×

The Eight Hundred (2020) ซอฟต์พาวเวอร์ หรือไวอากร้าปลุกเร้าความรักชาติ

16.10.2020
  • LOADING...
The Eight Hundred (2020)

HIGHLIGHTS

ึ9 mins read
  • การโรมรันพันตูตามท้องเรื่องของ The Eight Hundred ได้แก่สมรภูมิเมืองเซี่ยงไฮ้ปี 1937 ในช่วงที่กองทัพจีนกำลังจะเพลี่ยงพล้ำให้กับทหารญี่ปุ่นอยู่รอมร่อ และที่มั่นสุดท้ายคือโกดังร้างริมแม่น้ำ ซึ่งกลุ่มกองกำลังปฏิวัติจีนราวสี่ร้อยคน (ทว่าพวกเขากลับป่าวประกาศว่ามีอยู่แปดร้อยเพื่อข่มขวัญฝ่ายตรงข้ามอันเป็นที่มาของชื่อเรื่อง) ปักหลักปกป้องและยึดครองสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวอย่างชนิดหลั่งเลือดชโลมดิน
  • บทบาทของการเป็นหนังบันทึกประวัติศาสตร์ช่วงดังกล่าวไม่เพียงแค่ถูกใช้เพื่อกระตุ้นความรักชาติ ทว่ายังสนับสนุนและส่งเสริมอุดมการณ์ชาตินิยม (ในแบบที่รัฐเผด็จการทั้งหลายหรือฝ่ายขวาตกขอบมักเรียกร้องและปลูกฝังให้ประชาชนของตัวเอง) พูดอย่างไม่อ้อมค้อมก็ต้องบอกว่า นี่เป็นหนังโฆษณาชวนเชื่อโปรโมตความยิ่งใหญ่ เกรียงไกร สู้ไม่ถอย และกล้าตายของทหารจีน หรือบางที จะนับรวม ‘ความเป็นคนจีน’ ด้วยก็ได้

The Eight Hundred (2020)

 

หากจะเทียบเคียงให้มองเห็นภาพง่ายๆ หนังสงครามมหากาพย์จากจีนแผ่นดินใหญ่มูลค่า 80 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และเป็นหนังทำเงินสูงสุดของโลกประจำปี 2020 ณ ตอนนี้ เรื่อง The Eight Hundred (2020) ผลงานกำกับของ ‘คนทำหนังรุ่นหก’ กวนหู่ บอกเล่าเรื่องราวที่เปรียบได้กับ ‘ศึกบางระจัน’ ของบ้านเรานั่นเอง หรือจริงๆ แล้ว เป้าประสงค์ของการสร้างหนังเรื่องนี้ก็เป็นอย่างเดียวกัน อันได้แก่การยกย่องเชิดชูวีรกรรมอันกร้าวแกร่งและห้าวหาญของคนกลุ่มเล็กๆ ที่ยืนหยัดต่อสู้กับกองกำลังที่เหนือกว่าทุกหนทาง และในเวลาต่อมากลายเป็นแบบอย่างของความรักชาติ

 

เผื่อเป็นข้อมูลเบื้องต้นสำหรับคนนอกอย่างเราๆ ท่านๆ การโรมรันพันตูตามท้องเรื่องของ The Eight Hundred ได้แก่สมรภูมิเมืองเซี่ยงไฮ้ปี 1937 ในช่วงที่กองทัพจีนกำลังจะเพลี่ยงพล้ำให้กับทหารญี่ปุ่นอยู่รอมร่อ และที่มั่นสุดท้ายคือโกดังร้างริมแม่น้ำ (เรียกพ้องเสียงตามชื่อในภาษาจีนว่า ‘สี่ห้าง’) ซึ่งกลุ่มกองกำลังปฏิวัติจีนราวสี่ร้อยคน (ทว่าพวกเขากลับป่าวประกาศว่ามีอยู่แปดร้อยเพื่อข่มขวัญฝ่ายตรงข้ามอันเป็นที่มาของชื่อเรื่อง) ปักหลักปกป้องและยึดครองสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวอย่างชนิดหลั่งเลือดชโลมดิน

 

นั่นส่งผลให้ปฏิบัติการที่ฝ่ายญี่ปุ่นเชื่อว่าจะสามารถรวบรัดตัดความได้ภายในสามชั่วโมงกลับยืดเยื้อออกไปถึงสี่วัน รวมถึงต้องสูญเสียกำลังพลจำนวนมาก และถึงแม้ว่าการรบพุ่งจะจบลงด้วยความพ่ายแพ้ของทหารจีนอย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยง แต่เรื่องราวความเด็ดเดี่ยวและเสียสละของพวกเขาก็ได้รับการกล่าวขวัญถึงขจรขยาย อีกทั้งยังปลุกเร้าและฟื้นฟูขวัญและกำลังใจที่กำลังตกต่ำของผู้คนให้หวนกลับมาฮึกเหิมอีกครั้ง หรือบางที นอกจากมันจะไม่ใช่ความพ่ายแพ้อย่างหมดรูป ยังถือเป็นชัยชนะในทางจิตวิทยา

 

 

อย่างหนึ่งที่พูดได้แน่ๆ ถึงหนังเรื่อง The Eight Hundred และไม่มีวันผิดพลาดก็คือ นี่ไม่ใช่หนังที่ถูกสร้างขึ้นมาเล่นๆ และผู้ชมมองเห็นได้อย่างชัดแจ้งถึงความมุ่งมั่นและทะเยอทะยานของคนทำหนังในการถ่ายทอดเหตุการณ์และช่วงเวลาดังกล่าวให้ออกมาดูขึงขังจริงจัง เต็มเปี่ยมด้วยชีวิตชีวา ตลอดจนโน้มน้าวชักจูง และความประณีตพิถีพิถันในส่วนของงานสร้างก็บอกถึงความวิริยะอุตสาหะและทุ่มเทอย่างน่าชื่นชมยกย่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเนรมิตเมืองเซี่ยงไฮ้ในช่วงเวลาที่บ้านแตกสาแหรกขาด และสิ่งที่ปรากฏเบื้องหน้าซึ่งเป็นผลพวงจากเทคนิคพิเศษทางภาพบวกกับงานสร้างที่แนบเนียนก็สามารถสะกดให้ผู้ชมหลงลืมไปโดยอัตโนมัติว่าทั้งหมดเป็นเพียงภาพลวงตา และพวกเราคนดูกลายเป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้และขับเคี่ยวที่ทั้งคับขันและจวนเจียน

 

และที่ไม่กล่าวถึงไม่ได้ก็คือสถานการณ์หลักของเรื่องที่ดูพิลึกพิลั่น กระนั้นก็ตาม ดูเหมือนว่ามันรองรับด้วยข้อเท็จจริง กล่าวคือ โกดังสี่ห้างดังที่กล่าวข้างต้น เป็นปราการด่านสุดท้ายของกลุ่มทหารจีนที่ถอยร่น ตั้งอยู่ริมแม่น้ำ และพื้นที่อีกฟากหนึ่งเป็นเขตเช่าของพวกอังกฤษ ฝรั่งเศส และชาติอื่นๆ ขณะที่ภาพมุมสูงหลายครั้งหลายคราเผยให้เห็นความพินาศย่อยยับของเมืองเซี่ยงไฮ้อันเนื่องมาจากการสู้รบ ส่วนที่เรียกว่าเป็นเขตเช่าของฝรั่งต่างชาติกลับอยู่ในสภาพไร้มลทิน ไม่ถูกแตะต้องจากพวกญี่ปุ่นซึ่งไม่อยากเปิดศึกหลายทาง

 

หรือจริงๆ แล้ว ตึกรามฟากตรงข้ามโกดังสี่ห้างยังคงประดับประดาไปด้วยแสงสีสว่างไสวและเย้ายวนราวกับสวนสนุกดิสนีย์แลนด์ อีกทั้งกิจกรรมบันเทิงและสันทนาการทั้งหลายก็ยังดำเนินไปเป็นปกติแบบไม่รู้ร้อนรู้หนาว เหล่าทหารเดนตายไม่เพียงมองความเป็นไปอีกด้านหนึ่งด้วยความพิศวงงงงวย พวกเขายังได้ยินเสียงร้องเพลงจากอุปรากรจีนลอยข้ามฟากมา และนั่นยิ่งทำให้สถานการณ์ที่ค่อยๆคลี่คลายเบื้องหน้าผู้ชมดูเหนือจริงมากขึ้นเรื่อยๆ

 

 

แต่บางที อะไรก็อาจไม่ขำขื่นเท่ากับในช่วงเวลาสี่วันที่ทหารกล้าทั้งหมดยืนพิงเชือกแลกหมัดกับฝ่ายตรงข้ามอย่างดุเดือดเลือดพล่าน พวกเขาต่างหากที่กลับกลายเป็น ‘Attraction’ หรือนาฏกรรมดึงดูดความสนใจและสายตาของพวกที่เฝ้ามองจากอีกฟากหนึ่งของแม่น้ำยิ่งกว่าการแสดงงิ้วโรงไหนๆ หรือจริงๆ แล้ว มันไม่ใช่แค่การเฝ้ามองเพียงอย่างเดียว ยิ่งเวลาผ่านพ้นไป ผู้คนพากันส่งเสียงเชียร์ และหนึ่งในช่วงพีกของเหตุการณ์ก็หนีไม่พ้นฉากปักธงชาติ ‘สาธารณรัฐประชาชนจีน’ บนดาดฟ้าของโกดังเพื่อท้าทายกองทัพญี่ปุ่น ซึ่งนับเป็นโมเมนต์ที่ชวนให้ท่วมท้นล้นทะลักทางอารมณ์

 

และจวบจนถึงตอนนี้ ทุกอย่างก็แจ่มแจ้งแล้วว่าจุดประสงค์ของ The Eight Hundred คืออะไร พูดง่ายๆ บทบาทของการเป็นหนังบันทึกประวัติศาสตร์ช่วงดังกล่าวก็ไม่เพียงแค่ถูกใช้เพื่อกระตุ้นความรักชาติ ทว่ายังสนับสนุนและส่งเสริมอุดมการณ์ชาตินิยม (ในแบบที่รัฐเผด็จการทั้งหลายหรือฝ่ายขวาตกขอบมักเรียกร้องและปลูกฝังให้กับประชาชนของตัวเอง) หรือพูดอย่างไม่อ้อมค้อมก็ต้องบอกว่า นี่เป็นหนังโฆษณาชวนเชื่อโปรโมตความยิ่งใหญ่ เกรียงไกร สู้ไม่ถอย และกล้าตายของทหารจีน หรือบางที จะนับรวม ‘ความเป็นคนจีน’ ด้วยก็ได้

 

 

โดยปริยาย นั่นเป็นเรื่องน่าเสียดายที่ผลงานของคนทำหนังที่อุตส่าห์สร้างสรรค์อย่างวิจิตรบรรจงและดูเหมือนจะมีสามัญสำนึก กลับลงเอยด้วยจุดหมายปลายทางที่ผูกขาด ปิดกั้น คับแคบ หรือแม้กระทั่งลดทอนคุณค่าของความเป็นมนุษย์ จริงๆ แล้ว เนื้อหาหลายส่วนในช่วงครึ่งแรกของเรื่องก็คลับคล้ายว่าจะเน้นย้ำความโหดร้ายของสงคราม หนึ่งในนั้นคือฉากที่เด็กหนุ่มถูกบังคับให้เหนี่ยวไกยิงเชลยศึกญี่ปุ่นทิ้งทั้งๆ ที่เขาไม่ได้มีความบาดหมางส่วนตัว และนั่นเป็นสถานการณ์ที่กดดันและบีบคั้นอารมณ์ ฉายภาพให้ผู้ชมได้มองเห็นด้านที่สุดแสนอัปลักษณ์ของการฆ่าแกง

 

ทว่าจนแล้วจนรอด ท่วงทำนองของหนังส่วนใหญ่ก็กลับมุ่งหน้าไปในทิศทางของการโหมกระพือและปลุกระดม วิธีการที่คนทำหนังผลิตซ้ำความกล้าหาญและอุทิศตน (แบบเดียวกับที่เรามักจะได้เห็นในหนังสงครามฮอลลีวูดไร้สติทั้งหลาย) ผ่านตัวละครที่พร้อมจะเผชิญหน้ากับจุดจบของตัวเองราวกับเป็นเรื่องล้อเล่นหรือเรื่องน่าสนุกสนานตื่นเต้นก็เรียกเป็นอย่างอื่นไม่ได้นอกจากยัดเยียดและมอมเมา

 

หรืออีกหนึ่งแท็กติกที่หนังโฆษณาชวนเชื่อเรื่องแล้วเรื่องเล่านำมารีไซเคิลอย่างต่อเนื่องคือการสร้างตัวละครแบบขาวจัดดำจัด กล่าวคือ ขณะที่ผู้ชมรับรู้และสัมผัสได้ถึงความมีเลือดเนื้อและชีวิตชีวาของเหล่าทหารในโกดัง ตลอดจนความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของกลุ่มคนจีนที่ทนเห็นพฤติการณ์อันป่าเถื่อนของข้าศึกไม่ได้ หนังแทบไม่ได้พาผู้ชมไปรับรู้ความเคลื่อนไหวของฝ่ายกองทัพญี่ปุ่น (ยกเว้นตัวผู้บังคับบัญชาซึ่งถูกนำเสนอในภาพของนักรบที่อ่อนด้อย) และความไม่มีตัวตนของฝ่ายตรงข้ามก็ส่งผลให้พวกเขาหลงเหลือความเป็นมนุษย์น้อยลง หรือแม้กระทั่งมองไม่เห็นว่าเป็นคน (ในลักษณะไม่แตกต่างไปจากทหารพม่าในหนังเรื่อง ‘บางระจัน’) จนไม่ใช่เรื่องยากที่ผู้ชมจะสั่งสมความรู้สึกเป็นปฏิปักษ์ หรือแม้กระทั่งเกลียดชัง ความตื้นเขินดังกล่าวก็ยิ่งทำให้มันติดอยู่ในกับดักของการเป็นหนังโฆษณาชวนเชื่อหนักข้อมากขึ้น

 

 

กระนั้นก็ตาม การโยนข้อกล่าวหาทั้งหมดให้กับคนทำหนังก็อาจไม่ยุติธรรมนัก เมื่อคำนึงว่าหนังเรื่อง The Eight Hundred ของ กวนหู่ ต้องเผชิญวิบากกรรมจากหน่วยงานเซ็นเซอร์ของจีนแผ่นดินใหญ่สาหัสสากรรจ์ เริ่มต้นจากการที่หนังถูกถอดจากโปรแกรมฉายเปิดตัวในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองเซี่ยงไฮ้ช่วงกลางปีที่แล้วอย่างปัจจุบันทันด่วน และหนังต้องเลื่อนฉายมากกว่าหนึ่งปี ส่วนหนึ่งเพราะโรคระบาด แต่อีกส่วนโยงกับประเด็นทางการเมือง   

 

ว่ากันว่าฉากที่สร้างปัญหาให้มากที่สุดก็คือฉากชักธงชาติบนดาดฟ้าที่กล่าวถึงก่อนหน้า เนื่องเพราะในเวลาต่อมา ไต้หวันใช้ธงลักษณะดังกล่าวเป็นธงประจำชาติของตัวเอง อีกทั้งทหารตามท้องเรื่องก็เป็นพลพรรคของก๊กมินตั๋งภายใต้การบัญชาการของนายพล เจียงไคเชก คู่อริตลอดกาลของ เหมาเจ๋อตุง ผู้สถาปนาจีนแผ่นดินใหญ่ โดยปริยาย The Eight Hundred ก็เป็นเหมือนหนังที่สร้างเพื่อสรรเสริญบรรพบุรุษนักรบของไต้หวัน ซึ่งเป็นสิ่งที่หน่วยงานของรัฐยอมรับไม่ได้

 

มองในแง่มุมหนึ่ง ‘ผลลัพธ์สุดท้าย’ ของ The Eight Hundred ก็เหมือนกับเป็นความสำเร็จของหน่วยงานเซ็นเซอร์จีน (ข้อมูลบอกว่าหนังถูกหั่นออกไป 13 นาที) เพราะถึงที่สุดแล้ว ผู้ชมแทบจะไม่ทันสังเกตเห็นลักษณะของ ‘ความเป็นธงชาติไต้หวัน’ แต่อย่างใด เนื่องจากช็อตส่วนใหญ่ในฉากดังกล่าวล้วนอยู่ในระยะไกล และสำหรับผู้ชมที่ไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างเราๆ ท่านๆ ก็ไม่รู้สึกหรือมองไม่เห็นว่าหนังอ้างถึงหรือพาดพิงถึงพรรคก๊กมินตั๋งแม้แต่นิดเดียว

 

แต่ก็นั่นแหละ ชัยชนะของตำรวจทางวัฒนธรรมของจีนครั้งนี้ก็มีราคาที่ต้องจ่ายด้วยเช่นกัน กล่าวคือ แทนที่หนังเรื่อง The Eight Hundred จะมีสถานะเป็น ‘ซอฟต์พาวเวอร์’ ที่เกลี้ยกล่อมและชักชวนให้ผู้ชมต่างชาติเกิดความรู้สึกนิยมชมชอบศิลปวัฒนธรรมตลอดจนความเป็นจีน (เหมือนกับที่เกาหลีใต้ประสบความสำเร็จในการเผยแพร่ศิลปะบันเทิงของตัวเองในฐานะสินค้าทางวัฒนธรรม) บทบาทที่แท้จริงก็เป็นอย่างที่จั่วไว้ที่หัวเรื่อง มันเปรียบได้กับไวอากร้าที่ใช้เพื่อปลุกเร้าสมรรถนะความรักชาติของผู้ชมให้โหมกระพือ

 

ข้อสำคัญ การพยายามลบโน่นนี่นั่นที่โยงถึงไต้หวันออกจากหนังเรื่องนี้ก็ไม่อาจลบเลือนข้อเท็จจริงที่ว่า ไต้หวันก็ยังคงเป็นเหมือนกับเศษหินในรองเท้า หรือแม้กระทั่งริดสีดวงเรื้อรังของมหาอำนาจอย่างจีนแผ่นดินใหญ่เหมือนเดิม

 

THE EIGHT HUNDRED (2020)

กำกับ-กวนหู่  ผู้แสดง-หวงเสี่ยวหมิง, เว่ยเฉิน, เฉิงไค, หวังเคี่ยนหยวน ฯลฯ

 

 

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising