×

ดนตรีคือภาษาสากล? รู้ได้ยังไงว่านี่คือเพลงกล่อมเด็กของชนเผ่าที่คุณไม่รู้จัก

05.02.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 Mins. Read
  • เพลงอกหักของชนเผ่าเล็กๆ ในรวันดา มีอะไรเหมือนกับเพลงอกหักของชาวนาในที่ราบสูงจากสกอตแลนด์หรือเปล่า
  • ชาร์ลส์ ดาร์วิน เคยตั้งคำถามว่า ทำไมเราถึงเขียนเพลง ‘แบบนี้’ ขึ้นมาเพื่อกิจกรรม ‘แบบนี้’ ทำไมเวลาที่เด็กทารกได้ยินเพลง ‘แบบนี้’ แล้วทารกถึงได้หลับ ทำไมเพลงรักถึงได้ทำให้คู่รักหนุ่มสาวเกิดความสงบจิตสงบใจขึ้นมาได้ ฯลฯ เหล่านี้เป็นคำถามเก่าแก่ แต่เป็นคำถามที่ยังไม่มีใครตอบได้จริงๆ
  • นั่นทำให้เกิดโครงการที่ชื่อ The Natural History of Song เพื่อลองให้คนจากที่ต่างๆ ทั่วโลก มาฟังเพลงของชนเผ่าต่างๆ แล้วเดาว่า เพลงที่ได้ยินนั้นคือเพลงแบบไหน เพลงรัก เพลงกล่อมเด็ก เพลงเต้นรำ ฯลฯ

ลองเปิดยูทูบนี้ (An Ainu lullaby, Hokkaido) แต่อย่าเพิ่งดูภาพนะครับ ให้ฟังแต่เสียงอย่างเดียว

 

คุณว่าเสียงที่ได้ยินเป็นเพลงอะไรครับ

 

เพลงรัก? เพลงสงคราม? เพลงเยียวยารักษาโรค? เพลงกล่อมเด็ก?

 

อาจจะฟังยากอยู่สักหน่อย แต่รู้ไหมครับว่าคนส่วนใหญ่ในโลก (หรืออย่างน้อยก็ในการสำรวจและทำวิจัยของคุณซามูเอล มีห์ร (Samuel Mehr) และคุณมานวีร์ ซิงห์ (Manvir Singh) แห่งฮาร์วาร์ด เขารู้กันครับ ว่านี่คือเพลงกล่อมเด็ก

 

วัฒนธรรมทั้งหลายในโลกย่อมประกอบไปด้วยดนตรีและบทเพลงทั้งนั้น แล้วแต่ละวัฒนธรรมก็จะมีบทเพลงเอาไว้เพื่อทำอะไรบางอย่างโดยมีเป้าหมายที่แตกต่างกัน เช่น เพลงบางเพลงก็เอาไว้ประกอบการเต้นรำขอฝน บางเพลงเป็นเพลงเต้นรำเกี้ยวจับคู่กัน บางเพลงเป็นเพลงกล่อมเด็ก บางเพลงก็เป็นเพลงรัก บางเพลงเป็นเพลงที่หมอผีใช้ร้องเพื่อเยียวยารักษาโรค บางเพลงก็เป็นเพลงอกหัก

 

เราอาจจะคิดว่าเพลงพวกนี้ ‘หลากหลาย’ เอามากๆ ใช่ไหมครับ หลากหลายทั้งในแง่ของรูปแบบ ภาษา สังคม และวัฒนธรรมที่เกิดจากคนกลุ่มเล็กๆ ซึ่งแปลว่าคนจากถิ่นที่อื่นก็ไม่น่าจะเข้าใจเพลงพวกนี้ได้

 

แต่คำถามก็คือ เพลงอกหักของชนเผ่าเล็กๆ ในรวันดา มีอะไรเหมือนกับเพลงอกหัก ของชาวนาในที่ราบสูงจากสกอตแลนด์หรือเปล่า

 

นี่เป็นคำถามที่ ชาร์ลส์ ดาร์วิน เคยถามมาแล้ว คำถามนั้นก็คือ – ทำไมเราถึงเขียนเพลง ‘แบบนี้’ ขึ้นมาเพื่อกิจกรรม ‘แบบนี้’ ทำไมเวลาที่เด็กทารกได้ยินเพลง ‘แบบนี้’ แล้วทารกถึงได้หลับ ทำไมเพลงรักถึงได้ทำให้คู่รักหนุ่มสาวเกิดความสงบจิตสงบใจขึ้นมาได้ ฯลฯ เหล่านี้เป็นคำถามเก่าแก่ แต่เป็นคำถามที่ยังไม่มีใครตอบได้จริงๆ ว่าเสียงเพลงต่างๆ ที่มีรูปแบบท่วงทำนองและลีลาแตกต่างกัน มันเข้าไปทำ ‘อะไร’ กับภายในของเราบ้าง

 

นั่นทำให้เกิดโครงการที่ชื่อ The Natural History of Song ของคุณมีห์รและคุณซิงห์ขึ้นมา

 

วิธีการที่ฟังดูง่ายก็คือ ลองให้คนจากที่ต่างๆ ทั่วโลก มาฟังเพลงของชนเผ่าต่างๆ โดยเฉพาะชนเผ่าขนาดเล็ก แล้วเดาหน่อยว่า เพลงที่ได้ยินนั้นคือเพลงแบบไหน เพลงรัก เพลงกล่อมเด็ก เพลงเต้นรำ ฯลฯ เพื่อดูว่ามันมี ‘แพตเทิร์น’ ของการรับรู้เรื่องเพลงที่ถูกต้องตรงกันหรือเปล่า

 

โครงการนี้ไม่ใช่ของง่ายนะครับ แล้วก็ไม่ใช่ ‘ของใหม่’ ด้วย แต่ในราวทศวรรษ 60 เคยมีทีมนักวิจัยเสนอวิธีการ ‘วัดเพลง’ (Song Measurements) มาแล้ว เรียกว่า Cantometrics (ซึ่งก็แปลว่าการวัดเพลงนั่นแหละครับ) โดยคนที่เสนอคือคุณอลัน โลแม็กซ์ (Alan Lomax) ซึ่งศึกษาการร้องเพลงแบบต่างๆ โดยมองว่าการร้องเพลงคือการแสดงออกของมนุษย์ที่เป็นบรรทัดฐาน (Normative Expressive Behavior) แล้วก็รวบรวมเพลงต่างๆ จากชนเผ่าทั่วโลกเข้าไว้เป็นหมวดหมู่ แต่ไม่ได้แบ่งเพลงแบบดนตรีตะวันตกที่ดูจากคีย์ จังหวะ เสียงประสาน อะไรทำนองนั้นนะครับ สิ่งที่เขาดูก็มีปัจจัยหลายอย่าง เช่น คุณภาพของเสียงที่เป็นแบบเกร็งเข้มข้นหรือแบบผ่อนคลาย การหายใจ วลีต่างๆ เป็นแบบยาวหรือสั้น มีการใช้เสียงรัวลิ้นแบบไหน ใช้เสียงคำรามอย่างไร ใช้ข้าวของประกอบการร้องเพลงแบบไหนบ้าง ซึ่งมีรายละเอียดหลายอย่าง นับรวมแล้วได้ถึง 37 ปัจจัยด้วยกัน

 

ผลลัพธ์ที่ได้ก็คือ ‘อนุกรมวิธาน’ (Taxonomy) ของเพลงต่างๆ จากการวิเคราะห์เพลงกว่า 4,000 เพลง จากสังคมชนเผ่ากว่า 400 สังคม (บางที่ก็บอกว่ามากถึง 1,100 สังคม) ซึ่งก่อให้เกิดการ ‘เชื่อมโยง’ ระหว่างลักษณะของเพลง (Traits of the Songs) เข้ากับบุคลิกลักษณะของวัฒธรรมนั้นๆ ที่ได้สร้างเสียงเพลงแบบนั้นๆ ขึ้นมา

 

แต่มีห์รบอกว่า ปัญหาของการวัดเพลงแบบ Cantometrics นี้ก็คือ มันไม่ได้สร้างขึ้นมาอย่างเป็นระบบ มันเป็นแค่การรวบรวมดนตรีที่น่าสนใจเข้าด้วยกันเท่านั้น เพราะฉะนั้น สิ่งที่มีห์รและซิงห์จะทำ ก็คือการสร้างระบบขึ้นมาใหม่ โดยแยกแยะเพลงออกมาจาก 30 ภูมิภาคทั่วโลก

 

ในโลกของสัตว์ เรื่องของการใช้เสียงนั้นมี ‘รูปแบบ’ (Form) และ ‘หน้าที่’ (Function) ที่เชื่อมโยงกันอยู่ตลอด เช่น สิงโตคำราม นกร้อง แมวร้อง มันมีความหมายว่าอย่างไร ซึ่งก็รวมมาถึงเพลงของมนุษย์ด้วย แต่คำถามก็คือ มนุษย์อาจจะฟังไม่ออกว่าสิงโตคำรามแบบหนึ่งๆ หมายถึงอะไร ทว่าถ้าเป็นเพลงล่ะ มนุษย์ในที่หนึ่ง จะรู้ไหมว่ามนุษย์ในอีกที่หนึ่งร้องเพลงเพื่อสื่อถึงอะไร

 

เนื่องจากเป็นการทดลองที่ต้อง ‘ใหญ่’ มาก คือต้องเป็นการทดลองกับคนทั่วโลก ดังนั้นการทดลองนี้จึงเป็นจริงขึ้นมาได้ด้วยอินเทอร์เน็ต ถ้าไม่มีเทคโนโลยีการสื่อสารแบบใหม่นี้ ทั้งคู่คงต้องบินไปทั่วโลกเพื่อเก็บข้อมูล ซึ่งคงทำให้โครงการนี้เป็นไปไม่ได้ แต่ในการทดลองของโครงการนี้ มีห์รและซิงห์ให้ผู้ใช้อินเทอร์เน็ต 750 คน ใน 60 ประเทศ ทดลองฟังเพลงต่างๆ

 

เพลงที่เขาคัดมาให้ฟังนั้น กว่าจะคัดเลือกมาได้ก็ลำบากยากเย็นมาก เพราะงบประมาณมีจำกัด จึงต้องติดต่อกับนักมานุษยวิทยา และนักวิชาการด้านดนตรีชนเผ่า (Ethnomusicologists) เพื่อขอเพลงต่างๆ โดยเป็นเพลงที่คนไม่รู้จักด้วยนะครับ ไม่อย่างนั้นคนก็จะรู้อยู่แล้วว่าเพลงนั้นๆ หมายถึงอะไร

 

จากนั้นก็เอาแต่ละเพลงมาคัดเลือกแล้วตัด จนกระทั่งเหลือความยาวแค่ 14 วินาที เท่านั้น (จะได้ส่งผ่านทางอินเทอร์เน็ตได้สะดวก) โดยเพลงเหล่านี้มาจากสังคมขนาดเล็ก 86 แห่งจากทั่วโลก มีทั้งสังคมของนักล่าหาของป่า (Hunter-Gatherers), สังคมของนักต้อนสัตว์ไปเลี้ยงในทุ่ง (Pastoralists) หรือสังคมเกษตรแบบดั้งเดิม ซึ่งแปลว่าเป็นเพลงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ที่แตกต่างกัน จึงย่อมสะท้อนย้อนกลับไปถึงวัฒนธรรมที่แตกต่างกันด้วย

 

หลังจากฟังแล้ว ผู้ฟังแต่ละคนจะต้องตอบคำถาม 6 ข้อ เพื่อแสดงให้เห็นว่าแต่ละคนมองว่าเพลงเหล่านี้มี ‘หน้าที่’ อะไรบ้าง เช่น เป็นเพลงเต้นรำ, เพลงกล่อมเด็ก, เพลงรักษาโรค, เพลงบอกรัก, เพลงสวดศพ หรือเพลงที่เล่าเรื่อง โดยที่จริงๆ แล้ว ไม่มีเพลงสวดศพหรือเพลงเล่าเรื่องอยู่เลย เพื่อใช้เป็นตัวควบคุม

 

โดยรวมทั้งหมด ผู้เข้าร่วมได้ฟังเพลงกว่า 26,000 ตัวอย่าง และตอบคำถามมา 150,000 คำตอบ (คือการให้เรตติ้งในแต่ละเพลง) หลังจากนั้นก็มีการทดลองอีกครั้งหนึ่งกับผู้ใช้อินเทอร์เน็ต 1,000 คน ในสหรัฐอเมริกา อินเดีย และที่อื่นๆ ในโลก เพื่อดูปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ เช่น ต้องตอบคำถามว่ามีคนร้องเพลงนั้นๆ กี่คน คนร้องเป็นหญิงหรือชาย จังหวะและความรื่นรมย์ในการฟังเป็นอย่างไร ฯลฯ

 

ทั้งหมดนี้ก็เพื่อนำเสนอออกมาเป็นบทความ และเพิ่งตีพิมพ์ในวารสาร Current Biology (ดูได้ที่นี่) โดยได้ข้อสรุปที่น่าสนใจเอามากๆ ว่า มันมีความสัมพันธ์ (Correlations) ระหว่างลักษณะต่างๆ ที่ปรากฏอยู่ในเพลง (เช่น ความช้าเร็ว) กับ ‘หน้าที่’ ของเพลง โดยไม่ว่าจะเป็นคนจากวัฒนธรรมไหนก็ตาม ก็จะเห็นคล้ายๆ กัน ว่าเพลงแบบนี้คือเพลงกล่อมเด็ก เพลงแบบนี้คือเพลงรัก เป็นต้น

 

นั่นจึงมีความโน้มเอียงไปในทางที่จะพูดได้ว่า – ดนตรีเป็นภาษาที่มีลักษณะบางอย่างที่เป็น ‘สากล’ อยู่ไม่น้อย

 

แต่กระนั้นก็ยังอธิบายไม่ได้ว่า – ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น

 

นอกจากมีห์รและซิงห์แล้ว ยังมีการทดลองของแพทริก ซาวาจ (Patrick Savage) (ดูได้ที่นี่) ที่สรุปคล้ายๆ กันว่า สถิติที่เผยให้เห็นถึงโครงสร้างและหน้าที่ของดนตรีที่มนุษย์สร้างขึ้น ซึ่งเป็นลักษณะที่ค่อนข้างเป็นสากล

 

อย่างไรก็ตาม นักวิชาการด้านดนตรีชนเผ่าหลายคนไม่เห็นด้วยกับผลการศึกษาที่ออกมา เพราะเห็นว่ามันเป็นการ ‘ลาก’ เข้าประเด็น ยังมีปัจจัยอีกมากที่ส่งผลต่อการฟังดนตรีของ ‘ผู้ใช้อินเทอร์เน็ต’ ที่เป็นกลุ่มตัวอย่าง เช่นว่า อาจจะได้รับอิทธิพลจากแหล่งทางวัฒนธรรมคล้ายๆ กัน (เช่น อย่างน้อยก็อาจต้องเคยฟังเพลงของบีโธเฟนหรือเทย์เลอร์ สวิฟต์ ฯลฯ) ทำให้เกิดแนวโน้มที่จะตัดสินใจแบบเดียวกันขึ้นมา

 

บางคนก็วิจารณ์แรงถึงขนาดบอกว่า เรื่องเดียวในทางดนตรีที่เป็นสากล – ก็คือมนุษย์เป็นผู้สร้างมันขึ้นมา นักวิชาการด้านดนตรีชนเผ่าเห็นว่าดนตรีมีความหลากหลายมากเกินกว่าจะไปจัดระเบียบมันออกมาในรูปแบบที่ว่านี้ได้ โดยได้หักล้างวิธีคิดแบบ Cantometrics มานานแล้ว

 

แต่กระนั้น มีห์รและซิงห์ก็ไม่ย่อท้อ เขาวางแผนจะทดลองต่อไป แต่คราวนี้อยากหากลุ่มตัวอย่างที่อยู่ในสังคมโดดเดี่ยว (Isolated Societies) ที่อาจไม่เคยฟังเทย์เลอร์ สวิฟต์ หรือบีโธเฟนมาก่อน เพื่อจะดูว่าคนเหล่านี้ที่ยังมี ‘ความบริสุทธิ์’ ทางดนตรีอยู่ จะตัดสินเกี่ยวกับดนตรีที่พวกเขาไม่เคยได้ยินมาก่อนอย่างไรบ้าง

 

แน่นอน นี่ไม่ใช่งานง่ายเลย แต่คืองานที่พยายามจะตอบคำถามดั้งเดิมดึกดำบรรพ์ที่ว่า – ดนตรีเป็นภาษาสากล, จริงหรือ?

 

ภาพประกอบ: Pichamon Wannasan

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X