×

คีย์แมน ‘LINE MAN’ แนะภาครัฐแก้กฎหมาย-ตั้งเกณฑ์เก็บภาษีต่างชาติ เพิ่มขีดการแข่งขันให้บริษัทเทคฯ ในไทย

26.11.2022
  • LOADING...
LINE MAN

คีย์แมน ‘LINE MAN’ เผยวงการสตาร์ทอัพไทยรั้งท้ายเมื่อเทียบกับต่างประเทศ แนะภาครัฐแก้กฎหมายให้เอื้อการลงทุน พร้อมตั้งเกณฑ์เก็บภาษีต่างชาติ เพิ่มขีดการแข่งขันให้บริษัทเทคโนโลยีในไทย

 

ยอด ชินสุภัคกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร LINE MAN Wongnai กล่าวในงาน ECONOMIC FORUM 2022 บนเวที ‘THAILAND’S NEW CHAPTER, NEW S-CURVE ประเทศไทยยืนอยู่ตรงไหนในเวทีโลก วางยุทธศาสตร์อย่างไรไม่ให้ตกขบวน’ ว่า อุตสาหกรรมเทคโนโลยีมีฐานคอนซูเมอร์ที่แข็งแกร่งและถือเป็นจุดแข็งของวงการ ที่ผ่านมาจะเห็นว่าบริษัทเทคโนโลยีใหญ่ๆ เข้ามาตั้งสำนักงานในประเทศไทย เนื่องจากพบว่าผู้บริโภคไทยสามารถปรับตัวรองรับเทคโนโลยีได้อย่างรวดเร็ว เห็นได้จากการใช้งานแพลตฟอร์ม เช่น Facebook และ Instagram   

 

หากย้อนกลับไปเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา ช่วงนั้นหลายคนใช้ WhatsApp ในการสื่อสาร แต่เมื่อแพลตฟอร์ม LINE เปิดตัว ทุกคนก็ปรับตัวมาใช้ LINE อย่างรวดเร็ว 

 

เช่นเดียวกับตลาดฟู้ดเดลิเวอรีที่เพิ่งเกิดใหม่ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ระยะเริ่มต้นตลาดเติบโตเพียง 1% ซึ่งถ้าเทียบกับปัจจุบันเติบโต 15-20% รวมถึงธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ปัจจุบัน LINE MAN Wongnai มีฐานลูกค้ากว่า 20 ล้านคน มีอัตราการใช้งานต่อเนื่อง ซึ่งถ้าเทียบกับอาเซียนเราอยู่อันดับ 2 

 

แต่น่าเสียใจที่ต้องจบลงตรงนั้น เพราะสตาร์ทอัพไทยไม่มีจุดแข็ง ปัจจุบันเราผลิตเทคโนโลยีออกมาได้ไม่มากพอ ถ้าเทียบกับทั่วโลก โดยมาจาก 3 ปัจจัยหลัก ประกอบด้วย

 

  1. ทรัพยากรคนในอุตสาหกรรมเทคโนโลยี ถือว่าน้อยกว่าภาคเกษตรกรรม โดยปัจจุบันมีวิศวกรรมภาคการผลิตซอฟต์แวร์ในสัดส่วนไม่ถึง 5 แสนคน 

 

  1. มีเหตุที่ทำให้เทคสตาร์ทอัพในไทยรวมถึงในหลายๆ ประเทศไปจดทะเบียนธุรกิจในต่างประเทศ เช่น อินโดนีเซีย และเวียดนาม ที่มีนโยบายหรือกฎระเบียบที่เอื้อต่อการทำธุรกิจ ซึ่งจะทำให้นักลงทุนมั่นใจ 

 

  1. เรื่องนโยบายภาษี มีส่วนในการจัดตั้งบริษัทเทคโนโลยี ปัจจุบันกฎหมายไม่ได้เอื้อให้กับสตาร์ทอัพ อาจเป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้เทคสตาร์ทอัพในไทย รวมถึงหลายๆ ประเทศ ไปจดทะเบียนธุรกิจในต่างประเทศที่มีนโยบายหรือกฎระเบียบที่เอื้อต่อการทำธุรกิจ ซึ่งทำให้นักลงทุนมั่นใจ

 

นับเป็นตัวแปรทำให้วงการสตาร์ทอัพเทคโนโลยีในไทย ถ้าเทียบกับต่างประเทศ เราอยู่อันดับท้ายๆ แม้ที่ผ่านมาภาครัฐเริ่มมีการปลดล็อกกฎระเบียบบางอย่าง และเดินไปในทิศทางที่สนับสนุนสตาร์ทอัพเทคโนโลยีไทยมากขึ้น

 

แต่ถ้าจะให้ดีต้องปรับกฎหมายให้เอื้อต่อการลงทุน เพื่อดึงต่างชาติเข้ามาลงทุนบริษัทเทคโนโลยีในไทย แต่สิ่งสำคัญต่างชาติต้องเสียภาษีมากกว่า เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยมีข้อได้เปรียบในการแข่งขันได้ เพราะถ้าเปิดการแข่งขันเสรีเกินไปอาจทำให้เทคโนโลยีไทยไม่สามารถสู้กับต่างชาติได้

 

นอกจากนี้ ภาครัฐต้องสร้างค่านิยมการศึกษา โดยเฉพาะการพัฒนาบุคลากร Engineer เพิ่มขึ้น พร้อมกับให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีให้กับกลุ่มอาชีพเหล่านี้ เพราะถ้าไม่มีคนทำงาน โอกาสเติบโตก็เกิดขึ้นได้ยาก 

 

ยอดกล่าวถึงข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลว่า ตั้งแต่วันแรกที่ธุรกิจเปิดดำเนินการ ไม่เคยขอความช่วยเหลือจากรัฐบาล ต้องช่วยเหลือตัวเองให้ได้ 

 

แต่สิ่งที่เรากังวลคือ เริ่มเห็นรายได้ของผู้บริโภคลดลง เห็นได้จากพฤติกรรมการสั่งอาหารผ่านแพลตฟอร์มเดลิเวอรีในช่วงกลางเดือนมีอัตราการสั่งลดลง สมัยก่อนยังพอจ่ายกันไหว ช่วงหลังๆ กลางเดือนไม่มีกำลังซื้อ ต้องรอเงินเดือนออก ถึงจะกลับมาสั่งอีกครั้ง ซึ่งกลัวว่าเราอาจไม่ได้ติดกับดักรายได้ปานกลาง แต่อาจจะลงไปลึกกว่านั้นอีก

 

จากปัจจัยดังกล่าวจึงอยากแนะนำภาครัฐว่า ถ้าไม่มีไอเดียที่ดี วิธีที่ดีที่สุดคือสามารถไปลอกไอเดียจากประเทศอื่นได้ ยกตัวอย่างประเทศเกาหลีใต้ ที่มีความคล้ายคลึงกับไทย เราก็นำมาต่อยอดใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง และอาหารที่ไทยมีความโดดเด่นไม่แพ้กัน 

 

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันสตาร์ทอัพเทคโนโลยีที่เกิดใหม่ต้องปรับตัวให้น้ำหนักกับธุรกิจอาหาร เกษตร และท่องเที่ยว เน้นจับกลุ่ม B2B ลูกค้าในองค์กร ถึงจะสามารถออกไปแข่งขันกับทั่วโลกได้ 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X