×
SCB Omnibus Fund 2024

ไม่หยุดแค่ ‘คลิปสั้น’ เพราะ TikTok ไทยตั้งเป้าเป็นแพลตฟอร์มความบันเทิงแบบครบวงจร! แย้มอาจเพิ่มฟีเจอร์สมัครงาน ‘TikTok Resumes’

19.08.2021
  • LOADING...
TikTok

ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมานี้ และโดยเฉพาะช่วงที่โควิดระบาดหนักๆ ต้องยอมรับว่าพฤติกรรมผู้บริโภคส่วนใหญ่เริ่มเปลี่ยนแปลงไปอย่างเห็นได้ชัด และหันมาใช้เวลาบนแพลตฟอร์มดิจิทัลมากขึ้น ซึ่งหนึ่งในแพลตฟอร์มที่โดดเด่นและได้รับความนิยมแบบฉุดไม่อยู่ก็ต้องยกให้ ‘TikTok’ แอปพลิเคชันดูวิดีโอตอนสั้นที่เข้ามาตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้งานและผู้คนได้ถูกช่วงถูกเวลาพอดิบพอดี

 

ที่ผ่านมา TikTok ได้จุดกระแสไวรัลบนโลกออนไลน์จนกลายเป็นการชาเลนจ์ร่วมสนุกและการผลิตซ้ำในช่วงที่คนไม่สามารถออกไปโลดโผนนอกบ้านได้ผ่านคลิปสั้นๆ เป็นจำนวนมาก ทั้งการปลุก ‘เจนนุ่นโบว์’ ในเพลง ซุปเปอร์วาเลนไทน์ ให้กลับมาอยู่ในกระแสสื่ออีกคำรบ, ตำนานส้มหยุดและคนไทยรักอิสระของ สิตางศุ์ บัวทอง หรือเมื่อเร็วๆ นี้กับเพลงมัทรีนาบอน ของคุณครูสอนภาษาอังกฤษ ‘ครูมัทรี สุดใจ’ ที่ถูกนำไปคัฟเวอร์ต่ออีกหลายต่อหลายเวอร์ชัน

 

โมเดลความสำเร็จที่เกิดขึ้นกับวิดีโอสั้น TikTok ยังถูกผู้ให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลรายอื่นๆ นำไปปรับแต่งเสริมฟีเจอร์ให้กับแพลตฟอร์มของตัวเองอีกด้วย ตัวอย่างเช่น YouTube Shorts โดย YouTube (Google) หรือ Reels ของ Instagram (Facebook) สะท้อนให้เห็นภาพความสำเร็จที่พวกเขาได้เข้ามาปลุกกระแสวิดีโอตอนสั้นให้ได้รับความนิยมถล่มทะลายในหมู่ผู้ใช้งาน

 

เมื่อไม่นานมานี้ THE STANDARD WEALTH ได้มีโอกาสร่วมพูดคุยในเซสชันสัมภาษณ์ผู้บริหาร TikTok ประเทศไทย ถึง ‘แนวทาง’ และวิธีการปั้นแพลตฟอร์มต่อจากนี้ของพวกเขาว่าจะมุ่งไปยังทิศทางใดเป็นหลัก

 

สุรยศ เอี่ยมละออ Head of Consumer Marketing และ สิริประภา วีระไชยสิงห์ Users and Content Operations Lead สองแม่ทัพจาก TikTok ประเทศไทย ได้ให้ข้อมูลกับสื่อมวลชนว่าต่อจากนี้ TikTok ประเทศไทยจะเน้นการสร้างภาพจำและแบรนดิ้งของตัวเองให้เปรียบเสมือน ‘แพลตฟอร์มความบันเทิงแบบครบวงจร’ ที่ให้ประสบการณ์ในแบบที่ไม่เหมือนใคร

 

โดย 3 กลยุทธ์สำคัญที่ TikTok จะเน้นต่อจากนี้ ประกอบไปด้วย

 

1. การพัฒนาคอนเทนต์รูปแบบใหม่ๆ (Explore New Content Schemes)

ในที่นี้คือจะพัฒนาคอนเทนต์ออริจินัลที่หาดูได้เฉพาะบนแพลตฟอร์ม TikTok ออกมามากขึ้น หลังจากที่ในช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมาได้ชิมลางปล่อยคอนเทนต์ซีรีส์ตอนสั้นเรื่อง ‘สงกรานต์ Strangers’ ไปแล้วและประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก เพราะในช่วง 3 วันของการออนแอร์ สามารถกวาดยอดวิวไปได้สูงกว่า 94 ล้านวิว และเป็นโมเดลที่ต่อยอดไปสู่การเอ็นเกจกับผู้ชม ผู้ใช้ TikTok ด้วยการใช้ฟีเจอร์ Duet กับเนื้อเรื่องในซีรีส์ได้ด้วย ซึ่งในอนาคตต่อไปก็จะมีคอนเทนต์ใหม่ๆ ออกมาให้รับชมบน TikTok อีก

 

ตัวอย่างเช่น เปิดให้ออดิชันผ่าน TikTok ภายใต้ความร่วมมือกับ White Fox เพื่อเฟ้นหาศิลปินชายหน้าใหม่ Boy Idol และการจัด Halftime Show ของ เอ็ด ชีแรน ในช่วงพักครึ่งของการแข่งขันฟุตบอลยูโร 2020

 

2. ประสบการณ์ความบันเทิงไปอีกขั้น (Escalate Entertainment Experience)

เช่น การทำ Live Match เพื่อร่วมโปรโมตศิลปินของ Grammy มากกว่า 14 ชีวิตเป็นครั้งแรก และยังมีการขายบัตรเพื่อทำเซสชันไลฟ์สดในแต่ละครั้งให้มีความเอ็กซ์คลูซีฟมากขึ้น รวมทั้งยังส่งต่อประสบการณ์การ Meet and Greet ในรูปแบบที่ต่างออกไปให้กับผู้ใช้งานและแฟนคลับ

 

3. เพิ่มการมีส่วนร่วมกับชุมชนผู้ใช้งาน (Uplift Community Engagement)

ตั้งเป้าเป็นพื้นที่ที่เปิดโอกาสให้ทุกคนได้เข้ามามีส่วนร่วมไม่ว่าผู้ใช้งานคนนั้นจะเป็นใครก็ตาม อาทิ มีการยกระดับคอมมูนิตี้ของกลุ่ม LGBTQ+ เพื่อให้ทุกคนมั่นใจในสิ่งที่ตัวเองเป็น ผ่านการรันแคมเปญต่างๆ

 

โดยทั้งหมดนี้ TikTok ตั้งใจจะเน้น ‘หนัก’ และผลักดันกลยุทธ์เหล่านี้ให้เข้มข้นมากยิ่งขึ้น เพื่อให้พวกเขาก้าวขึ้นไปเป็นแพลตฟอร์มด้านความบันเทิงแบบเต็มสูบอย่างที่ได้วางเป้าหมายเอาไว้ ขนาบข้างไปกับการเพิ่มความหลากหลายของรูปแบบเนื้อหาที่มีตั้งแต่ความสวยความงาม (Beauty), แฟชั่น (Fashion), ความรู้และการศึกษา (Education) และเกม (Gaming)

 

เมื่อถามถึงภาพรวมการแข่งขันศึกแพลตฟอร์มวิดีโอตอนสั้นในตลาด ณ วันนี้ สุรยศยอมรับว่าการแข่งขันอยู่ในระดับที่สูงมาก แต่สิ่งที่เขาในฐานะหัวเรือใหญ่ของ TikTok ประเทศไทยอยากเน้นย้ำก็คือ TikTok มีจุดเด่นในแง่การเป็นแพลตฟอร์มวิดีโอสั้นที่ไม่เคยหยุดนิ่งเรื่องการพัฒนาฟีเจอร์ใหม่ๆ ออกมาตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค

 

รวมไปถึงการมี Machine Learning ที่แข็งแรง เฟิร์ม ควบคู่ไปกับอัลกอริทึมที่สามารถประมวลผลได้อย่างชาญฉลาดและนำเสนอเนื้อหาให้ผู้ชมและผู้ใช้งานสามารถดูได้อย่างต่อเนื่องโดยที่ไม่รู้สึกเบื่อ หรือเรียกง่ายๆ ว่า ติด TikTok งอมแงม จนไม่อยากกดออกจากแพลตฟอร์มไปเลยนั่นเอง ซึ่งจุดนี้เป็นส่ิงที่แพลตฟอร์มอื่นๆ อาจจะลอกเลียนแบบได้ยาก

 

เมื่อเราถามว่า มีความเป็นไปได้ไหมที่ TikTok ประเทศไทยจะเดินตามรอย TikTok สหรัฐฯ ที่เพิ่มฟีเจอร์อย่าง TikTok Resumes ให้ผู้ใช้งานสามารถผลิตวิดีโอสั้นแนะนำตัวเองในสไตล์ที่เป็นเอกลักษณ์ของแต่ละคน สุรยศยืนยันว่าปัจจุบัน Core หลักของแพลตฟอร์มยังคงเน้นที่ ‘ความบันเทิง’ เป็นหลัก แต่ก็ไม่ปิดกั้นโอกาสในการเพิ่มฟีเจอร์ดังกล่าวเช่นกันหากมีความถึงพร้อมรอบด้าน เพราะปัจจุบันก็มีอินไซต์ที่น่าสนใจว่า รวมถึงนักเรียนและนักศึกษาบางคนก็ใช้แพลตฟอร์ม TikTok มาผลิตคอนเทนต์เพื่อขอทุนการศึกษาในสายนิเทศศาสตร์กันบ้างแล้ว

 

ทั้งนี้ หัวเรือใหญ่ฝั่งการตลาดผู้บริโภคของ TikTok ได้ทิ้งท้ายกับสื่อมวลชนไว้ว่า ในอนาคตเราจะได้เห็นคอนเทนต์ความบันเทิงที่มีความหลากหลายมากขึ้น ในรูปแบบที่ไม่จำกัดและเป็นอิสระมากๆ ทยอยเปิดตัวออกมาอีกอย่างแน่นอน

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising