×

Thirteen Lives (2022) ชัยชนะของการผนึกกำลัง งานฝีมือของคนทำหนังมือฉมังที่เปี่ยมด้วยทักษะและชั้นเชิง

09.08.2022
  • LOADING...
Thirteen Lives

HIGHLIGHTS

7 Mins. Read
  • พูดแบบไม่อ้อมค้อม Thirteen Lives ฝีมือกำกับของ Ron Howard (รอน ฮาวเวิร์ด) (Apollo 13, A Beautiful Mind และ The Da Vinci Code) ถ่ายทอดเนื้อหาที่พวกเรารู้เรื่องตั้งแต่ต้นจนจบอยู่แล้ว นั่นรวมถึงใครอยู่และใครจากไป แต่หนังกลับยังคงยึดกุมอารมณ์ความรู้สึกได้อย่างแน่นหนาและแม่นยำ กระทั่งคนดูไม่อาจละวางสายตา ข้อสำคัญ ทั้งๆ ที่หนังกินเวลาฉายเกือบสองชั่วโมงครึ่ง (และเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นในถ้ำที่ทั้งมืดทั้งคับแคบ) แต่แทบจะไม่มีโมเมนต์ที่ดูอืดอาดยืดยาด หรือชวนให้ละทิ้งความสนใจไว้กลางทาง
  • การเลือกเล่าในแบบกระจายคาแรกเตอร์และความสำคัญของแต่ละคนลดหลั่นกันไป (หรือ Ensemble Cast) และไม่มีใครเป็นตัวเอกจริงๆ ต้องแลกกับความเสี่ยงที่ว่าคนดูอาจจะไม่ยึดโยงกับคนไหนเลย แต่ก็อีกนั่นแหละ วิธีการแก้ปัญหาที่ฉลาดและได้ผลลัพธ์น่าชื่นชมของคนทำหนังก็คือการพึ่งพาศักยภาพของนักแสดงเจ้าบทบาท และพวกเขาใช้เวลาที่มีอยู่คนละไม่มากได้อย่างคุ้มค่าและเกิดอรรถประโยชน์สูงสุดจริงๆ 
  • สองคนที่โดดเด่นมากๆ คือ Viggo Mortensen กับ Colin Farrell ในบทสองนักดำน้ำฝรั่งที่ได้พบกับเด็กๆ และโค้ชเป็นเจ้าแรก ด้วยรูปลักษณ์ภายนอกและการแต่งองค์ทรงเครื่อง ทั้งสองดูเป็นตาลุงฝรั่งถนนข้าวสารที่ดูไม่มีคราบนักดำน้ำถ้ำที่เก่งที่สุดในโลกแม้แต่นิดเดียว ทว่าแอ็กติ้งของพวกเขากลับสร้างสนามแม่เหล็กที่คนดูไม่อาจต้านทาน และข้อที่ควรระบุเพิ่มเติมก็คือ คนทำหนังใช้ประโยชน์จากตัวละครทั้งสองในจุดประสงค์ที่ต่างกัน

Thirteen Lives

 

แอบนึกเล่นๆ ว่า ถ้าหากพระเจ้าหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่สิงสถิตอยู่ในถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอนมีอยู่จริง พวกท่านเหล่านั้นก็สมควรได้รับเครดิตในฐานะคนผูกเรื่อง หรือแม้แต่ผู้ร่วมเขียนบทหนังทุกเรื่อง (ทั้งสารคดีและบันเทิงคดี) ที่บอกเล่าปฏิบัติการช่วยชีวิตทีมฟุตบอลหมูป่าอะคาเดมีทั้ง 13 ชีวิต ซึ่งก็อย่างที่ทุกคนรับรู้รับทราบ พวกเขาต้องพากันหนีมวลน้ำที่ท่วมสูงมากขึ้นเรื่อยๆ จากสายฝนที่เทกระหน่ำเข้ามาในถ้ำระหว่างเข้าไปเที่ยวเล่น จนกระทั่งพากันไปติดอยู่ในส่วนที่ลึกและคับแคบมากๆ ห่างจากปากถ้ำร่วมสามกิโลเมตรโดยปราศจากอาหารประทังชีวิต และยิ่งเวลาผ่านพ้นไป โอกาสรอดชีวิตของพวกเขาก็เหลือน้อยลงทุกที

 

เพราะว่าไปแล้ว สิ่งที่ ‘เบื้องบน’ ดลบันดาลให้อุบัติขึ้นไม่ใช่เพียงแค่อุปสรรคทางกายภาพที่เอาชนะไม่ได้ง่ายๆ เท่านั้น (ความคดเคี้ยวและสุดแสนคับแคบ ตลอดจนหินงอกหินย้อยของตัวถ้ำ หรือกระแสน้ำที่หลั่งไหลเข้ามาเติมพื้นที่ว่างข้างในจากทุกทิศทาง) มิหนำซ้ำ ความยุ่งยากทั้งหลายทั้งปวงก็ยังประดังเข้ามาแบบมีลูกล่อลูกชน (เริ่มต้นจากความรู้สึกเป็นไปไม่ได้และดูสิ้นหวัง แต่แล้วจู่ๆ ก็ปรากฏแสงสว่างเรืองรอง แต่อีกประเดี๋ยวเดียว รูปการณ์ก็ย้อนกลับไปมืดสลัวอีกครั้ง) ทว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกลับกลายเป็นบททดสอบศักยภาพและความเป็นไปได้ขั้นสูงสุดของมวลมนุษยชาติที่ชวนให้สรุปได้ว่า ถึงแม้ว่าพวกเราจะเป็นเพียงสิ่งมีชีวิตที่เล็กกระจ้อยร่อยเมื่อเทียบกับความยิ่งใหญ่มหึมาของฟ้าดินและธรรมชาติ แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่ามนุษย์จะต้องพ่ายแพ้เสมอไป อย่างน้อยเรื่องนี้จบลงในแบบที่พระเจ้าหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์คงต้องยอมซูฮกในความดันทุรังและสู้ไม่ถอยของ ‘เหล่ามดปลวก’ ที่ช่างอหังการพวกนี้

 

ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกที่ภายหลังเหตุการณ์ทั้งหมดสิ้นสุดลงด้วยดี พวกเราจะได้ดูหนังที่นำเรื่องเหลือเชื่อดังกล่าวมาบอกเล่าในแง่มุมต่างๆ อย่างชนิดนับไม่หวาดไม่ไหวจริงๆ ไล่เรียงคร่าวๆ ก็มี Docudrama เรื่อง The Cave (2019) ของ Tom Waller ที่มาก่อนเพื่อน (และล่าสุดหนังเปลี่ยนชื่อเป็น Cave Rescue และกำลังลงโรงฉายในสหรัฐอเมริกาช่วงนี้) ตามด้วยหนังสารคดีเรื่อง The Rescue (2021) ของ Jimmy Chin และ Elizabeth Chai Vasarhelyi ซึ่งเก็บกวาดคำชมและชนะรางวัลจากหลายสถาบัน อีกเรื่องหนึ่งที่กำลังจะสตรีมในอีกหนึ่งเดือนข้างหน้าทาง Netflix ก็คือซีรีส์จำกัดตอนที่ใช้ชื่อ Thai Cave Rescue (2022) ผลงานของผู้กำกับหลายคน

 

Thirteen Lives

Thirteen Lives

 

แต่ก่อนที่จะไปถึงตอนนั้น หนังใหญ่เรื่องล่าสุดที่ว่าด้วยมหกรรมกู้ชีพซึ่งสตรีมทาง Prime Video ก็คือ Thirteen Lives ฝีมือกำกับของ Ron Howard คนทำหนังฮอลลีวูดรุ่นใหญ่เจ้าของผลงานโด่งดังนับไม่ถ้วน เช่น Apollo 13 (1995), A Beautiful Mind (2000) ซึ่งชนะออสการ์สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม และ The Da Vinci Code (2006)

 

พูดอย่างแฟร์ๆ Ron Howard อาจจะไม่ใช่คนทำหนังที่ได้รับการนับหน้าถือตาในฐานะประพันธกรที่มีลายเซ็นหรือสไตล์การทำหนังโดดเด่นเฉพาะตัว (แบบเดียวกับ Steven Spielberg, Martin Scorsese, Quentin Tarantino หรือ Christopher Nolan) และหนังของเขามีจุดประสงค์คล้ายกัน ตอบสนองความพึงพอใจทางอารมณ์ของคนดู อีกนัยหนึ่ง เขาเป็นเอ็นเตอร์เทนเนอร์หรือนักสร้างความบันเทิง มากกว่าคนทำหนังในฐานะศิลปินผู้ซึ่งมาพร้อมกับวิสัยทัศน์อันเฉียบคมและแง่มุมความคิดที่ไม่ประนีประนอม

 

แต่มองในมุมกลับกัน ผลงานเรื่องแล้วเรื่องเล่าของ Ron Howard ชวนให้สรุปได้อย่างหนึ่งว่า เขาเป็นคนทำหนังที่ฝีไม้ลายมือจัดจ้าน คนดูฝากผีฝากไข้ได้ ข้อสำคัญ ชื่อของเขามักจะไม่ทำให้พวกเราผิดหวังในแง่ของคุณภาพงานสร้าง ความเก่งกาจและช่ำชองในการเล่าเรื่อง และเหนืออื่นใด ความสนุกสนาน ชวนติดตาม และเข้มข้น

 

ด้วยคุณสมบัติดังกล่าวนี้เองที่ทำให้หนังเรื่อง Thirteen Lives ซึ่งพูดแบบไม่อ้อมค้อม มันถ่ายทอดเนื้อหาที่พวกเรารู้เรื่องตั้งแต่ต้นจนจบอยู่แล้ว นั่นรวมถึงใครอยู่และใครจากไป กลับยังคงยึดกุมอารมณ์ความรู้สึกอย่างแน่นหนาและแม่นยำ กระทั่งคนดูไม่อาจละวางสายตา ข้อสำคัญ ทั้งๆ ที่หนังกินเวลาฉายเกือบสองชั่วโมงครึ่ง (และเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นในถ้ำที่ทั้งมืดทั้งคับแคบ) แต่แทบจะไม่มีโมเมนต์ที่ดูอืดอาดยืดยาด หรือชวนให้ละทิ้งความสนใจไว้กลางทาง

 

โจทย์ที่น่าจะท้าทายอย่างยิ่งสำหรับคนทำหนัง ซึ่งในที่นี้คงต้องย้อนไปถึงคนเขียนบทก็คือ พวกเขาจะวางกรอบการเล่าเรื่องเอาไว้แค่ไหนและอย่างไร เพราะนี่เป็นภารกิจที่หลายภาคส่วนเกี่ยวข้อง (ไล่เรียงตั้งแต่พ่อแม่ของเด็กๆ, ผู้ว่าราชการจังหวัด, หน่วยซีล, นักดำน้ำต่างชาติ, ชาวบ้านที่เสียสละ และแน่นอนว่าเด็กๆ และโค้ชที่ติดอยู่ในถ้ำ) เห็นได้ชัดว่าครึ่งเรื่องแรกเดินเรื่องเร็วมาก และผู้สร้างตัดทอนส่วนปลีกย่อยจนแทบไม่เหลือสิ่งที่เรียกว่าไขมันส่วนเกิน กระนั้นก็ตาม การเลือกเล่าในแบบกระจายคาแรกเตอร์และความสำคัญของแต่ละคนลดหลั่นกันไป (หรือ Ensemble Cast) และไม่มีใครเป็นตัวเอกจริงๆ ก็ต้องแลกกับความเสี่ยงที่ว่าคนดูอาจจะไม่ยึดโยงกับคนไหนเลย แต่ก็อีกนั่นแหละ วิธีการแก้ปัญหาที่ฉลาดและได้ผลลัพธ์น่าชื่นชมของคนทำหนังก็คือการพึ่งพาศักยภาพของนักแสดงเจ้าบทบาท และพวกเขาใช้เวลาที่มีอยู่คนละไม่มากได้อย่างคุ้มค่าและเกิดอรรถประโยชน์สูงสุดจริงๆ 

 

Thirteen Lives

 

สองคนที่โดดเด่นมากๆ คือ Viggo Mortensen กับ Colin Farrell ในบทสองนักดำน้ำฝรั่งที่ได้พบกับเด็กๆ และโค้ชเป็นเจ้าแรก ด้วยรูปลักษณ์ภายนอกและการแต่งองค์ทรงเครื่อง ทั้งสองดูเป็นตาลุงฝรั่งถนนข้าวสารที่ดูไม่มีคราบนักดำน้ำถ้ำที่เก่งที่สุดในโลกแม้แต่นิดเดียว ทว่าแอ็กติ้งของพวกเขากลับสร้างสนามแม่เหล็กที่คนดูไม่อาจต้านทาน และข้อที่ควรระบุเพิ่มเติมก็คือ คนทำหนังใช้ประโยชน์จากตัวละครทั้งสองในจุดประสงค์ที่ต่างกัน 

 

สิ่งที่เราสรุปได้ในส่วนของ ริค (Viggo Mortensen) ก็คือ สำหรับเขาแล้ว การดำน้ำเข้าไปตามหาเด็กๆ ในถ้ำไม่ว่าพวกนั้นจะอยู่ลึกแค่ไหนก็ไม่ใช่เรื่องยากเย็น เพราะนี่คือความถนัดจัดเจนอยู่แล้ว แต่การพาทั้งหมดออกมาต่างหากที่เจ้าตัวเชื่อว่าเป็นไปไม่ได้ สีหน้าที่ดูเคร่งเครียดกระทั่งบูดบึ้งในตอนที่ผู้คนรอบข้างพากันยินดีปรีดากับข่าวทีมหมูป่ายังคงรอดชีวิต บอกโดยอ้อมว่าเขาไม่ได้พาตัวเองมาร่วมสังฆกรรมครั้งนี้ในฐานะป่อเต็กตึ๊งหรือร่วมกตัญญู หรืออีกนัยหนึ่ง หน้าที่ของเขาไม่ใช่การเก็บกู้ร่างไร้วิญญาณ ขณะที่บทจอห์นของ Colin Farrell ก็เปรียบได้กับนักบินที่สอง จิตใจของเขาไม่ได้แข็งแกร่งปานหินผาเหมือนกับริค การปูพื้นว่าเขาเองก็มีลูกชายวัยไล่เลี่ยกับเด็กๆ ทีมหมูป่า ส่งผลให้ฉากที่ใครคนหนึ่งเกิดหยุดหายใจกะทันหันระหว่างที่จอห์นกำลังลำเลียงออกไปปากถ้ำ กลายเป็นห้วงเวลาที่กัดกร่อนความรู้สึกของตัวละครอย่างรุนแรง แม้ว่าจนแล้วจนรอดมันจะเพียงแค่หวุดหวิดเฉียดฉิวก็ตาม

 

Thirteen Lives

 

ขณะในส่วนนักแสดงไทยที่เล่นได้เข้าถึงอารมณ์และแอร์ไทม์ก็เยอะใช้ได้ก็คือ พลอย-ภัทรากร ตั้งศุภกุล ในบทบัวหอม แม่ของชัย ความห่วงกังวลในสวัสดิภาพลูกชายก็เรื่องหนึ่ง ความที่ลูกชายของเธอไม่มีสัญชาติก็ยิ่งทำให้เจ้าตัวว้าวุ่นหนักขึ้น (และมันแอบแฝงอะไรให้ครุ่นคิดเยอะทีเดียว) การแสดงของพลอย ภัทรากร ดูราบรื่นและเป็นธรรมชาติ และชักจูงให้ผู้ชมเข้าใจได้ถึงความหวั่นวิตกของตัวละครอย่างเป็นรูปธรรม

 

หรือกล่าวโดยปริยาย สถานะของ Ron Howard ในหนังเรื่องนี้ก็เปรียบได้กับวาทยกรผู้ซึ่งก็เป็นอย่างที่เอ่ยถึงข้างต้น ภารกิจสำคัญของเขาได้แก่การบรรเลงท่วงทำนองดนตรีที่หลายคนคุ้นเคยอยู่แล้ว ให้มันยังคงสดใหม่และเป็นตัวของตัวเอง และการเลือกเล่าในแบบไม่โหมกระพือ หรือจริงๆ เขาพยายามแตะเบรกด้วยซ้ำ เพราะเนื้อหาของมันเร้าอารมณ์แบบออโต้ไพลอตอยู่แล้ว บ่งบอกถึงความเป็นคนทำหนังที่เปี่ยมด้วยรสนิยม และส่วนที่นับได้ว่าเป็นสัมผัสพิเศษของ Ron Howard จริงๆ ที่ช่วยทำให้ Thirteen Lives ไม่ใช่หนังซึ่งตั้งหน้าตั้งตาบีบเค้นอารมณ์ หรือสร้างสถานการณ์ขมึงเกลียวอย่างเอาเป็นเอาตาย ได้แก่การสอดแทรกอารมณ์ขันเข้ามาได้อย่างเหมาะเจาะ ไม่ขาดไม่เกิน

 

ฉากหนึ่งที่น่าจะเรียกรอยยิ้มหรือเสียงหัวเราะ และนับเป็นอานิสงส์จากทักษะทางด้านภาพยนตร์ของผู้กำกับ ก็คือตอนที่หนังบอกให้รู้ว่าริคกับจอห์นอาจจะเป็นสองคนแรกที่ได้พบกับทีมหมูป่า ทว่าในตอนที่เดินออกไปถึงปากถ้ำ พวกเขากลับเป็นสองคนสุดท้ายที่พบว่าทุกคนรู้ข่าวดีนี้กันหมดแล้ว หรือมุก ‘นักดำน้ำหมายเลขหนึ่งของโลก’ ของแฮร์รี่ (Joel Edgerton) หนึ่งในทีมกู้ชีพ ก็ช่วยปลดปล่อยบรรยากาศที่ตึงเครียดและถมึงทึงอย่างได้ผลชะงัดทีเดียว

 

Thirteen Lives

Thirteen Lives

 

และอีกสองส่วนที่ควรพูดถึงในแง่ของความประณีตพิถีพิถัน หนึ่งก็คืองานสร้าง ซึ่งถ้าหากไม่บอก คนดูก็คงนึกว่าหนังยกกองมาปักหลักถ่ายทำบ้านเรา ทั้งๆ ที่จริงแล้วโลเคชันส่วนใหญ่คือออสเตรเลีย (ซึ่งก็ชวนให้สงสัยว่าทำไมถึงเป็นเช่นนั้น) แต่ก็นั่นแหละ ผลลัพธ์ที่ออกมาดูแนบเนียนมากๆ อีกอย่างได้แก่งานกำกับภาพ ผลงานของ สยมภู มุกดีพร้อม (ลุงบุญมีระลึกชาติ และ Call Me By Your Name) ที่หลายครั้งกล้องของเขาไม่ได้เป็นเพียงผู้สังเกตการณ์ แต่ชักชวนคนดูไปคลุกคลีตีโมงกับเหล่านักดำน้ำในฐานะหนึ่งในทีมกู้ภัย

 

ถ้าหากจะมีอะไรกล่าวส่งท้าย ตามเนื้อผ้าแล้ว หนังเรื่อง Thirteen Lives ก็เล่าเรื่องที่มีตอนจบประจักษ์แจ้งและบิดพลิ้วไม่ได้ ทว่าวิธีการที่ Ron Howard ชักชวนคนดูรื้อฟื้นและทบทวนหลายๆ ชั่วโมงแห่งความเป็นความตายตอนนั้น กลับสร้างความรู้สึกอกสั่นขวัญแขวนในแง่ที่ว่า นี่เป็นปฏิบัติการที่ไม่มีใครรู้อะไรจริงๆ ทุกอย่างพร้อมจะพังครืน และเดิมพันการช่วยชีวิตก็สูงลิบลิ่ว ทั้งแง่ของขวัญกำลังใจของผู้คนโดยรวม และโอกาสที่ความสูญเสียที่เกิดขึ้นจะกลายเป็นตราบาปส่วนบุคคล อีกทั้งพระเจ้าหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในถ้ำก็ใจแข็งชะมัด แทบไม่ยอมอ่อนข้อให้กับฝ่ายมนุษย์เอาเสียเลย 

 

และสุดท้ายแต่ไม่ท้ายสุด หนังของ Ron Howard น่าจะทำให้หลังจากนี้ พวกเราจะย้อนกลับไปมองเหตุการณ์ที่ทุกคนเคยเชื่อว่าตัวเองรู้ดีด้วยสายตาที่ไม่เหมือนเดิม

 

Thirteen Lives (2022)

ผู้กำกับ – Ron Howard

นักแสดง – Viggo Mortensen, Colin Farrell, Joel Edgerton, สหจักร บุญธนกิจ, ธีรภัทร สัจจกุล, ศุกลวัฒน์ คณารศ, ภัทรากร ตั้งศุภกุล, ธีรดนย์ ศุภพันธุ์ภิญโญ ฯลฯ

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X