×

The Post (2017) เสียงเห่าของหมาเฝ้าบ้าน

26.01.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

6 Mins. Read
  • สปีลเบิร์กก็ยังคงเป็นสปีลเบิร์กวันยังค่ำ วิธีการที่หนังดึงคนดูไปร่วมลุ้นระทึกกับสถานการณ์ที่ตัวละครต้องทำอะไรบางอย่างแข่งกับเวลาที่บีบคั้นและกดดัน หรือการกำหนดให้ผู้ชมเฝ้าคอยอะไรบางอย่างด้วยอาการกระวนกระวาย-ก็ช่วยทำให้นี่ไม่ใช่หนังในแบบที่ผู้ชมต้องดูไปกุมขมับไป และจริงๆ แล้ว เป็นหนังเขย่าขวัญการเมืองที่ดูสนุกโดยที่เราไม่ต้องรู้ภูมิหลังของเรื่องมากมาย

 

 

หนังเรื่อง The Post (2017) ของสตีเวน สปีลเบิร์ก อาจจะบอกเล่าเรื่องราวที่ย้อนกลับไป 40-50 ปี หรือในช่วงราวๆ ต้นทศวรรษ 1970 แต่ ‘ตำบลกระสุนตก’ จริงๆ ของหนังกลับอยู่แถวๆ ทำเนียบขาวในช่วงเวลาปัจจุบัน ซึ่งก็เป็นที่รู้กันว่าอยู่ในการครอบครองของประธานาธิบดี ผู้ซึ่งหากจะจำกัดความอย่างมองโลกในแง่ดีสักหน่อย ก็อาจกล่าวได้ว่าเขาเป็นประธานาธิบดีที่น่าเบื่อน้อยที่สุดเท่าที่ประวัติศาสตร์การเมืองร่วมสมัยของอเมริกาเคยอำนวยการผลิตมา แต่ในทางกลับกัน ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า โดนัลด์ ทรัมป์ เป็นผู้นำประเทศที่ปากเสียที่สุด มีพฤติกรรมและวิสัยทัศน์ที่ทั้งน่าตลกขบขันที่สุด บ้าบอคอแตกที่สุด น่าสมเพชเวทนาที่สุด เหยียดผิวและเหยียดเพศที่สุด และเหนืออื่นใด คุกคามการทำงานของสื่อมวลชนที่สุด (และอย่างเปิดเผย) ไม่มากไม่น้อย นั่นอาจทำให้บัลลังก์ของ ริชาร์ด นิกสัน ในฐานะประธานาธิบดีที่โพลของหลายสำนักเคยโหวตให้เป็นแชมป์ ‘ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่น่ารังเกียจที่สุด’ ต้องสั่นคลอน

 

ส่วนที่ทั้งเย้ยหยันและขันขื่นก็ตรงที่ในขณะที่ผู้ร้ายนอกจอตามที่หนังของ สตีเวน สปีลเบิร์ก ชักชวนให้ผู้ชมลากเส้นประเชื่อมโยงได้แก่ โดนัลด์ ทรัมป์ ผู้ร้ายในจอก็ไม่ใช่ใครที่ไหน ริชาร์ด นิกสัน ผู้ซึ่งได้สร้างผลงานชิ้นโบดำไว้ให้กับสาธารณชนชาวอเมริกันมากมาย สองในจำนวนนั้นได้แก่ คดีวอเตอร์เกตอันสุดแสนอื้อฉาวที่นำพาให้เขาต้องชิงลาออกก่อนโดนไล่ออก อีกหนึ่ง-ได้แก่การใช้อำนาจบาตรใหญ่คุกคามการทำงานของสื่อมวลชนแบบเดียวกับทรัมป์ แต่ด้วยแท็กติกที่แตกต่างกัน นั่นคือการพยายามยับยั้งทุกวิถีทาง ไม่ให้หนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์และวอชิงตันโพสต์เผยแพร่เอกสารลับสุดยอดของเพนตากอน ซึ่งเปิดโปงให้คนในสังคมรับรู้ว่า ประธานาธิบดีของพวกเขานับย้อนกลับไปตั้งแต่สมัย แฮร์รี ทรูแมน นอกจากไม่พูดความจริงกับประชาชนเรื่องการไปยุ่งเกี่ยวกับสงครามในเวียดนาม แต่ละคนยังโกหกพกลมต่างๆ นานา

 

อย่างที่หลายคนรับรู้รับทราบ คดีวอเตอร์เกตเคยถูกนำไปดัดแปลงเป็นหนังโด่งดังเรื่อง All the President’s Men (1976) ของ อลัน เจ.พาคูลา เนื้อหาว่าด้วยเรื่องของนักข่าววอชิงตันโพสต์สองคนสืบเสาะเหตุไม่ชอบมาพากล จนกระทั่งทุกอย่างบานปลาย ส่วนเหตุการณ์หลัง-ซึ่งในแง่ของลำดับเวลา เกิดขึ้นก่อนคดีวอเตอร์เกต และกล่าวได้ว่าเป็นหนึ่งในมูลเหตุที่นำพาให้เกิดคดีวอเตอร์เกต ก็คือเนื้อหาสำคัญที่ได้รับการบอกเล่าไว้ในหนังเรื่อง The Post หรือมองในแง่หนึ่ง หนังของสปีลเบิร์กก็มีสถานะเป็นเสมือน prequel หรือตอนที่มาก่อน All the President’s Men และว่ากันตามจริง (สปอยล์เล็กน้อย) หนังเรื่อง The Post ก็ถึงกับแสดงให้เห็นถึงความเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยง

 

 

ไม่ว่าจะอย่างไร ประเด็นหนึ่งที่น่ากล่าวถึงจริงๆ ก็คือ การวางปมเรื่อง ใครลองเช็กวิกิพีเดียกรณีเอกสารลับของเพนตากอนรั่วไหล-ก็คงรับรู้ได้ว่า เรื่องอื้อฉาวทั้งหมดแดงขึ้นเพราะ ดาเนียล เอลสเบิร์ก อดีตนักวิเคราะห์ข้อมูลของกองทัพ นำรายงานซึ่งมีความยาวเจ็ดพันหน้าไปมอบให้กับหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์ และภายหลังพวกเขาเผยแพร่เนื้อหาไปได้จำนวนหนึ่ง ศาลสูงสหรัฐฯ จากการร้องขอของรัฐบาลนิกสันก็มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ระหว่างนี้เองที่หนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์ก็นำเอกสารส่วนที่เอลสเบิร์กมอบให้ออกตีพิมพ์บ้าง ก่อนที่พวกเขาจะเจอคำสั่งระงับการเผยแพร่แบบเดียวกัน

 

หนังเรื่อง The Post ของสปีลเบิร์กพูดถึงบทบาทของนิวยอร์กไทมส์อย่างผิวเผิน จุดใหญ่ใจความของหนังมุ่งเน้นไปที่การตัดสินใจตีพิมพ์เอกสารลับเพนตากอนของแคธารีน แกรห์ม (เมอรีล สตรีป) บรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณาของวอชิงตันโพสต์เป็นสำคัญ ซึ่งว่าไปแล้ว ก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ว่า ทำไมหนังเรื่อง The Post ถึงเลือกเล่าจากมุมนี้

 

 

พูดง่ายๆ หากนี่เป็นเรื่องการขับเคี่ยวระหว่างหนังสือพิมพ์ซึ่งมีสถานะอันแข็งแกร่งอยู่แล้วอย่างนิวยอร์กไทมส์กับรัฐบาลนิกสัน หรืออีกนัยหนึ่ง มืออาชีพเจอกับมืออาชีพ เป็นไปได้ว่าดีกรีของการเอาใจช่วย หรือสถานะของการตกเป็นเบี้ยล่างก็คงไม่เท่ากับของวอชิงตันโพสต์ ซึ่งในตอนที่หนังพาผู้ชมไปรับรู้สถานการณ์เบื้องต้น พวกเขาเป็นแค่หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นที่ทำเนียบขาวเพิ่งจะโทรศัพท์มาปฏิเสธไม่ให้นักข่าวเข้าร่วมทำข่าวงานแต่งของลูกสาวประธานาธิบดี มิหนำซ้ำ หนังสือพิมพ์ยังอยู่ในช่วงที่ต้องทำตัวเป็น ‘เด็กดี’ เนื่องจากบริษัทกำลังระดมทุนเข้าตลาดหลักทรัพย์ แต่นั่นก็อาจจะเป็นเรื่องหยุมหยิมปลีกย่อยเมื่อเทียบกับการที่ แคธารีน แกรห์ม ผู้ซึ่งเป็นแม่บ้านมาตลอดทั้งชีวิต ทว่าเพราะการจากไปของสามี-นำพาให้เธอจับพลัดจับผลูต้องกลายมาเป็นบรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณา นั่นคือตอนที่ความท้าทายถาโถมเข้าใส่ตัวละครจากแทบทุกทิศทาง ซึ่งอาจแจกแจงเป็นข้อๆ ได้ดังนี้

 

หนึ่ง เธอแทบไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับกิจการหนังสือพิมพ์ และต้องขอความเห็นจากที่ปรึกษาส่วนตัวตลอดเวลา สอง เธอเป็นผู้หญิงเพียงคนเดียวในโลกที่แวดล้อมไปด้วยผู้ชาย และเห็นได้จะแจ้งว่าแทบไม่มีใครถือสาความคิดเห็นของเธอจริงๆ จังๆ สาม ในการตีพิมพ์เอกสารลับ คนหนึ่งที่จะได้รับบาดเจ็บที่สุดไม่ใช่ใครที่ไหน โรเบิร์ต แม็คนามารา (บรูซ กรีนฟอร์ด) อดีตรัฐมนตรีกลาโหมและเป็นเพื่อนสนิทของครอบครัวแกรห์ม

 

และแล้ว ปมขัดแย้งคลาสสิกก็ผุดพราย นั่นคือการที่ตัวละครต้องเลือกระหว่างหน้าที่การงานกับความสัมพันธ์ส่วนตัว สุดท้ายแต่ไม่ท้ายสุดก็คือ การตีพิมพ์เอกสารดังกล่าวมีความเสี่ยงในระดับที่นอกจากสามารถทำให้กิจการหนังสือพิมพ์ของครอบครัวต้องพังพินาศ เธอและเบน แบรดลีย์ (ทอม แฮงส์) บรรณาธิการบริหารก็ยังอาจติดคุกได้ด้วย ทั้งหมดทั้งมวล นั่นทำให้เธอกลายเป็นตัวละครที่มีทุกสิ่งทุกอย่างที่ต้องสูญเสีย เพื่อแลกกับอะไรที่จับต้องไม่ได้ และดูเป็นนามธรรมมากๆ นั่นคือ เสรีภาพในการแสดงออกของสื่อมวลชน

 

 

ตัวละครอีกคนหนึ่งที่ไม่เอ่ยถึงไม่ได้ก็คือ เบน แบรดลีย์ บุคลิกที่โดดเด่นตามที่หนังนำเสนอไม่ใช่ความเด็ดเดี่ยวกล้าหาญอย่างที่หนังนักหนังสือพิมพ์มักจะนำเสนออย่างซ้ำซากจำเจ แต่ได้แก่ความเป็นคนชอบแข่งขัน ดูเหมือนว่าสิ่งที่เกาะกุมความนึกคิดของเขาเป็นลำดับต้นๆ ไม่ใช่การตีแผ่ความจริงให้สาธารณชนได้รับทราบ เท่ากับความสงสัยใคร่รู้ว่าคู่แข่งอย่างนิวยอร์กไทมส์กำลังซุ่มทำอะไร ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า นี่เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญที่มีส่วนช่วยให้วอชิงตันโพสต์เลื่อนขั้นจากสื่อท้องถิ่นกลายเป็นผู้เล่นแถวหน้าของวงการหนังสือพิมพ์ และโดยอ้อม นี่ก็ถือเป็นพล็อตย่อยของ The Post ด้วย

 

พินิจพิเคราะห์ในแง่ของแนวทาง หนังเรื่อง The Post อาจจัดให้อยู่ในหมวดหมู่เดียวกับหนังที่เล่าเรื่องของนักหนังสือพิมพ์อย่าง Spotlight, Zodiac, All the President’s Men ซึ่งส่วนใหญ่ เป็นหนังที่นอกจากเดินเรื่องเนิบนาบ มู้ดและโทนก็ยังมักจะเคร่งเครียดและหนักอึ้ง ส่วนหนึ่งของ The Post อาจหลีกเลี่ยงสภาวะเช่นนั้นไม่ได้ แต่สปีลเบิร์กก็ยังคงเป็นสปีลเบิร์กวันยังค่ำ วิธีการที่หนังดึงคนดูไปร่วมลุ้นระทึกกับสถานการณ์ที่ตัวละครต้องทำอะไรบางอย่างแข่งกับเวลาที่บีบคั้นและกดดัน หรือการกำหนดให้ผู้ชมเฝ้าคอยอะไรบางอย่างด้วยอาการกระวนกระวาย-ก็ช่วยทำให้นี่ไม่ใช่หนังในแบบที่ผู้ชมต้องดูไปกุมขมับไป และจริงๆ แล้ว เป็นหนังเขย่าขวัญการเมืองที่ดูสนุกโดยที่เราไม่ต้องรู้ภูมิหลังของเรื่องมากมาย

 

 

อย่างที่กล่าวข้างต้น การออกฉายของหนังเรื่อง The Post อย่างทันท่วงที ก็ด้วยจุดประสงค์เพื่อกระตุ้นเตือนให้คนดูได้ตระหนักว่า นอกจากเสรีภาพของสื่อมวลชนเป็นเรื่องจำเป็น สื่อมวลชนก็ยังเป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยสอดส่องไม่ให้ผู้นำประเทศลุแก่อำนาจและทำอะไรตามอำเภอใจ โดยเฉพาะในห้วงเวลาที่บ้านเมืองมีผู้นำเยี่ยงนี้

 

เดาว่าคนอเมริกันที่ได้ดู The Post น่าจะรู้สึกฮึกเหิมและพองโต เพราะหนังสำแดงให้รับรู้ว่า ไม่ว่าใครจะใหญ่มาจากไหน พวกเขาก็ไม่สามารถปิดปากผู้คนได้ นี่เป็นเสรีภาพขั้นพื้นฐาน นี่เป็นภูมิคุ้มกันที่แข็งแกร่งแน่นหนา มิหนำซ้ำ ทั้งหมดที่หนังบอกเล่าก็สร้างจากเรื่องจริง พูดสำหรับคนดูในบ้านเรา เชื่อว่าเวทมนตร์คาถาของสปีลเบิร์กน่าจะทำให้ใครต่อใครเคลิบเคลิ้มไปกับความงดงามของระบอบการปกครองที่สิทธิและเสรีภาพของทุกคนได้รับการปกป้องคุ้มครอง

 

น่าเสียดายที่สภาวะเช่นนั้นดำรงอยู่จนถึงห้วงเวลาที่แสงไฟในโรงหนังสว่างขึ้น และกระชากพวกเรากลับคืนสู่โลกความเป็นจริงของดินแดนที่ยังคงฝืดเคืองขัดสนความเป็นประชาธิปไตย ทีละน้อย นั่นคือตอนที่เราสำเหนียกได้ว่า สิ่งที่เพิ่งจะถูกบอกเล่าในหนังเรื่อง The Post เกิดขึ้นในดินแดนแสนห่างไกล และเรียกเป็นอย่างอื่นไม่ได้นอกจากเรื่องแฟนตาซี

 

 

THE POST (2017)

กำกับสตีเวน สปีลเบิร์ก

ผู้แสดงเมอรีล สตรีป, ทอม แฮงส์, ซาราห์ พอลสัน

 

 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

X
Close Advertising