×
SCB Omnibus Fund 2024

1 เดือน ‘ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์’ กับคำถาม ‘ไปต่อ’ หรือ ‘พอแค่นี้’ ที่ยังคงเลือนลาง

30.07.2021
  • LOADING...

ครบ 1 เดือนแล้ว สำหรับ ‘ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์ (Phuket Sandbox)’ ซึ่งถูกมองว่าจะเป็น ‘แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์’ ให้กับหนึ่งในเส้นเลือดหลักของเศรษฐกิจไทยอย่าง ‘ธุรกิจการท่องเที่ยว’ หลังจากต้องผจญในพายุโควิดจนสะบักสะบอม อยู่ในอาการโคม่า ส่วนใครที่ไม่ไหวก็ต้องล้มหายตายจากกันไป

 

สำเร็จแล้วส่วนหนึ่ง

ตัวเลขอย่างไม่เป็นทางการคือ มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาในภูเก็ตแล้ว 12,000 กว่าคน โดยในวันที่ 25 กรกฎาคมที่ผ่านมา ธนกร วังบุญคงชนะ เลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 (ศบศ.) ได้ออกมาเปิดเผยว่า นักท่องเที่ยวต่างชาติ 5 อันดับแรกที่เข้ามา ได้แก่ สหรัฐอเมริกา, อังกฤษ, อิสราเอล, เยอรมนี และฝรั่งเศส อัตราเฉลี่ยการเข้าพักต่อคนอยู่ที่ 11 คืน 

 

ประเมินค่าใช้จ่ายต่อทริปอยู่ที่ 70,000 บาท ได้แก่ ค่าที่พัก, ค่าตรวจ Swab, ค่าอาหารและเครื่องดื่ม, ค่าพาหนะเดินทางในจังหวัด, ค่าตั๋วเครื่องบิน และค่าใช้จ่ายอื่นๆ เฉลี่ยการใช้จ่ายอยู่ที่ 5,500 ต่อคนต่อวัน ก่อให้เกิดรายได้หมุนเวียนอยู่ที่ 534.31 ล้านบาท

 

“นักท่องเที่ยวมีความประทับใจในอัธยาศัยไมตรีของชาวภูเก็ต และวางแผนเดินทางไปยังจังหวัดอื่น เช่น เชียงใหม่และกรุงเทพฯ ต่อไป นอกจากนี้นักท่องเที่ยวที่เดินทางกลับไปแล้วยังได้วางแผนพาครอบครัวกลับมาเที่ยวไทยซ้ำอีกด้วย” โฆษก ศบศ. กล่าวพร้อมกับเสริมว่า “การเปิดประเทศครั้งนี้ถือเป็นการเตรียมตัวในการรองรับช่วงปลายปีที่จะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาอีก ทำให้เห็นว่าการเปิดประเทศครั้งนี้ประสบความสำเร็จไปส่วนหนึ่งแล้ว” 

 

แม้จะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาแล้ว ‘หลักหมื่นคน’ แต่หากเที่ยบกับเป้าหมายที่เคยประเมินกันไว้ยังถือว่า ‘ค่อนข้างห่างไกลพอสมควร’ เพราะเดิมนั้นทางภาครัฐมีการประเมินว่า ในช่วงไตรมาส 3 (กรกฎาคม-กันยายน 2564) จะมีจำนวนนักท่องเที่ยว 1 แสนคน สร้างรายได้ 8.9 พันล้านบาท ซึ่งตัวเลขนี้ต่ำว่าที่เคยประเมินกันไว้ก่อนหน้านี้คือ มีนักท่องเที่ยว 1.29 แสนคน และสร้างรายได้กว่า 11,492.2 ล้านบาท

 

ฉะนั้นยังเหลืออีก 8 หมื่นคน กว่าจะ ‘ทะลุเป้า’ ที่วางไว้ จึงถือเป็นเรื่องที่ท้าทายอยู่ไม่น้อย ท่ามกลางตัวเลขผู้ติดเชื้อในจังหวัดภูเก็ตเองที่เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ ‘หลักร้อยคน’ ต่อสัปดาห์ แม้จะเป็นตัวเลขที่ไม่เยอะ แต่ก็มากกว่าหนึ่งในเงื่อนไขที่ถูกกำหนดสำหรับยกเลิกภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์ คือ มีจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่มากกว่า 90 รายต่อสัปดาห์

 

ด้วยจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นทำให้ทางจังหวัดภูเก็ตได้เพิ่มมาตรการปิดพื้นที่เสี่ยงที่เป็นจุดของการแพร่ระบาดเชื้อโควิด ที่มีผลตั้งแต่ 27 กรกฎาคม – 2 สิงหาคม 2564 ได้แก่ 

 

  • ปิดศูนย์การค้าเซ็นทรัล ภูเก็ต ฟลอเรสต้า และเฟสติวัล เป็นระยะเวลา 7 วัน นับตั้งแต่วันที่ 27 กรกฎาคม – 2 สิงหาคม 2564
  • ปิดโรงเรียน สถานศึกษา ต่อไปจนถึงวันที่ 16 สิงหาคม 2564
  • ปิดสนามกีฬา สนามฟุตบอล สนามฟุตซอล และสนามแบดมินตัน
  • การจัดกิจกรรมรวมตัวกันได้ไม่เกิน 100 คน
  • ตลาดนัด/ตลาดสด จำกัดคนเข้าใช้พื้นที่ 4 ตารางเมตรต่อคน

 

เดินหน้าต่อไปตามแผน

“แม้ตัวเลขผู้ติดเชื้อจะมากกว่าเงื่อนไขที่วางไว้ แต่ก็เชื่อว่าจะสามารถควบคุมได้ ขณะที่ผู้ติดเชื้อที่เป็นนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติมีน้อยมาก ดังนั้นส่วนนี้เราจึงสบายใจได้” ยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวกับ THE STANDARD WEALTH “ดังนั้น ททท. ยังคงเดินหน้าตามแผนในแง่ของการทำตลาด ส่วนจะยกเลิกหรือไม่นั้นเป็นอำนาจของจังหวัด ซึ่งขณะนี้ยังไม่ได้มีท่าทีดังกล่าว”

 

สำหรับ 1 เดือนแรกของภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์นั้น ผู้ว่า ททท. ระบุว่า ‘ประสบความสำเร็จ’ เพราะเมื่อเทียบกับตัวเลขนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยทั้งประเทศจำนวน 6,000 คน ในเดือนมิถุนายน แต่สำหรับเดือนกรกฎาคมที่มีนักท่องเที่ยวหมื่นกว่าคนสำหรับภูเก็ตที่เดียว ถือว่าเริ่มต้นได้ดีแล้ว และเป็นทิศทางที่อยู่ในทางบวก

 

กระนั้นสิ่งที่ยังต้องจับตามองในเดือนต่อไปคือภาพรวมจำนวนผู้ติดเชื้อของทั้งประเทศที่เพิ่มขึ้น อาจทำให้นักท่องเที่ยวได้รับคำเตือนให้เลี่ยงการเดินทางหรือมาเที่ยวแล้วเมื่อกลับไปจะต้องกักตัวนานกว่าเดิม ก็อาจเป็นปัจจัยที่ทำให้นักท่องเที่ยวที่เข้ามาลดลงได้ 

 

แต่ส่วนหนึ่งช่วงนี้ถือเป็นช่วง ‘Low Season’ อยู่แล้ว ฉะนั้นจึงเข้าใจได้หากนักท่องเที่ยวจะไม่เดินทางเข้ามามากนัก

 

“สิ่งที่เราสามารถหวังผลได้คือในช่วงไตรมาส 4 และไตรมาส 1 ของปีหน้ามากกว่า” 

 

ขณะเดียวกันนอกจากภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์ และแผน 7+7 ของการเดินทางท่องเที่ยวเชื่อมโยงระหว่างจังหวัดภูเก็ตกับพื้นที่นำร่องที่เปิดไปแล้วซึ่ง เป็นการผ่อนคลายมาตรการให้นักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาในภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์อยู่ครบ 7 วัน (เดิม 14 วัน) และตรวจ RT-PCR จำนวน 2 ครั้งแล้ว สามารถเดินทางไปในพื้นที่เกาะสมุย เกาะพะงัน และเกาะเต่า (สุราษฎร์ธานี) รวมถึงเกาะพีพี เกาะไหง หาดไร่เลย์ (กระบี่) และเกาะยาวใหญ่ เกาะยาวน้อย และเขาหลัก (พังงา) ในรูปแบบ Sealed Routes หรือ Island Hopping ได้ตั้งแต่วันที่ 8 สิงหาคมเป็นต้นไป ทาง ททท. ประเมินที่จะขยายพื้นที่ไปยังพัทยา ชลบุรี กรุงเทพฯ หัวหิน และชะอำ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับตัวเลขผู้ติดเชื้อภายในประเทศก่อน

 

โดย ททท. ยังคงเป้ารายได้จากการท่องเที่ยวรวมปีนี้ที่ 8.5 แสนล้านบาท แบ่งเป็นรายได้จากตลาดต่างประเทศ 3 แสนล้านบาท ในจำนวนนักท่องเที่ยวราว 3 ล้านคน และรายได้จากตลาดภายในประเทศ 5.5 แสนล้านบาท

 

เริ่มต้นได้ดี 

เอกสิทธิ์ คุณาดิเรกวงศ์ นักวิเคราะห์ บล.กรุงศรี ให้ความเห็นกับ THE STANDARD WEALTH ว่า เท่าที่ดูแม้จำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาจะอยู่ที่ 200-400 คนต่อวันเป็นหลัก พีกสุด 800 คนต่อวัน ต่ำกว่าเป้าหมายที่วางไว้ 1,000 คนต่อวัน แต่นี่ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ที่แสดงให้เห็นว่าภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์ได้ผล โดยในเดือนกรกฎาคมมียอดจองห้องพักประมาณ 1.9 แสนคืน

 

สำหรับในเดือนสิงหาคม ‘เบื้องต้น’ มียอดจองห้องพัก 8.6 หมื่นคืน “แม้จะไม่ได้สดใสมากนัก แต่ก็เชื่อว่าอนาคตจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ”

 

สำหรับตัวเลขผู้ติดเชื้อในพื้นที่นั้นต้องติดตามกันต่อไป เพราะถือว่ามากกว่า 90 คนต่อสัปดาห์ ในขณะที่การติดเชื้อจากกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาตินั้นยังมีตัวเลขที่น้อยมากๆ ซึ่งหากสามารถควบคุมการระบาดได้เชื่อว่าจะทำให้นักท่องเที่ยวเชื่อมั่นและอยากเดินทางเข้ามาในประเทศไทย 

 

“เดิมประเมินไว้ว่าในไตรมาส 3 นี้จะมีนักท่องเที่ยวประมาณ 3 แสนคน แต่ด้วยสถานการณ์ต่างๆ ทำให้อาจจะต้องปรับตัวเลขลดลงเหลือราว 1 แสนคน แต่ก็เชื่อว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจะเพิ่มขึ้นในไตรมาส 4 และเร่งตัวขึ้นในไตรมาส 1-2 ของปีหน้า แต่จะได้มากน้อยก็ขึ้นอยู่กับจำนวนผู้ติดเชื้อในพื้นที่ด้วย หากได้รับวัคซีนที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันสายพันธุ์เดลตา ก็น่าจะทำให้ทุกอย่างดีขึ้นได้เร็ว”

 

อย่างไรก็ตาม ล่าสุดในวันที่ 29 กรกฎาคม จังหวัดภูเก็ตออกคำสั่ง เรื่อง ยกระดับมาตรการตรวจคัดกรองการเดินทางเข้าจังหวัดภูเก็ต มีผลตั้งแต่วันที่ 3-16 สิงหาคม 2564 โดยมีสาระสำคัญคือ ห้ามบุคคลและผู้ขับขี่ยานพาหนะทุกประเภทเข้าจังหวัดภูเก็ต ทั้งทางบก (ด่านตรวจท่าฉัตรไชย) ทางน้ำ (ท่าเรือ) ทุกท่าในจังหวัดภูเก็ต และช่องทางภายในประเทศ (ท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต) เว้นแต่เป็นบุคคลหรือผู้ขับขี่ยานพาหนะที่จำเป็น

 

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นกลายเป็นความท้าทายของ ‘ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์’ กับคำถามที่ว่า ‘ไปต่อ’ หรือ ‘พอแค่นี้’ ซึ่งยังเป็นคำถามที่เลือนลางและยังไม่สามารถตอบได้อย่างชัดเจนในเวลานี้

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

 

ภาพ: ​​Sirachai Arunrugstichai/Getty Images 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising