×

ถอดบทเรียนโลกการทำงานจาก The Face Thailand Season 4 All Stars EP.5

18.03.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

7 Mins. Read
  • ดราม่าประจำสัปดาห์นี้คือการที่เมนเทอร์ลูกเกดซึ่งไม่ได้มาในสัปดาห์ที่แล้ว รื้อฟื้นประเด็นเก่าที่เมนเทอร์คนอื่นตำหนิลูกทีมของตน และบอกว่าเมนเทอร์ซอนย่าใช้อารมณ์กับลูกทีมของตนมากเกินไป
  • อยากให้ลูกน้องเป็นคนเก่งก็ต้องสร้างบรรยากาศการทำงานให้ลูกน้องได้มีเวทีในการแสดงความสามารถ ไม่ใช่ว่าหลบอยู่ใต้เงาหัวหน้าอยู่ตลอดเวลา ต้องเปิดโอกาสให้เขาได้เป็นคนคิดด้วยตัวเอง ไม่ใช่จำกัดให้เขาเป็นเพียงคนที่ทำตามคำสั่งของหัวหน้าอย่างเดียว
  • อุปสรรคจะเป็นปัญหาหรือไม่อยู่ที่มุมมองของเรา เมื่อเห็นข้อเสียเปรียบ มองมันให้รอบด้าน แล้วเปลี่ยนมันให้เป็นข้อได้เปรียบของเรา เปลี่ยนให้เป็นสิ่งที่จะทำให้เราไปพัฒนาตัวเองต่อได้ หรือเปลี่ยนมันให้เป็นจุดแข็งเสียเลย

เดินทางมาถึงสัปดาห์ที่ 5 กันแล้วของการแข่งขัน The Face Thailand Season 4 All Stars แม้แคมเปญในสัปดาห์นี้ลดระดับความเล่นใหญ่ท่ายากโดยเปลี่ยนเป็นการถ่ายรูปกรุ๊ปช็อตขายของสปอนเซอร์ในธีม ‘เพื่อนเจ้าสาว’ แต่ในแง่การทำงานก็ยังคงมีบทเรียนให้เราสามารถเรียนรู้กันได้อยู่  


ติดตามดูรายการ The Face Thailand Season 4 All Stars EP.5 ย้อนหลังได้ที่ tv.line.me/v/2879704


*บทความนี้มีการสปอยล์เนื้อหาของรายการ

 

 

อยากให้องค์กรเป็นแบบไหน สร้างบรรยากาศการทำงานให้เอื้อต่อการพัฒนาให้แบบนั้น

โจทย์แคมเปญ ‘เพื่อนเจ้าสาว’ ในคราวนี้ ผู้แข่งขันต้องดูสดใส มีความสุข รู้สึกยินดีที่เพื่อนจะได้แต่งงาน เราจะได้สังเกตได้ว่าระหว่างการแข่งขัน เมนเทอร์ทุกคนก็สร้างบรรยากาศให้สนุกไปด้วยเพื่อไม่ให้ผู้เข้าแข่งขันเครียด ภาพออกมาจะได้ดูมีความสุขจริงๆ ไม่เฟก แม้กระทั่งเมนเทอร์บี ซึ่งปกติแล้วพอลงสนามจะดูเครียดและดุจนเป็นปกติของการทำงาน พอมาแคมเปญนี้ก็ไม่เครียด ไม่โมโห สนุกสนานเฮฮา ลูกทีมก็จะรู้สึกผ่อนคลาย สื่อการมีความสุขออกมาได้อย่างเต็มที่


เช่นเดียวกับเมนเทอร์ซอนย่าที่ตั้งแต่เริ่มบรีฟทีมก็เดินเข้าฉากด้วยความสดใสเฮฮาทันที พอมาถึงการแข่งขัน แม้จะรู้สึกขัดใจตอนปล่อยลูกทีมทำงานกันเองแล้วดูไม่เข้าที่เข้าทาง แต่พอถึงเวลาที่ต้องกระโดดเข้าไปช่วยก็ไปด้วยความสนุกเฮฮา ลูกทีมก็ไม่เครียด และทำให้เชื่อว่าทุกปัญหาจะมีทางออก ส่วนเมนเทอร์ลูกเกดก็ช่วยบิลด์พลังงานของทั้งทีมให้ไม่ตกได้ตลอดเวลา ส่งเสียงกรี๊ดให้ลูกทีมจนเหมือนเชียร์มวย

 

 

ในการทำงานก็เหมือนกันครับ ถ้าเราอยากให้องค์กรเป็นแบบไหน ต้องสร้างบรรยากาศให้เอื้อต่อการพัฒนาองค์กรให้เป็นแบบนั้น เช่น อยากให้องค์กรทันต่อการเปลี่ยนแปลงสู่ยุคดิจิทัล ก็ต้องกลับมาดูว่าองค์กรได้ติดอาวุธความรู้ด้านดิจิทัลให้กับคนในองค์กรหรือเปล่า มีระบบการทำงานที่เอาเทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยให้การทำงานดีขึ้นไหม พนักงานมีการพูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้ด้านดิจิทัลกันหรือไม่ ฯลฯ เพราะคำว่าองค์กรที่ทันยุคดิจิทัลไม่ใช่แค่การมีไลน์กรุ๊ป มีอีเมล มีเว็บไซต์องค์กร แล้วก็เรียกว่าองค์กรเท่าทันดิจิทัลแล้ว อย่าแค่ให้คำว่า ‘Go Digital’ เป็นคำเก๋ๆ เอาไว้พูดเฉยๆ


อยากให้องค์กรเป็นของคนรุ่นใหม่ ต้องกลับมาดูว่าองค์กรมีบรรยากาศที่ทำให้คนรุ่นใหม่อยากทำงานหรือเปล่า ถ้าคนรุ่นใหม่ชอบวิธีการทำงานที่ให้อิสระ ไม่มีกฎระเบียบบีบบังคับมากเกินไป เปิดโอกาสให้มีความคิดสร้างสรรค์ องค์กรก็ต้องให้อิสระ ยอมรับการมีความคิดสร้างสรรค์ หรือยอมรับวิธีการทำงานแบบใหม่ๆ เพื่อให้คนรุ่นใหม่ทำงานแล้วมีความสุข มีสิ่งแวดล้อมที่เอื้อให้เขาสามารถใช้ศักยภาพของตัวเองได้เต็มที่ ไปจนถึงต้องมี career path ให้คนรุ่นใหม่อยากเติบโตในองค์กร


อยากให้ลูกน้องเป็นคนเก่งก็ต้องสร้างบรรยากาศการทำงานให้ลูกน้องได้มีเวทีในการแสดงความสามารถ ไม่ใช่ว่าหลบอยู่ใต้เงาหัวหน้าอยู่ตลอดเวลา ต้องเปิดโอกาสให้เขาได้เป็นคนคิดด้วยตัวเอง ไม่ใช่จำกัดให้เขาเป็นเพียงคนที่ทำตามคำสั่งของหัวหน้าอย่างเดียว


หรือเป็นองค์กรที่ขายผลิตภัณฑ์ที่ทำให้ผู้บริโภคสุขภาพดี บอกว่าเชื่อในคุณค่าของการมีสุขภาพดี ก็ต้องกลับมาดูว่าองค์กรได้ดูแลพนักงานให้มีสุขภาพดีหรือเปล่า บรรยากาศการทำงานเครียดเกินไป หรือต้องทำงานหามรุ่งหามค่ำจนทำลายสุขภาพหรือไม่ องค์กรเอื้อต่อการให้พนักงานดูแลสุขภาพตัวเองหรือเปล่า ก่อนที่จะไปดูแลสุขภาพของผู้บริโภค


เพราะฉะนั้นเมื่ออยากให้องค์กรเป็นแบบไหน เราต้องสร้างบรรยากาศการทำงานที่สามารถบ่มเพาะพนักงานให้เป็นคนแบบนั้นได้

 

 

เปลี่ยนปัญหาให้กลายเป็นจุดได้เปรียบ

ในทุกแคมเปญ ทุกทีมจะไม่ค่อยอยากเป็นทีมแรก ถ้าเลือกได้ก็อยากเป็นทีมสุดท้าย จะได้มีเวลาเตรียมตัวเตรียมใจ หรือเมนเทอร์เองก็ได้ดูทีมอื่นทำงานก่อนจะเอาบทเรียนจากทีมก่อนหน้ามาใช้กับการทำงานของตัวเอง แต่เมนเทอร์ซอนย่าซึ่งแข่งเป็นทีมแรกเปลี่ยนความคิดใหม่ โดยมองว่าการเป็นทีมแรกเป็นสิ่งที่ดี เพราะจะได้ลองสนามก่อน ได้ใช้ทุกวิธีที่อยากทำให้หมด ใช้มันทั้งท่านั่ง ท่ายืน ท่านอน ฯลฯ ทำให้หมดก่อนทีมอื่น ทีมที่ตามมาทีหลังจะได้เป็นผู้ตาม อีกอย่างคือการเป็นทีมแรกทำให้ตัวนางแบบที่เป็นเจ้าสาวยังไม่เหนื่อย ยังมีพลังอยู่ แล้วเรารีบใช้พลังของนางแบบให้หมด พอทีมต่อมาเริ่มทำงาน พลังของนางแบบก็อาจจะน้อยกว่าทีมแรก ถ้ามองในมุมนี้ สิ่งที่เคยคิดว่าเป็นจุดเสียเปรียบของทีมแรกก็กลายเป็นจุดได้เปรียบไปหมดเลย ทั้งหมดนี้มาจากวิสัยทัศน์ของเราว่าจะมองว่าเป็นปัญหาที่มาฆ่าเราได้ หรือจะมองว่าเป็นโอกาสที่ทำให้เราได้เปรียบ

 

 

ทุกการทำงานต้องมีอุปสรรค แต่อุปสรรคจะเป็นปัญหาหรือเป็นจุดที่พาเราทะยานไปได้ไกลกว่าเดิมก็อยู่ที่มุมมองของเรา เวลาเจออุปสรรค ถ้าเราสามารถมองหาจุดที่พลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสได้ หรือมองออกว่ามันทำให้เราแข็งแกร่งขึ้นมาได้อย่างไร เราก็จะไม่รู้สึกว่าการมีอุปสรรคเป็นเรื่องเลวร้าย ไม่รู้สึกว่ามันเป็นประเด็นที่เป็นปัญหาด้วยซ้ำ แต่ถ้ามองอุปสรรคว่าเป็นปัญหา มองว่ามันคือสิ่งที่ทำให้เราเสียเปรียบ ยังไม่ทันทำอะไรใจเราก็จะฝ่อแล้ว เพราะเราเห็นปัญหาก่อนอย่างอื่นเลย


อุปสรรคจะเป็นปัญหาหรือไม่อยู่ที่มุมมองของเรา เมื่อเห็นข้อเสียเปรียบ มองมันให้รอบด้าน แล้วเปลี่ยนมันให้เป็นข้อได้เปรียบของเรา เปลี่ยนให้เป็นสิ่งที่จะทำให้เราไปพัฒนาตัวเองต่อได้ หรือเปลี่ยนมันให้เป็นจุดแข็งเสียเลย ฝึกบ่อยๆ แล้วเราจะไม่หวั่นไหวเมื่อเจออุปสรรค

 

 

เราตำหนิลูกน้องของทีมอื่นได้ไหม

ดราม่าประจำสัปดาห์นี้คือการที่เมนเทอร์ลูกเกดซึ่งไม่ได้มาในสัปดาห์ที่แล้ว รื้อฟื้นประเด็นเก่าที่เมนเทอร์คนอื่นตำหนิลูกทีมของตน และบอกว่าเมนเทอร์ซอนย่าใช้อารมณ์กับลูกทีมของตนมากเกินไป


เป็นประเด็นที่เราน่ามาคิดกันต่อครับว่า ถ้าเราเป็นหัวหน้า เราควรจะตำหนิลูกทีมของคนอื่นหรือเปล่า


ในชีวิตการทำงาน เราอาจจะรู้สึกว่าการที่หัวหน้าทีมอื่นมาตำหนิลูกน้องเรานั้นเป็นการข้ามหัวกัน เป็นเรื่องไม่สมควร เป็นการเสียระเบียบ ซึ่งเป็นเรื่องที่บางคนอาจจะรู้สึกจริงๆ ว่าถูกข้ามหัว ถูกฉีกหน้า ผมคิดแบบนี้ครับว่า ถ้าไม่อยากให้คนอื่น ‘ข้ามหัว’ มาตำหนิลูกน้องของเรา แปลว่าเราต้องดูแลลูกน้องเราให้ดีเสียก่อนเพื่อไม่ให้ลูกน้องเราถูกตำหนิจากคนอื่นได้ เวลาโดนคนอื่นบอกว่า ‘หัวหน้าไม่สั่งสอน’ นี่มันโคตรเจ็บเลยนะครับ ไม่ได้เจ็บที่ลูกน้อง แต่เจ็บที่หัวหน้า เพราะฉะนั้นในการเป็นหัวหน้า เราควรดูแลตักเตือนลูกน้องให้ดี


บางคนมองการตำหนิข้ามทีมเป็นเรื่องละเอียดอ่อนครับ บางคนยอมรับไม่ได้ที่จะมีการเตือนกันข้ามทีม เพราะถือว่าทีมใครทีมมัน เพื่อป้องกันการกระทบกระทั่งกันระหว่างทีม เราอาจจะใช้วิธีคุยกับหัวหน้าของทีมนั้นเป็นการส่วนตัวว่าเราเห็นการทำงานที่ไม่ดีของลูกน้องเขาอย่างไร แต่ต้องบอกด้วยความปรารถนาดี บอกด้วยความเป็นห่วงว่าเรามีเจตนาอยากให้น้องทุกคนทำงานได้ดี ไม่ได้มีเจตนาร้าย และต้องบอกกันเป็นการส่วนตัวระหว่างหัวหน้ากับหัวหน้า เพื่อป้องกันความรู้สึกว่ากำลังฉีกหน้ากันอยู่ เหมือนเดิมครับ เวลาชมใครต้องชมให้ทุกคนทราบทั่วกัน แต่ถ้าอยากเตือน อยากตำหนิ ไปตำหนิกันสองคนก็พอ จะได้ไม่รู้สึกว่าไปฉีกหน้าใคร

 

 

เป็นไปได้ครับที่แต่ละทีมอาจมีกฎระเบียบบางอย่างที่เราอาจไม่ทราบ ไปจนถึงหัวหน้าเองก็อาจจะรู้จักลูกน้องของเขาดีกว่าเรา ถ้าเราใช้การเตือนผ่านหัวหน้า หัวหน้าทีมนั้นอาจจะมีวิธีในการเตือนในแบบเฉพาะของเขาก็ได้ และอาจจะเป็นวิธีการเตือนที่เหมาะกับลูกทีมคนนั้น ลูกน้องบางคน หัวหน้าต้องใช้วิธีเตือนตรงๆ ดุได้ ว่าได้ ลูกน้องบางคนหัวหน้าต้องใช้วิธีคุยกับเขาแบบไม่รุนแรง เราเป็นคนนอกทีมก็อาจจะไม่ได้รู้จักลูกน้องเขาเท่าหัวหน้า การเตือนผ่านหัวหน้าก็อาจจะมีข้อดีในมุมนี้แหละครับ


แต่อีกมุมหนึ่ง ผมก็มองว่ามันคือการช่วยดูแลซึ่งกันและกัน การตำหนิกัน เตือนกัน โดยไม่มองว่านั่นทีมเธอ นี่ทีมฉัน ก็เป็นเรื่องที่ดีนะครับ มันเหมือนมีคนช่วยดูแล ช่วยระวังหลัง เราไม่ได้มองว่าเป็นการข้ามหัวกัน อาจจะอยู่กันคนละทีม แต่ก็เตือนกันได้ เพราะเรามีเจตนาเดียวกันคืออยากให้ลูกน้องพัฒนา ใครเห็นอะไรไม่ดีก็เตือนกันได้ แต่ต้องไม่ใช้อารมณ์ ผมมองว่าในมุมนี้ การมีความคิดแบบนี้ก็ทำให้เรามองคนที่เจตนาและทำให้เราเปิดกว้างที่จะเรียนรู้จากทุกคนได้หมด ใครติ เราก็รับฟังและนำมาปรับปรุง ยิ่งมีคนติ ยิ่งต้องขอบคุณเขา เพราะเขาอยากให้เราได้ดี เขาชี้ข้อบกพร่องให้เราเห็น

 

 

ข้อเสียของการไม่ยอมให้คนอื่นมาตำหนิลูกทีมเราก็คืออาจจะทำให้คนอื่นรู้สึกว่าทีมนี้แตะต้องไม่ได้เลย จะไปว่าหรือเตือนอะไรก็จะโดนหัวหน้าเขาว่ากลับมา ผลเสียก็จะตกไปที่ลูกน้องทีมนั้นนั่นแหละครับที่ไม่ได้รับการชี้ให้เห็นข้อเสีย ยิ่งมีหัวหน้ามาต่อว่าคนที่เตือนกลับก็จะถูกมองว่าลูกน้องทีมนั้นเป็นคนขี้ฟ้องได้อีก คนก็จะไม่อยากยุ่ง


ผมคิดว่าเราปกป้องลูกน้องเราได้ครับ แต่ต้องมองให้เห็นเจตนาของคนเตือนด้วย และยิ่งคนอื่นมาว่าลูกทีมเรา เรายิ่งต้องเข้มงวดกับลูกทีมตัวเอง ก่อนที่จะให้คนอื่นมาว่าลูกทีมเรา เราต้องจัดการตักเตือนลูกทีมเราก่อน


มองให้เห็นประโยชน์ของการตักเตือน แล้วเลือกวิธีตักเตือนที่จะเกิดประโยชน์ที่สุด

 

เขาว่ากันว่า…

สัปดาห์ก่อนเมนเทอร์ลูกเกดไม่ได้มา ไม่ได้เห็นเหตุการณ์ ทุกอย่างที่รับรู้มาคือลูกทีมเล่าให้ฟังว่าเมนเทอร์ซอนย่ามาพูดแบบนั้นแบบนี้ พอมาสัปดาห์นี้ก็ขุดเอาเรื่องเก่าจากสัปดาห์ที่แล้วขึ้นมาใหม่


ในการทำงานเราก็อาจจะเจอเหตุการณ์แบบนี้เหมือนกันครับที่เราไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์นั้น ได้ยินคนอื่นเล่ามาว่าเกิดอะไรขึ้น แล้วก็อาจจะทำให้เรามีความรู้สึกบางอย่างจากคำที่เขาเล่าต่อกันมานั้น


เวลาได้ยินใครเขาเล่าเรื่องนั้นเรื่องนี้มาโดยที่เราไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ หรือไม่ได้รู้ความจริงรอบด้านพอ เราต้องเผื่อใจว่าไม่ได้รู้จริงทั้งหมด เรื่องเรื่องเดียวเล่าผ่านคนต่างคนก็ได้ต่างมุม และอาจจะได้เป็นอีกเรื่องหนึ่งเลยก็ได้ แม้กระทั่งเราอยู่ในเหตุการณ์ เราอาจจะรู้แค่สิ่งที่เราได้เห็น แต่มันก็มีความจริงด้านอื่นๆ ที่เราอาจจะไม่ได้รู้มาก่อนก็ได้ เพราะฉะนั้นอย่าเพิ่งปักใจเชื่อสิ่งที่คนมาเล่าให้เราฟัง แยกแยะให้ออกว่าอันไหนคือความจริง อันไหนคือความเห็น เพราะหลายครั้งทั้งสองอย่างนี้มันปะปนกันอยู่

 


ดูรายการกันแล้วก็อย่าอินกับดราม่าจนพานเป็นทุกข์ไปด้วย ผมคิดว่ารายการมันสนุกตรงที่มีสถานการณ์ให้เราได้กลับมาคิดว่า ถ้าเป็นเรา เราจะจัดการกับเหตุการณ์เหล่านี้อย่างไร สัปดาห์หน้าเราจะได้เรียนรู้อะไรจาก The Face Thailand Season 4 All Stars ที่เอาไปใช้กับการทำงานของเราได้อีก ติดตามได้ที่ THE STANDARD กับท้อฟฟี่ แบรดชอว์ ครับ  

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising