×

หักเหลี่ยมโหด? เมื่อมิตรใกล้ชิดกลายเป็นศัตรูตัวฉกาจ กับหนังสือแฉทรัมป์ที่ทำเนียบขาวไม่อยากให้โลกอ่าน

20.06.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 MINS. READ
  • จอห์น โบลตัน อดีตที่ปรึกษาด้านความมั่นคงสหรัฐฯ เขียนหนังสือแฉ โดนัลด์ ทรัมป์ ชนิดไม่ไว้หน้าเจ้านายเก่า
  • ส่วนหนึ่งของหนังสือ โบลตันเผยว่า ทรัมป์ขอจีนช่วยเป็นประธานาธิบดีสมัยที่ 2 แลกเปลี่ยนกับดีลการค้า
  • ‘ทรัมป์ฝักใฝ่เผด็จการ’ ถึง ‘อยากรุกรานเวเนซุเอลา’ เป็นหนึ่งในเนื้อหาหลักของหนังสือ
  • ศาลสหรัฐฯ ยังไม่ตัดสินยับยั้งการตีพิมพ์ตามคำร้องทำเนียบขาว
  • หนังสือ The Room Where It Happened มีกำหนดตีพิมพ์จำหน่ายวันที่ 23 มิถุนายนนี้ 

The Room Where It Happened หรือ ‘ห้องที่ทุกอย่างเกิดขึ้น’ น่าจะเป็นหนังสือที่ชาวอเมริกันและทั่วโลกสนใจอยากอ่านมากที่สุดในตอนนี้ตั้งแต่ยังไม่วางจำหน่าย เพราะคนเขียนไม่ใช่ใครอื่น แต่เป็นถึงอดีตที่ปรึกษาด้านความมั่นคงของทำเนียบขาว ‘จอห์น โบลตัน’ คนใกล้ชิดที่สุดคนหนึ่งของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ก่อนที่เขาจะถูกบีบให้ ‘ลาออก’ เพราะไปแสดงความเห็นขัดแย้งเกี่ยวกับนโยบายต่างประเทศของทรัมป์เมื่อปีที่แล้ว

 

‘ห้องที่ทุกอย่างเกิดขึ้น’ เป็นหนังสือเชิง ‘อัตชีวประวัติ’ บันทึกถึงสิ่งที่โบลตันได้เห็นและได้ฟังใน ‘ห้อง’ เดียวกับทรัมป์ตลอดช่วงเวลา 17 เดือนที่เขาทำงานให้ในฐานะที่ปรึกษาด้านความมั่นคงคนที่ 3 ไม่ว่าจะเป็นห้องประชุมในทำเนียบขาว หรือห้องที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ประชุมทวิภาคีกับเหล่าผู้นำโลก ทั้งประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซีย, ประธานาธิบดีสีจิ้นผิง ของจีน และ คิมจองอึน ผู้นำสูงสุดเกาหลีเหนือ

 

เพียงข้อความสั้นๆ และบทคัดย่อที่โบลตันส่งให้สำนักข่าวต่างๆ ก็ทำให้หนังสือเล่มนี้ กลายเป็นข่าวใหญ่ระดับโลก ด้วยเนื้อหาเชิงลึกจากผู้เห็นเหตุการณ์จริง และเคยเป็นคนที่ใกล้ชิดกับทรัมป์ ทำให้สื่อมวลชนและผู้สังเกตการณ์มองว่า เนื้อหาในหนังสือเล่มนี้เสมือนเป็นคำให้การและหลักฐานยืนยันถึงข้อกล่าวหาต่างๆ ที่ทรัมป์ปฏิเสธ หรือไม่เคยชี้แจง

 

 

แต่ที่สร้างกระแสมากที่สุดคือถ้อยคำที่ ‘จิกกัด’ ทรัมป์อย่างไม่ไว้หน้าเจ้านายเก่า ไม่ว่าจะเรียกประธานาธิบดีสหรัฐฯ ว่า ฝักใฝ่เผด็จการ องค์ความรู้บกพร่อง ไม่ฟังคำลูกน้อง และมุ่งแต่จะชนะการเลือกตั้ง THE STANDARD สรุปเนื้อหาสำคัญทั้งเรื่องอื้อฉาวและประเด็นร้อนในหนังสือ ‘ห้องที่ทุกอย่างเกิดขึ้น’ แบ่งเป็น 10 ข้อ ดังนี้

 

  1. ทรัมป์อยากให้จีนช่วยให้ชนะเลือกตั้งสมัยที่ 2

โบลตันบรรยายถึงบรรยากาศการประชุมทวิภาคีระหว่างทรัมป์กับสีจิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน ระหว่างการประชุมสุดยอดผู้นำ G20 เมื่อปีที่แล้วในญี่ปุ่น เขาเขียนในหนังสือว่า ทรัมป์ “เปลี่ยนหัวข้อสนทนามาเป็นการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ปี 2020 แบบที่ไม่มีใครคาดคิด โดยพูดถึงสมรรถภาพทางเศรษฐกิจของจีน และขอให้สีจิ้นผิงช่วยให้เขาชนะเลือกตั้ง

 

“ทรัมป์ย้ำถึงความสำคัญของเกษตรกร และการที่จีนซื้อเมล็ดถั่วเหลืองและธัญพืชจากสหรัฐฯ จะเป็นตัวแปรต่อผลการเลือกตั้ง”

 

นโยบายส่งเสริมภาคการเกษตรในแถบมิดเวสต์ของสหรัฐฯ เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ช่วยให้ทรัมป์ชนะการเลือกตั้งในปี 2016

 

  1. อยากดำรงตำแหน่งเกิน 2 สมัย

นอกจากนี้ในการหารือเดียวกัน ทรัมป์ยังบอกผู้นำจีนว่า ชาวอเมริกันอยากให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อให้เขาดำรงตำแหน่งได้มากกว่า 2 สมัย

 

โบลตันเขียนในบทคัดย่อที่เผยแพร่ใน Wall Street Journal ว่า “อีกประเด็นสำคัญ คือ ตอนที่สีจิ้นผิงพูดว่าอยากทำงานร่วมกับทรัมป์ต่อไปอีก 6 ปี ทรัมป์ตอบกลับว่า ประชาชนก็ต้องการให้เขายกเลิกข้อกำหนดของรัฐธรรมนูญที่จำกัดให้ประธานาธิบดีดำรงตำแหน่งได้ต่อเนื่องแค่ 2 สมัยเหมือนกัน”

 

 

แล้วสีจิ้นผิงก็ตอบกลับว่า “สหรัฐฯ มีการเลือกตั้งบ่อยเกินไป เขาไม่อยากเปลี่ยนจากทรัมป์ไปคุยกับคนอื่น ซึ่งทรัมป์ก็พยักหน้าเห็นด้วย”

 

การที่ทรัมป์พูดถึงการดำรงตำแหน่งเกิน 2 สมัยกับผู้นำจีนยังมีนัยสำคัญ เพราะเมื่อปี 2018 พรรคคอมมิวนิสต์จีนได้ยกเลิกบทบัญญติที่กำหนดให้ประธานาธิบดีดำรงตำแหน่งได้แค่ 2 สมัย เปิดทางให้สีจิ้นผิงสามารถบริหารประเทศต่อไปได้ แม้จะครบสองวาระรวม 10 ปี ในปี 2023 จนหลายฝ่ายเปรียบอำนาจของสีจิ้นผิงเสมือน ‘จักรพรรดิจีน’ 

 

  1. สร้างค่ายกักกันเป็น ‘สิ่งที่ถูกต้อง’

ประชาคมโลกต่างประณามทางการจีนที่กดขี่และปฏิบัติต่อชนกลุ่มน้อยชาวอุยกูร์อย่างไร้มนุษยธรรม โดยเฉพาะกรณีชาวอุยกูร์กว่า 1 ล้านคนที่ถูกควบคุมตัวอยู่ในค่ายกักกันที่จีนสร้างขึ้นในเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ ที่เรียกกันว่า ‘ค่ายปรับทัศนคติ’

 

 

ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีทรัมป์อนุมัติมาตรการคว่ำบาตรเจ้าหน้าที่จีนที่เกี่ยวข้องกับการกักขังหมู่ชาวอุยกูร์ ทำให้รัฐบาลจีนออกมาตอบโต้อย่างแข็งกร้าว

 

ย้อนแย้งกับสิ่งที่โบลตันเขียนในหนังสือว่า ในตอนที่สีจิ้นผิงออกมาปกป้องการสร้างค่ายกักกันดังกล่าว ผู้นำสหรัฐฯ กล่าวในเชิงว่า เขาเห็นพ้องกับการตัดสินใจของจีน

 

“ตามที่ล่ามได้แปลไว้…ทรัมป์พูดว่าสีจิ้นผิงควรเดินหน้าสร้างค่ายเหล่านี้ต่อ เพราะทรัมป์คิดว่ามันเป็นสิ่งที่ถูกต้อง”

 

  1. ทรัมป์ฝักใฝ่ ‘เผด็จการ’

โบลตันยังแสดงความเห็นว่า ทรัมป์ดูมีท่าทีชื่นชอบ ‘ผู้นำเผด็จการ’ เป็นการส่วนตัว และไม่ใช่แค่ผู้นำจีนเท่านั้น เพราะโบลตันชี้ว่า ผู้นำสหรัฐฯ พร้อมที่จะเข้าแทรกแซงกระบวนการสืบสวน “เพื่อเข้าข้างผู้นำเผด็จการที่เขาชื่นชอบ”

 

ยกตัวอย่างเช่น ทรัมป์เสนอความช่วยเหลือให้ประธานาธิบดีเรเจป ไตยิป แอร์โดอัน ของตุรกี ที่ในช่วงปี 2018 กำลังเผชิญกับการสืบสวนของทางการสหรัฐฯ หลังพบว่าบริษัทในตุรกีอาจละเมิดมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจที่สหรัฐฯ บังคับใช้กับอิหร่าน

 

โบลตันอ้างว่า ทรัมป์ตกลงที่จะ “จัดการเรื่องต่างๆ” และบอกว่าอัยการที่ดำเนินการสืบสวนเป็น “คนของโอบามา”

 

  1. เดโมแครตน่าจะพยายามถอดถอนทรัมป์ให้จริงจังกว่านี้

ในหนังสือ โบลตันยังสนับสนุนข้อกล่าวหาของพรรคเดโมแครตว่า ประธานาธิบดีทรัมป์ต้องการระงับการส่งความช่วยเหลือทางการทหารให้ยูเครน เพื่อกดดันให้รัฐบาลยูเครนสืบสวนเกี่ยวกับ โจ ไบเดน ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีจากพรรคเดโมแครต ซึ่งข้อกล่าวหานี้เองจุดชนวนให้เดโมแครตพยายามยื่นถอดถอน โดนัลด์ ทรัมป์ ฐานใช้อำนาจในทางมิชอบ

 

แต่เขาก็วิจารณ์เดโมแครตเช่นกันว่า “ดำเนินกระบวนการถอดถอนผิดพลาด” เพราะไปให้ความสำคัญแต่เรื่องของยูเครน ทั้งที่หากเดโมแครตขยายการสืบสวนให้กว้างขึ้น จะช่วยให้ชาวอเมริกัน ‘ตาสว่าง’ ว่า ทรัมป์ได้กระทำ “อาชญากรรมร้ายแรง และประพฤติตัวไม่เหมาะสม” ซึ่งมีโทษสมควรให้ถูกถอดถอนจากตำแหน่ง

 

โบลตันไม่ได้ระบุชัดเจนว่ามีข้อกล่าวหาใดๆ อีกที่เป็นความผิดเข้าข่ายให้ถอดถอนทรัมป์ได้ และจริงๆ แล้วเขาปฏิเสธขึ้นให้การในกระบวนการถอดถอนต่อหน้าสภาผู้แทนราษฎรเมื่อปลายปีที่แล้ว ก่อนจะถูกสั่งห้ามขึ้นให้การในชั้นวุฒิสภา

 

  1. ทรัมป์ไม่รู้ว่าอังกฤษเป็นมหาอำนาจนิวเคลียร์

สหราชอาณาจักรเป็นประเทศที่ 3 ที่ทดสอบระเบิดปรมาณูในปี 1952 ตามหลังสหรัฐฯ และสหภาพโซเวียต แต่สำหรับทรัมป์แล้ว ข้อมูลประวัติศาสตร์นี้เป็นข่าวใหม่ที่เขาไม่เคยรู้

 

บทคัดย่อหนึ่งที่โบลตันเขียนถึงการประชุมในปี 2018 ระหว่างทรัมป์กับ เทเรซา เมย์ ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอังกฤษในขณะนั้น 

 

 

เมื่อเจ้าหน้าที่คนหนึ่งระบุถึงสหราชอาณาจักรว่าเป็นมหาอำนาจนิวเคลียร์ ทรัมป์พูดด้วยน้ำเสียงตกใจกับนายกฯ อังกฤษว่า “โอ้ คุณเป็นมหาอำนาจนิวเคลียร์หรือ?” 

 

ซึ่งโบลตันมองว่า “คำอุทานนั้น ดูไม่เหมือนการพูดเล่น”

 

  1. ฟินแลนด์เป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย

โบลตันอธิบายถึงองค์ความรู้ที่ไม่สมประกอบของทรัมป์ในอีกหลายกรณี ยกตัวอย่างการประชุมร่วมกับประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซีย ในกรุงเฮลซิงกิของฟินแลนด์ ทรัมป์พูดประมาณว่า ฟินแลนด์เป็นเหมือน “ประเทศบริวารของรัสเซีย”

 

แน่นอนว่าทรัมป์ได้เข้าร่วมฟังประชุมสรุปข้อมูลก่อนการประชุมสำคัญๆ แต่ดูเหมือนจะ “ไม่เป็นประโยชน์” 

 

 

เพราะเกือบทุกครั้ง “ทรัมป์จะพูดอะไรมากเกินกว่าที่สรุปข้อมูลไว้ และมักจะเป็นเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องกับประเด็นตรงหน้าเสียเลย”

 

  1. ทรัมป์เกือบนำสหรัฐฯ ออกจากนาโต

เป็นที่รู้กันว่าประธานาธิบดีทรัมป์วิจารณ์นาโต หรือองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนืออยู่บ่อยๆ และเรียกร้องให้ชาติสมาชิกอื่นเพิ่มเงินสนับสนุนนาโตให้มากขึ้น

 

แม้ว่าสหรัฐฯ จะยังเป็นสมาชิกนาโตอยู่ในปัจจุบัน แต่โบลตันชี้ว่า ในการประชุมสุดยอดประเทศสมาชิกนาโตเมื่อปี 2018 ทรัมป์ตัดสินใจจะออกจากสมาชิกสภาพ

 

“เราจะถอนตัว และจะไม่คุ้มครองประเทศที่ไม่ยอม (จ่ายเงิน) อีกแล้ว” ทรัมป์กล่าว อ้างอิงโดยโบลตัน

 

  1. รุกรานเวเนซุเอลาน่าจะ ‘เจ๋งดี’

นโยบายต่างประเทศหนึ่งที่สำคัญของรัฐบาลทรัมป์คือเรื่องของเวเนซุเอลา ซึ่งในสายตาของ นิโคลัส มาดูโร ผู้นำเวเนซุเอลา สหรัฐฯ เป็นศัตรูตัวฉกาจ

 

เมื่อพูดถึงเรื่องนี้ ประธานาธิบดีทรัมป์พูดว่า น่าจะ “เจ๋งดี” ถ้าสหรัฐฯ รุกรานเวเนซุเอลา และมองว่าจริงๆ แล้ว เวเนซุเอลาเป็น “ส่วนหนึ่งของสหรัฐฯ”

 

  1. แม้แต่มิตรยังล้อเลียน

หนังสือของโบลตันชี้ถึงเหตุการณ์หลายกรณีที่แม้แต่เจ้าหน้าที่ทำเนียบขาวก็มีพฤติกรรมเชิงล้อเลียนประธานาธิบดีสหรัฐฯ

 

เขาอธิบายถึงทำเนียบขาวที่ยุ่งเหยิง การประชุมในบางครั้งดูเหมือน “การแย่งอาหาร” มากกว่าที่จะเรียกว่าการประชุมนโยบาย

 

ในวันที่โบลตันมาถึงทำเนียบขาวช่วงแรกๆ เสนาธิการทำเนียบขาว จอห์น เคลลี ถึงกับเตือนเขาว่า “นี่เป็นสถานที่ทำงานที่แย่มาก อยู่ไปแล้วจะรู้เอง”

 

แม้แต่รัฐมนตรีต่างประเทศ ไมค์ ปอมเปโอ ซึ่งถูกมองว่าเป็นผู้จงรักภักดีต่อทรัมป์ ยังเขียนโน้ตบอกเขาว่า ประธานาธิบดี “มีแต่เรื่องไร้สาระ”

 

หนังสือที่ทำเนียบขาวไม่อยากให้โลกอ่าน

ด้วยเหตุนี้ทำเนียบขาวจึงต้องการยับยั้งการเผยแพร่หนังสือเล่มนี้ของโบลตัน ที่มีกำหนดจำหน่ายในวันที่ 24 มิถุนายนที่จะถึงนี้ 

 

กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ ยกเหตุผลว่า โบลตันไม่ได้รับอนุญาตอย่างเป็นทางการจากรัฐบาลเพื่อเผยแพร่ The Room Where It Happened และถือว่าหนังสือนี้เป็นการละเมิดสัญญา เพราะใช้เนื้อหาในขณะที่ดำรงตำแหน่งในรัฐบาลกลาง อีกทั้งหนังสือนี้ยังมีข้อมูลลับที่อาจส่งผลต่อความมั่นคงแห่งชาติได้

 

ทั้งนี้ รอยซ์ แลมเบิร์ธ ผู้พิพากษาศาลแขวงวอชิงตัน ดี.ซี. ที่ดำเนินการพิจารณาคดีนี้ มองว่า เขาอาจไม่มีอำนาจจะยับยั้งการเผยแพร่หนังสือเล่มนี้ได้

 

“เหมือนที่เรามักพูดกันในเท็กซัสว่า ม้ามันหลุดคอกไปแล้ว” และท้ายที่สุดแลมเบิร์ธไม่ได้เคาะคำตัดสินอะไรระหว่างการพิจารณาของศาลเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา เพียงระบุว่า จะรอตรวจสอบข้อมูลจากกระทรวงยุติธรรมอีกครั้งก่อนจะตัดสิน ทำให้มีความเป็นไปได้ว่าศาลจะประกาศคำตัดสินไม่ทันกำหนดตีพิมพ์หนังสือในวันอังคารหน้า 

 

แม้รัฐบาลทรัมป์จะยกประเด็น ‘ข้อมูลลับ’ ที่อาจส่งผลต่อความมั่นคง แต่เวลานี้ ประเด็นการตีพิมพ์หนังสือของโบลตัน กลายเป็นเรื่องของเสรีภาพการแสดงออก และหน้าที่ของสื่อสารมวลชน เพื่อตรวจสอบสภาวะผู้นำของทรัมป์ว่าตัดสินใจเชิงนโยบายความมั่นคงได้เหมาะสมหรือไม่ หรือเป็นเพียงการตัดสินใจที่เอื้อประโยชน์ให้เขาในการเลือกตั้งที่จะถึงนี้ 

 

ทรัมป์ว่าอย่างไร?

โดนัลด์ ทรัมป์ ให้สัมภาษณ์กับสถานีข่าว Fox News ถึงเรื่องหนังสือของโบลตันว่า “เขาทำผิดกฎหมาย เขาเป็นคนแก่ไม้ใกล้ฝั่ง ทั้งที่ผมให้โอกาสเขาเข้ามาทำงาน”

 

ผู้นำสหรัฐฯ ยังโจมตีโบลตันผ่านทวิตเตอร์ว่า หนังสือเล่มนี้ “เป็นบันทึกรวบรวมคำโกหกและเรื่องราวที่กุขึ้นมา” และโบลตันนั้นเป็น “คนบ้านิสัยประหลาด”

 

อดีตที่ปรึกษาด้านความมั่นคงทำเนียบขาวออกมาตอบโต้ผ่านสื่ออย่างสถานีข่าว ABC News ว่า ทรัมป์มีวุฒิภาวะไม่เหมาะสมต่อการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี และถูกประเทศคู่อริชักจูงได้ง่าย

 

“เขามัวแต่ยึดติดกับการเลือกตั้งสมัย 2 จนไม่คำนึงถึงผลระยะยาว (ต่อประเทศ)”

 

จะเป็นอย่างไรต่อไป คงต้องรอหนังสือตีพิมพ์จำหน่ายแล้ว เชื่อว่าหลายๆ คนก็คงรออ่านอย่างใจจดใจจ่อ และอยากรู้เบื้องลึกเบื้องหลังอะไรกันมากขึ้น

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising