×

เมื่อ ‘อนาคต’ กลายเป็น ‘ปัจจุบัน’ ทักษะแบบไหนที่คนไทยควรมีเพื่อไม่ให้ถูกทิ้งไว้

13.11.2019
  • LOADING...
สันติธาร เสถียรไทย

5 ปีที่แล้ว World Economic Forum (WEF) เผยแพร่รายงานสำคัญที่ถูกนำไปใช้ต่ออย่างแพร่หลายทั่วโลกชื่อว่า The Future of Jobs ทำนายเกี่ยวกับงานของมนุษย์ในอนาคต และคาดการณ์ว่าทักษะที่จำเป็นในปี 2020 คืออะไร 

 

วันนี้เรากำลังย่างก้าวเข้าสู่ปี 2020 ลองมา ‘ส่องกระจก’ ดูกันไหมว่าทักษะใดที่คนไทยรู้สึกว่าตัวเองพร้อม และทักษะใดที่ยังไม่ค่อยมั่นใจว่ามีเพียงพอ

 

หากดู 5 ทักษะที่รายงาน WEF คาดการณ์ไว้ว่าน่าจะสำคัญที่สุดสำหรับปี 2020 จะสามารถนำมาจัดกลุ่มใหม่ได้เป็น 3 ประเภทกว้างๆ คือ 

 

  1. การวิเคราะห์ คิดเชิงวิพากษ์ และแก้ปัญหา (Analytical & Critical Thinking and Problem Solving) 
  2. ความคิดสร้างสรรค์และการสร้างนวัตกรรม (Creativity and Innovation) 
  3. ทักษะเกี่ยวกับคน (People Skills) ที่รวมทักษะทางสังคมและการสื่อสารทำงานร่วมกับผู้อื่นเข้าด้วยกัน

 

ไทยเทียบอาเซียน แข็งที่ People อ่อนที่ Analytical

จากข้อมูลแบบสำรวจคนรุ่นใหม่ในอาเซียนอายุ 15-35 ปี โดยบริษัท Sea และ World Economic Forum ที่มีข้อมูลถึง 56,000 คน (เป็นเยาวชนไทยประมาณ 10,000 คน) มีคำถามหนึ่งให้คนเลือกว่าตนเองมีความเชี่ยวชาญในแต่ละทักษะระดับใด (เลือกได้ตั้งแต่ไม่มีทักษะนี้เลย มีบ้าง จนถึงเชี่ยวชาญมาก)

 

ผลปรากฏว่าข่าวดีก็คือเยาวชนไทยเกิน 50% คิดว่าตนเองพอมีความเชี่ยวชาญอยู่บ้างในทักษะแห่งอนาคตทั้ง 3 กลุ่ม โดยเฉพาะด้านทักษะที่เกี่ยวกับ People Skills เราค่อนข้างโดดเด่นกว่าประเทศอื่นในอาเซียน โดยคนไทย 75% คิดว่าตัวเองมีความเชี่ยวชาญทักษะด้านนี้เทียบกับค่าเฉลี่ยอาเซียนอยู่ที่ 71% ซึ่งจุดเด่นที่สุดคือเรื่องของการสื่อสารและทักษะทางอารมณ์ ซึ่งสมกับการเป็นประเทศแห่งการท่องเที่ยวและบริการ อีกทั้งยังสอดคล้องกับการที่สังคมไทยมักถูกมองว่ามี Service Mindset ที่ดี แม้บางครั้งภาษาต่างประเทศอาจไม่แข็งแรงนัก

 

แต่ข่าวร้ายคือคนไทยดูจะไม่ค่อยมั่นใจในทักษะอีก 2 กลุ่มเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของอาเซียน โดยเฉพาะกลุ่มเรื่องการคิดวิเคราะห์และเชิงวิพากษ์ โดยคนไทยเพียง 60% คิดว่าตนเองพอมีทักษะด้านนี้ ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของอาเซียนที่อยู่ 71% อย่างเห็นได้ชัด 

 

นอกจากนี้ในกลุ่มทักษะด้านการสร้างสรรค์นวัตกรรม เยาวชนก็ดูจะไม่มั่นใจเท่าคนในประเทศอื่นๆ โดย 66% ของคนไทยบอกว่าเชี่ยวชาญทักษะนี้เทียบกับค่าเฉลี่ยของอาเซียนที่ 74%

 

คำถามที่น่าคิดต่อคือทำไมทักษะแห่งอนาคต 2 กลุ่มนี้จึงดูเหมือนจะเป็นจุดอ่อนของเรา เช่น เป็นไปได้หรือไม่ว่ามันสะท้อนระบบการศึกษาที่ให้ความสำคัญกับ ‘การเชื่อฟัง ท่องจำ ทำสอบ’ แต่ไม่ได้สนับสนุนการคิดวิเคราะห์ การหามุมมองที่แตกต่าง การค้นคว้าพิสูจน์หลักฐาน การทดลองไอเดีย รวมไปถึงการคิดนอกกรอบแบบที่จะช่วยสร้างเสริม ‘กล้ามเนื้อ’ การวิเคราะห์ คิดเชิงวิพากษ์ และสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ และอาจไม่ใช่แค่ระบบการศึกษาที่มีปัญหานี้ แต่เริ่มตั้งแต่แนวทางการอบรมสั่งสอนเด็กของบุพการีไปจนถึงวิธีการบริหารของผู้ใหญ่ในองค์กรต่างๆ หรือไม่

 

ไทย-เวียดนาม ข้อยกเว้นที่ตรงกันข้าม

อีกข้อสังเกตหนึ่งที่น่าสนใจคือเยาวชนของประเทศอื่นๆ ส่วนใหญ่มักจะมีความมั่นใจในทักษะแต่ละกลุ่มใกล้เคียงกัน คือถ้าสัดส่วนคนที่คิดว่าตนเองเชี่ยวชาญทักษะด้านการวิเคราะห์สูงก็มักจะมีสัดส่วนคนที่มั่นใจในทักษะด้านนวัตกรรมและ People Skills ไปด้วย แต่ประเทศไทยและเวียดนามเป็นสองกรณียกเว้นอย่างชัดเจนและในทางตรงกันข้ามกันโดยสิ้นเชิง

 

ในขณะที่เยาวชนไทยดูจะเชี่ยวชาญในทักษะด้าน People แต่ไม่ค่อยมั่นใจเรื่องการวิเคราะห์และการสร้างสรรค์นวัตกรรม คนรุ่นใหม่ของเวียดนามกลับมั่นใจในสองทักษะหลัง แต่กลับคิดว่าตนเองอ่อนปวกเปียกด้าน People Skills โดยมีสัดส่วนแค่ 55% ที่คิดว่าตนเองมีความเชี่ยวชาญด้านนี้ ซึ่งถือว่าต่ำที่สุดในอาเซียน 

 

ในฐานะนักเศรษฐศาสตร์ที่วิเคราะห์เวียดนามด้วย ทำให้อดสงสัยไม่ได้ว่านี่อาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่แม้เวียดนามจะโดดเด่นในด้านอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีอย่างที่หลายคนคาดไม่ถึง แต่ในด้านบริการ เช่น บุคลากรท่องเที่ยว อาจถือว่ายังสู้ประเทศไทยไม่ได้ในวันนี้

 

ความเหลื่อมล้ำ 3 มิติ การศึกษา-อายุ-นอกกรุง

ข้อมูลชุดนี้ยังชี้ให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำใน 3 มิติ 

 

ข้อหนึ่ง มิติด้านการศึกษาเป็นปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับความเชี่ยวชาญทักษะแห่งอนาคตมากที่สุดอย่างชัดเจนและมีผลกับทุกกลุ่มทักษะ แม้แต่เรื่อง People Skills ที่ปกติคนอาจคิดว่าไม่น่าจะเกี่ยวกับระดับการศึกษาขนาดนั้น โดยในหมู่คนที่มีการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรีนั้นมีสัดส่วนคนที่คิดว่าเชี่ยวชาญทักษะแห่งอนาคตสูงถึง 85% ในขณะที่สัดส่วนของผู้ที่เรียนไม่ถึงมัธยมอยู่ที่ 42% คือไม่ถึงครึ่งหนึ่งของกลุ่มแรก!

 

สิ่งหนึ่งที่การสำรวจนี้ชี้ให้เห็นคือแม้แต่ในโลกแห่ง Disruption ที่เราอาจจะคิดว่าระดับการศึกษาไม่ได้สำคัญเท่าแต่ก่อน กลุ่มคนที่มีระดับการศึกษาน้อยกว่าก็ยังเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงที่จะขาดทักษะแห่งอนาคตมากกว่ากลุ่มอื่น และอาจต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษเพื่อไม่ให้ ‘ตกขบวนรถไฟแห่งการเปลี่ยนแปลง’

 

ข้อสอง บทสำรวจชี้ถึงความแตกต่างระหว่างคนรุ่นใหม่ในกรุงเทพฯ กับนอกกรุงเทพฯ โดยคนในกรุงมีสัดส่วนคนที่ตอบว่าเชี่ยวชาญทักษะแห่งอนาคตสูงกว่าคนที่อยู่นอกกรุงในทุกกลุ่มทักษะ 

 

ที่น่าสนใจคือแม้แต่ในกลุ่มคนที่มีระดับการศึกษาเท่ากันก็ยังเห็นความแตกต่างระหว่างในและนอกกรุงอย่างชัดเจน สะท้อนให้เห็นว่าความแตกต่างในเรื่องทักษะแห่งอนาคตไม่ใช่เป็นเพราะคนในกรุงกับนอกกรุงมีระดับการศึกษาต่างกันเท่านั้น

 

อายุ แก่ลงแบบไวน์ น้ำ หรือนม

ข้อสุดท้ายคือมิติด้านอายุ หากมองคร่าวๆ อาจดูเหมือนว่ายิ่งอายุมาก ความมั่นใจในทักษะอนาคตยิ่งน้อยลง แต่ถ้าเจาะลึกลงไปอีกขั้นเพื่อดูแต่ละกลุ่มทักษะ จะเห็นภาพที่แต่ละทักษะมีความสัมพันธ์กับอายุที่ต่างกันชัดเจน เปรียบเทียบได้ดั่ง น้ำ นม และไวน์

 

กลุ่ม Analytical เป็นเสมือน ‘น้ำ’ ที่อายุไม่ค่อยมีผลกับทักษะมากนัก โดยกลุ่มคนอายุ 16-20 ปี หรือ 31-35 ปี ต่างก็มีสัดส่วนคนที่มั่นใจในทักษะแห่งอนาคตใกล้เคียงกัน 

 

กลุ่ม Creativity เป็นเสมือน ‘นม’ ที่เก็บไว้นานแล้วเสียได้ คือยิ่งคนอายุมากขึ้น ยิ่งรู้สึกว่าตนเองขาดความเชี่ยวชาญ 

 

และกลุ่ม People Skills เป็นเสมือน ‘ไวน์’ ที่ยิ่งบ่มยิ่งหอม คือคนกลุ่มอายุมากกว่ากลับรู้สึกมีความเชี่ยวชาญมากกว่า โดยเฉพาะในด้านการบริหารจัดการคน

 

เมื่อเข้าใจตรงนี้จะสามารถเห็นได้ว่าคนแต่ละรุ่นในแต่ละองค์กรสามารถมีทักษะที่เติมเต็มซึ่งกันและกันได้ โจทย์ของผู้บริหารก็คือจะต้องสร้างวัฒนธรรมในองค์กรให้เอื้อต่อการทำงานและเรียนรู้ร่วมกันไม่ให้แตกแยกระหว่างรุ่น

 

สร้างทักษะ 2020 ด้วย Mindset 2020

เมื่อลองส่องกระจกดูความพร้อมด้าน ‘ทักษะแห่งอนาคต’ จะเห็นว่าเยาวชนไทยเด่นด้านทักษะเกี่ยวกับคน แต่จำเป็นต้องสร้างเสริมพัฒนาด้านการคิดเชิงวิพากษ์ รวมทั้งการสร้างสรรค์นวัตกรรมให้มากขึ้นอย่างเร่งด่วน 

 

ความท้าทายนี้คงไม่ใช่หน้าที่ของสถาบันการศึกษาเท่านั้น แต่เป็นหน้าที่ของผู้นำและผู้บริหารทุกคนที่จะผลักดันให้เกิด ‘Mindset 2020’ (ทัศนคติ 2020) ในองค์กรของตน เปลี่ยนที่ทำงานเป็นสถาบันการเรียนรู้ตลอดชีวิต สร้างพื้นที่ปลอดภัยให้คนกล้าคิดต่าง พร้อมทดลอง ฝึกฝนให้ไม่กลัวความผิดพลาด เพราะทัศนคติเช่นนี้จะเป็นวัตถุดิบสำคัญในการสร้างทักษะ 2020 อย่างการคิดเชิงวิพากษ์และการสร้างสรรค์นวัตกรรมต่อไป

 

นอกจากนี้ยังมีโจทย์สำคัญที่ต้องมาช่วยกันคิดหาทางลดช่องว่างทางทักษะอนาคตที่มีอยู่ระหว่างคนที่มีระดับการศึกษาต่างกัน อยู่ใน-นอกกรุงเทพฯ และอายุต่างกัน เพื่อไม่ให้กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ตอกย้ำปมความเหลื่อมล้ำให้ถ่างขึ้นจนกัดกร่อนองค์กรและสังคม

 

เผลอแป๊บเดียว ปี 2020 สิ่งที่เคยถูกมองว่าเป็น ‘อนาคต’ กำลังจะกลายมาเป็น ‘ปัจจุบัน’ หากเราไม่อยากกลายเป็น ‘อดีต’ ที่ถูกลืม มาเริ่มจากการสร้าง Mindset 2020 กันเถอะ

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising