×

ข้อค้นพบใหม่: ทุ่งสะวันนาเมืองไทยในยุคน้ำแข็ง ร่องรอยจากฟันสัตว์

28.08.2021
  • LOADING...
Phaeng Pha Tham Lod

HIGHLIGHTS

6 Mins. Read
  • แหล่งโบราณคดีเพิงผาถ้ำลอด อ.ปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอน เมื่อได้รับการกำหนดอายุด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์พบว่ามีอายุอยู่ระหว่าง 12,000-34,000 ปีมาแล้ว หรือในทางธรณีวิทยาเรียกว่า สมัยไพลสโตซีน (Pleistocene) หรือคนไทยมักรู้จักกันในชื่อ ‘ยุคน้ำแข็ง’ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ซีกโลกเหนือและใต้มีหิมะตกและเกิดธารน้ำแข็งขึ้น
  • ผลจากการเกิดน้ำแข็งขึ้นนี้ทำให้ระดับน้ำทะเลลดต่ำลงราว 120 เมตร ยกเว้นแต่ในเขตใกล้เส้นศูนย์สูตรที่ไม่เกิดน้ำแข็งขึ้น แต่มีอากาศที่หนาวเย็นกว่าปัจจุบัน และในเวลานั้นมนุษย์ยังไม่รู้จักการเพาะปลูก เพราะสภาพภูมิอากาศยังไม่เอื้อให้สามารถทำได้ เนื่องจากอากาศแห้งและไม่อุดมสมบูรณ์ ทำให้มนุษย์ในช่วงเวลานั้นต้องพึ่งพิงอาหารจากธรรมชาติ ตั้งแต่การเก็บผลไม้ พืชผักในป่า จับปลา จับหอย และล่าสัตว์

คำถามเกี่ยวกับยุคน้ำแข็งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่สำคัญคือ ‘ปัจจัยอะไรที่เอื้อให้มนุษย์ยุคหมื่นปีขึ้นไปสามารถเดินทางไปในเขตหมู่เกาะ พวกเขาอยู่อาศัยในสภาพแวดล้อมแบบใด และทำไมเครื่องมือหินในยุคนั้นจึงไม่ค่อยพัฒนามากเมื่อเทียบกับพื้นที่อื่นของโลก’

 

คำถามนี้คลี่คลายลงเมื่อทีมนักวิจัยด้านบรรพชีวินวิทยาและโบราณคดีชาวไทยร่วมกับต่างชาติได้ร่วมกันค้นหาด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์จากตัวอย่างสัตว์ที่ขุดค้นพบจากแหล่งโบราณคดีเพิงผาถ้ำลอด ซึ่งเป็นแหล่งโบราณคดีที่มีการทำงานวิจัยมาต่อเนื่องถึง 2 ทศวรรษพอดิบพอดี โดยผลงานวิจัยนี้ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารชั้นนำของโลกอย่าง Scientific Reports ซึ่งถือเป็นการค้นพบที่สำคัญ เพราะค้านกับแนวคิดเดิมที่เชื่อว่ามนุษย์ยุคน้ำแข็งของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วงเวลานั้นอาศัยอยู่เฉพาะในพื้นที่ป่าทึบเท่านั้น ไม่ใช่พื้นที่ป่าโปร่งสลับทุ่งหญ้าและรอยต่อระหว่างป่าทั้งสองแบบ

 

เพิงผาถ้ำลอดในยุคน้ำแข็ง แหล่งโบราณคดีสำคัญของเมืองไทย

ท่ามกลางขุนเขาสูงของเมืองสายหมอก มีแหล่งโบราณคดีแห่งหนึ่งชื่อว่า ‘เพิงผาถ้ำลอด’ ตั้งอยู่ในหมู่บ้านของชาวไทใหญ่ที่บ้านถ้ำลอด อ.ปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอน ตำแหน่งที่ตั้งของเพิงผานี้จัดว่าวิเศษมาก เพราะอยู่ไม่ห่างจากลำน้ำลาง ซึ่งเต็มไปด้วยปลาและหินกรวดแม่น้ำ มีพื้นที่ราบขนาดย่อมหน้าเพิงผา และเหนือเพิงผาไปเป็นเบญจพรรณ-เต็งรังที่อุดมสมบูรณ์ ในสมัยก่อน ชาวไทใหญ่เล่าว่าในพื้นที่บริเวณนี้เต็มไปด้วยสัตว์นานาชนิด กระทั่งสมัยที่ผมเองเป็นส่วนหนึ่งของทีมขุดค้นที่เพิงผาแห่งนี้เมื่อปี พ.ศ. 2544 ยังได้เห็นชะนี ลิง เก้ง และหมูป่าในป่าอยู่บ้าง

 

ภาพซ้าย เพิงผาถ้ำลอดเมื่อเดือนเมษายน ปี 2544 ในช่วงเริ่มต้นการขุดค้น (อ้างอิง: โครงการโบราณคดีบนพื้นที่สูงในอำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน) และภาพขวา หลุมขุดค้นที่ 1 ภายหลังการขุดค้นเสร็จสิ้นแล้ว มีความลึกประมาณ 4 เมตร

 

ชื่อเสียงของแหล่งโบราณคดีนี้ที่เชื่อว่าคนที่สนใจในงานด้านโบราณคดีจะรู้จักกันดีคือ ผลงานการจำลองใบหน้าของผู้หญิงก่อนประวัติศาสตร์ที่มีอายุ 13,640 ปีมาแล้ว โดย ศ.ดร.รัศมี ชูทรงเดช และ ดร.ซูซาน เฮยส์ จากมหาวิทยาลัยวูลลองกอง ประเทศออสเตรเลีย ทำให้ใบหน้าของคนยุคน้ำแข็งปรากฏเป็นครั้งแรกในประเทศไทย (ดูเพิ่มเติมได้ที่: www.matichon.co.th/prachachuen/news_534920

 

ผลจากการขุดค้นทางโบราณคดีพบว่า เพิงผาแห่งนี้ย้อนกลับไปกว่า 10,000 ปี พบว่าเป็นที่อยู่ของมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ที่ใช้เครื่องมือหินกะเทาะแบบโหบินเนียน (Hoabinhian Culture) คือเครื่องมือที่ทำจากหินกรวดแม่น้ำที่นำมากะเทาะให้เกิดคม เพื่อใช้สับหรือตัดเนื้อสัตว์ กระดูกสัตว์ และตัดไม้ โดยพบเครื่องมือแบบนี้ทับถมเป็นชั้นหนาเกือบ 4 เมตร จำนวนหลายหมื่นชิ้น

 

หลักฐานอีกชนิดหนึ่งที่พวกเราพบเป็นจำนวนมากด้วยคือกระดูกสัตว์ ซึ่งโดยมากแล้วมีสภาพแตกหักเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย ทั้งนี้ เพราะคนในยุคหินนี้ใช้เครื่องมือหินกะเทาะสับกระดูกให้แตก เพื่อกินไขกระดูกด้านในซึ่งให้พลังงานอย่างสูงนั่นเอง แต่ก็โชคดีว่าคนยุคหินได้ทิ้งฟันสัตว์จำนวนมากไว้ที่เพิงผาแห่งนี้ด้วย

 

แหล่งโบราณคดีแห่งนี้เมื่อได้รับการกำหนดอายุด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์พบว่ามีอายุอยู่ระหว่าง 12,000-34,000 ปีมาแล้ว หรือในทางธรณีวิทยาเรียกว่า สมัยไพลสโตซีน (Pleistocene) หรือคนไทยมักรู้จักกันในชื่อ ‘ยุคน้ำแข็ง’ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ซีกโลกเหนือและใต้มีหิมะตกและเกิดธารน้ำแข็งขึ้น ผลจากการที่เกิดน้ำแข็งขึ้นนี้เองทำให้ระดับน้ำทะเลลดต่ำลงราว 120 เมตร ยกเว้นแต่ในเขตใกล้เส้นศูนย์สูตรที่ไม่เกิดน้ำแข็งขึ้น แต่มีอากาศที่หนาวเย็นกว่าปัจจุบัน แต่ในเวลานั้นมนุษย์ยังไม่รู้จักการเพาะปลูก เพราะสภาพภูมิอากาศยังไม่เอื้อให้สามารถทำได้ เนื่องจากอากาศแห้งและไม่อุดมสมบูรณ์ ทำให้มนุษย์ในช่วงเวลานั้นต้องพึ่งพิงอาหารจากธรรมชาติ ตั้งแต่การเก็บผลไม้ พืชผักในป่า จับปลา จับหอย และล่าสัตว์

 

ล่าไม่เลือกชนิดสัตว์ อาหารของมนุษย์ยุคหิน

มีสัตว์มากมายหลายชนิดจากหลายสภาพแวดล้อมที่คนในยุคหินที่เพิงผาถ้ำลอดกินกัน ซึ่งสะท้อนวิถีชีวิตแบบกินดะ ดร.อธิวัตน์ วัฒนะพิทักษ์สกุล นักบรรพชีวินวิทยาที่ผันตัวมาทำงานด้านโบราณคดี ได้ดำเนินการวิเคราะห์กระดูกสัตว์ที่มีจำนวนถึง 330,810 ชิ้น อย่างละเอียด โดยใช้เวลาเกือบ 10 ปี กับงานวิจัยปริญญาโท-เอก หลังจากการวิเคราะห์ ทำให้ค้นพบสัตว์ถึง 38 ชนิด เช่น วัวแดง ควายป่า กวางป่า เก้ง ละองละมั่ง เนื้อทราย หมูป่ายักษ์ ลิงกัง ค่าง หนู อ้น เม่น เต่า ฯลฯ สัตว์ทั้งหมดนี้บางชนิดอาศัยอยู่ในป่าโปร่งหรือทุ่งหญ้า บางชนิดอาศัยอยู่ในป่าทึบ หรือป่าทั้งสองแบบ ทั้งหมดนี้สะท้อนคนในช่วงเวลานั้นเป็นนายพรานที่ชำนาญการล่าสัตว์

 

อธิวัตน์ วัฒนะพิทักษ์สกุล ในช่วงสำรวจแหล่งโบราณคดีในเขตอำเภอปางมะผ้า

 

อีกทั้งเมื่อวิเคราะห์กันอย่างละเอียดยังพบว่า สัตว์ที่ถูกล่ามามีตั้งแต่อายุน้อย โตเต็มวัย และแก่มาก ซึ่งสะท้อนวิถีชีวิตแบบกินดะไม่เลือก (เรียกว่า Encounter Strategy) ทั้งนี้ อาจเป็นเพราะด้วยสภาพอากาศที่หนาวเย็นและมีอาหารในปริมาณจำกัด จึงเกิดภาวะกดดันทำให้ต้องล่าสัตว์ทุกชนิดมากินเป็นอาหาร

 

หลักฐานที่น่าสนใจในบรรดาสัตว์ทั้งหมดในความเห็นของผมคือการค้นพบว่า คนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่เพิงผาถ้ำลอดนี้นิยมล่าสัตว์ในตระกูลเลียงผา ได้แก่ เลียงผา กวางผาหิมาลัย และกวางผาจีน หรือรู้จักกันในอีกชื่อว่า ‘ม้าเทวดา’ ซึ่งที่เพิงผาถ้ำลอดนี้ถือว่าพบสัตว์ทั้งสามชนิดนี้มากกว่าแหล่งโบราณคดีแห่งอื่นๆ ในไทย โดยเฉพาะกวางผาหิมาลัย พบชิ้นส่วนมากถึง 30 กว่าชิ้น หรือเกือบ 10 ตัว ส่วนกวางผาจีน พบมากถึง 100 กว่าชิ้น หรือประมาณ 40 ตัว และเลียงผา พบจำนวน 15 ตัว สัตว์ทั้งสามชนิดนี้จัดอยู่ในกลุ่มย่อย (Subfamily) เดียวกัน

 

ฟันของสัตว์ชนิดต่างๆ ที่พบจากการขุดค้นที่เพิงผาถ้ำลอด (อ้างอิง: อธิวัตน์ วัฒนะพิทักษ์สกุล 2563)

 

เท่าที่ทราบ ปัจจุบันเลียงผาพบหลายที่ในไทย ส่วนกวางผาจีนยังพบได้ในไทย เช่นที่อินทนนท์ ซึ่งเป็นสาขาหนึ่งของเทือกเขาหิมาลัย ในขณะที่กวางผาหิมาลัยไม่พบในไทยแล้ว แต่พบในที่ราบสูงทิเบตและเทือกเขาหิมาลัย เช่น ในเขตภูฏาน ปากีสถาน เนปาล มีความเสี่ยงใกล้สูญพันธุ์

 

สัตว์พวกนี้มักถูกล่าทั้งเพื่อกินเนื้อและเอาน้ำมัน โดยเฉพาะในไทย พม่า ลาว และจีน ต่างมีความเชื่อคล้ายกันว่าเลียงผาและกวางผามีคุณสมบัติวิเศษ สามารถช่วยรักษาอาการกระดูกหัก แก้ฟกช้ำ ปวดเมื่อย กระทั่งอัมพฤกษ์ เรียกได้ว่าเป็นน้ำมันครอบจักรวาล

 

ข้อมูลเชิงชาติพันธุ์ในเขตตอนเหนือของปากีสถานพบว่า แพะภูเขาชนิดหนึ่ง เรียกว่า ไอเบกซ์ (Alpine Ibex) ถือกันว่าเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ เพราะคนมองว่ามันดื่มน้ำจากภูเขาบริสุทธิ์ ทำให้ทุกปีมันจะถูกล่าเพื่อเอาเนื้อมากินกัน ความเชื่อนี้คงมีมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ เพราะตามก้อนหินในเขตนี้มักพบภาพวาดของแพะภูเขาแบบนี้อยู่หลายแห่ง ทั้งหมดนี้เองที่ทำให้สัตว์ชนิดนี้ถูกล่าอย่างมากในรอบหลายศตวรรษที่ผ่านมา และเป็นไปได้ว่าคนในยุคน้ำแข็งก็อาจมีความเชื่ออะไรทำนองนี้เหมือนกัน

 

สำหรับที่เพิงผาถ้ำลอดนี้ ดร.อธิวัตน์ ให้ความเห็นว่า พบร่องรอยว่าสัตว์ทั้งสามชนิดนี้ถูกนำมากินอย่างแน่ชัด ส่วนจะนำไปใช้ทำยาหรืออย่างอื่นนั้นยังไม่สามารถให้คำตอบได้ ดร.อธิวัตน์ ให้ความเห็นเพิ่มเติมอีกว่า การค้นพบสัตว์ทั้งสามชนิดนี้เราสามารถคิดได้ 2 ทาง คือ ทางแรก สิ่งแวดล้อมในพื้นที่บริเวณถ้ำลอดในยุคนั้นเป็นป่าโปร่ง มีต้นหญ้าขึ้น ซึ่งเป็นอาหารที่สัตว์พวกนี้ชื่นชอบ ทางที่สอง มนุษย์ในยุคนั้นขึ้นไปล่าสัตว์พวกนี้บนภูเขาสูงเพื่อนำมาใช้ประโยชน์อะไรบางอย่างอย่างตั้งใจ เพราะการล่าสัตว์พวกนี้นั้นไม่ง่ายเลย ต้องชำนาญในการปีนเขาไต่เขา

 

แต่การที่จะรู้ให้ชัดเจนขึ้นว่ามนุษย์พวกนี้อาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมแบบใด และไปล่าสัตว์จากเขตนิเวศแบบไหนนั้น การศึกษาเชิงลึกด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ที่เรียกว่า ‘การวิเคราะห์ด้วยไอโซโทปเสถียร’ (Stable Isotopic Analysis) ถือเป็นกุญแจสำคัญที่จะไขปริศนานี้ เพราะสัตว์บางชนิดที่เห็นในปัจจุบัน เช่น วัวแดง ควายป่า บางครั้งก็พบว่าอยู่อาศัยทั้งในระบบนิเวศแบบป่าทุ่งหญ้าและป่าทึบ

 

ค้นพบป่าทุ่งหญ้าแบบสะวันนาในไทย วิทยาศาสตร์ไขความลับจากฟันสัตว์

องค์ความรู้เดิมด้านโบราณคดีเชื่อว่ามนุษย์ยุคน้ำแข็งในเขตใกล้เส้นศูนย์สูตร เช่นที่ศรีลังกา เกาะบอร์เนียว ติมอร์ อาศัยอยู่ในป่าทึบหรือป่าดิบเป็นหลัก แต่งานวิจัยของทีมนี้ ซึ่งนำโดย ดร.กันตภณ สุระประสิทธิ์ แห่งภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมีดีกรีเป็นถึงสุดยอดแฟนพันธุ์แท้ ‘สัตว์ดึกดำบรรพ์’ อีกด้วย ได้นำฟันของสัตว์ทั้งหมด 21 ชนิด ที่ ดร.อธิวัตน์ จัดจำแนกใหม่มาศึกษาด้วยวิธีการวิเคราะห์ไอโซโทปเสถียร ซึ่งนำไปสู่ข้อค้นพบที่สำคัญจนถึงกับเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ (Landscape) เพราะค้นพบว่ามนุษย์ในสมัยก่อนอาศัยอยู่ในพื้นที่รอยต่อระหว่างป่าดิบ ป่าผลัดใบ และป่าทุ่งหญ้า

 

ดร.กันตภณ สุระประสิทธิ์ ระหว่างการวิเคราะห์กระดูกสัตว์ในห้องปฏิบัติการ

 

ขออธิบายอย่างสั้นๆ เกี่ยวกับวิธีการศึกษาด้วยไอโซโทปเสถียรกันเสียก่อน กล่าวคือ ปกติแล้วจะมีธาตุต่างๆ อยู่ในธรรมชาติ โดยธาตุพวกนี้จะมีเลขอะตอมเหมือนกันแต่มีเลขมวลต่างกัน ความแตกต่างของเลขมวลนี้เองเรียกว่า ‘ไอโซโทป’ ซึ่งไอโซโทปมีทั้งแบบที่สลายต่อไป (ใช้สำหรับหาอายุ เช่น คาร์บอน-14) และแบบเสถียร (ไอโซโทปของธาตุที่ไม่สลายต่อไป) ไอโซโทปเสถียรพวกนี้จะถูกเก็บไว้ในพืชในสัตว์ เมื่อสัตว์หรือมนุษย์กินอะไรเข้าไป ธาตุพวกนี้จะถูกนำมาสร้างเนื้อเยื่อต่างๆ ของร่างกาย เช่น ขน ผิวหนัง กระดูก และฟัน แต่ที่หลงเหลือให้นักโบราณคดีศึกษาได้ดีที่สุดนั่นคือฟัน เพราะเป็นส่วนที่แข็งที่สุด จึงมีความคงทนและยังเป็นส่วนที่เก็บไอโซโทปของธาตุไว้เยอะที่สุดอีกด้วย

 

ตัวอย่างฟันที่ถูกเตรียมด้วยการสกัดเอาคาร์บอเนตที่ปนเปื้อนออกไปเรียบร้อยจะถูกนำไปวัดหาค่าไอโซโทปในเครื่องวัดมวลที่เรียกว่า ‘Mass Spectrometer’ เพื่อหาน้ำหนักของธาตุ เพื่อให้รู้ว่าสัตว์และมนุษย์ในยุคน้ำแข็งนั้นกินพืชชนิดใดจากสภาพแวดล้อมแบบไหน ธาตุคาร์บอนได้ถูกเลือกมาเพื่อพิสูจน์ในเรื่องนี้ 

 

ดร.กันตภณ ได้อธิบายว่า ปกติแล้วในสภาพแวดล้อมแบบป่าทึบ พืชจะมีกระบวนการสังเคราะห์แสงได้สารประกอบคาร์บอน 3 อะตอม เราเรียกพืชเหล่านี้ว่า พืช C3 ซึ่งก็คือพืชส่วนใหญ่ของโลกที่อยู่ในป่า ในขณะที่พืช C4 คือหญ้าในแถบเขตเส้นศูนย์สูตรและเกิดในสภาพแวดล้อมแบบป่าทุ่งหญ้า (Savanna Forest) ด้วยหลักเกณฑ์นี้ เมื่อเครื่องวัดค่าไอโซโทปของฟันสัตว์แต่ละชนิดที่ได้จากแหล่งโบราณคดีเพิงผาถ้ำลอดมา พบว่าสามารถจัดกลุ่มชนิดของสัตว์ออกได้เป็น 3 กลุ่ม คือ 

 

  • กลุ่มแรก เป็นสัตว์ที่พบว่ากินเฉพาะพืช C3 ได้แก่ ลิง เม่น เก้ง เนื้อทราย หมีควาย อ้น
  • กลุ่มที่สอง เป็นสัตว์ที่พบว่ากินเฉพาะพืช C4 ได้แก่ ละองละมั่ง ควายป่า วัวแดง กระทิง กวางผาจีน กวางผาหิมาลัย 
  • กลุ่มที่สาม เป็นสัตว์ที่พบว่ากินทั้งพืช C3 และ C4 ได้แก่ หมูป่า เสือ กวางป่า แรด ช้าง เลียงผา

 

ส่วนมนุษย์นั้นอยู่ในกลุ่มที่สาม เนื่องจากพบองค์ประกอบไอโซโทปเสถียรของพืช C3 และ C4 ในฟัน แต่ค่อนไปทางพืช C3

 

ผลจากค่าไอโซโทปนี้เองได้นำไปสู่ข้อสรุปว่า สภาพแวดล้อมในเขตเพิงผาถ้ำลอดเมื่อเปรียบเทียบกับหลักฐานอื่นๆ พบว่า ตั้งแต่เพิงผาถ้ำลอดในเขตแม่ฮ่องสอนเลาะลงไปตามแนวเทือกเขาตะวันตกจนถึงมาเลเซียและเกาะชวา เมื่อ 12,000-34,000 ปีมาแล้ว มีสภาพแวดล้อมแบบป่าทุ่งหญ้ากว้างสลับกับบางบริเวณที่เป็นป่า หรือที่เรียกกันว่า ‘สะวันนา’ (Savanna Forest)

 

และถ้าพิจารณาจากฟันของมนุษย์แล้วก็จะเห็นได้ว่ามนุษย์อาศัยอยู่ในพื้นที่ป่ารอยต่อระหว่างป่าทุ่งหญ้ากับป่าทึบ ป่าทึบนี้อาจมีสภาพคล้ายกับป่าเบญจพรรณและป่าเต็งรัง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เต็มไปด้วยพืชผักที่มนุษย์สามารถเก็บของป่ากินได้ง่ายและยังมีฟืนที่สามารถนำมาหุงหาอาหารและให้ความอบอุ่น ในขณะเดียวกันก็เป็นพื้นที่อยู่อาศัยที่เอื้อต่อการล่าสัตว์ในพื้นที่ป่าทุ่งหญ้าได้ง่ายเช่นกัน

 

แผนที่แสดงการกระจายตัวและพื้นที่ของป่าแบบสะวันนาของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อ้างอิง: www.nature.com/articles/s41598-021-96260-4/figures/1)

 

ด้วยไอโซโทปที่สะท้อนว่าสัตว์หลายชนิดอาศัยอยู่ในป่าทุ่งหญ้าแบบบริสุทธิ์ (สัตว์หลายชนิดกินเฉพาะหญ้า คือ C3 เพียวๆ) ทำให้กลุ่มนักวิจัยนี้นำไปสู่ข้อเสนอสำคัญว่า สาเหตุที่มนุษย์ในยุคน้ำแข็งสามารถเดินทางจากภาคพื้นแผ่นดินใหญ่ลงไปยังเขตหมู่เกาะได้นั้นก็เป็นเพราะพวกเขาเดินทางผ่านป่าทุ่งหญ้ากัน ทำให้ตั้งชื่อเส้นทางนี้ว่า ‘เส้นทางสะวันนา’ หรือ ‘ระเบียงสะวันนา’ (Savanna Corridor)

 

อย่างไรก็ตาม อยากจะขอให้ผู้อ่านเข้าใจด้วยว่า ‘ป่าแบบสะวันนา’ ในไทยนี้ อาจไม่ได้มีลักษณะเป็นทุ่งหญ้าแบบในแอฟริกาเหมือนที่เราเห็นกันตามสื่อต่างๆ จนเป็นภาพจำ แต่อาจมีลักษณะคล้ายกับป่าทุ่งหญ้าสลับกับพื้นที่ป่าโปร่ง โดยอาจเป็นพืชพันธุ์แบบป่าเต็งรังที่เป็นป่าโปร่ง มีหญ้าขึ้นตามพื้นผิวดิน (ป่าแบบ C4) สลับกับป่าเบญจพรรณบางส่วน (ป่าแบบ C3) ซึ่งสภาพแวดล้อมแบบนี้ยังพบได้บางจุดในเขตปางมะผ้า หรือที่อื่นในเขตประเทศไทย เช่น ทุ่งกระมัง จ.ชัยภูมิ หรือ ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร อาจนิยามได้ว่าเป็น ‘ป่าทุ่งหญ้าสะวันนาแบบเอเชีย’ (Asian Savanna) ถึงอย่างนั้น ในห้วงเวลานั้น ป่าในเขตแม่ฮ่องสอนและตามแนวเส้นทางสะวันนาก็แตกต่างจากป่าในปัจจุบันอย่างแน่นอน คือมีลักษณะที่เป็นป่าทุ่งหญ้า โปร่ง และแห้งกว่าในปัจจุบันมาก อีกทั้งยังแผ่ขยายเป็นวงกว้าง ซึ่งทั้งหมดนี้เองที่เอื้อให้คนสามารถเดินทางไปได้อย่างกว้างขวางนั่นเอง

 

เครื่องมือหินไม่ซับซ้อน เพราะพื้นที่เป็นป่าทุ่งหญ้า

วัฒนธรรมการทำเครื่องมือหินกะเทาะแบบโหบินเนียนนี้พบแพร่กระจายทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในเขตภาคพื้นที่แผ่นดินเป็นหลัก ได้แก่ ไทย ลาว กัมพูชา และพม่าบางส่วน เป็นวัฒนธรรมที่มีอายุระหว่าง 8,000-34,000 ปีมาแล้ว (ค่าอายุนี้มีการเปลี่ยนแปลงกันอยู่เสมอตามความก้าวหน้าทางโบราณคดี) จัดอยู่ในยุคหินกลาง (Mesolithic) จนอาจเรียกได้ว่าเป็นวัฒนธรรมสำคัญของคนยุคหินในภูมิภาคนี้

 

เครื่องมือหินกะเทาะแบบโหบินเนียน ด้านซ้ายสุดเป็นเครื่องมือสำหรับแล่เนื้อ ตรงกลางเป็นขวานหิน นักโบราณคดีเรียกว่า ‘สุมาตราลิธ’ ภาพขวาสุดเป็นชิ้นส่วนของเครื่องหินแบบสุมาตราลิธที่ชำรุดเหลือแต่ส่วนปลาย ที่พบที่เพิงผาถ้ำลอด

 

อย่างไรก็ตาม ตลอดเวลานับหมื่นๆ ปีนี้ปรากฏว่ารูปแบบเครื่องมือหินของวัฒนธรรมนี้เป็นเครื่องมือที่กะเทาะกันไม่ซับซ้อนมาก มักเอาหินกรวดแม่น้ำมากะเทาะให้เกิดคมและใช้สะเก็ดหินบ้าง แต่ไม่เหมือนกับวัฒนธรรมยุคหินกลางที่อื่นในช่วงเวลาเดียวกันที่รู้จักการพัฒนาเครื่องมือหินขนาดเล็กจิ๋ว (Microliths) เป็นรูปลูกธนูบ้าง ใบมีดหิน หรือเครื่องมือหินปลายแหลมบ้าง เช่นที่พบในเกาะสุลาเวสี สาเหตุที่คนในเขตหมู่เกาะพัฒนาเครื่องมือขนาดเล็กขึ้นมานี้ก็เพื่อใช้สำหรับการล่าสัตว์ในป่าทึบ (คล้ายกับป่าในภาคใต้ของไทย) เช่น ล่าลิง ค่าง หรือเก้ง

 

เมื่อเป็นเช่นนั้นทำให้ในยุคหนึ่งนักโบราณคดีจะอธิบายว่า คนในวัฒนธรรมโหบินเนียนส่วนหนึ่งจงใจทำเครื่องมือหินกะเทาะเพื่อเอาไปทำเครื่องมือไม้อีกทีหนึ่ง โดยเฉพาะการเอาไปทำเครื่องมือไม้ไผ่ที่มีความคมไม่ต่างจากมีดโกน (ที่ทำจากหิน) เพราะพบร่องรอยของเศษไม้บนคมของเครื่องมือหินพวกนี้ ผลก็คือ ทำให้เครื่องมือหินกะเทาะไม่พัฒนามากเท่ากับคนในเขตหมู่เกาะ และเมื่อดูการกระจายตัวของวัฒนธรรมโหบินเนียนด้วยแล้วก็มักพบว่าสัมพันธ์กับป่าไผ่ด้วยเช่นกัน ยิ่งทำให้ความเชื่อนี้หนักแน่นมากขึ้น

 

แต่ผลจากการวิเคราะห์ฟันสัตว์ด้วยไอโซโทปที่เพิงผาถ้ำลอดนี้อาจทำให้เราต้องคิดทบทวนเกี่ยวกับวัฒนธรรมโหบินเนียนว่า นอกจากปัจจัยที่วัฒนธรรมนี้ใช้ไม้มาเป็นเครื่องมือ ซึ่งสามารถทดแทนเครื่องมือขนาดเล็กแล้ว การที่สภาพป่าของภูมิภาคนี้เคยเป็นป่าทุ่งหญ้ามาก่อน ทำให้เครื่องมือขนาดเล็กไม่มีความจำเป็นกับการล่าสัตว์เหมือนกับคนที่อาศัยอยู่ในเขตป่าทึบนั่นเอง เพราะคนสามารถใช้แกนหินหรือสะเก็ดหินมาประดิษฐ์เป็นเครื่องมือเพื่อการล่าสัตว์ชนิดแบบขว้างเป็นหอก ใช้ขว้างปา หรืออื่นๆ ในป่าแบบทุ่งหญ้า ซึ่งง่ายกว่าการล่าสัตว์ในป่าทึบที่มีต้นไม้สูงเหมือนตามหมู่เกาะ

 

Postscript เบื้องหลังงานวิจัย

บางคนอาจมองว่าความรู้ทางโบราณคดีโดยเฉพาะสมัยก่อนประวัติศาสตร์หลายหมื่นปีนี้เป็นเรื่องห่างไกลตัว แต่ในความจริงแล้วเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการพัฒนาความรู้ คน และทุนทางวัฒนธรรม เพื่อนำไปต่อยอดอีกหลายเรื่อง ดังเช่นกรณีของเพิงผาถ้ำลอดนี้เป็นต้น ที่หากไม่มีการขุดค้นและวิเคราะห์กันในเชิงลึกแล้วคงไม่มีทางที่จะเข้าใจถึงการเคลื่อนย้ายของคนโบราณ พืชและพันธุ์สัตว์ และการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมได้อย่างแน่นอน ซึ่งทั้งหมดนี้คือประวัติศาสตร์ความเป็นมาของประเทศ

 

แต่ความรู้พวกนี้ไม่ได้มาง่ายๆ ต้องใช้เวลาทุ่มเทเกือบทั้งชีวิต เช่นกรณีของเพิงผาถ้ำลอดนี้ ซึ่งเริ่มขุดค้นเมื่อปี พ.ศ. 2544 โดยมีหัวหน้าโครงการวิจัยคือ ศ.ดร.รัศมี ชูทรงเดช หลังจากนั้นต้องวิเคราะห์กันในเชิงลึกกันอีกมาก โดยดำเนินการเรื่อยมาเป็นเวลาถึง 20 ปีแล้ว ซึ่งได้สร้างองค์ความรู้ให้กับประเทศอย่างมากมาย จนทำให้ชีวิตความเป็นอยู่และภูมิทัศน์ของประเทศไทยรวมถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในสมัยก่อนประวัติศาสตร์เกิดความชัดเจนมากขึ้น คนไทยไม่ได้รู้จักมนุษย์ยุคหินแค่ที่บ้านเก่า กาญจนบุรี เพียงแห่งเดียวอีกต่อไป

 

สำหรับผลงานวิจัยเกี่ยวกับฟันสัตว์นี้ที่เกิดขึ้นภายใต้โครงการกลุ่มวิจัยเมธีวิจัยอาวุโส สกว. เรื่อง มนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์กับพลวัตทางวัฒนธรรมบนพื้นที่สูงในอำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน ที่มี ศ.ดร.รัศมี เป็นหัวหน้าโครงการเช่นกัน และมีนักวิจัยอีกหลายคนเข้ามาร่วมกันทำงาน ในจำนวนนั้นก็คือ ดร.อธิวัตน์ และ ดร.กันตภณ ซึ่งสองท่านนี้สั่งสมประสบการณ์และทุ่มเทเวลากับงานวิจัยหลายปีกับการวิเคราะห์กระดูกสัตว์

 

แต่ไม่เพียงเท่านั้น ต้องคิดย้อนกลับไปด้วยว่าทั้งสองคนนี้ต้องสั่งสมความรู้มาอีกหลายสิบปีก่อนหน้านี้ด้วย ดร.อธิวัตน์ ใช้เวลาเกือบสิบปีฝังตัวอยู่ในปางมะผ้า เพื่อศึกษากระดูกสัตว์จำนวนมหาศาลหลายแสนชิ้น โดยเกิดขึ้นจากความรู้สึกอยากเข้าใจว่าเศษซากกระดูกสัตว์ในยุคน้ำแข็งสามารถบอกอะไรเราได้บ้าง ซึ่งทั้งหมดต้องอาศัยความอดทนอย่างมาก 

 

ในขณะที่ ดร.กันตภณ เล่าว่า ตนเองเริ่มต้นความสนใจตั้งแต่เด็ก เพราะแม่ซื้อหนังสือเกี่ยวกับไดโนเสาร์ให้ทำให้สนใจตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา หลังจากนั้นก็ศึกษาอย่างจริงจัง หัดสังเกต และก็หาทุนเรียน จนกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญในที่สุด อาจเรียกได้ว่าหนังสือเล่มหนึ่งนั้นสามารถกำหนดชีวิตของคนๆ หนึ่งได้

 

การสร้างและพัฒนาคนเพื่อสร้างทุนทางวัฒนธรรมและความรู้เป็นเรื่องสำคัญมากที่ภาครัฐและเอกชนที่มีกำลังควรต้องสนับสนุน ทั้งเงินทุนวิจัย อุปกรณ์ เครื่องมือ และการให้ทุนการศึกษา ความรู้บางอย่างนั้นไม่จำเป็นเสมอไปที่จะต้องตอบโจทย์ต่อสังคม ณ เวลานี้อย่างทันทีทันใด เพราะนั่นเท่ากับสะท้อนว่าประเทศนี้ขาดวิสัยทัศน์และนโยบายระยะยาวในการพัฒนาองค์ความรู้ครับ 

 

สุดท้ายนี้ ส่วนดีของบทความนี้ขออุทิศให้แก่ พี่เผ็ด-เดชพิรุฬห์ ศีระบุตร ผู้ล่วงลับ หนึ่งในผู้ขุดค้นแหล่งโบราณคดีเพิงผาถ้ำลอดในพื้นที่หลุมขุดค้นที่ 3 (Area 3) และวิเคราะห์กระดูกสัตว์ในยุคแรกเริ่ม คิดถึงพี่เผ็ดเสมอ อยู่บนสวรรค์ก็อย่าซิ่งรถแข่งเพลินนะครับ

 

อ้างอิง:

  • Athiwat Wattanapituksakula, Arnaud Filouxb, Anusorn Amphansric and Sakboworn Tumpeesuwana. “Late Pleistocene Caprinae assemblages of Tham Lod Rockshelter (Mae Hon Son Province, Northwest Thailand),” Quaternary International. 493, 10 November 2018, Pages 212-226. Available at: https://www.sciencedirect.com/science/article/abs/pii/S1040618218300879?via%3Dihub
  • Kantapon Suraprasit, Rasmi Shoocongdej, Kanoknart Chintakanon and Hervé Bocherens.”Late Pleistocene human paleoecology in the highland savanna ecosystem of mainland Southeast Asia,” Scientific Reports. 16756 (2021), published on 18th August 2021. Available at: https://www.nature.com/articles/s41598-021-96260-4?fbclid=IwAR3wg696N2kUzBka2wP5hYv-GNeAdc16L6CkhrqgJOqTPHutlmsDaetYz1A
  • จรัสนภา สุรินทร์เลิศ. “ชุดหลักฐานเครื่องมือหิน ‘โหบินเนียน’ กับการเลือกใช้วัตถุดิบหิน: กรณีศึกษาจากแหล่งโบราณคดีเพิงผาถ้ำลอด อำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน”, Humanities, Social Sciences and Arts. 12 (1), (January-February), 2019, pp.1525-1540. 
  • อธิวัตน์ วัฒนะพิทักษ์สกุล. “หลากพันธุ์: ฟันและกระดูกโบราณของสัตว์บนพื้นที่สูงอำเภอปางมะผ้า สมัยไพลสโตซีนตอนปลายถึงโฮโลซีน”, โบราณคดี ‘ก่อนไท(ย)’ บนพื้นที่สูงในอำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน. กรุงเทพฯ: สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และมหาวิทยาลัยศิลปากร, 2563. 
  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising