×

Travel 101: ข้อควรรู้และกฎที่ไม่ได้เขียนไว้ยามขึ้นรถไฟในกรุงลอนดอน

15.01.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 MINS. READ
  • รู้หรือไม่ว่า Tube ที่กรุงลอนดอน เป็นการขนส่งระบบรางใต้ดินเพื่อสาธารณะ (Underground Passenger Railway) ระบบแรกของโลก เผยโฉมให้ประชาชนในครึ่งหลังของศตวรรษที่ 19 ปัจจุบันมี 11 สาย และผู้โดยสารร่วม 1.4 พันล้านคนต่อปี ทำให้เกิดกฎเกณฑ์ทั้งที่เป็นข้อห้าม รวมไปถึงเรื่องมารยาทที่ไม่ได้มีใครเขียนเอาไว้ แต่มีชาวลอนดอนเนอร์ที่รู้กันว่าควรทำหรือไม่ควรทำ
  • เมื่อ พ.ศ. 2558 บริษัท TfL (Transport for London) ทดลองศึกษาความรวดเร็วในการเคลื่อนย้ายคนบนบันไดเลื่อน โดยให้ผู้ใช้ Tube ที่สถานีฮอลบอร์น สถานีใจกลางเมือง ยืนเพื่อขึ้นลงทั้งสองฝั่งซ้ายขวาเป็นระยะเวลา 3 สัปดาห์ ซึ่งผลสรุปพบว่า การยืนทั้งสองฝั่งโดยไม่ต้องเว้นข้างใดข้างหนึ่งให้คนได้เดินนั้น ทำให้บันไดเลื่อนเคลื่อนย้ายผู้โดยสารได้มากขึ้นกว่า 30% ต่อนาที
  • รถไฟใต้ดินในลอนดอนเขาเรียกกันว่า ทูบ (Tube) ไม่ใช่เมโทร (Metro) แบบปารีส และไม่ใช่ซับเวย์ (Subway) แบบนิวยอร์ก

ห้ามนำทุเรียนขึ้นมาบนรถไฟฟ้า ห้ามใช้ราวจับเป็นบาร์ไว้ดึงข้อโชว์พาว ห้ามดูดชานมไข่มุกโดยไม่ใส่ถุงหิ้ว การขนส่งสาธารณะในแต่ละสถานที่จะมีกฎและข้อห้ามแตกต่างกันไป ทั้งนี้ เพื่อควบคุมยานพาหนะให้อยู่ในความสงบ และสร้างบรรยากาศที่ดีในการเดินทาง

 

การเดินทางด้วยขนส่งมวลชน ไม่ว่าจะเป็นรถเมล์ รถไฟ รถราง หรือรถไฟฟ้า คือหนึ่งในช่วงเวลาที่คนแปลกหน้าต้องมาใช้พื้นที่ที่มีจำกัดร่วมกัน โดยเฉพาะระหว่างชั่วโมงเร่งด่วน (Rush Hours) การจัดการผู้โดยสารด้วยกฎเกณฑ์หรือมารยาทต่างๆ จึงเน้นไปในการบริหารพื้นที่ใช้สอยและจัดระเบียบผู้โดยสาร เพื่อให้ผู้โดยสารทั่วไปและผู้โดยสารที่ต้องการความช่วยเหลือพิเศษเดินทางได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย

 

 

ยกตัวอย่าง กรุงลอนดอน เมืองหลวงของชนผู้ดีชาวอังกฤษ มหานครที่มีประชากรราว 10 ล้านคน เป็นจุดหลอมรวมของผู้คนทุกเพศทุกวัย สาขาอาชีพ เดาได้ว่า ทุกคนอย่างน้อยต้องถือ Oyster Card หรือบัตรโดยสารแบบเติมเงินที่ใช้ได้กับขนส่งสาธารณะเกือบทั้งหมดในเมืองนี้ และเดาได้ว่า ทุกคนที่มีโอกาสไปเที่ยวหรือใช้ชีวิตอยู่ที่ลอนดอนคงต้องไม่พลาดการเดินทางโดยรถไฟใต้ดิน London Underground หรือที่รู้จักกันว่า Tube

 

แต่รู้หรือไม่ว่า Tube ที่กรุงลอนดอน เป็นการขนส่งระบบรางใต้ดินเพื่อสาธารณะ (Underground Passenger Railway) ระบบแรกของโลก เผยโฉมให้ประชาชนในครึ่งหลังของศตวรรษที่ 19 ปัจจุบันมี 11 สาย และผู้โดยสารร่วม 1.4 พันล้านคนต่อปี ทำให้เป็นที่แน่นอนว่า นอกจากกฎเกณฑ์ในการใช้พื้นที่ในระบบ Tube ทั้งหมดจะมีความรัดกุม มารยาทในการใช้ยังเป็นที่รับรู้กันอย่างแพร่หลาย

 

มารยาทในการใช้ Tube ที่ลอนดอนเป็นบทบัญญัติสำคัญที่ไม่มีสอนในห้องเรียน เป็นกฎเหล็กที่ถ้าคุณทะเล่อทะล่าไปแหก อาจจะทำให้คุณโดดเด่นเป็นลูกกวางอันโอชะในหมู่สิงโตที่พร้อมขย้ำคุณด้วยสายตาเหยียดหยาม เพ่งโทษติเตียน จนคุณจะต้องเดินออกจากรถไฟ โดยที่พวกเขาไม่ได้เอ่ยปากตำหนิคุณเลยสักคำ 

 

และนี่คือสิ่งที่เราอยากให้คุณรู้ เพื่อช่วยให้คุณเข้าใจและสามารถทำตัวประดุจชาวลอนดอนเนอร์ได้ยามเดินทาง

 

 

ข้อที่ 1: จงเตรียมบัตร Oyster ของคุณให้พร้อมตลอดเวลา

คอนเซปต์ของการใช้ Oyster Card เป็นคอนเซปต์เดียวกับการใช้บัตรแมงมุมที่คนไทยเราคุ้นเคย Oyster Card คือบัตรเติมเงิน เติมได้ทั้งที่สถานีรถไฟ, Tube, ร้านสะดวกซื้อ และออนไลน์ การชำระเงินค่าเดินทาง ก็แค่แตะบัตรตรงจุดแตะบัตรที่สถานีหรือบนรถเมล์ ก็สามารถเดินทางได้อย่างสะดวกสบาย บัตรเดียวนี้สามารถใช้โดยสารได้ทั้ง Tube รถเมล์ที่วิ่งในบริเวณ London Metropolitan สายรถไฟ DLR (Docklands Light Railways) ระบบรถไฟบนดิน Overground และขนส่งมวลชนอื่นๆ อีกมาก

 

เมื่อใช้ระบบโดยสารสาธารณะร่วมกับผู้ร่วมเดินทางมากหน้าหลายตา เราไม่มีทางรู้ได้เลยว่า คนอื่นเขามีธุระเร่งด่วนกว่าคุณมากแค่ไหน เราจึงจำเป็นจะต้องระลึกอยู่เสมอว่า การที่เรายืนขวางทางผู้อื่นเพื่อรื้อกระเป๋าหาบัตร Oyster นั้น ทำให้ลูกน้อยของใครต้องหิ้วท้องรออาหารหรือไม่ หรือใครที่ตื่นสายแล้วกำลังจะไปเข้าเรียนไม่ทัน โดนวิ่งรอบสนาม 3 รอบ เพราะฉะนั้น จงเก็บบัตรของคุณให้อยู่ในที่ที่หยิบง่าย เตรียมบัตรของคุณไว้ในมือเสมอเมื่อต่อแถวตามลอนดอนเนอร์ เพื่อแตะบัตรเข้าชานชาลา และที่สำคัญ ระบบขนส่งมวลชนในลอนดอนไม่รับเงินสดแล้วนะ อย่าได้พกเหรียญขึ้นไปซื้อตั๋วบนรถเมล์สองชั้น Double Decker สีแดงเชียว อย่าหาว่าไม่เตือน

 

 

ข้อที่ 2: จงยืนบันไดเลื่อนชิดขวา เก็บข้าวของแขนขา แล้วทำตัวให้ลีบที่สุด

มารยาทการเดินชิดด้านใดด้านหนึ่งของบันไดเลื่อน เป็นมารยาทที่มีอยู่ในโลกนี้มานานแสนนาน ประเทศซีกโลกเหนือมักจะยืนชิดขวา ซีกโลกใต้ (เช่น ออสเตรเลีย) ชิดซ้าย ทั้งนี้ ก็เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ที่ต้องรีบเร่งเดินทางมากกว่าเราได้วิ่ง (หรือกลิ้ง) ลงบันไดอีกข้างหนึ่ง เป็นการแบ่งพื้นที่สาธารณะกันใช้อย่างมีระเบียบ

 

“Stand on the right, walk on the left”

 

เวลาเป็นเงินเป็นทอง โดยเฉพาะในเมืองใหญ่เช่นลอนดอน การยืนรอนานๆ ท่ามกลางคนมากมาย อาจจะทำให้อารมณ์ร้อนหัวเสียเอาได้ง่ายๆ การเว้นที่ว่างข้างซ้ายของบันไดเลื่อนให้ผู้โดยสารที่เร่งรีบได้พุ่งตัวสปรินต์ 4×100 ไปยังชานชาลา เป็นการช่วยให้คนอื่นที่รีบกว่าเราได้ขึ้นรถไฟขบวนก่อนเรา และอาจจะเป็นหนึ่งในวิธีการลดความตึงเครียดของผู้โดยสารที่เร่งรีบได้

 

เมื่อ พ.ศ. 2558 บริษัท TfL (Transport for London) บริษัทที่จัดการการขนส่งสาธารณะเกือบทั้งหมดของมหานครแห่งนี้ ได้ทดลองศึกษาความรวดเร็วในการเคลื่อนย้ายคนบนบันไดเลื่อน โดยให้ผู้ใช้ Tube ที่สถานีฮอลบอร์น สถานีใจกลางเมือง ยืนเพื่อขึ้นลงทั้งสองฝั่งซ้ายขวาเป็นระยะเวลา 3 สัปดาห์ ซึ่งผลสรุปพบว่า การยืนทั้งสองฝั่งโดยไม่ต้องเว้นข้างใดข้างหนึ่งให้คนได้เดินนั้น ทำให้บันไดเลื่อนเคลื่อนย้ายผู้โดยสารได้มากขึ้นกว่า 30% ต่อนาที

 

อย่างไรก็ตาม ผลการทดลองนี้ยังไม่ได้การันตีว่า มารยาทการใช้บันไดเลื่อนในลอนดอนจะเปลี่ยนไปตลอดกาล ทำให้กติกาเดิมที่มีมานับร้อยปีก็ยังมีการบังคับใช้อยู่อย่างเคร่งครัด เพราะฉะนั้น ถ้าไม่อยากโดนผู้ดีเมืองอังกฤษตะโกนด่า อย่าได้ยืนเกะกะขวางทางบันไดเลื่อนเลยนะ ขอร้อง

 

 

ข้อที่ 3: Mind the Gap! จงยืนรอรถไฟหลังเส้นเหลือง

ข้อนี้อาจจะไม่ใช่มารยาท แต่เป็นกฎเพื่อความปลอดภัยเสียมากกว่า เส้นเหลืองตามชานชาลาเปรียบเสมือนเส้นแบ่งแยกดินแดนระหว่างประเทศ ที่ไม่มีใครข้ามได้ หากรถไฟยังไม่จอดสนิท การยืนเหนือเส้นสีเหลืองนั้นเป็นความผิดใหญ่หลวงที่จะโดนทำโทษด้วยเสียงเป่านกหวีด และเสียงประกาศตามสาย หรือเสียงโทรโข่งของผู้ดูแลชานชาลาที่จะประจานความอัปยศอดสูของเราที่ไปดูหมิ่นเส้นเหลืองอันศักดิ์สิทธิ์ 

 

นอกจากนี้ในแต่ละปีจะมีข่าวของคนที่พลัดตกลงไปในรางรถไฟ หรือถูกคนร้ายผลักตกลงไปในรางรถไฟ ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตไม่น้อย ไม่นานมานี้ก็มีเหตุการณ์ชายวัย 50 โดนคนร้ายผลักตกรางรถไฟได้รับบาดเจ็บ ทราบดังนั้นแล้ว ไม่ว่าคุณจะเห็นหนังสือพิมพ์ที่ปลิวลงไปในรางรถไฟ หรือหนูจี๊ดที่ทางการเลี้ยงไว้ดูแลสถานี จงยืนสังเกตการณ์อยู่ห่างๆ หลังเส้นเหลือง ทั้งนี้ เพื่อความปลอดภัยของทรัพย์สินและตัวท่านเอง

 

 

ข้อที่ 4: เลี่ยงการสบตาคนแปลกหน้า และไม่ชวนคุย

เป็นที่รู้ดีกันอยู่แล้วว่า ผู้ดีอังกฤษเป็นชนชาติที่หวงแหนพื้นที่ส่วนตัวเป็นอย่างมาก ในชั่วโมงเร่งด่วนที่ปริมาณคนในรถอัดกันเป็นปลากระป๋อง สายตาจะเป็นสิ่งสุดท้ายและสิ่งที่สำคัญที่สุดที่คุณจะแสดงความเคารพความเป็นส่วนตัวของผู้อื่น คนยิ่งแน่น สายตายิ่งต้องหาจุดสนใจเป็นเพดาน กำแพง ป้ายโฆษณา ป้ายบอกทาง หรือก้มมองรองเท้าคู่ใหม่ของตัวเอง ซึ่งเพิ่งไปถอยมาจากออกซ์ฟอร์ดสตรีท (Oxford Street) จงเพ่งสายตาไปที่อื่น ประหนึ่งไม่มีคนอื่นอยู่ด้วย

 

การเลี่ยงการสบตาคนแปลกหน้าบนรถไฟ (หรือรถเมล์) ในลอนดอน เป็นหนึ่งในบทบัญญัติที่มีคนพูดถึงมากที่สุด การเลี่ยงสายตาผู้อื่นนั้นยังสะท้อนวัฒนธรรมอังกฤษ ซึ่งจะพยายามไม่ใช้เวลาผิวเผินในการเดินทาง เพื่อเริ่มสร้างบทสนทนาหรือแสดงความสนใจในตัวผู้อื่น เมื่อเราได้เริ่มบทสนทนาสั้นๆ ไร้ความหมาย แล้วต้องหยุดคุยไปตลอด เมื่อคู่สนทนาไม่ต้องการคุยด้วย นอกจากจะสร้างความประหม่าให้กับทั้งคู่แล้ว ยังทำให้ทั้งสองฝ่ายต้องรู้สึกไม่สบายใจ (และสบายตัว) ไปตลอดเส้นทาง การมีปฏิสัมพันธ์ทางร่างกาย หรือการคุยเสียงดังบนรถไฟ ก็ทำให้ผู้อื่นรู้สึกอึดอัดใจได้เช่นกัน และไม่ใช่ทุกคนจะอยากฟังบทสนทนาของคุณเสียเมื่อไร

 

แน่นอนว่า บนรถนั้น เราจะมีเพื่อนร่วมทางที่ทำตัวประหลาด น่าสนใจ หรือใครที่เราแอบหมายปอง แอบมองเธออยู่นะจ๊ะ แต่แอบให้เนียนก็แล้วกัน

 

Photo: Silver Door Apartments

 

ข้อที่ 5: ห้ามนำอาหารขึ้นมารับประทาน

เราไม่ควรนำอาหารมารับประทานบนรถ เพราะว่าภาพและกลิ่นจะทำให้ผู้ร่วมทางบนรถมีความหิวกระหาย และจะทำให้ผู้ร่วมทางเราโมโหหิวเอาได้ง่ายๆ บน Tube หรือรถเมล์ ผู้คนมากหน้าหลายตา เขาอาจจะเมารถ ซ้ำยังต้องมาเมากลิ่นอาหารของเรา อาจไม่ใช่เรื่องดีแน่ การนำอาหารขึ้นมารับประทานยังเป็นการสร้างความลำบากให้กับผู้โดยสารต่อจากเรา และคนทำความสะอาดรถเพราะเศษขยะที่เหลือทิ้งไว้บนรถอีกด้วย

 

มารยาทข้อนี้เป็นสากล แต่ก็มีข้อยกเว้นสำหรับคนเมา คนไร้บ้าน และเด็กทารกเท่านั้น (ในกรณีที่คุณเมา นั่งรอให้สร่าง แล้วเรียกรถแท็กซี่กลับบ้านดีกว่านะ)

 

 

ข้อแนะนำเพิ่มเติม: Keep Calm and Carry On มีสติสัมปชัญญะ ทำจิตใจให้เย็นสงบไว้

การเดินทางด้วย Tube แน่นอนว่า มีความเสี่ยงต่างๆ มากมาย แต่ความเสี่ยงที่เราจะหัวเสียกับความแออัดยัดเยียดน่าจะมีสูงที่สุด อย่าลืมว่า ทุกวันมีผู้คนราว 2 ล้านคน ที่ใช้ระบบรางใต้ดินนี้เป็นพาหนะไปทำงาน ไปเรียน หรือกลับบ้าน มารยาทที่กล่าวมาข้างต้นจึงเป็นสิ่งสำคัญ หากมั่นใจว่า เราไม่ได้ทำผิดกฎระเบียบใดๆ จงหายใจเข้าลึกๆ หายใจออกช้าๆ เดินในจังหวะชื่อดังที่คนเมืองเดิน เรียกว่า London Pace แล้วจงให้อภัยแก่ผู้ที่ทำให้เรารู้สึกไม่สบายใจหรืออึดอัด เพราะเขาหรือเธออาจรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรืออาจมีเหตุผลจำเป็นที่เขาจะประพฤติตัวเช่นนั้นก็เป็นได้

 

การเดินทางในมหานครที่ยิ่งใหญ่แห่งนี้มีหลักความสะดวกสบายและความปลอดภัยเป็นที่ตั้ง การเคลื่อนย้ายจากสถานที่หนึ่งไปยังอีกที่ เป็นไปได้อย่างง่ายดายโดยไม่ต้องพึ่งพายานพาหนะส่วนตัว การเชื่อมต่อของชัยภูมิสำคัญเป็นที่ตั้งของสถานี Tube ต่อด้วยรถเมล์ และเดินเท้าบนถนนสว่างๆ พร้อมกล้อง CCTV ที่มีหน่วยราชการสอดส่องอยู่ตลอดเวลา เพื่อเข้าไปถึงที่หมายได้อย่างที่เราไม่ต้องกังวล การเดินทางโดยการขนส่งมวลชนยังเป็นหนึ่งในวิธีท่องเที่ยวเมืองลอนดอนได้ดีที่สุด หากใครได้มีโอกาสไปเยือน ก็อย่าลืมสังเกตมารยาทต่างๆ เหล่านี้มาเปรียบเทียบผลดีผลเสียกับกรุงเทพฯ เมืองฟ้าอมรของเรากันดูได้

 

ป.ล. สุดท้ายแล้ว รถไฟใต้ดินในลอนดอนเขาเรียกกันว่า ทูบ (Tube) ไม่ใช่เมโทร (Metro) แบบปารีส และไม่ใช่ซับเวย์ (Subway) แบบนิวยอร์กนะ ดังนั้น เรียกกันให้ถูกแบบเข้าเมืองตาหลิ่วให้เหล่ตาตามนั่นเอง

 

อ่านเรื่อง Travel 101: นั่งตรงไหนดีบนเครื่องบิน… ไขเคล็ดลับการเลือกที่นั่ง เลือกอย่างไรให้ตรงกับไลฟ์สไตล์ได้ที่นี่

 

ภาพ: Shutterstock

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising