะมาไกลมากแล้ว และก็ไม่ได้ให้ความหมายอะไรกับคนที่ Bully เท่าไร
การที่เขา Bully หรือล้อน้องว่าน้องไม่เก่ง ไม่ได้ทำให้เขาเก่งขึ้น และก็ไม่ได้ทำให้เขาดูเท่ ตรงกันข้าม เขาดูน่ารังเกียจมากด้วยซ้ำ บางทีเขาอาจจะเลือกวิธีที่โง่ที่สุดในการยกตัวเองให้สูงขึ้นด้วยการกดคนอื่นให้ต่ำลง แต่วิธีนั้นแหละที่ทำให้เขาต่ำลงกว่าเดิมอีก ทำตัวกร่างไม่ได้ทำให้เขาดูเก่งขึ้นมาหรอก พี่ว่าเขาควรจะอายมากกว่านะที่เป็นคน Bully คนอื่น คนทำผิดแล้วไม่อายนี่เขาเรียกว่าอะไรนะ เขาอาจจะตอบไม่ได้ก็ได้ ฮ่าๆ
เชื่อพี่เถอะว่า ถ้าน้องผ่านความอับอายนี้แล้วสร้างกำลังใจให้ตัวเราไปพัฒนาจุดที่เรายังไม่เก่ง หมั่นฝึกฝน น้องก็จะเก่งขึ้น พี่รู้ว่าตอนนี้คงยังเจ็บจากคำพูดของเขา แต่ไม่เป็นไรนะครับ ความเจ็บนี้จะไม่ได้อยู่กับน้องตลอดไป มองเรื่องที่เกิดขึ้นว่ามันคือจุดเริ่มต้นว่าเราจะต้องลุกขึ้นมาพัฒนาตัวเอง น้องก็จะได้ประโยชน์กับตัวเอง
เรามาเริ่มต้นกันดีกว่าไหมครับ
ส่งคำถามดราม่าในที่ทำงานที่คุณสงสัยมาได้ที่อีเมล [email protected] หรืออินบ็อกซ์ไปที่ FB: ท้อฟฟี่ แบรดชอว์
ภาพประกอบ: นิสากร ฤทธาภัย
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล