×

The Dig ขุดเวียงแก้ว วังวงศ์มังราย เปิดอดีตเผยบาดแผลของปัจจุบัน

13.02.2021
  • LOADING...
The Dig ขุดเวียงแก้ว วังวงศ์มังราย

HIGHLIGHTS

  • การขุดค้นทางโบราณคดีนั้นเป็นส่วนหนึ่งของการเมืองไม่มากก็น้อย  
  • เวียงแก้วไม่ใช่เพียงวังของพญามังราย และกษัตริย์ล้านนาอีกหลายพระองค์สืบต่อมา แต่เป็นศูนย์กลางทางการเมืองและการปกครองของล้านนามาอย่างยาวนาน สะท้อนการร่วมมือกันของกลุ่มผู้นำชาวไทต่อต้านกับจีน
  • การขุดค้นทางโบราณคดีนั้นเกิดขึ้นจากอุดมการณ์และแนวคิดบางอย่าง ถ้าย้อนกลับไปพิจารณาการขุดค้นวังเก่าต่างๆ แล้วก็จะพบว่า การขุดค้นวังหลวงของกรุงศรีอยุธยาที่เริ่มต้นขึ้นอย่างจริงจังในสมัยรัชกาลที่ 5 นั้นเกิดขึ้นภายใต้อุดมการณ์ชาตินิยมยุคเริ่มแรก ที่ชนชั้นนำสยามต้องการแสดงให้ตะวันตกเห็นว่า ชาติของตนมีประวัติศาสตร์ความเป็นมาที่ยาวนาน เก่าแก่ ซึ่งหมายถึงเป็นชาติที่ศิวิไลซ์ ไม่ใช่ชาติกำเนิดใหม่ 

อุดมการณ์ความคิดเบื้องหลังมีส่วนสำคัญมากต่อการขุดค้นวังเก่า หรือไม่ว่าแหล่งโบราณคดีใดๆ ก็ตาม ไม่ใช่งานวิชาการล้วนๆ หรือเป็นเรื่องของความต้องการในการอนุรักษ์ และศึกษาอดีตเพียงอย่างเดียวตามที่คิดกัน ถ้าพูดอย่างรวบรัด การขุดค้นทางโบราณคดีนั้นเป็นส่วนหนึ่งของการเมืองไม่มากก็น้อย  

 

ในช่วง 3-4 ปีมานี้ โดยเฉพาะปีนี้ ทางเชียงใหม่มีความตื่นตัวกันอย่างมากกับการขุดค้นโบราณคดีที่เวียงแก้ว วังที่สถาปนาโดยพญามังราย ซึ่งดำเนินงานขุดค้นโดยสำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ โดยมี สายกลาง จินดาสุ นักโบราณคดีชำนาญการ เป็นผู้ควบคุมการขุดค้น

 

วังนี้สำคัญในหลายแง่มุม ไม่ใช่เป็นเพียงเพราะเป็นวังของพญามังราย และกษัตริย์ล้านนาอีกหลายพระองค์สืบต่อมา เป็นศูนย์กลางทางการเมืองและการปกครองของล้านนาอย่างยาวนาน และสะท้อนการร่วมมือกันของกลุ่มผู้นำชาวไทต่อต้านกับจีน

 

แต่อีกแง่มุมที่สำคัญด้วยคือ เวียงแก้วนี้ได้ฉายภาพให้เห็นอุดมการณ์ความคิดบางอย่างของปัญหาที่สืบเนื่องมาจากรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของสยามคือ การสร้างทัณฑสถานและอื่นๆ ทับเวียงแก้วไป ซึ่งกลายเป็นบาดแผลในใจของชาวเชียงใหม่มาช้านาน ซึ่งมักมีการพูดกันว่า เป็นการทำคุณไสยใส่เมืองเชียงใหม่ จริงเท็จประการใดไม่ทราบ เพราะเป็นเรื่องเล่าและตีความกันมากกว่าจะมีเอกสารจากกรุงเทพฯ รองรับ แต่นั่นก็ไม่สำคัญเท่ากับความรู้สึกต่ออดีต และตัวตนของชาวล้านนา การขุดค้นเวียงแก้วจึงไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะมันไม่ได้เป็นแค่การขุดค้นเพื่อหาซากอารยธรรมแบบ The Dig แต่มันยังมีปัญหาหลายระดับหลายเลเยอร์ที่ซับซ้อน และละเอียดอ่อนกว่าการขุดค้นวังอื่นๆ ที่ผ่านมาในไทย ถือเป็นงานหินเอาการ

 

วัฏจักรชีวิตของเวียง

ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ฉบับเชียงใหม่ 700 ปี ได้ระบุว่า พญามังรายให้สร้างวังขึ้นพร้อมกันกับการสร้างเมืองเชียงใหม่เมื่อปี พ.ศ.1839 ประกอบด้วยคุ้มน้อยราชมณเทียรมากมาย ใช้เวลา 4 เดือนจึงแล้วเสร็จ (น.36) ในครั้งนั้นโครงสร้างอาคารส่วนใหญ่คงเป็นไม้ ต่อมาจึงมีการสร้างด้วยอิฐ มีการสร้างคุ้มหลวง และหอคำที่มาปรากฏชื่อกันในสมัยหลัง หลังจากการสร้างเวียงครั้งนั้นแล้ว กษัตริย์ล้านนาก็ประทับกันเรื่อยมา 

 

The Dig ขุดเวียงแก้ว วังวงศ์มังราย

แผนที่แสดงตำแหน่งที่ตั้งของเวียงแก้วในเมืองเชียงใหม่

 

แต่แล้ว เมื่อล้านนาถูกผนวกโดยสยามหรือกรุงเทพฯ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ก็ค่อยๆ ถูกลดอำนาจลง เจ้าผู้ครองนครย้ายออกจากเวียงแก้ว ทำให้เวียงแก้วค่อยๆ ร้างผู้คน จนในท้ายที่สุดพื้นที่ก็ถูกโอนมาเป็นของทางการ เจ้าพระยาสุรสีห์วิสิษฐศักดิ์ (เชย กัลยาณมิตร) ข้าหลวงใหญ่มณฑลพายัพได้เสนอให้พื้นที่แห่งนี้สร้างเป็นเรือนจำประจำมณฑล​พายัพ หรือเรียกว่า ‘คอกหลวง’ โดยเจ้าอินทวโรรสสุริยวงษ์ทรงเห็นด้วย เพราะเป็นพื้นที่รกร้าง

 

จนกระทั่งเมื่อปี 2529 ได้เริ่มมีการเรียกร้องให้คืนพื้นที่ทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ให้เป็นสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ตามเดิม กระแสการเคลื่อนไหวนี้เป็นผลมาจากความตื่นตัวในประวัติศาสตร์ท้องถิ่น และการยกเมืองโบราณขึ้นเป็นมรดกโลก แต่กว่าจะได้คืนพื้นที่ก็ผ่านมาอีกหลายปี จนกระทั่งปี 2555 จึงได้มีการคืนพื้นที่ให้กับกรมธนารักษ์ และตั้งโครงการช่วงหลวงเวียงแก้วขึ้นมา และในปี 2559 จึงได้เริ่มต้นรื้อถอนอาคารสิ่งปลูกสร้างต่างๆ พร้อมกับการเข้าไปทำงานของกรมศิลปากร ส่งผลทำให้ค้นพบร่องรอยของเวียงแก้ว 

 

The Dig ขุดเวียงแก้ว วังวงศ์มังราย

การขุดค้นที่เวียงแก้วเผยให้เห็นแนวกำแพงที่ทอดยาวไปทางทิศตะวันตก-ออกและเหนือ-ใต้ (ภาพจาก สายกลาง จินดาสุ นักโบราณคดีชำนาญการ กรมศิลปากร)

 

เท่าที่ผมตามจากข่าว ผลจากการขุดค้นที่ดำเนินการโดยสำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ ทำให้ค้นพบแนวกำแพงด้านใต้และแนวกำแพงด้านเหนือ จมลึกอยู่ใต้ดินประมาณ 1 เมตร ซึ่งการค้นพบแนวกำแพงนี้บ่งบอกว่า เวียงแก้วอยู่ในพื้นที่นี้จริงตามที่ปรากฏในแผนที่เก่า

 

นอกจากแนวอิฐแล้ว ในเวียงแก้วได้ขุดพบหลักฐานต่างๆ อีกมากมาย โดยเฉพาะพวกภาชนะดินเผาจากแหล่งเตาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเตาล้านนา, เตาสุโขทัย, จีนตั้งแต่สมัยราชวงศ์หยวน-ชิง (ผมเข้าใจว่าเครื่องถ้วยหมิงน่าจะพบมากที่สุด), เตาเวียดนาม, และเตาญี่ปุ่น (น่าแปลกที่ไม่พบเครื่องถ้วยเมียนมา หรืออาจมีแต่ผมไม่เห็นจากข่าวต่างๆ) ถึงอย่างนั้นทั้งหมดนี้ก็แสดงให้เห็นว่า เวียงแก้วมีการอยู่อาศัยมาอย่างต่อเนื่อง

 

ขุดวังเพื่อตอบสนองอุดมการณ์

อย่างที่กล่าวในตอนต้นสุดว่า การขุดค้นทางโบราณคดีนั้นเกิดขึ้นจากอุดมการณ์และแนวคิดบางอย่าง ถ้าย้อนกลับไปพิจารณาการขุดค้นวังเก่าต่างๆ แล้วก็จะพบว่า การขุดค้นวังหลวงของกรุงศรีอยุธยาที่เริ่มต้นขึ้นอย่างจริงจังในสมัยรัชกาลที่ 5 นั้นเกิดขึ้นภายใต้อุดมการณ์ชาตินิยมยุคเริ่มแรก ที่ชนชั้นนำสยามต้องการแสดงให้ตะวันตกเห็นว่า ชาติของตนมีประวัติศาสตร์ความเป็นมาที่ยาวนาน เก่าแก่ ซึ่งหมายถึงเป็นชาติที่ศิวิไลซ์ ไม่ใช่ชาติกำเนิดใหม่ 

 

ด้วยเหตุนี้เอง ทำให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 จึงทรงจัดพระราชพิธีบวงสรวงบูรพกษัตริย์ในคราวพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษกขึ้นที่พระราชวังโบราณของกรุงศรีอยุธยา เพื่อแสดงให้เห็นถึงความต่อเนื่องของสถาบันกษัตริย์สมัยรัตนโกสินทร์ที่ย้อนกลับไปถึงสมัยกรุงศรีอยุธยา และถ้าเป็นไปได้ ดังพระราชดำรัสของพระองค์ที่มีต่อสมาชิกสยามสมาคมแล้ว ก็อยากให้ย้อนกลับไปให้ได้ถึง 1,000 ปี 

 

The Dig ขุดเวียงแก้ว วังวงศ์มังราย

พระที่นั่งในคราวพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษกในรัชกาลที่ 5 ที่พระราชวังโบราณของกรุงศรีอยุธยา สร้างบนฐานอาคารเดิมของพระราชวังในสมัยอยุธยา (ที่มาของภาพ: หอจดหมายเหตุแห่งชาติ) 

 

ด้วยอุดมการณ์เช่นนี้เอง จึงนำไปสู่การขุดแต่งปรับพื้นที่และบูรณะพระราชวังโบราณ และทำต่อเนื่องมาจนถึงสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม ที่ต้องการให้พระราชวังโบราณและวัดวาอารามต่างๆ ในกรุงศรีอยุธยาเป็นประจักษ์พยานความยิ่งใหญ่ของชาติ 

 

พระราชวังอีกแห่งที่มีการขุดเปิดพื้นที่ขนาดใหญ่มากคือ การขุดค้นพระราชวังจันทน์ พิษณุโลก ก็เกิดขึ้นจากอุดมกาณ์ชาตินิยมเช่นกัน แต่ที่เพิ่มเติมเข้ามาด้วยก็คือ แนวคิดทหารนิยม ทั้งนี้ เป็นผลสืบเนื่องมาจากวาทกรรมประวัติศาสตร์ชาติที่ได้ค่อยๆ สถาปนาให้สมเด็จพระนเรศวรมหาราชมีสถานะเป็นวีรบุรุษของชาติและของทหาร ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ วันสถาปนากองทัพไทยก็เป็นวันเดียวกันกับที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงชนะพระมหาอุปราชา 

 

คงพอทราบกันว่า พระราชวังจันทน์สร้างขึ้นในสมัยพญาลิไทย เพราะพระองค์ต้องเสด็จจากสุโขทัยมาประทับที่พิษณุโลก จากนั้นพระราชวังแห่งนี้ก็ถูกใช้เป็นที่ประทับของเชื้อเครือกษัตริย์สุโขทัยมาโดยตลอด รวมถึงสมเด็จพระนเรศวรมหาราชด้วย จากนั้น พระราชวังแห่งนี้คงค่อยๆ ลดความสำคัญลงไปจนถูกทิ้งร้างในที่สุด 

 

จนกระทั่งเมื่อ พ.ศ. 2535 โรงเรียนพิษณุโลกพิทยาคมได้ทำการก่อสร้างอาคารเรียน 4 ชั้น จึงได้ขุดพบฐานของอาคารเก่าทำจากอิฐ ในปีถัดมาสำนักศิลปากรที่ 6 สุโขทัย จึงได้เข้าดำเนินการขุดค้นขุดแต่งทางโบราณคดี ดังนั้น เพื่อเปิดพื้นที่ทั้งหมดจึงได้มีโครงการย้ายโรงเรียนพิษณุโลกพิทยาคมออกทั้งหมดด้วยงบประมาณหลักพันล้าน หลังจากการย้ายจึงได้เผยให้เห็นฐานรากของอาคารทั้งหมดที่คาดว่าสร้างในสมัยพระเจ้าติโลกราช สมเด็จพระมหาธรรมราชา และงานต่อเติมหลังจากนั้น 

 

ในประเด็นนี้ผมไม่ได้บอกว่าการขุดค้นขุดแต่งเผยให้เห็นซากของพระราชวังโบราณเป็นเรื่องที่ไม่ดีหรือไม่ควรทำนะครับ แต่ผมต้องการจะชี้ให้เห็นว่า อุดมการณ์ชาตินิยมหรือทหารนิยมนี้เองที่มันกำกับอำนาจของรัฐ ปัจเจกเป็นเพียงตัวแสดงและอุปกรณ์ให้กับรัฐอีกทีหนึ่ง  

 

The Dig ขุดเวียงแก้ว วังวงศ์มังราย

แนวฐานโบราณสถานในพระราชวังจันทน์ พิษณุโลกในปัจจุบันภายหลังจากการบูรณะแล้ว

 

ขุดเวียงแก้วเผยบาดแผลจากอดีต

ในกรณีของเวียงแก้วนี้ถือเป็นเรื่องน่ายินดีที่มีการขุดค้นทางโบราณคดีอย่างเป็นระบบ และได้นักโบราณคดีฝีมือดีเข้าไปทำงาน อีกทั้งยังเปิดโอกาสให้ประชาชน นักวิชาการ และผู้เชี่ยวชาญจากสาขาอื่นๆ เข้าไปร่วมทำงาน ร่วมตีความ และเปิดเผยข้อมูลต่างๆ ซึ่งทำให้ความรู้นั้นงอกเงย จนทำให้เห็นว่า พลังสำคัญของการทำงานอนุรักษ์หรือศึกษาอดีตนั้น การมีส่วนร่วมของชุมชน ทั้งชุมชนที่เป็นประชาชน ชุมชนของนักวิชาการ ชุมชนของข้าราชการ นั้นคือกุญแจสำคัญของการไขความเข้าใจอดีต และเป็นอดีตเพื่อปัจจุบันของคนทั้งมวล 

 

The Dig ขุดเวียงแก้ว วังวงศ์มังราย

ประชาชน นักวิชาการ และสื่อกำลังเข้าชมเวียงแก้ว โดยมี สายกลาง จินดาสุ นักโบราณคดีชำนาญการ กรมศิลปากร กำลังบรรยายให้ความรู้ (ภาพจาก สายกลาง จินดาสุ)

 

อย่างไรก็ตาม ความตื่นตัวและการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนในครั้งนี้ก็หวนทำให้คิดถึงบาดแผลของคนล้านนา ที่กลายมาเป็นประวัติศาสตร์ความทรงจำของการถูกผนวกรวมเข้ากับสยาม และการลดบทบาทให้เจ้านครเชียงใหม่ลดความสำคัญลง การถูกลดบทบาทและปัจจัยอีกมากมายหลายประการนี้เอง ที่ทำให้คนเชียงใหม่หรือล้านนามีความรู้สึกถึงการถูกกดทับบางอย่าง เช่นเดียวกับพื้นที่ทางประวัติศาสตร์ที่แทบไม่มีตัวตนชัดเจน เท่าที่ผมจำได้คนในรุ่นผมหรือก่อนหน้านี้นั้น ประวัติศาสตร์ของล้านนาแทบจะไม่มีพื้นที่ในแบบเรียนในฐานะที่เป็นยุคสมัยของวิชาประวัติศาสตร์เลย 

 

The Dig ขุดเวียงแก้ว วังวงศ์มังราย

แนวกำแพงของเวียงแก้วสร้างสมัยล้านนา อาคารสีขาวที่เห็นอยู่ทางขวาคือส่วนหนึ่งของอาคารทัณฑสถานหญิงเดิม (ภาพจาก สายกลาง จินดาสุ นักโบราณคดีชำนาญการ กรมศิลปากร)

 

ความรู้สึกเช่นนี้เองที่ก่อให้เกิดกระแสที่บางคน (รวมถึงผม) เรียกว่า ล้านนานิยม หรือเชียงใหม่นิยมขึ้น อาจถือได้ว่าเป็นรูปแบบหนึ่งในการต่อต้าน หรือเป็นเพียงปฏิกิริยาของการต่อต้านอำนาจที่กดทับ หรือความรู้สึกของการไม่สำคัญบางอย่าง อาจเกินเลยไปถึงเป็นกระแสต่อต้านอาณานิคมภายในของสยามยุคหลัง (Anti-Internal Colonialism) ก็ย่อมได้ในบางคนบางกรณี (คือเดี๋ยวนี้เขียนอะไรแบบเหมารวมไม่ได้ ก็นับเป็นความลำบากอย่างหนึ่งของการเขียนข้อความสั้นๆ หรือโพสต์สั้นๆ) 

 

แต่ผมไม่ได้บอกว่า กระแสพวกนี้มันมีความหมายไปในเชิงลบนะครับ เพราะกระแสนี้มันตั้งอยู่บนความรู้สึก และอุดมการณ์ชุดหนึ่งที่เราไม่อาจวัดหรือประเมินคุณค่ากันได้ง่ายๆ ยิ่งถ้าคนหนึ่งยืนที่กรุงเทพฯ อีกคนยืนที่เชียงใหม่ มุมมองต่อเรื่องนี้ บวก ลบ เป็นกลาง มันย่อมแตกต่างกัน แต่ผมก็เห็นจุดดีของความตื่นตัวนี้อย่างมากว่าเป็นนิมิตหมายที่ดีของการขับเคลื่อนงานโบราณคดีที่ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วม ยิ่งถ้าตระหนักรู้ และรู้เท่าทันในความคิดของตนเอง และวาทกรรมที่ไหลเวียนอยู่ในประวัติศาสตร์ทั้งระดับชาติและท้องถิ่นแล้ว ย่อมเป็นสิ่งที่ดีเป็นอย่างมาก 

 

ผมกำลังคิดถึงและนึกถึงสิ่งที่ดูจะเป็นคุณค่าสากลขึ้นมาสักนิด (แม้ว่าความสากลจะไม่มีอยู่จริง) ก็คือ หากเราเคลื่อนผ่านจากชาตินิยม ท้องถิ่นนิยม หรืออะไรนิยมๆ ทั้งหลาย ซึ่งเกิดขึ้นภายใต้อุดมการณ์ของรัฐชาติแล้ว และเริ่มไปสู่การอนุรักษ์และพัฒนาเวียงแก้วด้วยตัวเนื้อหาและคุณค่าของ ‘ประวัติศาสตร์’ และ ‘โบราณคดี’ ในตัวของเวียงแห่งนี้เอง ก็จะเป็นทางเลือกอีกแบบหนึ่งของวิธีคิดที่มีต่อการจัดการโบราณสถานแห่งนี้ในอนาคต 

 

เวียงแก้วมีประชาธิปไตย  

ด้วยไซเบอร์สเปซที่เกิดขึ้นผ่านเฟซบุ๊ก หรือทวิตเตอร์ก็ดี ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนและสนทนากันของผู้คนจำนวนมากต่อหลักฐานทางโบราณคดีของเวียงแก้ว การสนทนานี้ทำให้ความรู้งอกเงยอย่างมาก ซึ่งต้องขอบคุณสำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ ที่เปิดเผยข้อมูล อีกทั้งยังนำคนไปทัศนศึกษา และทำกิจกรรมอื่นๆ อีกมากมายเพื่อเรียนรู้เวียงแก้ว 

 

เรื่องนี้สำคัญมากกับโลกในอนาคต ด้านหนึ่งอาจมองว่าเป็นโบราณคดีชุมชน (Community-Based Archaeology) แต่งานนี้ไกลเกินกว่านั้น ในงานวัฒนธรรมศึกษา (Cultural Studies) มองว่า Cyber-Space หรือพื้นที่ไซเบอร์นั้นทำให้เกิดสังคมประชาธิปไตยขึ้น เพราะเปิดพื้นที่ให้คนสามารถแลกเปลี่ยนสนทนากันได้อย่างเป็นอิสระ 

 

ประเด็นดังกล่าวนี้ นักโบราณคดีในโลกตะวันตกได้ให้ความสนใจอย่างมาก เรียกว่า Cyber-Archaeology คือการมองว่า จากการพัฒนาพื้นที่แบบไซเบอร์ขึ้นนี้เอง ที่ทำให้ประชาชนหรือคนทั่วไปสามารถเข้ามามีโอกาสในการแสดงความคิดเห็นกันได้ และนำไปสู่ความรู้แบบใหม่ๆ ซึ่งแตกต่างไปจากเดิมที่รัฐมีหน้าที่ผลิตความรู้ แล้วประชาชนรับ (เป็นความสัมพันธ์แบบ Top-down หรือ Subject กับ Object) 

 

แต่ในโลกที่มันเปลี่ยนไปแล้วนี้เอง นักโบราณคดีไม่อาจผูกขาดความรู้ได้อีก สิ่งที่ยังอาจทำได้คือ การมีวิธีการทางโบราณคดีตามหลักการมาตรฐาน เช่น การขุด และการมีอำนาจรัฐที่อนุญาตให้ขุดได้ แต่อำนาจของการตีความ หรือการสร้างความรู้จริงๆ มันคือไม่เคยเป็นของนักโบราณคดีเพียงฝ่ายเดียวอีกต่อไป 

 

ดังนั้น การเปิดพื้นที่ให้ทุกคนเข้ามาแลกเปลี่ยนกันได้นี้เอง ที่นำไปสู่การเกิดขึ้น และการพัฒนาสังคมแบบประชาธิปไตยขึ้นในวันข้างหน้า  

 

ขอขอบคุณ นายสายกลาง จินดาสุ นักโบราณคดีชำนาญการ กรมศิลปากร ที่เอื้อเฟื้อภาพถ่าย แลกเปลี่ยนข้อมูล สนทนากัน และช่วยอ่านตรวจทานบทความ

 

หมายเหตุ: คำอธิบายภาพเปิด – สายกลาง จินดาสุ นักโบราณคดีกรมศิลปากร กำลังชี้ให้ดูชั้นดิน และหลักฐานในหลุมขุดค้นให้กับประชาชน นักวิชาการ และสื่อมวลชนที่เวียงแก้ว (ภาพจาก สายกลาง จินดาสุ)

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising