×

‘มาร์เก็ตเตอร์’ ต้องพร้อม ‘กลายพันธุ์’ ก่อนที่จะ ‘สูญพันธุ์’

26.11.2020
  • LOADING...
มาร์เก็ตเตอร์

ได้มีโอกาสเข้าร่วมงาน The Marketing Mutation ซึ่งจัดโดยสมาคมการตลาดแห่งประเทศไทยเมื่อวานนี้ (25 พฤศจิกายน) ได้ข้อคิดดีๆ หลายอย่างที่ช่วยให้มาร์เก็ตเตอร์อย่างเราๆ เอาไปปรับใช้ แค่ชื่อของงาน The Marketing Mutation ก็ให้แง่คิดแบบสุดโต่งแล้วว่า พวกเราจะอยู่เฉยๆ ไม่ได้แล้ว ต้องกลายพันธ์ุ เปลี่ยนสปีชีส์กันเลย 

 

สำหรับมาร์เก็ตเตอร์เก๋าๆ สิ่งใดๆ ที่เคยเป็นตัวเรา ความเชื่อ ประสบการณ์ หรือความรู้ที่สั่งสมมา อาจจะต้องลอกออกและเปลี่ยนใหม่ได้แล้ว เพราะเขาบอกแล้วว่างานนี้ต้องพร้อมกลายพันธ์ุ ไม่อย่างนั้นก็อาจจะสูญพันธ์ุกันไปเลย

 

ในกลุ่มอภิปรายย่อยเรื่อง Upskill กับ Reskill ที่ ดร.สมชาติ วิศิษฐชัยชาญ เป็นผู้ดำเนินการสนทนากับหลากหลายผู้เข้าร่วมที่ทรงคุณวุฒิจากหลายวงการ ถือว่าเป็น Session ที่น่าสนใจ และอยากจะเอามาแชร์กันว่ายุดนี้สมัยนี้ มาร์เก็ตติ้งควรปรับปรุงหรือหาสกิลใหม่ๆ อะไรบ้าง ที่ตอบโจทย์ความท้าทายในยุคนี้

 

โดยสรุปความท้าทายของบริบทใหม่ๆ ในยุคนี้ มีหลายข้อ 

 

อย่างแรกเริ่มตั้งแต่ตัว ‘ลูกค้า’ ตั้งแต่มีธุรกรรมออนไลน์กันอย่างเฟื่องฟูช่วงโควิด-19 ที่เราทุกคนโดนบังคับให้ต้องหันไปสั่งของกันทางออนไลน์เพราะความจำเป็น ที่ยังไม่พร้อมก็จำเป็นต้องพร้อม ไม่อย่างนั้นก็จะตกขบวนกันไปหมด ไม่ว่าจะอาหาร ขนมนมเนย ข้าวของเครื่องใช้ เครื่องอุปโภคบริโภค เครื่องใช้ไฟฟ้า ทุกสิ่งอัน เราใช้ออนไลน์กันอย่างคล่องแคล่ว ไม่มีข้อจำกัดเรื่องวัยว่าต้องเป็นวัยรุ่นอีกแล้ว อายุเฉลี่ยของคนที่สั่งของออนไลน์เลยพุ่งขึ้นมาอีก 10 ปี เป็นช่วงอายุประมาณ 30 ปี 

 

‘คู่แข่ง’ คราวนี้ทุกคนสามารถเป็นแม่ค้าพ่อค้ากันได้อย่างทั่วถึง มาร์เก็ตเพลสผุดขึ้นมากันเป็นดอกเห็ด มีหลายกลุ่มที่ดึงดูดลูกค้าอย่างเราๆ ให้เข้าไปจับจ่าย สอดส่อง วินโดวช้อปปิ้งกันอย่างสนุกสนาน แทนที่ร้านค้าที่โดนปิดไปช่วงหนึ่ง แถมยัง Work From Home ทุกคนเลยมีเวลาอยู่กับมือถือมากขึ้นอีกหลายเท่า ร้านเล็กๆ ร้านโฮมเมด หรือแบรนด์ใดๆ ก็เข้าถึงช่องทางขายนี้ได้ ลูกค้าก็มีโอกาสเปรียบเทียบราคาของที่สนใจ บางอย่างไม่เคยรู้ว่ามีก็ได้ลอง ตื่นตาตื่นใจกับตัวเลือกใหม่ๆ กันหมด ถึงตอนนี้คู่แข่งเดิมที่เคยเป็นแบรนด์ใหญ่ๆ มีงบโฆษณาสูงๆ กลับกลายเป็น Any Brand ไปแล้ว

 

ตลาดก็เปลี่ยนไป บริการเดลิเวอรีเข้ามาแชร์ส่วนแบ่งตลาดแบบดั้งเดิมที่ต้องมาเช่าพื้นที่ขายในห้างต่างๆ อย่างมีนัยยะสำคัญ เกิดออมนิแชนแนล (Omni Channel) ทั้งสองทางจากออฟไลน์ไปออนไลน์ และออนไลน์ไปออฟไลน์ เกิดแพลตฟอร์มใหม่ๆ มี New Unicorn เกิดใหม่ๆ มากมายจากโอกาสของตลาดที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว

 

แล้วมาร์เก็ตเตอร์จะรับมือกับความเปลี่ยนแปลงกับบทท้าทายบทใหม่ได้อย่างไร

 

เลยเกิดคำถามขึ้นมาว่า เราจะทำงานแบบเก่าๆ ได้อย่างไร ถ้าบริบทเปลี่ยนแปลงไปมากขนาดนี้ What upskill and reskill needed? เราต้องปรับ Upskill กับ Reskill อะไรบ้างที่ช่วยให้เราก้าวทันไปกับความเปลี่ยนแปลง ซึ่งพอจะสรุปได้สั้นๆ ก็คือ

 

Speed: เก่งไม่กลัว กลัวช้า คำนี้ยังคงใช้ได้เสมอ สกิลที่ต้องปรับแน่ๆ ก็คือ Agile ความรวดเร็วของทั้งองค์กร ในทุกภาคส่วนที่จะเดินได้เร็วแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อนไปพร้อมๆ กัน เพราะเราไม่สามารถวิ่งไปคนเดียวได้ ทีมเวิร์กที่ต้องเปลี่ยนมายด์เซ็ต และยกกฎเกณฑ์กติกาที่อุ้ยอ้ายทิ้งไป พร้อมเป็นทีมใหม่ที่กระฉับกระเฉง พร้อมวิ่งได้ด้วยกัน

 

Listen: สกิลนี้มาร์เก็ตติ้งรุ่นใหญ่ เจนเอ็กซ์ เจนวาย ต้องปรับใช้มากที่สุด ฟังเสียงคนรอบตัว รวมทั้งเสียงที่เล็กที่สุด และฟังความเป็นไปรอบๆ ถ้าหยุดพูด เราก็จะได้ยิน แล้วเสียงเหล่านี้จะช่วยทำให้เราไม่ตกขบวนรถไฟ

 

Change Facilitator: เปลี่ยนสกิลให้เป็นความสามารถในทำงานร่วมกันกับมัลติเจเนอเรชันได้ เปิดกว้าง เข้าใจ และยอมรับ เทคนิคสั้นๆ ที่ฝึกได้ทุกวัน รวมทั้งรู้จักวิธีการสื่อสารให้ตรงกันกับความคาดหวังของแต่ละเจน 

 

Business Acumen & Entrepreneurship: เข้าใจธุรกิจทั้งองค์รวม หมดยุคการทำงานเฉพาะแผนกของตัวเอง ต้องมองเห็นโอกาส และมองทะลุไปจนถึงบรรทัดสุดท้ายของกำไรแบบเป็นเจ้าของกิจการเอง ถ้ายังขาดตรงบรรทัดไหนก็คุยกับเพื่อนๆ ในแผนกต่างๆ Upskill ตัวเองให้มองครบรอบด้านมากขึ้น

 

Experiencing Design: การขายสินค้า เราไม่ได้ขายแต่ฟังก์ชันอีกต่อไป Storytelling สามารถสร้างได้ในทุกระยะของการขาย เราต้องออกแบบประสบการณ์และเล่าเรื่องที่ตรงกันกับ Brand Position สิ่งนั้นจะทำให้ภาพเราอยู่ในใจลูกค้าชัดเจนขึ้น และถ้าทำอย่างสม่ำเสมอ ก็จะเป็น Differentiation ความเข้มแข็งดุจหินผา ปกป้องแบรนด์เราจากมรสุมใดๆ ที่แตกต่างจากคนอื่นๆ

 

Creativity & Playful: อันนี้ยากที่สุด เราจะมาเรียนรู้เรื่องแบบนี้ในหนึ่งเดือนเพื่อ Upskill อาจจะค่อนข้างยาก เพราะความเป็นคนมีความคิดสร้างสรรค์และมองอะไรให้เป็นเรื่องสนุกเป็นคุณสมบัติติดตัวมา แต่สิ่งนี้จะช่วยให้เราสามารถมองเห็นโอกาสและหาไอเดียใหม่ๆ ได้อยู่ตลอด 

 

คำถามคือ แล้วตัวเราต้องปรับเปลี่ยนใจและกายอย่างไร สิ่งที่ยากไม่ใช่แค่มองเห็น ‘What skill we need’ แต่สิ่งที่ยากที่สุดสำหรับมาร์เก็ตเตอร์คือ ‘How’ นั่นคือ เราจะเปลี่ยนพฤติกรรมของเราได้อย่างไรให้เรียนรู้สกิลใหม่ๆ ที่จำเป็นได้  

 

เทคนิคก็คือเริ่มตั้งแต่ เราต้องเปลี่ยนแปลงจาก

 

  1. ลืมสิ่งที่เราเคยรู้ และไปหาความรู้ใหม่ๆ Unlearn to Relearn พูดง่าย แต่ทำยาก เพราะเราจะเผลอเอาความรู้เดิมๆ มาใช้ ต้องกล้าเรียนรู้จากคนรุ่นใหม่ๆ ที่อายุต่ำกว่า 30 ปี หรือเพิ่งจบมาทำงาน เราจะได้ความรู้ใหม่ๆ ที่ Engage กับลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ ในยุคนี้ มีคนถามว่าแล้วคนต่างเจนจะทำงานด้วยกันยังไงให้เวิร์ก จริงๆ แล้วเราแค่ต้องเข้าใจว่าวิธีคิดมันต่างกัน แค่เปลี่ยนวิธีคิด ลองมองในมุมที่ต่างกัน ลองสวมบทบาทเป็นตัวเขา แล้วเราก็จะได้ไอเดียดีๆ อย่างคิดไม่ถึง

 

  1. TQ แทนที่จาก EQ, IQ, SQ ที่เคยรู้จักกัน กลายมาเป็น Technology Quotient ความฉลาดทางเทคโนโลยีแทน แต่จุดสำคัญคือไม่ใช่ว่าเราต้องรู้ว่าจะเรียนรู้อะไรเท่านั้น เราต้องฝึกที่จะเข้าใจวิธีการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ ก่อนที่จะลงมือเรียนรู้ด้วย 

 

  1. Uncomfortable Learning การเรียนรู้อะไรที่เราไม่เคยรู้มาก่อน แน่นอนว่าเราต้องรู้สึกไม่คุ้นชินและอึดอัด ในโลกที่เปลี่ยนไป เราต้องเปิดใจตัวเองที่จะลองสิ่งใหม่ๆ ทุกวัน ต้องปรับทัศนคติและลงมือทำ กล้าลอง กล้าเสี่ยง และกล้าผิด เพื่อที่จะได้ลองทำอะไรใหม่ๆ พร้อมยอมรับความผิดพลาดกับไอเดียใหม่ๆ เหล่านั้น ให้มองทุกไอเดียเป็น Prototype เราเอามาปรับมาเรียนรู้ให้ดีขึ้นได้ตลอด และพร้อมก้าวต่อไปอย่างรวดเร็ว แต่ถ้าเรายังรู้สึกสบายๆ ในคอมฟอร์ตโซนของเราในแต่ละวัน นั่นอาจเป็นสัญญาณบางอย่างว่าเรากำลังถอยหลัง

 

  1. ทำตัวเป็นคนที่อยู่ในโลกปัจจุบัน อะไรที่อินเทรนด์ ก็เข้าไปลองทำ ลองอ่าน และคุยกับคนที่อินกับเรื่องนั้น ลองเล่น TikTok, เล่นเกมกับลูก และดูช่อง YouTube ใหม่ๆ เปลี่ยนกิจวัตรที่เคยทำเป็นอะไรใหม่ๆ ที่เข้ากับโลกปัจจุบัน 

 

  1. อีกข้อคิดที่น่าสนใจคือมุมมองของ Challenge vs Openness เมื่อก่อนเรามักจะ ท้าทายตัวบุคคลเพื่อเพิ่มศักยภาพ และเปิดรับกับไอเดียของงานใหม่ๆ ลองมองกลับกันที่จะท้าทายงานต่างๆ ที่ทำว่าตอบ Pain ของลูกค้าหรือยัง และมาเปิดรับกับคน โดยยอมเปิดรับความคิดใหม่ๆ เปิดรับที่จะเข้าใจว่าเพราะอะไรถึงคิดแบบนั้น 

 

บทสรุปที่ชอบสำหรับการอภิปรายในครั้งนี้ก็คือ ขบวนรถไฟของโอกาสมาเสมอ เพียงแค่เมื่อโอกาสมาถึง ต้องมองให้เห็นและคว้าไว้ อย่าลังเล หมดยุคที่เราต้องรู้ทุกอย่างแล้ว แค่ต้องขยี้แพสชันของเราและลงลึกตรงนั้น แล้วลงมือทำ ขอให้มาร์เก็ตเตอร์ทุกท่านโชคดีกับบทถัดไปที่น่าตื่นเต้นของวงการการตลาดเมืองไทย แล้วสนุกไปด้วยกันนะคะ

 

 

 

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising