×

‘สติ’ ยาถอนพิษในยุคที่เราถูกบริษัทยักษ์ใหญ่ล้วงข้อมูล

13.11.2019
  • LOADING...

เมื่อคิดให้ดีโลกนี้ประหลาด…

 

เมื่อสมัยผมทำงานที่ DTAC ใหม่ๆ ในตอนนั้นระบบโทรศัพท์มือถือยังเป็นแบบอะนาล็อก ส่วน DTAC ตอนนั้นมีชื่อบริษัทว่า TAC ให้บริการเครือข่ายระบบ WorldPhone 800 ใครที่เกิดทันยุคนั้นก็คงทราบดีว่าระบบที่ว่านี้เป็นระบบที่ถูกจูนได้ ซึ่งคนสมัยนี้คงงงๆ แต่อธิบายง่ายๆ ว่าการถูกจูนได้ก็เหมือนมีคนแฮกเข้าเบอร์เราแล้วเอาไปใช้โดยที่เราต้องเป็นคนจ่ายสตางค์ วิธีการจูนก็ง่ายๆ แค่ไปซื้อเครื่องจูนมาดักสัญญาณมือถือในละแวกนั้นก็จูนได้แล้ว พอเกิดปัญหาบิลผิด ลูกค้าก็จะมาโวยผู้ให้บริการ ทำให้ต้องมีการตรวจสอบกันวุ่นวาย  

 

บริษัทในตอนนั้นต้องไปหาโซลูชันที่เป็นเครื่องแก้จูนมาป้องกัน พอมีเครื่องแก้จูนรุ่นใหม่ พวกขี้โกงก็จะคิดวิธีอื่นที่จูนได้ กลายเป็นว่ามีเครื่องจูนรุ่นใหม่ออกมาขายอีก

 

ผมมาถึงบางอ้อว่าทำไมปัญหามันถึงแก้ไม่จบไม่สิ้นสักที เมื่อได้เห็นแค็ตตาล็อกของไต้หวันในตอนนั้นที่ขายเครื่องพวกนี้ ฝั่งซ้ายขายเครื่องจูน ฝั่งขวาขายเครื่องแก้จูน ทำธุรกิจเบ็ดเสร็จครบวงจรในแหล่งผลิตเดียวกัน 

 

ในยุคสมัยที่น่าตื่นตาตื่นใจทางเทคโนโลยีตอนนี้ สองเสาหลักของการพัฒนาเทคโนโลยีของโลกก็คือ Infotech และ Biotech ที่กำลังเติบโตเบ่งบานแบบทวีคูณ

 

ความมหัศจรรย์ของการเชื่อมโยงสองเสาหลักเข้าหากันยิ่งน่าตื่นเต้น เพราะนอกจากตอนนี้เราถูกถล่มด้วยข้อมูลข่าวสารแบบล้นเกินจนไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไรแล้ว ความสามารถใหม่ๆ ในการใช้ข้อมูลทำความเข้าใจปฏิกิริยาของสมองที่มีต่อสิ่งเร้าต่างๆ ยิ่งพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว 

 

กิจกรรมที่ผู้บริโภคอย่างเราๆ เต็มใจทำและเต็มใจให้ข้อมูลผ่านการใช้ของฟรี ไม่ว่าจะเป็น Facebook, Instagram, E-mail, การช้อปปิ้ง, การใช้แผนที่, การใช้เว็บหาคู่, การท่องโลกผ่าน Google ฯลฯ ทำให้เคมีในสมองมนุษย์ที่คอยบงการให้เราทำโน่นทำนี่ถูกบงการอีกทีด้วยความฉลาดของ Intelligence ในรูปแบบใหม่ๆ มากขึ้นเรื่อยๆ  

 

บริษัทใหญ่ๆ ระดับโลกใช้ข้อมูลที่เราให้ผ่านการบริโภค วิเคราะห์แพตเทิร์น และสามารถเข้าใจพฤติกรรมของเรา ไปจนถึงสามารถมีอิทธิพลต่อเคมีในหัวเราได้แบบลึกซึ้งและแทบไม่รู้ตัว ตัวอย่างที่เห็นอย่างแคบก็คือการที่เราตกเป็นทาสช้อปปิ้งออนไลน์ วนเวียนเข้าออก YouTube หรือ Netflix ไม่รู้จักจบเป็นเวลานานๆ จนถึงตัวอย่างที่กว้าง เช่น กรณี Cambridge Analytica ที่แทรกแซงความรู้สึกช่วงเลือกตั้งที่มีอิทธิพลต่อการลงคะแนนผู้สมัครประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาครั้งที่ผ่านมา 

 

ยิ่งนับวัน ผู้บริโภคจะยิ่งถูกบงการผ่านการกระตุ้นสารเคมีในสมองมากขึ้น ทำให้แท้จริงแล้วเราคือโปรดักต์ในกระบวนการใหม่แห่ง Attention Economy ไม่ได้เป็นลูกค้าอย่างที่เราเข้าใจ 

 

บริษัทต่างๆ ล่อหลอกให้เราปล่อยข้อมูลผ่านกระบวนการใช้ฟรีหรือซื้อถูกต่างๆ เพื่อนำความสนใจของเราไปทำมาหากินต่อ ผู้บริโภคอย่างเราก็จะดำดิ่งไปกับข่าวสารข้อมูลที่ล้นเกิน จะจ้องหน้าจอมือถือนานขึ้นไปอีก ความอดทนต่อเรื่องต่างๆ จะยิ่งต่ำลง และจะถูกชักจูงไปทางโน้นทีทางนี้ทีอย่างไม่รู้ตัวขึ้นมาทุกที สติสัมปชัญญะนับวันจะมีน้อยลงเรื่อยๆ อยู่ใกล้คนรู้จักก็เหมือนอยู่ไกลขึ้นและไกลขึ้น 

 

ทุกครั้งที่มียาพิษก็จะมีคนพยายามคิดยาถอนพิษ ทุกครั้งที่มี Trend ก็ย่อมจะมี Counter Trend 

 

ในช่วงปีที่ผ่านมา มีคำหนึ่งที่ผมได้ยินบ่อยมากในวงสัมมนาของ Tech Conference หรือเริ่มมีบทความเขียนไว้มากขึ้นเรื่อยๆ เริ่มเห็นแอปฯ ในมือถือที่อยู่บนลิสต์ต้นๆ เป็นเรื่องนี้มากขึ้น เป็น Counter Trend ของความชุลมุนวุ่นวายสับสนของข้อมูลข่าวสารและการควบคุมตัวเองไม่ค่อยได้ของผู้บริโภค คำนั้นก็คือ ‘Mindfulness’ 

 

คำว่า Mindfulness ที่เราคุ้นเคยกันดี ถ้าจะแปลก็คือการมี ‘สติ’ นั่นเอง การมีสติที่เกิดจากการทำสมาธิก็คือการควบคุมสารเคมีในสมองเราให้อยู่กับตัว ให้เกิดกระบวนการทางเคมีที่ทำให้เราสงบ ร่างกายผ่อนคลาย และมีสมาธิในการพินิจพิจารณาเรื่องราวต่างๆ ได้ตามธรรมชาติมากขึ้น อยู่กับปัจจุบันได้มากขึ้น 

 

ในกระแสหลักแห่งข้อมูลข่าวสาร Big Data และการบงการเคมีในสมองของคน กระแสที่พยายามต้านพายุนี้ก็ก่อตัวมากขึ้นเรื่อยๆ แอปฯ ทำสมาธิหลายแอปฯ ก็ขึ้นมาติดท็อปชาร์ต เริ่มมีการพูดถึงการนั่งสมาธิมากขึ้น และกลายเป็นเทรนด์ใหม่ของวงการเทค 

 

ผมเพิ่งซื้อ Muse 2 ที่เป็นเฮดเซตไว้ใส่เพื่อวัดคลื่นสมองแล้วฝึกทำสมาธิ ถ้ามีสมาธิดีจะได้ยินเสียงน้ำไหลเบาๆ ถ้าเริ่มวอกแวกเสียงน้ำก็จะดังขึ้น ถ้านิ่งมากๆ ก็จะเริ่มได้ยินเสียงนก พอจบแต่ละเซสชันก็จะมีคะแนนให้ พร้อมนับว่าเราได้ยินเสียงนกกี่ตัว มีการตั้งเป้าเหมือนการวิ่งว่าสัปดาห์นี้ทำสมาธิได้เท่าไร สัปดาห์หน้าก็จะมีเป้าที่สูงขึ้นเรื่อยๆ เครื่อง Muse 2 ที่ว่านี้ถ้าซื้อในไทยราคาเหยียบหมื่น ซึ่งถือว่าราคาไม่เบาอยู่เหมือนกัน ผมพยายามใช้ Muse 2 ในช่วงค่ำ หลังจากที่ทั้งวันต้องต่อสู้กับการจ้องโทรศัพท์มือถือ ดูคอนเทนต์ต่างๆ อย่างหนักหน่วงเพื่อระงับสติให้สงบก่อนเข้านอน  

 

ผมมองโทรศัพท์มือถือที่เปิด Facebook ค้างอยู่สลับกับเครื่อง Muse 2 ที่วางข้างกัน แล้วผมก็นึกถึงเครื่องจูนกับเครื่องแก้จูนที่อยู่หน้าซ้ายขวาของแค็ตตาล็อกไต้หวันเมื่อหลายปีก่อน…

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising