รัฐบาลเตรียมอัดงบ 4.5 หมื่นล้านบาท กระตุ้นใช้จ่ายในประเทศ ผ่านการแจกเงิน 3,000 บาท ให้ประชาชน 15 ล้านคน ใช้จ่ายผ่านแอปฯ ‘เป๋าตัง’ หวังช่วยฟื้นเศรษฐกิจ เตรียมเคาะโครงการเดือนตุลาคมนี้ พร้อมปรับเกณฑ์เราเที่ยวด้วยกัน – กระตุ้นจ้างงานเด็กจบใหม่ 2.6 แสนอัตรา โบรกฯ มองแค่ช่วยพยุงเศรษฐกิจช่วงสั้น ไม่ได้ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ชี้ส่งผลดีต่อ CPALL-BJC
ศบศ. เคาะแจกเงิน 3,000 บาท 15 ล้านคน
ดนุชา พิชยนันท์ รองเลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) ผู้ช่วยเลขานุการ ศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 หรือ ศบศ. เปิดเผยหลังการประชุม ศบศ. ที่มี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธานว่า ที่ประชุมเห็นชอบมาตรการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ซึ่งมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อลดค่าครองชีพของประชาชน ส่งเสริมการบริโภค และช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยทั่วไปที่ครอบคลุมไปถึงผู้ประกอบการหาบเร่แผงลอยประมาณ 80,000 ร้านค้า
โดยเบื้องต้นจะเป็นนโยบายแจกเงินผ่านกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ ให้ประชาชนที่อายุ 18 ปีขึ้นไป จำนวน 15 ล้านคน คนละ 3,000 บาท ให้เวลาใช้ 3 เดือน โดยจะกำหนดให้ใช้วันละ 100-250 บาท แต่จะเป็นลักษณะร่วมจ่าย โดยผู้ซื้อจ่าย 50% และรัฐจ่ายให้ 50% โดยในครั้งนี้จะเปิดให้ซื้อของในร้านค้าสะดวกซื้ออย่างเซเว่น อีเลฟเว่น และในห้างสรรพสินค้าได้ โดยรัฐบาลจะใช้เงินกู้ฟื้นฟูเศรษฐกิจในโครงการนี้จำนวน 4.5 หมื่นล้านบาท
ทั้งนี้ ที่ประชุมมีมติให้กระทรวงการคลังจัดทำรายละเอียดโครงการเพื่อนำเสนอต่อศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ เพื่อให้สามารถดำเนินการได้ภายในเดือนตุลาคม 2563
ปรับเกณฑ์เราเที่ยวด้วยกัน
นอกจากนี้ที่ประชุมยังเห็นชอบมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศเพิ่มเติม ภายใต้โครงการเราเที่ยวด้วยกัน แบ่งออกเป็น 2 แนวทาง คือเห็นชอบให้มีการเพิ่มสิทธิให้ผู้ลงทะเบียนจำนวน 3 สิทธิ ได้แก่ เพิ่มส่วนลดค่าที่พัก 40% จำนวน 10 คืนต่อคน เพิ่มคูปองอาหารต่อการท่องเที่ยว สูงสุดมูลค่า 900 บาทต่อวันในวันจันทร์-พฤหัสบดี และให้เงินคืนค่าตั๋วเครื่องบินจำนวน 2,000 บาทต่อที่นั่ง ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2563
รวมทั้งเห็นชอบในหลักการให้ข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้าง และพนักงานรัฐวิสาหกิจสามารถลาพักผ่อนในวันธรรมดาเพิ่มได้ 2 วัน โดยไม่ถือเป็นวันลา เมื่อลงทะเบียนและใช้สิทธิในแพ็กเกจเราเที่ยวด้วยกัน เพื่อส่งเสริมการเดินทางท่องเที่ยวในวันธรรมดา
เคาะจ้างงานเด็กจบใหม่ 2.6 แสนคน
รวมถึงเห็นชอบมาตรการส่งเสริมการจ้างงานใหม่สำหรับผู้จบการศึกษาใหม่ 3 กลุ่ม ได้แก่ ระดับปริญญาตรี ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) และประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) รวมจำนวน 260,000 อัตรา โดยมีอัตราค่าจ้างตามวุฒิการศึกษาดังนี้ ปริญญาตรีเดือนละ 15,000 บาท ปวส. 11,500 บาท ปวช. 9,400 บาท ซึ่งรัฐบาลจะให้การสนับสนุนเงินค่าจ้าง 50% ของเงินเดือนตามวุฒิการศึกษาสูงสุดไม่เกิน 7,500 บาทต่อคนต่อเดือน โดยจะมีระยะเวลาการจ้างงานทั้งสิ้น 12 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2563 ถึง 30 กันยายน 2564
อนึ่ง ที่ผ่านมารัฐบาลแจกเงินไปแล้ว 248,765 ล้านบาท ดังนี้ แจก 15,000 บาท จำนวน 15 ล้านคน รวมเป็นเงิน 225,000 ล้านบาท แจกผ่านบัตรคนจน 3,000 บาท จำนวน 1.14 ล้านคน รวมเป็นเงิน 3,420 ล้านบาท แจกกลุ่มเปราะบาง 3,000 บาท จำนวน 6.78 ล้านคน รวมเป็นเงิน 20,345 ล้านบาท
มาตรการล่าสุดกำลังจะแจกรอบใหม่ 3,000 บาท จำนวน 15 ล้านคน รวมเป็นเงิน 45,000 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 293,765 ล้านบาท
โบรกฯ มองแค่ช่วยพยุงเศรษฐกิจช่วงสั้น ส่งผลดี CPALL-BJC
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม รองกรรมการผู้อำนวยการสายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์เอเซีย พลัส จำกัด เปิดเผยว่า จากกรณีที่ศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 หรือ ศบศ. มีนโยบายแจกเงินผ่านกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ ให้ประชาชนที่อายุ 18 ปีขึ้นไป จำนวน 15 ล้านคน คนละ 3,000 บาท มองว่าเป็นเพียงการช่วยพยุงเศรษฐกิจในช่วงสั้น และไม่ได้เป็นมาตรการที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
ทั้งนี้ ถือเป็นเพียงการกระตุ้นการบริโภค การใช้จ่ายในประเทศ ซึ่งจะส่งผลดีต่อกลุ่มหุ้นประเภทอุปโภคและบริโภค เช่น บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ CPALL และ บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BJC แต่อย่างไรก็ตามจะต้องรอสรุปนโยบาย และเงื่อนไขการใช้เม็ดเงินที่ชัดเจนอีกครั้ง
วิจิตร อารยะพิศิษฐ นักกลยุทธ์ การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ประเมินว่านโยบายดังกล่าวเป็นเพียงการเรียกเม็ดเงินให้เข้าสู่ระบบอุปโภคบริโภคการใช้จ่ายภายในประเทศ และมองว่ายังไม่ได้ส่งผลบวกในกลุ่มหุ้นประเภทอุปโภคบริโภคภายในประเทศมากเท่าที่ควร อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่าจะมีนโยบายที่พ่วงเรื่องของการท่องเที่ยวไปด้วยนั้น ก็ยังไม่สามารถกระตุ้นการท่องเที่ยวให้ฟื้นขึ้นมาได้อย่างชัดเจนเท่าที่ควร
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์