นักวิทยาศาสตร์พบบุหรี่มือสามเป็นอันตรายต่อระบบทางเดินหายใจเช่นเดียวกับบุหรี่มือสอง โดยจะเข้าไปเปลี่ยนการแสดงออกของยีน (Gene expression) หรือการบีบคั้นโปรตีนของยีน
งานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์ลงในวารสารทางการแพทย์ JAMA Network Open สัปดาห์ที่ผ่านมา เผยว่า บุหรี่มือสามสามารถทำลายเซลล์เยื่อบุผิวในระบบทางเดินหายใจ และบังคับให้เซลล์เหล่านั้นต้องต่อสู้เพื่อเอาชีวิตรอด
ทั้งนี้บุหรี่มือสาม (THS) เกิดขึ้นเมื่อควันบุหรี่ที่ถูกพ่นออกมา หรือปล่อยออกมาจากมวนบุหรี่ไปจับกับพื้นผิวต่างๆ เช่น เสื้อผ้า ผม หรือเฟอร์นิเจอร์
คณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เมืองริเวอร์ไซด์ (UCR) ใช้ชิ้นส่วนจากการขูดชั้นผิวของเยื่อบุจมูกของผู้หญิงที่ไม่สูบบุหรี่ อายุ 27-49 ปี ซึ่งทดลองให้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่อากาศสะอาดก่อน แล้วจึงให้ไปอยู่ในสภาพแวดล้อมของบุหรี่มือสามเป็นเวลา 3 ชั่วโมง นำไปสกัดอาร์เอ็นเอ (RNA) จากชิ้นส่วนเพื่อตรวจสอบการเปลี่ยนแปลงการแสดงออกของยีน
ผลปรากฏว่ามียีนทั้งหมด 382 ยีน จากยีนทั้งหมดราว 10,000 ยีนในชุดข้อมูล มีการแสดงออกของยีนที่สูงอย่างมีนัยสำคัญ ส่วนยีนอีก 7 ยีนมีการแสดงออกของยีนที่ต่ำ
“การสูดหายใจเอาบุหรี่มือสามเข้าไปเป็นเวลา 3 ชั่วโมง เปลี่ยนแปลงการแสดงออกของยีนในเยื่อบุโพรงจมูกของผู้ไม่สูบบุหรี่อย่างมีนัยสำคัญ” Giovanna Pozuelos นักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษามหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียกล่าว
นอกจากนี้ นักวิจัยยังพบว่า การหายใจเข้าในสภาพแวดล้อมที่มีบุหรี่มือสาม ยังเปลี่ยนวิถีสั่งการที่เกี่ยวข้องกับภาวะถูกออกซิไดซ์เกินสมดุล (Oxidative stress) ซึ่งก่อให้เกิดโรคมะเร็งได้ในระยะยาว เนื่องจากเนื้อเยื่อในโพรงจมูกคล้ายคลึงกับเนื้อเยื่อในหลอดลม คณะนักวิจัยจึงระบุว่า ความเสียหายดังกล่าวอาจลงไปถึงระบบทางเดินหายใจได้
“ผู้ใหญ่ที่สูบบุหรี่จำนวนมากคิดว่าหากตนเองสูบบุหรี่นอกบ้าน คนในบ้านก็จะไม่ต้องรับควันบุหรี่ แต่พวกเขาเองก็นำสารเคมีอย่างนิโคตินซึ่งติดอยู่ตามเสื้อผ้ากลับเข้ามาในบ้านด้วยอยู่ดี” Prue Talbot อาจารย์มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซึ่งเป็นผู้ดำเนินงานวิจัยนี้กล่าว พร้อมระบุว่าเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกคนต้องเข้าใจว่าบุหรี่มือสามมีอยู่จริงและมีอันตราย
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า
อ้างอิง:
- สำนักข่าวซินหัว