The Tale of Princess Kaguya แอนิเมชันเรื่องสุดท้ายจากปลายปากกาของ ‘อิซาโอะ ทาคาฮาตะ’ ผู้ร่วมก่อตั้งสตูดิโอจิบลิ ที่โดดเด่นด้านการหยิบประเด็นหนักหน่วงในสังคมมาสอดแทรกในแอนิเมชัน ภาพวาดดินสอและสีน้ำที่ชวนอบอุ่นหัวใจของ ‘The Tale of Princess Kaguya’ นั้นแฝงไปด้วยความเศร้าของภาระหน้าที่ ความคาดหวัง และการจากลา
***มีการเปิดเผยเนื้อหาสำคัญบางส่วน***
เรื่องราวของมิยาสึโกะและภรรยาที่ได้พบกับเจ้าหญิงตัวน้อยในต้นไผ่ พวกเขาเก็บเธอมาเลี้ยงดูอย่างดีที่สุด มอบความรักให้เท่าที่พวกเขาจะทำได้ แม้ไม่ได้ร่ำรวยเงินทอง เจ้าหญิงตัวน้อยเติบโตขึ้นมาอย่างมีความสุขในชนบทที่เรียบง่าย ปีนต้นไม้ ล่าไก่ฟ้า โหนเถาวัลย์ เก็บผลไม้ และร้องเพลงไปพร้อมกับเพื่อนๆ
จนวันหนึ่งคนตัดไผ่ตัดสินใจว่า ‘เจ้าหญิง’ ของเขาจะต้องได้รับ ‘สิ่งที่ดีที่สุด’ เท่าที่เขาจะหาได้ พวกเขาจึงย้ายจากกระท่อมเล็กๆ กลางป่า ไปอยู่ในปราสาทหรูหราโอ่อ่าในเมืองหลวง ด้วยเงินทองและผ้าไหมชั้นดีที่เขาได้รับจากต้นไผ่ต้นเดิมที่เขาพบเจ้าหญิงน้อย
วันแรกของการใช้ชีวิตอย่างเจ้าหญิงนั้นช่างรื่นรมย์ ได้อยู่ในปราสาทกว้างขวางใหญ่โต มีเสื้อผ้าอาภรณ์ชั้นดีสีสันสดใสสวมใส่ คนรับใช้นับสิบคอยอำนวยความสะดวก เมื่อคิดถึงการเอาตัวรอดในกระท่อมฟางหลังเล็ก เสื้อผ้าเก่าขาดวิ่น ชีวิตในวังนั้นมีความสุขกว่าเป็นไหนๆ
แต่ช่วงเวลาแห่งความสุขนั้นแสนสั้น และการเป็น ‘เจ้าหญิง’ มีสิ่งต้องแลกมากกว่าที่คิด เมื่อเธอได้พบกับราชครูที่จะมาสอนการใช้ชีวิตอย่าง ‘หญิงสูงศักดิ์’ ที่ไม่มีสิทธิ์แม้แต่จะมีเหงื่อออก หัวเราะสุดเสียง ร้องไห้ โมโห หรือโวยวาย
“ถ้าอย่างนั้นหญิงสูงศักดิ์ก็ไม่ใช่คนแล้วล่ะ” เจ้าหญิงตะโกนใส่ราชครูและวิ่งหนีออกไป ความร่าเริงที่เคยมีอยู่เต็มหัวใจเริ่มเหลือน้อยลงไปทุกที
มีเพียงกระท่อมและสวนหลังปราสาทที่แม่ของเธอขอให้สร้างเอาไว้ใช้ชีวิตเรียบง่ายเหมือนในชนบท เจ้าหญิงเริ่มปลูกผักที่เธอชอบ สร้างสวนเล็กๆ จำลองป่าเขาที่เธอเติบโตขึ้นมา และมานั่งพักผ่อนหย่อนใจ เล่าสิ่งต่างๆ ให้แม่ฟังในวันที่เธอเหนื่อยล้าจากความคาดหวังต่างๆ เป็น ‘พื้นที่ปลอดภัย’ เพียงหนึ่งเดียว ที่เธอสามารถถอดความเป็น ‘หญิงสูงศักดิ์’ และใช้ชีวิตได้อย่างสบายใจ
วันเวลาผ่านไปเธอได้เรียนรู้ว่าการเป็นหญิงสูงศักดิ์นั้นคือการ ‘ก้มหน้า’ ยอมรับธรรมเนียมปฏิบัติอันดีงามที่สังคมวางเอาไว้ และนอกจาก ‘สิ่งที่ดีที่สุด’ เธอก็คู่ควรกับ ‘ชื่อที่ดีที่สุด’ ทุกอย่างฟังดูเป็นเรื่องน่ายินดี ยกเว้นเพียงแต่เธอไม่เคยรู้เลยด้วยซ้ำ ว่าสิ่งที่คนบอกว่าดีที่สุดนั้น ‘ดี’ กับเธอจริงๆ หรือเปล่า
มิยาสึโกะเชิญเหล่าขุนนางจากทั่วทุกสารทิศมาร่วมงานฉลองการตั้งชื่อ ‘เจ้าหญิงคางุยะ’ ที่ขุนนางชั้นสูงในราชสำนักเป็นคนตั้งให้ งานเลี้ยงจัดขึ้นเป็นเวลาสามวันสามคืน โดยที่เจ้าของชื่อนั้นไม่แม้แต่จะได้รับสิทธิ์ในการเชิญเพื่อน ‘ชาวบ้าน’ ที่เธอคิดถึงมาร่วมงานได้สักคน ในขณะที่ทุกคนรื่นเริง สนุกสนาน แต่เธอกลับไม่ได้รับอนุญาตให้ออกไปพบปะแขกเหรื่อหรือทำสิ่งใด
นอกจากนั่งอยู่หลังม่านไม้ไผ่ที่ปิดมิดชิด อดกลั้นฟังคำดูหมิ่นของเหล่าขุนนางที่มีต่อเธอ จนเกิดเป็นฉากจินตนาการวิ่งหนีออกจากปราสาทด้วยความเกรี้ยวโกรธกว่า 30 วินาทีที่วาดด้วยเส้นดินสอแบบดิบๆ สื่ออารมณ์โกรธของเจ้าหญิงคางุยะได้อย่างชัดเจน
เมื่อถึงวัยที่ ‘ใคร’ คิดว่าสมควร หญิงสูงศักดิ์จำต้องคู่กับชายสูงศักดิ์ เสนาบดีและเจ้าชายมากหน้าหลายตาที่พ่อของเธอคัดเลือกมาให้นั้นพยายามชนะใจเจ้าหญิงคางุยะด้วยการเปรียบเปรยความงามของเจ้าหญิงคางุยะด้วยสมบัติในตำนาน
เธอจึงยื่นข้อเสนอว่าจะยอมแต่งงานกับผู้ที่ไขว่คว้าหาสมบัติที่ไม่มีอยู่จริงเหล่านั้นมาวางแทบเท้าของเธอได้ ไม่ใช่เพื่อพิสูจน์ว่าพวกเขา ‘เห็นค่า’ เธอจริงหรือไม่ แต่เป็นการ ‘ไล่’ คนเหล่านี้ออกไปจากชีวิต เพราะเธอรู้ตั้งแต่แรกแล้วว่าพวกเขาไม่ได้เห็นค่าความเป็น ‘มนุษย์’ ของเธอ แต่เห็นเธอเป็นสมบัติที่ครอบครองไว้เพื่อโอ้อวดเพียงเท่านั้น
มิยาสึโกะไม่เคยเห็น ไม่เคยเข้าใจ และไม่เคยคิดที่จะเข้าใจว่าแท้จริงแล้ว ‘ความสุข’ ที่เจ้าหญิงคางุยะอยากได้จริงๆ นั้นเป็นอย่างไร นิยามคำว่า ‘สิ่งที่ดีที่สุด’ จึงเป็นสิ่งที่เขาคิดเอาเองทั้งสิ้น ทั้งชีวิตอย่างหญิงสูงศักดิ์ในเมืองหลวง งานเลี้ยงที่เป็นหน้าเป็นตาสร้างชื่อเสียงในวงสังคม และการแต่งงานแบบคลุมถุงชนกับชายสูงศักดิ์ ฯลฯ
สิ่งเหล่านั้นค่อยๆ กัดกินหัวใจอันบริสุทธิ์ของเจ้าหญิงคางุยะไปทีละน้อย โดยมีแม่ของเธอมองอยู่ห่างๆ แต่ก็ไม่อาจช่วยอะไรได้มากไปกว่าการให้พื้นที่ที่เธอสามารถเป็นตัวเองได้
แม้กระทั่งวันที่มีพระราชโองการจากองค์จักรพรรดิเรียกคางูยะไปถวายตัวเป็นพระสนม พร้อมข้อเสนอเป็นยศถาบรรดาศักดิ์มากมายให้มิยาสึโกะ เขาก็ยังร้องรำทำเพลงนำสิ่งที่เขาคิดว่าเป็น ‘ข่าวดี’ มาบอกคางูยะ
“ในที่สุดเจ้าหญิงจะได้มีความสุขเสียที”
เป็นอีกครั้ง และอีกครั้ง ที่เขาไม่ทันคิดเลยว่าข่าวดีที่เขาแสนภูมิใจ อาจเป็น ‘ข่าวร้าย’ ที่สุดในชีวิตของคางูยะ กว่าจะรู้ตัวว่าความสุขและหมวกขุนนางของผู้เป็นพ่อนั้นอาจต้องแลกมาด้วย ‘ชีวิต’ ของลูกสาวที่ขอทำ ‘หน้าที่’ เป็นครั้งสุดท้าย ทุกอย่างก็สายเกินไป
เพราะแม้จะถูกมองว่าสูงศักดิ์เพียงใด ก็ไม่มีใครสามารถขัดขืนความประสงค์ขององค์จักรพรรดิ ยกเว้นคำขอพรต่อ ‘ดวงจันทร์’ ที่อยู่เหนือขึ้นไป
จุดเริ่มต้นจากความรัก ความหวังดี ที่มิยาสึโกะหยิบยื่นให้เพราะหวังมอบ ‘สิ่งที่ดีที่สุด’ ให้เจ้าหญิงตัวน้อย ได้พาทั้งตัวละครและคนดูทั้งหมดกลับมาตรวจสอบ และตั้งคำถามว่าแท้จริงแล้วความสุขคือสิ่งใด และเป็นของใครกันแน่
เราไม่อาจบอกได้ว่าความหวังดีแบบไหนเรียกว่า ‘ดีที่สุด’ แต่อย่างน้อยขอให้อ้อมกอดสุดท้ายระหว่าง ‘พ่อแม่ลูก’ และคำขอให้อภัยที่คางูยะไม่อาจเป็นความสุขที่ดีของพวกเขาก่อนที่เธอต้องกลับไปอยู่บนดวงจันทร์
ได้ทำให้ทุกคนกลับมาคุยกันว่าความสุขคืออะไร อย่ารอให้ใครต้องกลับขึ้นไปอยู่บนดวงจันทร์ก่อนอีกเลย
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์