×

Them VS. Us กำแพงแห่งความต่างที่ทำให้ความบาดหมางร้าวลึกกว่าเดิม

20.04.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

3 Mins. Read
  • สาเหตุใหญ่ๆ ที่ทำให้สังคมเราแตกแยก ที่ทำให้เด็กช่างกลตีกัน ที่ทำให้เราไม่สามารถหาข้อสรุปกับคนที่อยู่ฝ่ายตรงข้ามได้ง่ายๆ นั้นมาจาก Them VS. Us Mentality ทั้งนั้น
  • การสร้างกลุ่มแล้วมีการติดป้ายว่าเราแตกต่างจากคนอื่นๆ อาจจะช่วยทำให้คนภายในกลุ่มรักกันมากขึ้น แต่ปัญหาที่มักจะตามมาคือ Groupthink หรือการเออออไปกับสิ่งที่คนในกลุ่มส่วนใหญ่เชื่อ แม้ว่าจะไม่มีเหตุผลดีๆ ก็ตาม
  • การแก้ปัญหา Them VS. Us Mentality นั้นไม่ยาก มันคือการวางระบบสื่อสารที่ดีโดยโฟกัสเพื่อหา ‘สิ่งที่เหมือนกัน’ แทนการเน้นในสิ่งที่เราไม่เหมือนกันนั่นเอง

เมื่อประมาณปี 2002 ผมและเพื่อนๆ คนไทยที่กำลังเรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัยวอร์ริกมักจะมีนัดเตะบอลด้วยกันบ่อยๆ มีอยู่วันหนึ่ง รุ่นพี่ปริญญาเอกคนไทยคนหนึ่งก็มาบอกกับพวกเราว่าเขาได้นัดกับคนไทยจากมหาวิทยาลัยโคเวนทรี ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่ตั้งอยู่ในถิ่นเดียวกันมาเตะบอลกระชับมิตรกับพวกเรา พอได้ยินดังนั้น พวกเราเหล่านักเรียนวอร์ริกซึ่งไม่เคยได้พบเจอเด็กไทยจากโคเวนทรีมาก่อนก็เตรียมตัวซ้อมกันอยู่หลายวันก่อนที่จะถึงวันแข่ง ใจของพวกเราในขณะนั้นคือยังไงก็แพ้ไม่ได้

 

พอมาถึงวันแข่ง ผมจำได้ว่าต่างฝ่ายต่างก็ทุ่มสุดตัวและเล่นกันอย่างจริงจังมาก และไปๆ มาๆ เราก็เริ่มเล่นกันแรงขึ้น แรงขึ้น มีการพุ่งเข้าเสียบกัน ไม่ว่าจะเป็นนักบอลจากวอร์ริกหรือโคเวนทรีก็ตาม จนเกิดการเข้าชาร์จทำให้คนของเราปากแตกและเกือบเกิดการชกต่อยกัน ซึ่งก็ทำให้การแข่งขันต้องยุติก่อนที่จะหมดเวลา และเราต่างฝ่ายก็เดินแยกกันไปโดยไม่จับมือ และต่างฝ่ายก็สาบานว่าจะไม่มองหน้ากันอีกต่อไป

 

หนึ่งปีผ่านไป เด็กไทยหลายๆ คนที่เรียนโทจากทั้งสองมหาวิทยาลัยซึ่งแข่งเตะบอลในวันนั้นก็ได้จบและแยกย้ายกันกลับเมืองไทย จะเหลือก็แต่เด็กที่เรียนปริญญาเอกอย่างผมและเด็กที่เรียนต่อที่โคเวนทรี แต่ในใจของผมก็ยังเหมือนเดิม นั่นก็คือยังโกรธและเกลียดผู้เล่นของมหาวิทยาลัยโน้นอยู่ไม่เปลี่ยนแปลง

 

จนมีอยู่วันหนึ่งได้มีเหตุการณ์สุดวิสัยที่ทำให้ผมได้มาเจอกับผู้เล่นจากโคเวนทรีที่ทำให้เพื่อนของผมต้องปากแตกในสนามฟุตบอลในวันนั้น ซึ่งผมจำได้ว่าผมรู้สึกรังเกียจและไม่อยากจะเข้าไปอยู่ในห้องเดียวกันกับคนคนนั้นเลย แต่มันเป็นอะไรที่ช่วยไม่ได้จริงๆ

 

แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ผมไม่ได้คาดคิดก็เกิดขึ้น หลังจากที่เราได้มีโอกาสคุยกันในเรื่องอื่นๆ ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเป็นเด็กวอร์ริกหรือโคเวนทรี สิ่งนั้นก็คือเราต่างคนต่างก็พบว่าความคิดและความชอบในหลายๆ เรื่องของพวกเรานั้นคล้ายๆ กัน เราทั้งสองฝ่ายไม่ได้แตกต่างกันมากอย่างที่เราคิดเลย

 

และหลังจากวันนั้น ผมก็เลิกคิดว่าพวกเขาเป็นเด็กมหาวิทยาลัยอื่น เลิกคิดว่าพวกเขาเป็น ‘คู่อริ’ เลิกคิดว่าพวกเขาเป็น ‘คนอื่น’

 

2-3 เดือนถัดไป พวกผมได้จัดการเตะบอลกระชับมิตรระหว่างมหาวิทยาลัยกันอีก ข้อแตกต่างจากการเตะนัดนี้จากนัดก่อนก็คือนัดนี้เราเตะกันจนจบ ไม่มีการเล่นกันแรงจนเกินไป มีการหัวเราะกันระหว่างเตะ มีน้ำใจให้กัน และเท่าที่ผมจำได้ มันเป็นนัดที่สนุกที่สุดเท่าที่ผมเคยเล่นมา

 

Them and Us

 

และประสบการณ์ทั้งสองครั้งของผมนั้นได้สอนอะไรให้กับผมมากเกี่ยวกับ ‘พวกกู’ VS. ‘พวกมึง’ ผมเชื่อว่าสาเหตุใหญ่ๆ ที่ทำให้สังคมเราแตกแยก ที่ทำให้เด็กช่างกลตีกัน ที่ทำให้เราไม่สามารถหาข้อสรุปตกลงกับคนที่อยู่ฝ่ายตรงข้ามได้ง่ายๆ นั้นมาจาก Them VS. Us Mentality ทั้งนั้น

 

การสร้างกลุ่มแล้วมีการติดป้ายว่าเราแตกต่างจากคนอื่นๆ อาจจะช่วยทำให้คนภายในกลุ่มนั้นรักกันมากกว่าการไม่สร้างอะไรที่เป็นเอกลักษณ์ให้กับกลุ่มของตัวเองขึ้นมา แต่ปัญหาที่มักจะตามมากับการตั้งกลุ่มก็คือปัญหา Groupthink หรือการเออออไปกับสิ่งที่คนในกลุ่มส่วนใหญ่เชื่อ ถึงแม้ว่าสิ่งที่กลุ่มเชื่อจะไม่มีเหตุผลดีๆ รับรองก็ตาม

 

และการยกเอาความเชื่อของคนในกลุ่มตัวเองเป็นหลัก (หรือการยกเอาเอกลักษณ์ของกลุ่มตัวเองเป็นใหญ่) นี่เองที่เป็นสาเหตุสำคัญที่อธิบายว่า ทำไมคนในกลุ่มมักจะมีความรู้สึกต่อต้านความคิดที่มาจากคนภายนอกที่ขัดกับความเชื่อหรือความเป็นเอกลักษณ์ของกลุ่มตัวเอง (เรามักจะสังเกตได้เวลาที่เราได้ยินคนพูดว่า ‘คนนอกจะมาเข้าใจพวกเราได้ยังไง’)

 

และยิ่งความเป็นเอกลักษณ์ของกลุ่มนั้นแข็งแรงหรือมีความพิเศษมากขึ้นเท่าไร คนในกลุ่มก็ยิ่งจะทำทุกอย่างเพื่อดำรงถึงความเป็นเอกลักษณ์ของกลุ่มให้ได้เพิ่มขึ้นเท่านั้น (คล้ายๆ กับความรู้สึกที่ว่าฆ่าได้แต่หยามไม่ได้นั่นเอง) ซึ่งอาจจะไม่ส่งผลที่ดีที่สุดให้กับคนในกลุ่มในระยะยาว ถ้าการทำทุกอย่างนั้นส่งผลให้เกิดการหักล้าง หรือการไม่ยินยอมซึ่งกันและกันกับคนที่อยู่ข้างนอกกลุ่ม

 

การแก้ปัญหา Them VS. Us Mentality นั้นไม่ยากมากนะครับ ซึ่งก็คือการวางระบบสื่อสารที่ดีนั่นเอง ส่วนการสื่อสารที่ดีระหว่างกลุ่มก็คือการโฟกัสเพื่อหา ‘สิ่งที่เหมือนกัน’ แทนการเน้นในสิ่งที่เราไม่เหมือนกัน

 

อย่างเช่น ปัญหาเด็กช่างกลตีกัน การจัดให้มีการปฐมนิเทศของเด็กช่างกลปีหนึ่งหลายๆ ที่ก่อนที่จะมีการเปิดเทอมเป็นครั้งแรกนั้นสามารถช่วย ‘Break the wall’ ของกลุ่มได้ และสามารถช่วยลดการบาดหมางที่อาจจะมาจาก Them VS. Us ได้ทีหลัง

 

หรือการนำคนที่มีความเชื่อทางการเมืองไม่เหมือนกันมาคุยกันเพื่อหาเป้าหมายที่ต้องการเหมือนๆ กันแทนที่จะเถียงกันในเรื่องที่อยากได้ไม่เหมือนกัน สามารถช่วยทำให้แต่ละคนสามารถยอมรับและยินยอมความคิดของกันและกันได้ในอนาคต

 

เพราะฉะนั้นถ้าน้องๆ รุ่นใหม่นี้อยากจะนัดเตะบอลกับใครในอนาคต ผมว่าเรามานัดเจอกัน กินข้าว กินเบียร์กันก่อนก็จะเป็นการดีนะครับ

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising